xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบลิ่วล้อทรราช นอนคุกติดยศ"น.ช." -ศาลฎีกาหา กกต.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"แก๊ง 3 หนา"นอนคุกต้อนรับวันเกิดแม้ว หลังศาลอาญาลงโทษสถานหนัก พิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา พ่วงท้ายตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี ไม่ให้ประกันตัว ออกหมายคุมขังส่งเข้าคุก ติดยศ"นักโทษชาย"ให้กับผลงานที่ได้รับใช้ระบอบทักษิณ ศาลระบุชัดปล่อยตัวไปอาจทำผิดซ้ำสอง สร้างความเสียหายร้ายแรง บ้านเมืองแตกแยก ขณะที่ ศาลฎีกา เดินเกมรุกเตรียมสรรหา กกต.ชุดใหม่วันนี้ "แก๊งสุชน"นัดถกแนวทางทางการสรรหาเพื่อชงเรื่องให้ศาลฎีกา "แม้ว"จ๋อยหลังสมุนรับใช้นอนคุกสิ้นอิสรภาพ

วานนี้(25 ก.ค.)ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลโดยนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายกมล คำเพ็ญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา เจ้าของสำนวน นายบันดาล ดังขุนทด ผู้พิพากษาศาลอาญา และองค์คณะอ่านคำพิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ

ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. จำเลยในความผิดฐาน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 42 และ มาตรา 38 เป็นเวลาคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี กรณี ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และการออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้รับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ ตามที่นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

หลังศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2-4 แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2-4 เป็น กกต.มีจำเลยที่ 2 เป็นประธาน และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2549 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 โดยหลังจากวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งแล้วปรากฏว่ามีพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวที่ส่งผู้สมัครระบบบัญชีครบ 100 คน โดยผู้รับสมัครเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยได้รับหมายเลข 2 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงคนเดียวจำนวน 281 เขตเลือกตั้ง จาก 400 เขต ในวันรับเลือกตั้งดังกล่าวจำเลยทั้ง 3 ได้จัดคูหาเลือกตั้งให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นและหันออกด้านนอก และมีการติดรูปผู้สมัครและหมายเลขที่ผนังคูหาเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยจำนวน 38 เขตเลือกตั้งจาก 15 จังหวัดในภาคใต้ได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำเลยที่ 2-4 ได้มีมติและออกประกาศ กกต. เรื่องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.2549 และให้มีการรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 8-9 เม.ย. 2549 และได้ออกหนังสือเวียนของสำนักงาน กกต. ที่ ลต 0301/ ว.568 ไปยังประธาน กกต.จังหวัดทุกจังหวัดในภาคใต้ยกเว้นระนอง เพชรบุรี และนนทบุรี ว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 แล้วมาสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.โดยที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งนั้น ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. จำเลยทั้งสามได้มีมติกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตจังหวัดสงขลา ในทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ 5 เพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 19-20 เม.ย.และมีประกาศ กกต.ให้กำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม จากนั้น ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1, 3 และ 4 จังหวัดสงขลา ลาออกจากตำแหน่ง

ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.ศาลฎีกาได้มีคำสั่งที่ 2752/2549 วินิจฉัยว่า ตราบใดที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดย่อมยังถือไม่ได้ว่ากระบวนการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงแล้ว กรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.อาจสั่งหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้นได้อีก โดย กกต.ไม่ต้องประกาศรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นทุกคนยังคงเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ และศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันอีกหลายคดี และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พ.ค.2549 ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ตลอดจนการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ย่อมส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ กกต.รับรองสิทธิทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อถูกเพิกถอนสิทธิ

คดีจึงต้องวินิจฉัยว่า การจัดให้เลือกตั้งใหม่ตาม ม.74 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.พ.ศ.2541 กรณีผุ้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 จำเลยทั้งสามจะสามารถเปิดรับผู้สมัครเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามถ้อยคำใน ม.74 และ รัฐธรรมนูญ ม.145 ประกอบ ม.10 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความหมายเรื่องการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เหมือนกันในทางว่า ไม่ว่าจะเป็นการสั่งหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ กกต.ต้องดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตามคำเบิกความของนายทิวา เงินยวง พยานโจทก์ระบุว่า ตาม ม.74 หากจะเปิดรับสมัครใหม่ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งซ่อมหรือการเลือกตั้งทั่วไปต้องออก พ.ร.ฏ.เท่านั้น และยังระบุด้วยว่าหากการประกาศรับสมัครใหม่ยังคงให้ผู้สมัครได้หมายเลขเดิมจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ขณะที่นายถวิล ไพรสณฑ์ พยานโจทก์เบิกความว่า การเลือกตั้งใหม่จะเปิดรับสมัครใหม่ไม่ได้ ซึ่งศาลเห็นว่านายทิวา จบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยทำงานในสภาผู้แทนฯนาน 20 ปี เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ขณะที่นายถวิล ก็เคยเป็น ส.ส.และส.ว.และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้และเชื่อว่าเบิกความไปตามความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของตน โดยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.7/2 บัญญัติว่า กกต.มีอำนาจ เพียงย่น ขยายเวลาและงดเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีอำนาจออกประกาศ กกต. กำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตใหม่ โดยให้เปิดรับผู้สมัครใหม่

ส่วนที่จำเลยที่ 2-4 แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.114 ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใดให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นผู้เสียหายนั้น เห็นว่าคดีนี้หลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องเฉพาะความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก เมื่อศาลยกฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

พิพากษาว่าจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 ม.24, 42 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปี และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2-4 ต่อจากคดีอื่นนั้น ยังไม่ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีเหล่านั้น จึงให้ยกคำขอและให้ยกคำขอตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

**3กกต.ฮึดสู้ยื่นประกันตัว**

ภายหลังจำเลยทั้งสาม ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นหลักทรัพย์ นอกจากนี้ พ.ต.อ.สพัฒน์ รัตนวราหะ รองเลขาธิการ กกต. นายบุญเกียรติ รักชาติเจริญ ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้ง กกต. และนางพรรณศิวา บูรณะสถิตย์พร ผู้ตรวจสอบภายใน กกต.ใช้ตำแหน่งขอยื่นประกันจำเลยทั้งสามด้วย รวมหลักทรัพย์ประมาณ 2.5 ล้านบาทเศษ อย่างไรก็ดีศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม.148 ขอให้ศาลมีคำสั่งงดออกหมายจำคุก เห็นว่า ตาม ม.148 บัญญัติให้ความคุ้มกัน กกต.ระหว่างที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเฉพาะเรื่องการจับกุมและคุมขังในชั้นสอบสวนเท่านั้น ส่วน ม.148 วรรค 2 บัญญัติว่า กรณีที่มีการจับ กกต.ขณะกระทำผิดให้รายงานไปยังประธาน กกต.โดยด่วนและอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับนั้นได้เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ กกต. ถูกจับหรือคุมขังก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งสิทธิความคุ้มกันดังกล่าวของ กกต.จะต่างกันกับสิทธิคุ้มกันของ ส.ส.ซึ่ง ส.ส. หรือ ส.ว.จะได้รับความคุ้มกันทั้งในชั้นสอบสวนและการพิจารณาของศาล ตามรัฐธรรมนูญ ม.165-166 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลงดออกหมายจำคุก สั่งยกคำร้องและให้ออกหมายจำคุกตามผลคำพิพากษา

**ส่งต่ออุทธรณ์ขี้ขาดประกัน**

สำหรับเรื่องการประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสาม เป็น กกต.ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ ม.136 แต่การจัดเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมา โดยจำเลยทั้งสาม กลับถูกพรรคการเมืองหลายพรรคและประชาชนส่วนหนึ่งต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีแพทย์ อาจารย์คณะรับศาสตร์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และประชาชนหลายสาขาอาชีพทำการประท้วงด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้งโดยเปิดเผย ประกอบกับหลายเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวพรรคเดียวได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติของสังคมโดยแทนที่จำเลยทั้งสามจะใส่ใจรีบหาทางแก้ไขความไม่พอใจของประชาชน จำเลยกลับเดินหน้าจัดเลือกตั้งต่อไปทั้งที่ยังไม่มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหลายเขตอย่างเป็นทางการจนเกิดการหมุนเวียนผู้สมัครทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการจัดเลือกตั้งของจำเลยทังสามมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงมาก่อนย่อมตระหนักดีว่า กกต.เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อประชาชนจำนวนมากรวมทั้งพรรคการเมืองไม่ไว้วางใจในความเป็นกลาง ความสุจริตและเที่ยงธรรมของจำเลยทั้งสามแล้วย่อมกระทบกระเทือนถึงการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ การที่จำเลยทั้งสามยังคงปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่ใยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา และไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า จึงส่อพิรุธและชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์และเชื่อได้ว่า หากศาลอาญาสั่งอนุญาตให้ปล่อยจำเลยทั้งสามระหว่างอุทธรณ์ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับไปปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส.อีกก็น่าจะเกิดความไม่เรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรมเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อประโยชน์สุขและความสงบเรียบร้อยของสังคมจึงเห็นสมควรให้รีบส่งคำร้องขอประกันตัวพร้อมสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.106 (4)

**ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันส่งนอนคุก**

ต่อมาเวลา 18.30 น.ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กกต.โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า มูลเหตุแห่งคดีเกี่ยวข้องกับ การปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2-4 ในการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 2 เม.ย.2549 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากจากการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2-4 พวกจำเลย ยังคงปฎิบัติหน้าที่ ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัย ของประชาชนในความเป็นกลางทางการเมือง ตลอดมา

ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง อันเป็นที่ประจักษ์ เป็นคุณสมบัติสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ ม.136 พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า หากจำเลยที่ 2-4 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ต่อไป

**นำ 3 กกต.คุมขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ**

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถนนงามวงศ์วาน เจ้าหน้าที่เรือนจำประมาณ 20 นาย ได้เดินออกมาตั้งแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง จากหน้าประตูเรือนจำชั้นแรกออกมา ด้วยการตั้งแถวเรียงหน้ากระดานจับมือประสานกันไว้ จนกระทั่งเวลา 18.50 น.รถตู้โตโยต้า สีขาว ติดฟิล์มดำหนาทึบ หมายเลขทะเบียน นง 4295 นนทบุรี ได้ขับเข้ามา และนำ พล.ต.อ.วาสนา นายปริญญา และนายวีระชัย นักโทษชาย เข้าไปในประตูเรือนจำทั้ง 3 ชั้น โดยทำการเปิดประตูชั้นแรก เมื่อตัวรถเข้าไปพ้น จึงได้ทำการปิดประตูชั้นแรก และเปิดประตูชั้นที่ 2 ในทันที

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมและความเรียบร้อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแล้ว โดย นายนัทธี ระบุว่า เมื่อ นช.ทั้ง 3 คนเดินทางมาถึง ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำก็จะทำการเปลี่ยนชุดที่สวมใส่ เป็นชุดน้ำตาลเข้ม จากนั้นก็จะจัดให้เข้าเรือนนอนร่วมกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ โดยไม่มีสิทธิพิเศษแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ระบุว่า จะต้องมีการตัดผมให้ผู้ต้องขังอดีต กกต.ทั้ง 3 คน ให้เหมือนผู้ต้องขังรายอื่นๆ ด้วยหรือไม่

**ตร.-คอมมาโดคุมเข้มศาลอาญา**

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณโดยรอบศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเช้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พลหโยธิน และคอมมานโด กองปราบปราม กว่า 150 นายพร้อมอาวุธครบมือตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการตรวจหาวัตถุระเบิดภายในรถยนต์ที่จะเข้าศาล รวมทั้งตรวจค้นอาวุธผู้ที่จะเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีประชาชนที่ให้การสนับสนุน กกต.ประมาณ 100 คน นำดอกกุหลายสีแดง พร้อมป้ายผ้าเขียนถ้อยคำให้กำลังใจ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปยืนต้อนรับอยู่บริเวณหน้าศาลอาญาและหน้าห้องพิจารณา

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงานของกกต.ประมาณ 300 คน เข้าร่วมฟังคำพิพากษาของศาล ทำให้ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ที่สามารถรับรองประชาชนได้ถึง 300 คนไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ศาลจึงต้องเสริมเก้าอี้แต่ก็ไม่พอเพียงทำให้ส่วนหนึ่งต้องยื่นฟังคำพิพากษาของศาลนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง

**นช.หนา ฉุนถูกไล่ กกต.ออกไป**

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.ต.อ.วาสนา นายปริญญา และนายวีระชัย มีสีหน้ายิ้มแย้มก่อนระหว่างเดินทางขึ้นลิฟท์ด้านข้างของศาลอาญาเพื่อขึ้นไปฟังคำพิพากษา และหลบฉากบรรดากองทัพผู้สื่อข่าวเข้าไปอยู่ในห้องรับรองที่ศาลอาญาจัดเตรียมไว้ให้ โดยขณะที่ กกต.ทั้งสามเดินออกจากห้องรับรองไปยังห้องพิจารณา ผ่านกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านมีหญิงคนหนึ่งได้ตะโกนเสียงดังว่า “กกต.ออกไป” ทำให้ พล.ต.อ.วาสนา เดินปรีเข้าจ้องหน้าหญิงคนดังกล่าวด้วยความไม่พอใจ จนพนักงานอัยการที่เดินมาด้วยต้องเข้าไปดึงตัว พล.ต.อ.วาสนา เข้าพิจารณาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต.ได้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจกับ กกต.ทั้งสามด้วย ขณะที่ฝ่ายโจทก์นั้นมีกลุ่ม ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายสุวโรช พลัง เดินทางมาให้กำลังใจ

เมื่อเวลา 16.30 น. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ศาลแพ่ง และศาลภาษีอากรกลาง ที่ตั้งบริเวณใกล้เคียงได้รับคำสั่งจากผู้บริหารศาลว่า ให้เจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาทุกคน ที่มีงานคั่งค้าง โดยปกติจะกลับบ้านประมาณ 2 ทุ่มให้รีบเดินทางกลับบ้านไม่มีข้อยกเว้น รวมทั้งนักศึกษาเนติบัณฑิตประมาณ 300 คนที่อาศัยอาคารศาลแพ่งเรียนผ่านดาวเทียมให้งดฟังการบรรยายและกลับบ้าน

**ศาลฎีกาเริ่มสรรหากกต.ชุดใหม่วันนี้**

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีศาลมีคำพิพากษาจำคุก กกต.ว่าส่วนตัวมองว่า กกต.ทั้งสามคนได้พ้นสภาพและไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ต่อได้ เพราะศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ถือว่าขาดคุณสมบัติทันที จึงต้องสรรหาผู้สมควรเป็นกกต.ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานด้านวิชาการของศาลฎีกา ได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดแนวทางและวางกรอบดำเนินการสรรหาผู้สมควรเป็น กกต.ชุดใหม่ โดยในวันพรุ่งนี้จะเริ่มกระบวนการประกาศรับสมัครเพื่อให้บุคคลที่ประสงค์จะเป็น กกต.แสดงเจตจำนงค์เข้ามาที่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ทั้งนี้ “ในวันที่ 26 กรกฎาคม ศาลฎีกา สามารถเริ่มกระบวนการสรรหาผู้สมควรเป็น กกต.ชุดใหม่ได้ทันที เชื่อว่ากระบวนการสรรหาจะใช้เวลาเพียงแค่ 20 วัน และจะเสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคมอย่างแน่นอน โดยมั่นใจว่า กกต.ชุดใหม่จะสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างมากที่สุด” เลขานุการศาลฎีกากล่าว

ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการศาลฎีกา กล่าวว่า ได้สรุปข้อกฎหมายที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก กกต.ให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีการับทราบ และจะดำเนินการบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่อย่างแน่นอน แต่ต้องขอเวลาสักระยะ

**กุนซือ“สุชน”เตรียมขวางศาลไม่ให้สรรหากกต.**

นายไสว พราหมณี รักษาการส.ว.นคราชสีมา ประธานที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษากฎหมายจะมีการประชุมกับนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ในวันพฤหัสบดี ที่ 27 กรกฏาคม โดยมีประเด็นหลักที่จะประชุมคือ 1.จะต้องทำการสรรหากกต.ใหม่หรือไม่ 2. สถานภาพของกกต.ทั้ง3คนว่า ยังมีสถานภาพอยู่หรือไม่ เพราะไม่แน่ใจการที่ กกต.ต้องออกจากตำแหน่งนอกเหนือจาการพ้นวาระจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพด้วยหรือไม่

สำหรับเรื่องการสรรหากกต.ใหม่นั้นตนจะเสนอต่อที่ประชุม ควรจะต้องมีการศึกษากฎหมายให้ชัดเจน โดยจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ คือจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา138 (2) สรรหามา5คน และให้ศาลที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหามา5 คน เพื่อมาให้วุฒิสภาเลือก แต่ถ้ากระบวนการตรงนี้ทำไม่ทันภายใน30วันก่อน ถึงจะสามาถจะสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา138(3) ที่ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาแทนจำนวน10คน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของการสรรหาตามาภายหลัง เหมือนกับกรณีการสรรหาผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง

**สุเทพปลื้มอำนาจตุลาการพึ่งได้**

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำพิพากษาจำคุก กกต.ทั้ง 3 คนโดยไม่รอลงอาญาว่า อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ในส่วนอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร พึ่งไม่ได้ แต่อำนาจตุลาการยังพึ่งได้ ประชาชนควรจะดีใจ

ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม กล่าวว่า โดยหลักของกฎหมาย กกต.ทั้ง 3 คน ถือว่าขาดคุณสมบัติแล้ว เพราะถูกพิพากษาจำคุก จะมากล่าวอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ไม่ได้แล้ว เนื่องจากศาลมีคำสั่งพ้นสภาพ และสิ่งที่ กกต.อ้าง ศาลก็วินิจฉัยแล้วว่า กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต และเที่ยงธรรม และว่าการพิจารณาของศาลครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง เคยมีคำวินิจฉัยว่า กกต.จัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย ขาดคุณสมบัติ ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ครั้งนั้น กกต.ยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป หาก กกต.ทั้ง 3 คน ออกจากตำแหน่ง เหมือน พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต. ตนก็พร้อมจะถอนฟ้อง และ กกต.คงไม่ต้องถูกพิพากษาจำคุกเช่นนี้

"ผมไม่ได้สะใจ หรือพอใจที่เห็น กกต.ต้องติดคุก 4 ปี เพียงแค่ไม่ต้องการให้กกต.ทั้ง 3 คน มาทำหน้าที่ และจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 15ต.ค.นี้อีก ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงน่าจะมีการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นกลาง เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เข้ามาจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง"

**กฤษฎีกาชี้กกต.สิ้นสภาพ

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงท้ายของการประชุมครม. ที่ศาลอ่านคำพิพากษาแล้วนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สอบถามรายละเอียดข้อกฎหมาย จากคุณหญิงพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าคำพิพากษาศาลอาญาจะมีผลให้ กกต.ทั้ง 3 คน พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ หากพ้นจากตำแหน่งแล้วกระบวนการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายว่า จากคำพิพากษาของศาลอาญานั้น มีผลทำให้ กกต.ทั้ง 3 คนพ้นจากตำแหน่งแล้ว

"คุณพรทิพย์ชี้แจงว่า ด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่ระบุว่า นอกจากการพ้นตามวาระ กกต.ยังพ้นจากตำแหน่งด้วย (1) ตาย (2) ลาออก (3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 137 หรือ 139 เมื่อดูตามมาตรา 137 ระบุว่า ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตราต่อไปนี้ คือ ตาม (4) ระบุว่าไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 106 มาตรา 109 (1), (2), (4), (5), (6), (7) , (13), (14) และเมื่อไปดูถึงการไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 106 ได้บัญญัติว่าบุคคลที่มีลักษณะดังนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (4) เขียนว่าอยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อ กกต.ทั้ง 3 คนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 106 เมื่อขาดคุณสมบัติจึงมีลักษณะต้องห้าม หรือขาดคุณสมบัติตามมาตรา 137ไปด้วย ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 141"

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงอีกว่า ดังนั้น เมื่อ กกต.พ้นจากตำแหน่งแล้วต้องมีการสรรหา และเลือก กกต.เนื่องจาก มาตรา 138 (1) ที่ระบุถึงองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหากกต.ที่มีปัญหาองค์ประกอบไม่ครบ เนื่องจากขาดผู้แทนพรรคการเมือง จึงต้องไปดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (3) คือให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิจารณาเสนอชื่อบุคคล 10 คน และให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือกบุคคลทั้ง 10 คนนั้น กระบวนการหลังจากนี้ประธานวุฒิสภา จะต้องสรุปกระบวนการสรรหาและเลือกกกต.และถ้าองค์ประกอบกรรมการสรรหาไม่สามารถทำได้ จึงต้องเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้พิจารณาเสนอชื่อ 10 คนให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

**แค่ถอนสิทธิ์เลือกตั้งก็สิ้นสภาพแล้ว

นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานภาพกกต.หลังจากศาลมีคำพิพากษาว่า ไม่ว่าศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัวก็ตาม ถือว่า กกต.ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งแล้ว ซึ่ง ถ้าไม่ให้ประกันตัวก็ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 109 (4) แต่ถ้าให้ประกันตัว กกต.ก็จะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) อยู่ดี เพราะแม้จะเป็นการไปยื่นอุทธรณ์ และ บทลงโทษอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในภายหลัง แต่มาตรา 106 (4) บัญญัติไว้ชัดว่า "อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ซึ่งคำว่า"ระหว่าง"หมายความว่า เมื่อต้องคำพิพากษาแล้ว ก็มีผลโดยทันที การสู้คดีในอนาคต และคำพิพากษาอาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เช่นเดียวกับนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ที่มีความเห็นว่า ความผิดของกกต.จากคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ ถือว่า กกต.สิ้นสภาพไปแล้วตามกฎหมาย แม้ว่า กกต.จะอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 141(4)ที่ระบุว่าต้องได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาเท่านั้น กกต.จึงจะพ้นสภาพ แต่อย่าลืมว่าคำพิพากษาของศาลอาญาครั้งนี้ได้ตัดสิทธิ์เลือกตั้งของกกต.เป็นเวลา 10 ปีด้วย

ถ้าดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 137(4) ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้ามของ กกต.ที่ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 106 ก็จะพบทันทีว่า มาตรา 106 (4) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต.ชัดเจนว่า ต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งลักษณะต้องห้ามนี้เป็นคนละประเด็นกับว่าต้องพิพากษาจำคุกถึงที่สุดหรือไม่ ดังนั้นถือว่า กกต.พ้นสถานภาพทางกฎหมายโดยเด็ดขาดไปแล้ว

**แม้วหน้าจ๋อยหลังศาลเชือดกกต.

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาให้คุกกกต.ทั้ง 3 คน เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งหลายคนเกรงว่าการเลือกตั้งอาจจะต้องเลื่อนออกไปว่า คงไม่เลื่อน เพราะเท่าที่ดูปัจจุบันยังไม่มีอะไรที่ต้องไปเปลี่ยนแปลง ส่วนกระบวนการสรรหากกต.ใหม่น่าจะเสร็จทันใน 1 เดือน เพราะไม่มีอะไรมาก ศาลฎีกาเขาคงมีอยู่แล้วว่าจะส่งใครมา เมื่อส่งมาก็เข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติที่วุฒิสภา เมื่อวุฒิสภาชุดใหม่ยังไม่ครบ วุฒิสภาชุดเก่าก็ทำหน้าที่ไปก่อน

เมื่อถามว่าจะ กระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ที่กกต.ต้องทำหน้าที่รับรองหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ทางราชการต้องทำไป ไม่มีอะไรมาก ทุกอย่างต้องทำไปตามปกติ ตามกฎหมาย ใครมีหน้าที่รักษากฎหมายก็ทำไปตามนั้น เมื่อถามว่า การมีกกต.ชุดใหม่ จะทำให้เงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา เมื่อต้องมีใหม่ ก็ต้อง มีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเป็นประธานการประชุมครม. พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก โดยใช้เวลาอยู่ที่นั่น ประมาณ 15 นาที จากนั้นได้เดินทางเข้าหารือร่วมกันแกนนำที่พรรคไทยรักไทยทันที ซึ่งขณะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เห็นได้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีสีหน้า จ๋อยๆ ผิดกับวันแรกที่มีการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม อารมณ์ดี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่ 3 กกต.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 11 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องอาศัยความเห็นจาก กกต. แต่เชื่อว่าจะมี กกต.ขึ้นมาทันเวลากับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป ที่เกษียณอายุราชการในเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากต้องเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วอยู่แล้ว

**ตั้งกกต.ใหม่ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสุชน**

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึง เรื่องการสรรหากกต.ใหม่ ว่า เป็นเรื่องของ นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา ที่จะแจ้งต่อศาลฎีกา เพื่อเสนอชื่อบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเป็น กกต.ชุดใหม่ ซึ่งอยู่ที่นายสุชน ว่าจะแจ้งให้ศาลฎีกาให้เสนอชื่อ 1 ขยัก หรือ 2 ขยัก เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ภายใน 30 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องเสนอชื่อมาจำนวนหนึ่ง และกรรมการสรรหาเสนอชื่ออีกจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าหลังจาก 30 วัน กรรมการสรรหาไม่สามารถเสนอรายชื่อได้ครบ ก็มีกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เสนอชื่อเพิ่มเติมภายใน 15 วัน จึงขึ้นกับนายสุชน ว่าจะแจ้งเรื่องต่อศาลฎีกาในลักษณะใด และหากเสนอชื่อครบแล้ว ถึงนำสู่การเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภารักษาการประชุม และขึ้นกับนายสุชน ว่าจะกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติหรือไม่ และ จะกำหนดให้เสร็จภายในกี่วัน จากนั้นถึงจะเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อกกต.สิ้นสถานภาพแล้ว ก็ควรจะเร่งดำเนินการสรรหาทันที เมื่อผู้ที่มีหน้าที่สรรหา คือศาลกีฏาเห็นชัดเจนแล้วว่า กกต.ชุดนี้พ้นตำแนห่งไปแล้ว ดังนั้นประธานวุฒิสภาควรยึดตามรัฐธรรมนูญเร่งหากกต.โดยเร่งยื่นเรื่องไปยังศาลฏีกาเพื่อดำเนินการส่งรายชื่อมา

"ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเข้าสู่มาตรา 141(3) หากมีหมายศาลให้จำคุกก็ต้องถือว่าทั้ง3 คน.หมดสภาพการเป็นกกต.แล้ว อย่างไรก็ตามผมคิดว่าสถานการณ์ทุกอย่างน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะทุกคนต้องการรัฐบาลที่ดี และมั่นใจได้ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่นี้ทุกอย่างก็จะคลี่คลายและจบลงได้"

ด้านนายไสว พราหมณี ส.ว.นครราชสีมา ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ปธ.วุฒิสภา กล่าวว่า แนวทางในการสรรหา กกต.ใหม่มี 2 แนวทาง คือ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการสรรหากกต.ใหม่ได้เลย หรือ นายสุชน จะเป็นผู้ทำหนังสือถึงเลขาธิการศาลฎีกา เพื่อให้ดำเนินการสรรหา กกต.โดยในวันนี้ ปธ.วุฒิสภาจะเดินทางมาเพื่อประชุมสรุปแนวทางที่เหมาะสม

**อาทิตย์ทรงกลดนิมิตดีของบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวานนี้ ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นปรากฎการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด เป็นวง 3 ชั้น และหายไปก่อนการประชุมครม.จะเริ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ นายภิญโญ พงศ์เจิรญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ กล่าวว่า ถือว่าเป็นนิมิตอันดีของบ้านเมือง เพราะพระอาทิตย์ทรงกลดในทางโหราศาสตร์ ถือว่าเป็นการนิมิตรหมายแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่ดี พระอาทิตย์นั้นทางโหราศาสตร์หมายถึง ผู้นำ ซึ่งในทางการเมืองอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของผู้นำในทางที่ดี โดยมีอยู่ 2 ทางคือ 1.ผู้นำคนเดิมอาจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีต่อบ้านเมือง หรือไม่ก็ 2. หากไม่มีการปรับตัว เบื้องบนก็จะมีการส่งผู้นำที่ดีกว่ามาให้ ซึ่งเบื้องบนในที่นี้หมายถึงพระอาทิตย์

นายภิญโญ กล่าวว่า อยากให้จับตาในช่วงของวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ดี เพราะในวันที่ 26-27-28 ก.ค.นี้จะเป็นช่วงที่ดาวเสาร์ทับดาวจันทร์ แล้วคลุมด้วยอาทิตย์ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในทางที่ดีกับบ้านเมือง หรืออาจจะมีประกาศอะไรที่ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น