xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางการใช้พลังงานไบโอดีเซล

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

การนำน้ำมันพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีการใช้ตั้งแต่เริ่มประดิษฐ์เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดยเมื่อครั้งนายรูดอล์ฟ ดีเซล ได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นและได้รับสิทธิบัตรเมื่อปี 2432 นั้น เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบให้ใช้น้ำมันถั่วลิสงเป็นเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมทั่วโลก ทำให้ได้รับน้ำมันดิบราคาถูก ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาในยุคต่อมาจึงได้ออกแบบเครื่องยนต์ดีเซลแบบใหม่ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่า คือ น้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม

ปัจจุบันได้มีการตื่นตัวอีกครั้งหนึ่งในการนำน้ำมันพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล อย่างไรก็ตาม น้ำมันเหล่านี้จะมีคุณสมบัติหลายประการแตกต่างจากน้ำมันดีเซล เช่น ค่าความถ่วงจำเพาะ ค่าความหนืด ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ต้องเครื่องยนต์บ่อยครั้งและอายุใช้งานลดลง

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงมีการนำน้ำมันพืชดังกล่าวข้าวต้นไปแปรรูปโดยกระบวนการทางฟิสิกส์และเคมี กล่าวคือ นำน้ำมันพืชมาผ่านปฏิกิริยาเคมีที่เรียกว่าทรานเอสเตอร์ฟิเคชั่นเพื่อทำให้น้ำมันเหล่านี้ทำปฏิกิริยาเคมีกับเอทานอลหรือเมทานอล จะได้รับสารเมทิลหรือเมทิลเอสเอสเตอร์ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ จึงนิยมเรียกว่า “ไบโอดีเซล”

สำหรับวัตถุดิบใช้ในการผลิตไบโอดีเซลจะแตกต่างกันไป โดยกรณีสหรัฐฯ นิยมใช้น้ำมันถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ ส่วนในยุโรปจะเน้นผลิตไบโอดีเซลจากเรพซีด (Rapeseed) สำหรับมาเลเซียจะเน้นผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลโดยใช้วัตถุดิบเป็นน้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้วอีกด้วย

แม้นำน้ำมันพืชมาผ่านกระบวนการทรานเอสเตอร์ฟิเคชั่นไปแล้วก็ตาม แต่การใช้ไบโอดีเซลยังอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อรถยนต์ เป็นต้นว่า ทำให้ไส้กรองอุดตัน มีการสะสมของตะกอนในถังน้ำมัน ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลกระทบทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำมาจากยางธรรมชาติ เช่น ประเก็น ท่อ ฯลฯ สึกหรออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ผลิตก่อนปี 2535 ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่ได้นำสาร Viton มาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อป้องกันผลกระทบจากไบโอดีเซล

ปัญหาผลกระทบจากไบโอดีเซลดังกล่าวข้างต้นจะลดลงมากหากมีการผสมกับน้ำมันดีเซลไม่เกิน 20% หรือเรียกว่าน้ำมัน B20 ยิ่งไปกว่านั้น หากผสมน้อยลงอีกเหลือ 2% เป็นน้ำมัน B2 แล้ว ปัญหาต่างๆ แทบจะไม่เกิดขึ้นกับรถยนต์เลย

ในปี 2548 มีการผลิตไบโอดีเซลทั่วโลกประมาณ 3,800 ล้านลิตร หรือประมาณ 10.4 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการใช้ไบโอดีเซลยังนับว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้เอทานอลที่ในปี 2548 มีปริมาณการผลิตทั่วโลกมากถึง 36,500 ล้านลิตร

สหภาพยุโรปนับเป็นฐานการผลิตไบโอดีเซลใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิต 3,500 ล้านลิตร หรือประมาณ 9.6 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ เยอรมนีนับเป็นประเทศที่มีการผลิตไบโอดีเซลมากที่สุดในโลก โดยในปี 2548 มีปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 4.8 ล้านลิตร/วัน รองลงมา คือ ฝรั่งเศส 1.5 ล้านลิตร/วัน สหรัฐฯ 0.8 ล้านลิตร/วัน

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมากเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ 15.2 ล้านตัน/ปี รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายในปี 2549 ที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตไบโอดีเซลจาก 500,000 ลิตร/วัน ในช่วงปี 2550 เป็น 1 ล้านลิตร/วัน ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 ล้านลิตร/วัน ในปี 2552

ส่วนบริษัทน้ำมัน Pertamina ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย ได้กำหนดจะวางตลาดน้ำมันไบโอดีเซล 3 ประเภท คือ B5 (ส่วนผสมไบโอดีเซล 5%), B10 (ส่วนผสมไบโอดีเซล 10%), และ B20 (ส่วนผสมไบโอดีเซล 20%) โดยปัจจุบันได้เริ่มวางจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 ไปแล้วที่สถานีบริการน้ำมัน 4 แห่ง ในกรุงจาการ์ตา ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา

สำหรับกรณีของอินเดีย ได้มีความพยายามผลิตไบโอดีเซลจากเมล็ดสบู่ดำ (Jatropha) โดยบริษัทน้ำมันบีพีของสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้เงินสนับสนุน 380 ล้านบาท แก่สถาบันพลังงานและทรัพยากร (Energy and Resources Institute) ซึ่งตั้งในรัฐอันตรประเทศของอินเดีย เพื่อศึกษาและทดลองผลิตไบโอดีเซลจากเมล็ดสบู่ดำบนพื้นที่เสื่อมโทรม 34,000 ไร่ โดยสามารถผลิตน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำได้ 9 ล้านลิตร/ปี

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีผลผลิตทางการเกษตรน้อย นับเป็นเรื่องยากที่จะผลิตไบโอดีเซลขึ้นภายในประเทศ ก็เน้นจำหน่ายเครื่องจักร เป็นต้นว่า บริษัท Komatsu Mie ซึ่งทำธุรกิจเครื่องจักรในการก่อสร้าง ได้พัฒนาอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว โดยสามารถนำน้ำมันใช้แล้วครั้งละ 100 ลิตร มาผลิตเป็นไบโอดีเซล 80 - 95 ลิตร มีกำลังผลิตเครื่องละ 1,200 ลิตร/วัน ตั้งราคาขายเอาไว้เครื่องละ 20 ล้านเยน เริ่มวางตลาดเมื่อปี 2545 โดยกำหนดลูกค้าเป้าหมายเป็นเทศบาล โรงงานกำจัดของเสีย และโรงแรม

ขณะที่บราซิลซึ่งเป็นประเทศที่ปลูกถั่วเหลืองรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ รัฐบาลมีแผนจะบังคับให้น้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในประเทศจะต้องมีส่วนผสมของไบโอดีเซลอย่างต่ำ 2% หรือ B2 ภายในปี 2551 และเพิ่มเป็นน้ำมัน B5 ภายในปี 2558

กรณีของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสในปี 2543 รับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์ดำเนินการวิจัยและพัฒนา พร้อมให้ดำเนินการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล เพราะในช่วงนั้นมีผลผลิตปาล์มมากกว่าความต้องการของตลาด ทำให้น้ำมันปาล์มดิบมีราคาตกต่ำ เป็นผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 กำหนดให้ใช้ไบโอดีเซล B5 ทั่วประเทศในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นไบโอดีเซล B10 ในปี 2555 ซึ่งหากเป็นไปตามที่กำหนด ประเทศไทยจะต้องใช้ไบโอดีเซลเป็นจำนวนมากถึง 8.5 ล้านลิตร/วัน ดังนั้น จะต้องมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลขึ้นในประเทศไทย

สำหรับการจัดหาวัตถุดิบนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีก 5 ล้านไร่ จำแนกเป็นการปลูกภายในประเทศ 4 ล้านไร่ และการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านอีก 1 ล้านไร่ รวมถึงพัฒนาพันธุ์ปาล์มให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.7 ตัน/ไร่ เป็น 3.3 ตัน/ไร่ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาสบู่ดำเพื่อเป็นวัตถุดิบอีกทางหนึ่งด้วย

ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไบโอดีเซลหลายโครงการ เป็นต้นว่า บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด ในเครือของ ปตท. ได้รับการส่งเสริมเมื่อเดือนมีนาคม 2549 เพื่อลงทุน 7,100 ล้านบาท ในการก่อตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล 1,456,000 ลิตร/วัน กำหนดจะใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จังหวัดระยอง

ส่วนบริษัท ราชาไบโอดีเซล จำกัด ซึ่งเดิมทำธุรกิจผลิตไบโอดีเซลมานานแล้ว ตั้งกิจการที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 20,000 ลิตร/วัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือเฟอรี่ของบริษัทในเครือ คือ บริษัท ราชาเฟอรี่ จำกัด นอกจากนี้ ยังได้จำหน่ายน้ำมันส่วนที่เกินความต้องการให้แก่บริษัทน้ำมันด้วย โดยล่าสุดบริษัท ราชาไบโอดีเซล จำกัด ได้รับการส่งเสริมเมื่อเดือนเมษายน 2549 เพื่อลงทุนเพิ่มเติม 40 ล้านบาท ในการขยายกำลังผลิตอีก 80,000 ลิตร/วัน รวมเป็น 100,000 ลิตร/วัน

สำหรับบริษัท ทัพฟ้าไบโอ จำกัด ก็ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อเดือนเมษายน 2549 เช่นเดียวกัน กำหนดลงทุน 10 ล้านบาท เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ขนาดกำลังผลิต 50,000 ลิตร/วัน กำหนดตั้งโรงงานที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

สำหรับน้ำมันพืชใช้แล้วสามารถหาได้จากร้านฟาสต์ฟูดต่างๆ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โรงงานผลิตขนมกรอบ ฯลฯ โดยนโยบายเข้มงวดการใช้น้ำมันทอดซ้ำของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเพิ่มสุขภาพอนามัยของประชาชน นับว่าได้มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณวัตถุดิบจากน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลได้อีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ สำหรับประชาชนผู้สนใจ ปัจจุบันบริษัทบางจากปิโตรเลียมได้เริ่มวางจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 แล้วในสถานีบริการน้ำมันบางแห่งของบริษัท ซึ่งการใช้น้ำมันไบโอดีเซลนอกจากจะเป็นผลดีในด้านรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น