xs
xsm
sm
md
lg

ก็แค่ ซูเปอร์เหมียว รีเทิร์น

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สปีชที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต่อหน้าข้าราชการระดับสูงที่ตึกสันติไมตรีผ่านการร่าง และกลั่นกรองจากฝ่ายเสนาธิการประจำตัวทักษิณ มาอย่างดี

ประกาศชักธงรบ - เปิดศึกรอบใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนยุทธวิธี (พยายาม) พลิกจากรับสู่รุก

ซึ่งได้ผล ทำให้กระแสสังคม สื่อใหญ่น้อยพุ่งความสนใจที่ปริศนาตั
วบุคคลมากบารมี และที่สุดโฟกัสของสังคมทั้งหมดจับไปที่ตัวทักษิณทุกย่างก้าวอีกครั้ง

การกำหนดเกม (ระยะสั้นๆ) - ก็จะกลับมาอยู่ที่ทักษิณอีกครั
ทั้งหมดที่กล่าวมา แค่เกม - ไม่ใช่เนื้อหาเบื้องหลัง
..........

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า.. อยู่ที่

“รหัสคำพูด” ของทักษิณ ในอีก 2 งานถัดมา

หนึ่ง - พูดระหว่างการประชุมแผน 10 ร่วมกับสภาพัฒน์ ทักษิณบอกว่าเศรษฐกิจหากตกลึกลงไป จะต้องใช้แรงมากเป็นสองเท่าเพื่อจะฉุดขึ้นมา

สอง- รายการวิทยุเช้าวันเสาร์ ที่บอกว่า ต้องเดินทางไปบอกกล่าวกับผู้นำประเทศต่างๆ ทำนองว่าหากความไม่มั่นใจเกิดขึ้นแล้ว ยากจะรั้งให้กลับคืนมาได้ง่ายๆ

นี่เป็น “กระบวนคิด” ของคนที่ชื่อทักษิณ

กระบวนคิดดังกล่าว เป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลัง การลุกขึ้นมาชักธงรบรอบใหม่
...........

ในยุคที่เรืองอำนาจ การใช้ปากสามหาวทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามแบบไม่แยกแยะมิตรศัตรู ด่าคนไหนลิ่วล้อไล่เหยียบซ้ำ ก็เพราะเชื่อมั่นใจอำนาจของนาย ..เป็นผลสืบเนื่องกันและกัน

ยุทธวิธีหลัก ที่ใช้กับขบวนการเสื้อเหลืองสวนลุม ก็แบบนี้แหละ

ก็คือ เชื่อในพลังทัพที่ใหญ่กว่า มีอานุภาพกว่า

แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น

ผลจากความประมาท ไม่ประเมินคู่ต่อสู้ ยุทธวิธีที่ปล่อยไปเป็นผลลบสะท้อนกลับมาใส่ตัวเอง.. ก่อให้เกิดพลังต้านจากมหาชนบนท้องถนนตลอดทั้งเดือนมีนาคม

และทักษิณก็ตัดสินใจผิดครั้งสำคัญ ด้วยการชิงยุบสภาสลายม็อบ เพราะมั่นใจว่า เลือกตั้งเร็ว ยังไงก็กลับมา

หลังจากนั้นก็ใช้ กระบวนท่า สงบสยบเคลื่อนไหว

ประกาศพักงาน เก็บข้าวของจากทำเนียบ บอกว่าว่างงาน

งดให้สัมภาษณ์เรื่องท่าทีการเมือง มีบ้างก็เรื่องสัพเพเหระ ไม่เป็นโล้เป็นพาย

ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร เพราะกระแสการเมืองที่แรงๆ ก็ตกไป 5 พันธมิตรเองก็แทบหมดมุข ไม่มีประเด็นใหม่ จับเป้าใหญ่ได้ยาก ต้องหันมาเล่นเป้ารอง กกต. ไปบ้าง

แต่นั่นเอง คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

สังคมไทยมีตัวแปรมาก คนที่อยู่นอกระบอบทักษิณ ไม่ได้มีเพียงพันธมิตรฯ หรือประชาธิปัตย์ -ป๋าเหนาะ ฯลฯ เท่านั้น

การทนนิ่งปิดปากอยู่ในป้อมค่าย รักษาด่านไว้มั่น เชื่อในเสบียงกรังและอาวุธว่าเหนือกว่า รอถึงจังหวะเวลาค่อยออกไปนั้น

ส่วนดีก็มี - ส่วนเสียใช่ว่าไม่มี!!

82 วันที่ทักษิณปิดปากไม่แสดงท่าทีชัดเรื่องการเมือง แต่ดันไปเดินหน้าเปิดสุวรรณภูมิ ตั้งมหานครใหม่ เดินหน้าโครงการใหญ่ทำเงิน (แผล็บๆ) ต่อด้วย เรื่องวันเลือกตั้งที่พยายามจะดันให้กำหนดให้ได้อย่างมิบังควร หรือแม้แต่ การเคลื่อนไหวของ บรรดา ส.ว. ร่างทรง และการเคลื่อนไหวเวทีย่อยต่อเนื่องของพันธมิตร และสุดท้ายคือเรื่องยุบพรรค - แนวโน้มไม่มีเลือกตั้ง 15 ตุลาคม ฯลฯ

ล้วนแต่เป็นแรงบ่มให้สถานการณ์ใกล้ถึงจุดอับ

3 เดือนของสงครามเย็น แหลมคม กว่า 1 เดือนที่สนามหลวงและหน้าทำเนียบหลายเท่านัก

นำมาสู่ภาวะร้อนภายในป้อมค่ายไทยรักไทย

ในทางเปิด การลาออกของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ ดร.วิษณุ เครืองาม ทำให้ พรรคไทยรักไทยระส่ำระสาย จนทักษิณต้องออกมาสร้างความชัดเจนด้วยตนเอง

แต่จริงแล้ว มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น
....................

ดังที่แจ้งแล้วว่า การลาออกของ 2 เนติบริกร และปัญหายุบพรรค เป็นปัจจัยเสริมในทางเปิดเท่านั้น

ทักษิณ ตัดสินใจเปลี่ยนยุทธศาสตร์ สวมเสื้อเกราะ นำทัพด้วยท่วงทำนองแข็งกร้าวรอบนี้ มาจากปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ

หนึ่ง - ระบบราชการที่เคยเป็นกลไกหลักพยุงระบอบทักษิณ มีวัฒนธรรมฝังรากคือการรักษาตัวรอดเป็นยอดดีมาก่อน ระยะ3 เดือนที่ทักษิณเว้นวรรคปาก ทำให้ระบบราชการเว้นวรรคจาการรับใช้ไทยรักไทยตามไปด้วย และที่สุดแล้วไทยรักไทยจะไม่สามารถใช้ผู้ว่าฯ+ผู้การฯ สองประสานในจังหวัดเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่พรรคได้เหมือนเดิม ข้อมูลข่าวสารที่ไหลออกต่อเนื่องชัดเจนว่า เป็นผลลบต่อไทยรักไทย

สอง- ความเชื่อมั่นลดลง- ที่ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ส.ส. ผู้ปฏิบัติงานพรรค นายทุน รวมถึง มวลชนของพรรค ซึ่งเกี่ยวพันกับคลื่นมหาชนวันที่ 9 มิถุนายนอย่างแยกไม่อออก สืบเนื่องจากก่อนนี้ ขบวนลิ่วล้อไร้สมองออกมาโจมตีอำนาจศาล ที่ดำเนินการแก้ปัญหาตามพระราชกระแส ทำให้ภาพของระบอบทักษิณที่เป็นอยู่ (ย้ำว่า-ภาพ) เป็นภาพที่ตรงข้ามกับอำนาจศาล

เป็นรัฐบาลรักษาการไปเรื่อยๆ ทำอะไรไม่ได้ กำหนดเกมไม่ได้

สาม - ปัจจัยตัวแปรอื่น นอกเหนือจากพันธมิตรทั้ง 5 และพรรคการเมืองในระบบ ยังมีบุคคลหรือกลุ่มคนที่ห่วงใยในบ้านเมืองนั้น

เป็นกลุ่มคนที่มีอยู่จริง และอาจจะมีการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในอนาคตกันบ้างตามปกติ อย่างไรก็ตาม ด้วยพลังของการข่าวที่รัฐควบคุมอยู่ ได้รายงานการเคลื่อนไหวเข้าไป ทำให้เกิดความกังวลใจขึ้นมา

ทักษิณมักคิดเรื่องทุน จู่ๆ เว้นไป 3 เดือนทุนหายกำไรหด ลูกจ้างแตกแถว ก็กลัวห้างเจ๊ง

กระบวนคิดของทักษิณ ชัดเจนมาก - ไหลลงแล้วถ้าไม่รีบฉุด จะขึ้นได้ยาก

กระแสยุบพรรคกับ 2เนติบริกรลาออก คือตัวกระตุ้นให้เลือดไหลออกเร็วขึ้น

ปิดปากตั้งป้อมรับแบบเดิม มีแต่ตายกับตาย สู้รวบรวมไพร่พลทะลวงออกมา เผื่อสามารถพลิกจากรับเป็นรุก เป็นทางรอดมากกว่า

ทักษิณ จึงต้องตัดสินใจ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ - พร้อมกับกางตำรายุทธวิธีใหม่ขึ้นมาเล่นตั้งแต่ วันที่ 25 มิถุนายน เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
...........

เป้าหมาย- รักษาระบอบ รักษาพรรค เดินหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ สร้างเงื่อนไขระดับสากลเรื่องระบอบประชาธิปไตย ป้องกันการโค่นล้มด้วยวิธีการอื่น ให้เกิดแรงบีบจากนอกประเทศมาช่วยป้องกันไว้ด้วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ขณะเดียวกันก็ ผลักให้ฝ่ายตรงกันข้ามเป็นพวกนอกประชาธิปไตยให้ได้ ส่วนเรื่องอนาคตเลือกตั้งเสร็จค่อยตัดสินใจเรื่องอนาคตตัวเองอีกรอบ

วิธีการ -

1. สร้างภาพตนเองให้ผูกพันกับสถาบัน เพราะก่อนนี้เป็นจุดอ่อนและเป็นเป้าถูกโจมตีในประเด็นปัญหาเดียวกันมาก่อน โดยจัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันจนถึงสิ้นปี

2. จุดพลุ เรื่อง คนมากบารมี แก้ปัญหาที่พุ่งตรงมาที่ตนเอง 4 ประการ คือ ปัญหาความแคลงใจเรื่องมีคนขัดขวางกำหนดวันเลือกตั้งที่ได้ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งไปตั้งแต่ก่อน 9 มิ.ย. , ปัญหาเรื่องมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่หวังดีต่อบ้านเมืองเสนอทางออกอื่นๆ จนเริ่มเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมและในหมู่ข้าราชการทหาร , ปัญหาที่คนมากบารมีรับทราบว่าเคยมีกรณีนายทหารรุ่นหนึ่งพยายามเคลื่อนไหวเพื่อจัดการพันธมิตรรักษาอำนาจให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และไม่พอใจมาก และสุดท้ายแก้เผ็ดปมอื่นๆ ก่อนหน้าเช่นกรณีผู้ว่าฯ เถื่อน ที่ยังไม่โปรดเกล้าฯ

การพุ่งเป้าไปยังคนมากบารมีอย่างแรงแบบนี้ เป็นการตีปลาหน้าไซ-สกัดไฟแต่หัวลมไม่ให้คนใกล้ชิดคนมากบารมีออกมาเคลื่อนไหว ให้คงเหลือเฉพาะศัตรูเดิมคือ พันธมิตรฯ กับพรรคฝ่ายค้านในสนาม

และที่สำคัญ เรื่องความผิดพลาดทั้งหลายเกี่ยวกับสถาบันก่อนนี้จนทำให้ตัวเองเพลี่ยงพล้ำ จะถูกตัดตอนโยนบาปให้ตกอยู่ที่ขั้นตอนของคนมากบารมีแต่ผู้เดียว

หมากใช้วาจาพาดพิงคน ปล่อยง่าย แก้ง่าย - เพราะหากจวนตัวเข้า ก็จะบอกว่า ไม่ใช่ นาย ป. นาย ส. นาย. ว. ฯลฯ ไปเรื่อยๆ

3. การจุดพลุ เรื่องคนมากบารมี ได้ของแถมคือ สมาชิกและสังคมโดยรวมซึ่งแทบจะไม่ได้รับข่าวสารจากฝ่ายพันธมิตรฯ อยู่เดิมแล้ว จะเข้าใจว่า ทักษิณ คือ ผู้ปกป้องประชาธิปไตย และ ผลักให้ฝ่ายตรงกันข้ามทั้งหมด เป็นพวกคิดล้มล้างประชาธิปไตย นั่นคือ การสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการต่อสู้ยกต่อไปและรักษามวลชนของตนไว้

4. กระชับอำนาจ ผ่านหัวหน้าส่วนราชการ นอกจากแสดงตนว่าเป็นฝ่ายชอบธรรมแล้ว ยังเอาเรื่องการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งภายในสิ้นสิงหาคมมาล่อ

ซึ่งหมากแบบนี้มีทั้งคุณและโทษ

เล่นกับระบบราชการระหว่างที่อำนาจมากเล่นได้ แต่เล่นกับระบบราชการในช่วงที่ตัวเองยังเอาตัวไม่รอดให้ระวังไว้ ถ้าเอาคนของตัวเองขึ้นมามากๆ ระวัง ข้อมูลเน่าทั้งกระบิจะหลุดออกในช่วงกันยายน ก่อนเลือกตั้งพอดี

5. เตรียมเล่นเกมกำหนดวันเลือกตั้งอีกรอบ โดยถือว่าผู้กำหนดเกมจะได้เปรียบ ให้จับตาการขอถอนเรื่อง ทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จากสำนักราชเลขาธิการ

ยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ดูเหมือนพยายามจะพลิกจากรับเป็นรุก ที่กำลังดำเนินนี้

เนื้อแท้แล้วคือยุทธศาสตร์.. รับเป็นหลัก รุกเป็นรอง

รับแบบเดิมไม่ได้มีแต่ตายกับตาย - เลยต้องรับด้วยวิธีใหม่


เป้าหมายขั้นต่ำแรกสุด-ก่อนจะไปสู่เป้าอื่น ก็เพียงเพื่อให้ ส.ส. และองคาพยพทุกส่วนในระบอบทักษิณ มีกำลังใจ และเริ่มขับเคลื่อนเตรียมพร้อมสู่ธงการเลือกตั้งใหม่ ไม่ให้ตกดิ่งเหวไม่มากกว่าเดิม- เท่านั้นเอง

ศัตรูเดิม โดยเฉพาะพันธมิตรฯ ยังอยู่ และเคลื่อนไหวด้วยต้นทุนที่มากกว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์หลายเท่า

ส่วนกลุ่มคนที่ทักษิณมองว่าเป็นศัตรูใหม่ - ก็ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าจะฝ่อไปเพราะลมปาก

ทักษิณ เป็นคนมีกรรมติดตัวอย่างหนึ่ง หากขับเคลื่อนด้วยปากตัวเองเมื่อใดแล้ว มักจะเปิดช่องให้ศัตรูเสมอ

ประกาศตนเป็นนักประชาธิปไตย ระวังเหอะ นอกจากไม่มีใครเชื่อ เขาจะหัวเราะใส่

มารอบนี้ ทักษิณ กำลังใช้จุดอ่อนของตัวเองมาเป็นจุดแข็ง -น่าสนใจทีเดียว

ลีลาพยัคฆ์ลำพอง-ด่าคนไหนลิ่วล้อไล่เหยียบ ที่เคยใช้ได้เพราะอำนาจยังเต็มอยู่หรอก

ถึงวันนี้ มองมุมไหน ก็ไม่เห็นพยัคฆ์ลำพอง

ดูๆ ไป น่าจะเป็นลีลา ซูเปอร์เหมียว รีเทิร์น มากกว่า!!
กำลังโหลดความคิดเห็น