xs
xsm
sm
md
lg

จับตาบล็อกโหวต ป.ป.ช. - ส.ว.สาย"แม้ว"นั่ง กมธ.สอบประวัติเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิสภามีมติตั้ง กมธ.สอบประวัติว่าที่ ป.ป.ช.ชุดใหม่ 22 คน ให้เวลาทำงาน 30 วัน จับตาบล็อกโหวตรอบใหม่ เผยเป็นส.ว.สายแม้วถึง 12 คน "สุชน"โต้"ป๋าเหนาะ"กรณีผลักดันให้ได้นั่งประธานวุฒิสภา เป็นเรื่องไร้สาระ ยันวุฒิสภาไม่มีใครสั่งได้ ขณะที่ส.ว.เสียงข้างน้อยยันมีบล็อกโหวเป็นประจำ

การประชุมสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตามมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้(26 มิ.ย.)โดยมีนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าวาระ สมาชิกต่างถกเถียงกันในประเด็นว่า จะนำข้อบังคับที่ 96 และ 97ประชุมวุฒิสภามาใช้เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 11 คน หรือจะยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 22 คน ที่มาจากคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 22 คณะ ตามประเพณีที่ทำมาตลอด

ทั้งนี้ ส.ว.ฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเว้นข้อบังคับต่างเห็นว่า ควรดำเนินการตามอดีตที่ผ่านมา โดยใช้ตัวแทนจากกรรมาธิการชุดต่างๆ เพื่อความโปร่งใส และป้องกันการบล็อกโหวตด้วย ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยให้ใช้ข้อบังคับที่ส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาของประธานวุฒิสภา ต่างอ้างว่า เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน และเป็นการประหยัดงบเบี้ยประชุม

นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกเสนอให้ทบทวนประเด็นส.ว.รักษาการ มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติบุคคลในองค์กรอิสระได้หรือไม่ โดย นายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก เห็นว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจส.ว.รักษาการสามารถแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ แต่ไม่ได้กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติได้ จึงเกรงว่าอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้ใช้เวลาถกเถียงกันกว่า 2 ชั่วโมง ในที่สุดได้มีการโหวต ด้วยเสียง 116 ต่อ 39 เสียง ให้งดเว้นข้อบังคับ โดยตั้งคณะกรรมาธิการฯชุดใหม่ จำนวน 22 คน ประกอบด้วย 1.พล.ต.ต.สาคร กิจวิริยะ 2. นางพรหมจารี รัตนเศรษฐ์ 3. นายวิศิษฏ์ เตชะธีรวัฒน์ 4.นายพา อักษรเสือ 5.พล.ต.ต.วีระ อนันตกูล 6. นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 7.พล.ต.ต.ศิริ ทิวะพันธ์ 8.นายประสิทธิ์ พิทูรย์กิจจา 9. นายคำนวน เหมาะประสิทธิ์ 10.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ 11. นายประเกียรติ นาสิมมา 12. พล.ต.ท.ทวี ทิพยรัตน์ 13.พล.ต.ต.สนาม คงเมือง 14. นายถาวร เกียรติชัยยากร 15.นายวิทยา มะเสนา 16.นายรส มะลิผล 17.นายสุนทร จินดาอินทร์ 18.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 19. ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล 20. นายอมร นิลเปรม 21. นายทองใบ ทองเปาด์ และ 22.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน จึงได้กำหนดเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

**กมธ.สายรัฐบาลเหนือ กมธ.อิสระ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในจำนวนกรรมาธิการฯทั้ง 22 คนนี้ มีถึง 12 คน ที่เป็น ส.ว.สายรัฐบาล อาทิ พล.ต.สาคร กิจวิริยะ นายวิทยา มะเสนา นายประเกียรติ นาสิมมา นายถาวร เกียรติไชยยากร นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ พล.ต.สนาม คงเมือง พล.อ.ศิริ ทิวะพันธุ์ เป็นต้น

ส่วนกรรมาธิการตรวจสอบประวัติชุดนี้มี ส.ว.สายอิสระเพียง 9 คน ประกอบด้วย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายทองใบ ทองเปาด์ นางพรหมจารี รัตนเศรษฐ์ พล.ต.ต.วีระ อนันตกูล นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายคำนวน เหมาะประสิทธิ์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม นายสุนทร จินดาอินทร์ นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ และ มรว.กำลูนเทพ เทวกุล ซึ่งสัดส่วนกรรมการที่มี ส.ว.สายอิสระจำนวนน้อยเช่นนี้อาจทำให้การบล็อกโหวต ปปช.ครั้งนี้อาจทำได้ง่ายขึ้น

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้ตนได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการอีกรอบ ก็ต้องศึกษาข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผู้สมัครอย่างละเอียด และยังไม่ทราบว่าการทำงานในกมธ.ชุดนี้จะได้ตำแหน่งอะไร เพราะครั้งที่แล้วตนกับนายทองใบ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ทั้งนี้จะต้องรอดูการประชุมกมธ.ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วัน

สำหรับมติที่ออกมาวันนี้เพื่อยกเว้นขอบังคับ ถือว่าผิดความคาดหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกระแสที่ นายเสนาะ เทียนทอง ออกมาสารภาพว่า มีส่วนในการบล็อกโหวตการเลือก ป.ป.ช.ครั้งที่แล้ว โดยสั่งการผ่านนายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา จึงทำให้การประชุมมีมติเช่นนี้ เพราะเกรงสังคมจะจับกระแสได้

**อ้างมีแค่แนะนำตัว ไม่มีใบสั่ง

ด้านนายประเกียรติ นาสิมมา หนึ่งในส.ว.ที่ถูกระบุว่าเป็น ส.ว.ขั้วรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ว.ไม่มีใครเป็นสายใครทั้งสิ้น และการคัดเลือก ป.ป.ช.ไม่ว่าครั้งไหน ก็ไม่เคยมีใบสั่ง โดยเฉพาะการคัดเลือก ป.ป.ช. ขั้นตอนในการสรรหา ส.ว.ก็ไม่ได้เป็นคนดำเนินการ มีหน่วยงานมีขั้นตอนของเขา ส.ว.ก็เป็นหน่วยงานที่จะต้องคัดเลือกคนที่ดีที่สุดตามที่มีการเสนอขึ้นมา ดังนั้นการกล่าวหาว่ามีการล็อบบี้ หรือบล็อกโหวต จึงเป็นไปไม่ได้

ขณะที่นายวิทยา มะเสนา หนึ่งใน ส.ว.ที่ถูกระบุว่า อยู่ขั้วรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธเช่นกันว่า การคัดเลือก ป.ป.ช.ไม่มีใครสามารถบล็อกโหวตได้ เพราะทุกคนก็มีความคิดเป็นของตนเอง โดยเฉพาะตนทำหน้าที่ ส.ว.ไม่เคยรับเงินหลายทาง รับเงินเดือนเพียงทางเดียว คือเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ดังนั้นก็จะต้องทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ การเข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมาการตรวจสอบประวัติ ป.ป.ช.ก็ต้องทำอย่างเต็มที่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รักษาการ ส.ว.มหาสาร ยอมรับว่าการคัดเลือก ป.ป.ช.ครั้งที่แล้วได้ผู้สมัครส่งหนังสือมาแนะนำตัวกับตนเป็นจำนวนมาก บางรายก็บรรยายสรรพคุณว่า มีคุณสมบัติอย่างไร เก่งอย่างไร ก็ได้แต่รับซองไว้แล้วนำมาเปิดอ่าน และบางครั้ง ก็มี ส.ว.ที่รู้จักกันก็พยามแนะนำว่า ให้ช่วยเลือกคนนี้หน่อย เพราะเป็นคนรู้จักกัน ก็ได้แต่พยักเพยิดไป แต่การที่จะมาล็อบบี้กันอย่างชัดเจนนั้นไม่มี ไม่เคยเห็น

**โต้"ป๋าเหนาะ”สั่งสภาทาสไร้สาระ

นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงกรณีที่ นายเสนาะ เทียนทอง ผู้ก่อตั้งพรรคประชาราช ระบุว่ามีส่วนผลักดันให้นายสุชน ได้เป็นประธานวุฒิสภาว่า ตนไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง เอาเรื่องการประชุมดีกว่า เรื่องที่ว่านี้ต้องถามนายเสนาะเอง สมัยนั้นท่านทำอะไรอยู่ อยู่พรรคไหน สมัยเลือกส.ว.ชุดนี้ยังไม่มีพรรคไทยรักไทยเลย ตนไม่มีความเห็น เป็นเรื่องของผู้สูงอายุ

"สิ่งที่พูดคงไม่กระทบต่อผม และไม่ขอตอบโต้อะไร เพราะผมเองมีวุฒิภาวะพอ และคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ"นายสุชน กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า นายเสนาะ พูดชัดเจนเรื่องการดันนายสุชน เป็นประธานวุฒิสภา นายสุชน กล่าวว่า จำไม่ได้ ต้องไปถามท่านเอง "ผมรู้จักนายเสนาะมานาน แต่นายเสนาะไม่ได้ลงคะแนนให้ผม เพราะประชาชน จ.ชัยภูมิเป็นคนลงคะแนนให้ผมเป็น ส.ว. แล้วนายเสนาะเป็นคนสระแก้ว คนสระแก้วจะมาลงคะแนนให้ผมได้ยังไง"

เมื่อถามว่า นายเสนาะ ยังระบุว่าการเลือก ป.ป.ช.ครั้งที่แล้วฝ่ายการเมืองสั่งวุฒิสภาได้ นายสุชน กล่าวว่า วุฒิสภาสั่งไม่ได้

**ยันบล็อกโหวตมีจริง

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รักษาการ ส.ว.กทม.กล่าวถึงกรณีนาย เสนาะ ที่พูดว่า ส.ว.ทำงานตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง และมีการบล็อกโหวตเป็นประจำ ว่า ที่ผ่านมาพวกตนที่เป็นเสียงข้างน้อย ก็พูดอยู่ตลอด ที่นายเสนาะ พูดก็เป็นการย้ำว่า ปรากฎการณ์ใกล้ความความจริง ซึ่งเราจะได้มาพิสูจน์กัน และไม่ใช่แค่เรื่ององค์กรอิสระเท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วใน 3-4 ปีหลัง ซึ่งถ้าสังเกตุการโหวตที่คะแนนห่างกันแบบหลุดลุ่ย ในแง่ตรรกะคงเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีการบล็อกกัน

นายดำรง พุฒตาล รักษาการ ส.ว.กทม.กล่าวถึงกรณีที่นายเสนาะ ระบุเคยจัดบล็อกโหวตในวุฒิสภา ว่า จากประสบการณ์การทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภามา 6 ปี ฟันธงได้เลยว่า การสรรหากรรมการหลายชุดมีการบล็อกโหวตแน่นอน เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่สมาชิกร้อยกว่าคนจะเลือกกรรมการเหมือนกัน เว้นก็เว้นเหมือนกัน โดยสามัญสำนึกปกติก็เห็นได้ว่า เป็นการเลือกที่ไม่ธรรมชาติ แสดงว่ามีการสั่งให้เลือกใครมาแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายประมาณ 30-40 เสียง ไม่มีการบล็อกเสียงจะกระจัดกระจายไปคนต่างๆ ไม่มีทิศทาง

"เวลาที่เหลืออยู่นี้ของ ส.ว.อยากขอร้องให้แสดงความเป็นอิสระให้เต็มที่แม้เป็นเวลาอันน้อยนิดก็ตาม ขอให้นึกถึงบ้านเมือง วงศ์ตระกูล ลูกหลานจะเอาหน้าไปไว้ไหนถ้าพ่อแม่เป็นถึงส.ว.แล้วถูกสั่งให้เลือกคนนั้นคนนี้โดยไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง หรือทำถวาย 60 ปี ในหลวงก็ได้"

นายดำรง กล่าวด้วยว่า การเลือกป.ป.ช.ครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติเพราะว่าในที่สุดแล้ว เมื่อกรรมาธิการค้นประวัติมาแล้วมาอภิปราย จะไม่มีใครฟัง เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าจะเลือกใคร ตรวจสอบไปก็ไม่มีประโยชน์ ตั้งไปก็เสียเวลาเปล่าๆ เสียค่าใช้จ่าย ค่าเครื่องบิน ค่าน้ำค่าไฟในการประชุม แถมยังเป็นช่องทางให้กรรมาธิการบางคนหาผลประโยชน์จากผู้สมัครได้

"อยากเตือนให้ระวังว่า ถ้าทำอะไรไม่ถูกต้องเมื่อทูลเกล้าฯขึ้นไปแล้ว สำนักราชเลขาธิการตีกลับมาอีก ใครจะรับผิดชอบ จะทำอะไรก็ขอให้คิดถึงในหลวงมากๆ"นายดำรง กล่าว

นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว.กทม.และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า เรื่องการบล็อกมีกันมาตลอด ครั้งที่แล้วก็มี และ ส.ว.ที่ประชุมก็บอกกันเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้เกิดการบล็อกโหวตขึ้น เพราะคนที่มีหน้าที่จะไปทำงานในองค์กรอิสระนั้นจะต้องมีความอิสระอย่างแท้จริง และต้องกล้าที่จะทำงานในหน้าที่ของตัวเอง แต่ถ้ามีการส่งสมัครพรรคพวกเข้าไป ในที่สุดองค์กรอิสระก็จะไม่เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ซึ่งตอนนี้มีองค์กรอิสระมีกี่องค์กร ที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ

"อยากฝากส.ว.ชุดนี้เลือกคนดีเข้ามา เพราะถึงเวลาที่เราจะต้องปฏิรูปการเมืองเสียที เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ยุคของการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และที่นายเสนาะ เทียนทอง แสดงความเห็นถึงการทำงานของส.ว.นั้น ผมก็อยากฝากให้ส.ว.รู้สึกว่า ตอนนี้ประชาชนมองส.ว.ชุดรักษาการอย่างไร คิดว่างานนี้อาจจะเป็นงานสุดท้ายของท่าน จึงขอให้ท่านฝากเกียรติประวัติและความศรัทธาให้กับประชาชนด้วย" นาย กล้านรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น