xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คืออะไร และมีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างไร นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เปิดโอกาสให้ “ผู้จัดการรายวัน” ได้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไป และความคืบหน้าของการปฏิบัติตามพ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 ไว้อย่างน่าสนใจ

ก่อนอื่นขอให้ช่วยปูพื้นก่อนว่าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คืออะไร
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งลักษณะคล้ายเครื่องหมายการค้า แต่มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวโยงลักษณะพิเศษของสินค้ากับธรรมชาติ ท้องที่หรือพื้นที่และคนในชุมชน กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนมาผนวกกับทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะพิเศษของสินค้าขึ้นมา เช่น แชมเปญของฝรั่งเศส ซิก้าร์ฮาวานาของคิวบา เป็นต้น
ขณะเดียวกัน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น คือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ การคุ้มครองก็เป็นการคุ้มครองสิทธิของชุมชน ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์ จะไม่สามารถใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์กับสินค้าแบบนั้นได้

ทำไมถึงต้องมีการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
การคุ้มครองมีไว้เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น มีลักษณะพิเศษต่างไปจากสินค้าจำพวกเดียวกันที่ผลิตขึ้นจากแหล่งอื่น ซึ่งจะมีผลต่อราคา และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และยังช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาภาพพจน์สินค้าที่ผลิตจากท้องถิ่นของตน

ขอทราบเงื่อนไขการคุ้มครองต้องทำอย่างไร
สินค้าที่จะขอรับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องมีคุณภาพหรือชื่อเสียงที่สัมพันธ์กับท้องถิ่นหรือสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอนครชัยศรี โดยผู้มีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียน ต้องเป็นส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีถิ่นอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า กลุ่มผู้บริโภค หรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ถ้ามีการขึ้นทะเบียนแล้ว การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะเป็นอย่างไร
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว คนในพื้นที่สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ร่วมกัน และมีสิทธิ์ใช้ชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส่วนคนพื้นที่อื่นไม่มีสิทธิ์ใช้ เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ จะใช้ได้เฉพาะมะขามที่ผลิตได้ในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีขบวนการผลิตและการเก็บรักษาตามที่ตกลงกันไว้ หากบุคคลอื่นใช้คำดังกล่าว เพื่อแสดงหรือทำให้เกิดการเข้าใจผิด ถือเป็นการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นความผิดและต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สามารถเพิกถอนได้หรือไม่
จริงๆ แล้ว หากได้รับการขึ้นทะเบียน ก็จะได้รับการคุ้มครองตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เว้นแต่ปรากฏเหตุในภายหลังว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้ไม่สามารถคงคุณภาพต่อไปได้ หรือไม่มีการผลิตสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจร้องขอให้เพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้

ขณะนี้ไทยมีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบันกรมฯ ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว 6 รายการ เป็นของไทย 5 รายการ ได้แก่ ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ หมูย่างเมืองตรัง และกาแฟดอยตุง และต่างประเทศ 1 รายการ ได้แก่ พิสโก จากเปรู
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอีกหลายรายการ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส้มโอขาว แตงกวาชัยนาท หอยนางรมสุราษฎร์ธานี สับปะรดศรีราชา ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ครกหินอ่างศิลา จักสานพนัสนิคม และคำขอของต่างประเทศ เช่น แชมเปญ และคอญยัค ของฝรั่งเศสและบรูเนลโล ดิมอนตาลชิโน ของอิตาลี

ขอทราบความคืบหน้าการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในเวทีสากล
ขณะนี้ในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีการแบ่งการคุ้มครองไว้เป็น 2 ระดับ คือ การคุ้มครองในระดับปกติ ซึ่งจะใช้กับสินค้าทั่วไปทุกชนิด โดยมุ่งป้องกันมิให้มีการนำชื่อทางภูมิศาสตร์ไปใช้ในลักษณะที่จะทำให้สับสันหลงผิด การคุ้มครองระดับพิเศษ ใช้กับสินค้าเฉพาะไวน์และสุรา แต่ล่าสุดสมาชิก WTO หลายประเทศต้องการขยายการคุ้มครองไปยังสินค้าชนิดอื่นๆ รวมทั้งบริการ แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยได้พยายามผลักดันให้มีการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยคุ้มครองสินค้าอื่นนอกเหนือจากไวน์และสุรา โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยและไหมไทย เพราะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
ส่วนการเจรจาในเวทีการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับสหรัฐฯ หรือเอฟต้า ไทยได้ผลักดันให้มีการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสินค้าสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวไทย และไหมไทย เพื่อป้องกันผู้อื่นแอบอ้างใช้ชื่อดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น