xs
xsm
sm
md
lg

สังคมต้องมีจิตวิญญาณ

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์ในฐานะเป็นชีวภาพ จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นร่างกาย (body) และส่วนที่เป็นจิตใจ (mind) เราสามารถจะคาดการณ์ได้ว่าในระยะต้นๆ ของวิวัฒนาการ บรรพบุรุษของเราดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวที่จะให้ตัวเองรวมทั้งคนอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันอยู่รอด การที่ต้องรวมกลุ่มก็เนื่องจากความจำเป็นที่ว่า ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยก็ดี การล่าสัตว์ขนาดใหญ่ก็ดี รวมทั้งการป้องกันตนเองจากการรุกรานของมนุษย์เผ่าอื่นก็ดี จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นกลุ่ม อยู่กันเป็นชุมชน มนุษย์สมัยนั้นจะมีร่างกายที่แข็งแรงพอที่จะสู้กับสัตว์ร้าย สู้กับเผ่าพันธุ์ที่ไม่เป็นมิตร และธรรมชาติที่โหดร้ายทารุณเช่นความหนาว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ได้เปรียบสัตว์อื่นๆ เพราะมีสมองที่ดีกว่า มีความจำยาวนานกว่าและมีตรรกะการใช้เหตุผลที่สามารถที่จะคำนวณผลได้ผลเสีย รวมทั้งการดักปัญหาล่วงหน้า เพื่อจะให้ตนเองและเผ่าของตนปลอดภัย ความสามารถในการคิดเช่นนี้มีเหนือกว่าสัตว์ และนี่คือส่วนที่เป็นความคิด หรือที่เรียกว่า mind ร่างกาย (body) และความคิด (mind) อันเกิดจากการทำงานของสมองจึงเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเรามีมาเป็นเวลานานแล้ว

แต่มนุษย์ยังมีส่วนที่สามนั่นคือส่วนของจิตวิญญาณ (soul) อันประกอบด้วย ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความอาย และการรู้สึกสำนึกต่อบาป หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ส่วนที่สามนี้คงจะเกิดจากวิวัฒนาการ โดยเบื้องต้นมาจากการเล็งผลปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม การรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน และการเอื้ออำนวยความพอใจต่อกันและกัน และน่าจะใช้เวลานานพอสมควรจนสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศีลธรรมและจริยธรรมของปัจเจกบุคคลและสังคมมนุษย์ ในส่วนนี้ศาสนาและผู้นำศาสนาจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างค่านิยมที่มีผลต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ขึ้นมา เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นจนถึงจุดๆ หนึ่งมนุษย์ก็จะประกอบด้วย ร่างกาย (body) ความคิด (mind) และจิตวิญญาณ (soul)

ที่กล่าวมาเบื้องต้นในแง่ที่ว่ามนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วน หรือไตรลักษณ์ของมนุษย์ ย่อมจะมีนัยสำคัญต่อปัจเจกบุคคลและต่อสังคมโดยรวม ในแง่ปัจเจกบุคคลนั้นถ้าบุคคลๆ หนึ่งมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หน้าตาดี มีเสน่ห์ มีความสามารถและความชาญฉลาดในการคิด หรือมีความสามารถในการทำงานแก้ปัญหา ก็ต้องถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่ว่าชายหรือหญิงเป็นคนโชคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลนั้นมีร่างกายที่สมประกอบ สุขภาพแข็งแรง มีความรู้ความสามารถ เนื่องจากได้ศึกษาและฝึกอบรมมาในสถาบันการศึกษาที่ดี ก็ถือว่าบุคคลคนนั้นสมบูรณ์แล้วในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย (body) และความคิด (mind) อย่างไรก็ตาม ถ้าในส่วนที่สามคือจิตวิญญาณ (soul) ขาดหายไป บุคคลผู้นั้นก็จะขาดคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของชีวิต อันประกอบด้วย ศีลธรรม จริยธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความละอายต่อบาป ฯลฯ บุคคลที่ขาดในส่วนที่สามนี้จะกลายเป็นมนุษย์ที่บกพร่อง ขาดความสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อองค์กรและต่อสังคมที่ตนอาศัยอยู่

ด้วยเหตุนี้ ในแง่ปัจเจกบุคคล มนุษย์จึงต้องมีศีลธรรม ละอายต่อบาป มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความยุติธรรม ใฝ่ดี ไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คอยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มนุษย์ผู้นั้นจึงถือเป็นมนุษย์ที่น่าได้รับการยกย่อง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามนุษย์นั้นเป็นคนที่มีจิตใจโหดเหี้ยม เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น ใช้กำลังข่มเหงผู้อื่น หาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ด้วยกลเม็ดการโกง หาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น เช่น การคิดดอกเบี้ยแพงจากการปล่อยกู้ซึ่งเท่ากับเป็นการทำนาบนหลังคน กดค่าแรงขั้นต่ำของคนงานเพื่อจะได้กำไรมากๆ หาประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคมและการไร้ทางสู้ของคนเพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง มนุษย์เช่นนี้เป็นบุคคลที่อันตรายอย่างยิ่งและเป็นมนุษย์ที่ไม่พึงประสงค์ไม่ว่าในสังคมใด

ในแง่ขององค์กรและวิชาชีพ เช่น นักการเมือง ผู้พิพากษา นายแพทย์ ข้าราชการ ผู้สอนศาสนา นอกเหนือจากจะต้องมีศีลธรรมและคุณสมบัติต่างๆ ในฐานะปัจเจกบุคคลแล้ว ยังจะต้องมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพเพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของวิชาชีพนั้นๆ ในแง่หนึ่งการมีศีลธรรมของปัจเจกบุคคลจะเป็นพื้นฐานสำหรับการมีจริยธรรมของวิชาชีพ บุคคลซึ่งขาดศีลธรรมก็คงยากที่จะมีจริยธรรมของวิชาชีพได้

นักการเมืองซึ่งอยู่ในตำแหน่งอำนาจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะต้องรับใช้บ้านเมือง ดังนั้น จึงต้องมีจริยธรรมทางการเมืองและหลักการในการปกครองบริหาร ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลที่ว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง คือบุคคลที่อยู่ในฐานะที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคม หรืออาจจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมีผลกระทบต่อคนเป็นล้านๆ คน ด้วยเหตุนี้ ขงจื๊อจึงกล่าวว่า คนซึ่งมีตำแหน่งอำนาจจำเป็นต้องมีจริยธรรมและศีลธรรม เพราะถ้าปราศจากจริยธรรมและศีลธรรมแล้วก็อาจจะส่งผลเสียต่อการปกครองบริหารได้ ลอร์ด แอ็คตัน ได้กล่าวเตือนไว้ว่า อำนาจมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเสียคน และอำนาจเด็ดขาดจะทำให้คนเสียคนเด็ดขาดยิ่งขึ้น โดยนัยแล้วสิ่งที่จะป้องกันการลุแก่อำนาจ การใช้อำนาจหาผลประโยชน์ใส่ตัว จะต้องมีการตรวจสอบโดยกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือการมีจิตสำนึกในแง่ศีลธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ในส่วนที่เกี่ยวกับอาชีพอื่นๆ เช่น หมอ นักกฎหมาย นักธุรกิจ นักการเงินธนาคาร วิศวกร ครูบาอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และสื่อมวลชน ต่างก็มีจริยธรรมของวิชาชีพของตน เพื่อมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น แต่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งมีความพลวัตอย่างมากในการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตที่เร็วขึ้น การดำรงชีวิตที่ค่อนข้างจะหยาบโดยมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพและความรวดเร็ว มีผลให้ความละเอียดอ่อนของงานและการดำรงชีวิตอาจหายไป การฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบราชการหรือในหมู่นักการเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน การกระทำที่ผิดกฎระเบียบต่างๆ อาจจะถูกมองว่าไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่ใครจะแยแสที่จะทำการแก้ไขหรือต่อต้านประท้วงอย่างแท้จริง โดยส่วนใหญ่ถือว่านี่คือความเป็นจริงแห่งชีวิต สภาพดังกล่าวที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องอันตรายและไม่ควรจะมองแบบผ่านๆ

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในทุกสังคมที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ คนจะมีวิถีชีวิตและการทำงานที่เร็วขึ้น ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และกุลีกุจอกับการหาเงิน ทำให้ไม่สามารถจะมองสิ่งที่ละเอียดอ่อนได้ เป็นต้นว่า ศิลปะ สุนทรีย์ ศีลธรรมและจริยธรรม ในหลายสังคมบุคคลที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพจะมุ่งเน้นในการหา 3 สิ่ง นั่นคือ เงิน วัตถุ และการจับจ่ายซื้อของ กลายเป็นสังคมที่เรียกว่า เงินตรานิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม จนมีการวัดคุณค่าของคนด้วยเงินและด้วยตำแหน่งโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม รูปลักษณ์ภายนอก เช่น การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีราคาแพงจะนำมาเป็นฐานในการตัดสินและประเมินบุคคล และในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ผิวเผินมากกว่าบนเนื้อหาและความจริงจัง ในแง่องค์กรนั้นบรรษัทภิบาลและธรรมรัฐาภิบาลก็มีการอ้างเสมือนหนึ่งมนต์ตราที่ต้องนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจและบ้านเมือง แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของบริษัท เอ็นรอน เวิลด์คอม ซึ่งละเมิดต่อบรรษัทภิบาลอย่างไม่น่าเชื่อนั้นทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่เลวร้ายยิ่งขึ้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง ประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นในหมู่ประชาชน เช่น การกระทำบนพื้นฐานของความสะดวกทางการเมืองเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวก การละเมิดต่อหลักนิติธรรม การใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมาย การฉ้อราษฎร์บังหลวง การพูดถึงระบอบประชาธิปไตยในลักษณะลมๆ แล้งๆ เป็นสิ่งซึ่งได้ยินจนเบื่อ ขณะเดียวกันในสังคมก็จะพบกับข่าวที่น่าเศร้าสลด เช่น การฆาตกรรม แม่ทิ้งลูกในถังขยะ การทำแท้ง คนสูงอายุถูกลูกหลานทอดทิ้ง อดๆ อยากๆ ให้รับความยากลำบากและอยู่อย่างเดียวดาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพอันเวทนาของสังคมซึ่งพูดเสมอว่าเป็นสังคมพุทธ

คำถามที่ต้องถามคือ ในแง่ปัจเจกบุคคลนั้นศีลธรรมของเรายังอยู่ดีหรือไม่ ในแง่องค์กร จริยธรรมของวิชาชีพยังเป็นสิ่งที่อ้างได้หรือไม่ ในแง่สังคม คำถามที่สำคัญที่สุดคือ สังคมเรายังมีจิตวิญญาณอยู่หรือไม่ และถ้าเราสูญเสียจิตวิญญาณของสังคมไป คำถามคือเราจะทำอย่างไรต่อจากนี้

สังคมไทยควรจะตื่นขึ้นกับสิ่งเตือนภยันตรายที่กำลังเป็นอยู่ สิ่งที่ต้องตระหนักในขณะนี้ ได้เกิดวิกฤตแห่งชาตินั่นคือวิกฤตทางศีลธรรมและจริยธรรม จากการสำรวจเยาวชนจำนวนหนึ่ง กว่า 50 ใน 100 คิดว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องซึ่งไม่ผิดร้ายแรง และเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ นี่คือวิกฤตที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้ เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องเริ่มจากหน่วยแรกของสังคม นั่นคือครอบครัว พ่อแม่จำเป็นต้องสั่งสอนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมให้กับลูกตั้งแต่เล็กๆ วิชาเกี่ยวกับศีลธรรมและจริยธรรมของวิชาชีพจำเป็นต้องมีการสอนในสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากนั้นจะต้องมีการสร้างสถาบันของสังคมที่จะส่งเสริม และรณรงค์ประเด็นเรื่องศีลธรรม จริยธรรม บรรษัทภิบาล ธรรมรัฐาภิบาล โดยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายซึ่งต้องมีงบประมาณพอเพียงเพื่อการนี้ องค์กรศาสนาต้องถือเป็นภารกิจที่สำคัญในการร่วมแก้ปัญหา โดยจะต้องมุ่งเน้นในการสร้างศีลธรรมขึ้นในปัจเจกบุคคล และมีการพูดถึงจริยธรรมของวิชาชีพ

เราจะต้องสร้างจิตวิญญาณขึ้นมาใหม่ในสังคม มิฉะนั้นสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่เป็นอันตราย คนหลงทาง ขาดหลักเกณฑ์และหลักการของสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด ในสังคมเช่นนี้มนุษย์ไม่สามารถจะมีเกียรติและศักดิ์ศรีได้ ดังนั้น ในแง่ปัจเจกบุคคลจะต้องทำให้ทุกคนยืนตระหง่านด้วยความภูมิใจและเชื่อมั่นว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรี เพราะเป็นคนดี มีศีลธรรม มีจริยธรรม มีหลักการ ในทางการเมืองนั้นมีการพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือการปฏิรูปการเมืองโดยไม่มีการรณรงค์ให้เกิดศีลธรรมและจริยธรรมทางการเมืองนั้น การปฏิรูปย่อมประสบความล้มเหลว

การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงต้องเริ่มด้วยการปฏิรูปนักการเมือง โดยทำให้นักการเมืองมีจิตสำนึกในเรื่อง ศีลธรรม จรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรมทางการเมือง และมีจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น