xs
xsm
sm
md
lg

เกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นสัตว์ประเสริฐ

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งซึ่งแตกต่างจากสัตว์อื่น แต่มนุษย์ถือตนเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ก็เนื่องจากมีการพัฒนาทางจิตใจที่ละเอียดอ่อนและสูงกว่าสัตว์ทั่วไป มนุษย์รู้จักรักเกียรติและศักดิ์ศรี รู้จักเสียสละ มีศีลธรรมและจริยธรรม มีความคิดที่เป็นนามธรรม ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงเรียกตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสัตว์อื่นซึ่งไม่ใช่มนุษย์จะไม่มีสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมเสียเลย สัตว์ที่เป็นพ่อแม่ก็จะรักและหวงแหนลูก จะทำหน้าที่ปกปักลูกน้อยของตน สิงโตจะรู้จักการแสดงอำนาจ บารมี ด้วยการส่งเสียงคำรามเพื่อให้สัตว์อื่นเกรงกลัวโดยไม่ตั้งใจที่จะทำร้าย ในฝูงลิง เช่น ลิงชิมแปนซีก็จะมีการจัดตั้งองค์กร บังคับบัญชาลดหลั่นตามลำดับ และในหมู่สุนัขป่าก็มีพิธีกรรมของการส่งมอบอำนาจด้วยการยื่นกิ่งไม้ให้อีกตัวหนึ่ง และที่สำคัญที่สุด ในส่วนของนามธรรมที่น่าชื่นชมก็คือความซื่อสัตย์ของสุนัขที่มีต่อนาย หรือความเชื่องของสิงโตที่มีต่อนายเนื่องจากได้รับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้ ชี้ให้เห็นว่าสัตว์เดรัจฉานก็มีส่วนที่ละเอียดอ่อน แต่มักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากสัญชาตญาณมากกว่าการพัฒนาอย่างแท้จริงของจิตใจ

มนุษย์ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เนื่องจากมีสมองที่สามารถใช้ตรรกได้เหนือกว่าสัตว์ มีความทรงจำที่ยาวนานกว่า แต่ขณะเดียวกันสมองที่เหนือกว่าสัตว์นั้นก็อาจส่งผลให้เกิดความคิดอันจะนำไปสู่การกระทำที่เป็นได้ทั้งบวกและลบ และเนื่องจากการแข่งขันแก่งแย่งชิงดีกันของมนุษย์ซึ่งก็มีคล้ายๆ กับสัตว์ มนุษย์ที่อยู่กันเป็นสังคมจึงมุ่งเน้นที่จะมีความได้เปรียบมนุษย์อื่น สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากมนุษย์อื่นนั้น แม็กซ์ เวเบอร์ ได้กล่าวว่ามีอยู่ 3 ตัวแปรด้วยกัน คือ wealth, status and power หรือ ทรัพย์ศฤงคาร สถานะ และอำนาจ ซึ่งตรงกับภาษาไทยคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ ลาภ หมายถึงทรัพย์ศฤงคาร ยศและสรรเสริญหมายถึงสถานะทางสังคมและอำนาจ มนุษย์จึงมุ่งเน้นที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้ โดยในตอนต้นๆ อาจจะใช้กำลังความรุนแรง จนต่อมาก็ได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อให้การแจกแจงสิ่งที่มนุษย์ต้องการที่สุด อันได้แก่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม และอำนาจ เป็นไปโดยสันติไม่ก่อให้เกิดการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ในทางรัฐศาสตร์ การวัดการพัฒนาของสังคมมนุษย์ในทางการเมืองจึงอยู่ที่หลักเกณฑ์สำคัญ คือ การสืบทอดอำนาจสามารถดำเนินไปได้อย่างสันติ

แต่มนุษย์ก็ไม่ได้จมปรักอยู่แค่ 3 ตัวแปรดังกล่าวข้างต้น วิวัฒนาการของมนุษย์จากหยาบไปสู่ความละเอียดจะนำไปถึงจุดที่มีการพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมอันสูงส่ง ซึ่งได้แก่ ศีลธรรมและจริยธรรม ประกอบด้วยการละความชั่วซึ่งสร้างความเสียหายให้กับตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสังคม และพยายามทำความดีด้วยการมีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่อนแอกว่า ดังนั้น นอกจาก 3 ตัวแปรเบื้องต้นมนุษย์เริ่มให้น้ำหนักกับตัวแปรที่เป็นนามธรรม คือ ความยุติธรรม ความถูกต้อง ศีลธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น ในปัจเจกบุคคลนั้นมนุษย์ยังพัฒนาในเรื่องของเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเกียรติและศักดิ์ศรีนี้เป็นสิ่งซึ่งได้มาจากการดำรงตนตามทำนองคลองธรรม ยกฐานะของความคิดและจิตวิญญาณให้สูงขึ้นกว่าสัญชาตญาณดิบ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการพัฒนาในส่วนที่เป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นมนุษย์จะประกอบด้วย ร่างกาย ความคิด และจิตวิญญาณ (body, mind and soul) มนุษย์ที่มีร่างกายแข็งแรง มีความคิดเฉลียวฉลาด ถ้าขาดจิตวิญญาณอาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นและต่อสังคมได้ มนุษย์ที่ขาดจิตวิญญาณสามารถจะกลายเป็นชีวภาพกึ่งมนุษย์ โดยการกระทำจะถูกกำหนดโดยสัญชาตญาณดิบของความโลภ โกรธและหลง เป็นหลัก

การมีเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ประเสริฐ จึงมิได้อยู่ที่ตำแหน่ง อำนาจ ทรัพย์ศฤงคาร เท่านั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับระดับของจิตวิญญาณอันประกอบด้วย จริยธรรมและศีลธรรมของผู้นั้นด้วย บ่อยครั้งมนุษย์ที่ไร้ความคิดและมีระดับของการพัฒนาจิตวิญญาณต่ำ จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีด้วยการฉ้อโกง เช่น ความพยายามที่จะโกงเหรียญทองกีฬาโอลิมปิก ปลอมแปลงผลงานการวิจัยของสเตมเซลล์ โกงการเลือกตั้ง ใช้เงินซื้อตำแหน่ง ซื้อปริญญา หรือพยายามรักษาสถานะตำแหน่งและอำนาจ โดยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ละเมิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยลืมคำพูดของอริสโตเติลที่ว่า “ศักดิ์ศรีมิได้อยู่ที่การได้รับเกียรติ แต่อยู่ที่สมควรได้รับเกียรตินั้นหรือไม่” (Dignity does not consist in having honors but in deserving them)

การมุ่งเน้นซึ่งการได้มาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคมและอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด ชั่วดี ขาดหิริโอตตัปปะ ขาดศีลธรรมและจริยธรรม ย่อมจะไม่ทำให้มนุษย์ผู้นั้นมีเกียรติและศักดิ์ศรี นอกเสียจากการหลอกตนเองหรือลวงโลกด้วยสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอก มนุษย์ที่มีความคิดย่อมไม่หลอกตัวเองและต้องไม่เสนอภาพพจน์ที่ไม่เป็นจริงต่อผู้อื่น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความดีความชั่วที่ได้กระทำนั้นถึงแม้ไม่มีใครรู้แต่ผีสางเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมรู้ และที่สำคัญในส่วนลึกของจิตใจตนเองย่อมรู้อยู่แก่ใจ นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ ความดีความชั่วที่กระทำขึ้นจะถูกตราไว้ในแผ่นดิน เป็นที่สรรเสริญเยินยอด้วยความเคารพยกย่อง หรือด่าทอแช่งชักหักกระดูกโดยอนุชนรุ่นหลังเพราะจะเป็นสิ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์และในความทรงจำสืบทอดต่อมาโดยคนแต่ละรุ่น

มนุษย์หลายคนที่มีตำแหน่งระดับสูง มีฐานะทางสังคมสูง และมีทรัพย์ศฤงคารอยู่ในขั้นมหาเศรษฐี ถ้าปราศจากเสียซึ่งจริยธรรมและศีลธรรมก็คือมนุษย์ที่ไม่มีจิตวิญญาณ ย่อมจะไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เสมือนหนึ่งไม่มีกระดูกสันหลัง หรืออาจจะเปรียบได้เทียบได้กับหัวหอม ถึงแม้จะลูกใหญ่โตแต่เมื่อแกะทีละชั้นจนหมดทั้งหัวจะไม่มีเมล็ดอยู่ข้างในเนื่องจากไม่มีแกนกลาง เกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นสัตว์ประเสริฐจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะตัวแปร 3 ตัวที่มนุษย์ส่วนใหญ่ใฝ่หา เพราะเมื่อใดที่ขาดจิตวิญญาณมนุษย์ผู้นั้นจะขาดความเคารพตนเองและขาดความเชื่อมั่น ขาดความองอาจ ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี

ยศสูงศักดิ์อัครฐานปานเสียบฟ้า
ทรัพย์อุดมสินโภคามหาเศรษฐี
ยอดนักปราชญ์ฉลาดกล้าวิชาดี
หากไม่มีศีลธรรมย่อมต่ำคน

ตนจะเก่งกล้ารู้กลั้นพลันคิดไกล
ปัญญาไซร้ไกลสุดหล้าฟ้าสักขี
หากขาดกฎบทจริยธรรมนำความดี
จักไม่มีเกียรติศักดิ์ศรีในแผ่นดิน

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
จากหนังสือ กุญแจความสำเร็จในชีวิต
14 มิถุนายน 2548
กำลังโหลดความคิดเห็น