xs
xsm
sm
md
lg

การคงอยู่ของระบบการเมืองการปกครอง

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ระบบการเมืองการปกครอง (political system) ตามคำจำกัดความของ เดวิด อีสตัน (David Easton) อาจารย์ทางรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน จะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ชุมชนทางการเมือง (political community) ระบอบการปกครองบริหาร (political regime) และเจ้าหน้าที่การเมือง (political authorities) ซึ่งในความจริง 3 ส่วนนี้ก็คือการขยายความกลไกของรัฐ (state) ซึ่งเป็นการจัดตั้งเพื่อการบริหารสังคมมนุษย์ แต่เป็นการแยกให้ละเอียดลงไปเพื่อให้เข้าใจง่ายและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

เดวิด อีสตัน พยายามชี้ให้เห็นว่าระบบการเมืองการปกครองซึ่งประกอบด้วยสามส่วนนี้จะคงอยู่ได้ จะต้องได้รับการสนับสนุน (support) จากสมาชิกของคนในสังคม ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีความชอบธรรม (political legitimacy) อันได้แก่ การยอมรับโดยคนในสังคมครบถ้วนทั้งสามส่วน แต่ขณะเดียวกันบางครั้งเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นซึ่งมองได้จากการสูญเสียการสนับสนุนของคนในสังคมต่อส่วนต่างๆ ก็ย่อมจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองได้ จึงจะขอขยายความโดยสังเขปดังต่อไปนี้

ก) ชุมชนทางการเมือง (political community) คำว่า ชุมชนทางการเมือง หมายถึงหน่วยการเมืองที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยคนในสังคมแม้จะมีความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือภาษาใด ยอมรับว่าเป็นหน่วยการเมืองที่ตนต้องการให้คงอยู่ และตนต้องการเป็นสมาชิกภาพของชุมชนการเมืองนั้น ในยุคปัจจุบันหน่วยการเมืองขั้นพื้นฐานที่ปรากฏอยู่คือ รัฐชาติ (nation-state) เช่น ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ฯลฯ โดยคนในสังคมเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทยหรือเป็นคนมาเลเซียด้วยความเต็มใจ ขณะเดียวกันก็อาจมีความภูมิใจที่เป็นสมาชิกของชุมชนนั้นๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนเริ่มรู้สึกว่าการเป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองนั้นๆ ไม่เอื้ออำนวยประโยชน์ในแง่สิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมกันในทางการเมือง ความยุติธรรม และการปฏิบัติที่คำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรี การสนับสนุนต่อชุมชนทางการเมืองนั้นก็จะเริ่มสึกกร่อน เริ่มรู้สึกแปลกแยกจากชุมชนการเมืองนั้น จนบางครั้งอาจนำไปสู่ความต้องการที่จะแยกตัวเป็นชุมชนการเมืองต่างหาก เช่น กรณีอีสต์ติมอร์แยกจากอินโดนีเซีย หรือกรณีบังกลาเทศ ซึ่งแยกออกมาจากปากีสถาน

ข) ระบอบการปกครองบริหาร (political regime) ซึ่งหมายถึงระบบการเมืองที่ใช้ในการบริหารประเทศ เช่น ระบบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ระบบเผด็จการทหาร และประชาธิปไตย เป็นต้น ถ้าคนในชุมชนการเมืองให้การสนับสนุนต่อระบอบการปกครองบริหาร เช่น คนอเมริกันมีศรัทธาและเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยที่ใช้ในอเมริกามากว่า 200 ปี ระบอบการปกครองบริหารนั้นก็จะมีเสถียรภาพในแง่การสนับสนุนจากคนในชุมชนการเมือง ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คนในสังคมอาจจะสนับสนุนระบอบการปกครองบริหาร เช่น คนที่มีศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็อาจไม่ให้การสนับสนุนต่อชุมชนการเมืองถ้าตนเป็นชนกลุ่มน้อยที่เสียเปรียบ ในกรณีเช่นนี้ถึงแม้สมาชิกในสังคมนั้นจะสนับสนุนต่อระบอบการปกครองบริหาร (political regime) แต่อาจไม่ให้การสนับสนุนต่อชุมชนทางการเมือง (political community) โดยคิดจะแยกตัวไปปกครองตนเอง

ค) เจ้าหน้าที่ทางการเมือง (political authorities) ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารประเทศโดยกว้างๆ จะได้แก่ สมาชิกรัฐสภา รัฐบาล ตุลาการ และระบบราชการอันประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม หรือกล่าวง่ายๆ คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าจะพูดเฉพาะเจาะจงเจ้าหน้าที่ทางการเมืองที่เด่นที่สุดก็คือฝ่ายบริหาร อันได้แก่ รัฐบาลซึ่งมีประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ สมาชิกสังคมที่ให้การสนับสนุนต่อชุมชนทางการเมือง (political community) และระบอบการปกครองบริหาร (political regime) อาจไม่ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางการเมือง (political authorities) เนื่องจากมีผลงานไม่เป็นที่พอใจ แก้ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ไม่ได้ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คงต้องใช้วิธีรอให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อจะได้เลือกสมาชิกของพรรคอื่นมาทำหน้าที่แทนชุดเดิม ในกรณีเช่นนี้ต้องถือได้ว่าระบบการเมืองการปกครองมีเสถียรภาพพอสมควร กล่าวคือ ประชาชนยังให้การสนับสนุนชุมชนทางการเมืองระบอบการปกครองบริหาร แต่อาจจะไม่สนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางการเมือง แต่เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเริ่มไม่ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางการเมืองรวมทั้งระบอบการปกครองบริหาร ก็ต้องมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบ ในกรณีเช่นนี้การสนับสนุนต่อชุมชนทางการเมืองยังคงอยู่ และเมื่อใดก็ตามที่คนในสังคมเลิกการสนับสนุนชุมชนทางการเมืองและมีพลังพอที่จะแยกตัวออกไปก็จะกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองที่รุนแรง

มองจากกรอบการวิเคราะห์ที่กล่าวมาเบื้องต้น พอที่จะนำมาปรับวิเคราะห์กับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

ส่วนที่หนึ่ง การสนับสนุนต่อชุมชนทางการเมือง (political community) นั้นที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการแยกดินแดน เพราะนั่นคือความพยายามที่จะถอนการสนับสนุนที่มีต่อชุมชนทางการเมือง ซึ่งย่อมหมายความว่า การสนับสนุนที่มีต่อระบอบการปกครองบริหารและเจ้าหน้าที่ทางการเมืองก็จะหมดไปโดยปริยาย นอกเหนือจากนั้นความรู้สึกที่มีการแบ่งเหนือ-ใต้ (โชคดีที่ยังไม่ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง) ก็เป็นภยันตรายที่ต้องระมัดระวังเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อความแตกแยกของคนในสังคมเนื่องจากความรู้สึกเรื่องภูมิภาคนิยมที่รุนแรง ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนทางการเมือง

ส่วนที่สอง ระบอบการปกครองบริหาร (political regime) หรือระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 กำลังเป็นที่ถูกสอบถามถึงความเหมาะสมว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไปได้หรือไม่อย่างไร การพูดถึงการปฏิรูปการเมืองก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดี การพูดถึงจุดด้อยต่างๆ ของระบอบการปกครองบริหารขณะนี้ เช่น อำนาจที่เกินเลยของหัวหน้าฝ่ายบริหาร การขาดความอิสระของสมาชิกพรรคการเมือง การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม การไร้ประสิทธิภาพของการสกัดกั้นการฉ้อราษฎร์บังหลวง การละเมิดกฎหมาย และหลักนิติธรรม ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการเสื่อมศรัทธาต่อระบอบการปกครองบริหาร (political regime) ซึ่งเป็นวิกฤตทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้และจำต้องมีการแก้ไขอย่างรีบด่วน

ส่วนที่สาม เจ้าหน้าที่ทางการเมือง ซึ่งได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าได้มีความพยายามที่จะกดดันทางการเมืองให้หัวหน้าฝ่ายบริหารลงจากตำแหน่ง อันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ทางการเมืองทั้งคณะ และในขณะนี้ต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในหลักการ ความถูกต้อง ที่ต่างฝ่ายต่างถือเป็นสรณะ โดยฝ่ายที่ดำรงตำแหน่งอำนาจบริหารขณะนี้อ้างถึงความถูกต้องทางกฎหมาย (legality) ว่าเข้าสู่ตำแหน่งโดยกติกา ส่วนฝ่ายผู้ต่อต้านนั้นก็อ้างถึงการขาดความชอบธรรม (legitimacy) และธรรมแห่งอำนาจ (moral authority) ของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในขณะนี้ การสนับสนุนของสมาชิกในชุมชนการเมืองต่อเจ้าหน้าที่ทางการเมืองในขณะนี้แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายที่ยังสนับสนุนอยู่ ฝ่ายที่ถอนการสนับสนุน และฝ่ายซึ่งยืนอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะลงเอยในรูปใด แต่ที่ทราบแน่ๆ ก็คือในส่วนของชุมชนทางการเมือง (political community) นั้นแม้จะมีปัญหาเช่นในสามจังหวัดภาคใต้ แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังคงไว้ซึ่งการสนับสนุนต่อชุมชนการเมืองที่เป็นรัฐชาติที่เป็นที่รู้จักกันว่า ราชอาณาจักรไทย ส่วนการสนับสนุนต่อระบอบการปกครองบริหาร (political regime) ก็เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเงื่อนเวลาของแต่ละฝ่ายที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นต้นว่า ต้องมีการปฏิรูปการเมืองก่อนมีการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งแล้วจึงมาปฏิรูปการเมือง เป็นต้น แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทางการเมือง (political authorities) ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งฝ่ายที่ให้การสนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน โดยขณะนี้ยังไม่มีทางออกที่เด่นชัด แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เจ้าหน้าที่ทางการเมือง (political authorities) และระบบการปกครองบริหาร (political regime) ที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม (legitimacy) และธรรมแห่งอำนาจ (moral authority) ยากที่จะธำรงอยู่ได้เพราะจะขาดการสนับสนุน (support) จากสมาชิกในชุมชนการเมือง (political community) อย่างแท้จริง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากสภาพดังกล่าวข้างบนนี้ก็คือความไม่แน่ใจของตนต่ออนาคตของบ้านเมือง ความสับสนและความเครียด และความหวาดระแวงว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่การประจันหน้าที่ใช้ความรุนแรงจนนำไปสู่กลียุคหรือมิคสัญญี อาการที่แสดงออกก็คืออาการของความรู้สึกที่เย้ยหยัน ดูหมิ่นดูแคลนทางการเมือง (political cynicism) และบางคนก็เกิดความรู้สึกแปลกแยก (alienation) จากสังคม เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย (designation) และหลีกหนี (escape) โดยพยายามเลี่ยงอ่านข่าวการเมืองและพุดคุยเรื่องประเด็นทางการเมือง บางคนก็ป้องกันตัวด้วยการถอนตัว (withdrawal in self-defence) โดยหันไปทำเรื่องอื่นโดยตัดขาดจากเรื่องการเมืองโดยสิ้นเชิง

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ทำให้ระบบการเมืองการปกครอง (political system) แขวนอยู่บนความไม่แน่นอน ล่องลอยไร้จุดหมาย (in limbo) ซึ่งเป็นสภาวะที่ส่งผลในทางลบอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตของปัจเจกบุคคล ต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ต่อความศรัทธาที่มีต่อระบบการเมืองการปกครอง และต่อความเชื่อมั่นที่จะควบคุมทิศทางของอนาคตของสังคม

ที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้มิใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการวิเคราะห์อย่างวัตถุวิสัยในสายตาของผู้เขียน ซึ่งอาจเป็นการวิเคราะห์ผิดโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้แม้จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็อาจจะไม่ร้ายอย่างที่คิด ดังคำกล่าวที่ว่า “What comes is usually not half as bad as one feared” และคงจะจำได้ว่าตอนที่คนอเมริกันกำลังเกิดความไม่แน่ใจต่ออนาคตของตนเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำและมีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ประธานาธิบดีแฟรงกินส์ ดี รุสเวลท์ ได้กล่าวว่า There is nothing to fear but fear itself “ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัวนอกจากความกลัว”
กำลังโหลดความคิดเห็น