xs
xsm
sm
md
lg

“จีน” ประเทศน่าลงทุนอันดับ 1 ของโลก คณะทำงานส่งเสริมการลงทุนไทย-จีนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: บีโอไอ

นับตั้งแต่จีนได้เปิดประเทศสู่โลกภายนอก ก็ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมของเศรษฐกิจจีนมีขนาดประมาณ 2.23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งแม้เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แล้วจะใหญ่เพียง 20% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ตาม แต่จีนมีอัตราการเติบโตมากกว่าสหรัฐฯ เกือบ 3 เท่า ในปัจจุบันจีนได้เข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

เพราะไม่ว่าจะขยับไปในทิศทางใดก็ย่อมต้องมีผลกระ
ทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย รวมทั้งจีนยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มากมายและหลากหลายซึ่งต้องการการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ จึงทำให้จีนเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการเข้าไปลงทุนจากบริษัทข้ามชาติของโลกจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจของ JBIC (Japan Bank for International Cooperation) จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าเข้าไปลงทุนมากที่สุดของโลก

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ จีนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก ในปี 2005 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 762.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากเป็นที่สามของโลก และหากพิจารณาในภาพรวมแล้วจีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอันดับที่สามในตลาดการค้าของโลก

ในปัจจุบันนอกจากจีนจะผลิตสินค้าคุณภาพต่ำราคาถูกออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมากแล้ว รวมทั้งยังผลิตสินค้าไฮเทคที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง และที่จีนมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาออกมาจำหน่ายในตลาดโลกรวมทั้งประเทศไทย

ขณะเดียวกันความต้องการของตลาดภายในประเทศของจีนก็ยังคงเป็นแรงขับดันการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี และมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการบริโภค ราคาของสินค้าและบริการในตลาดโลกโดยเฉพาะสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต จีนจึงเป็นผู้บริโภควัตถุดิบที่สำคัญของโลก เช่น อะลูมิเนียม เหล็กกล้า ทองแดง และถ่านหินมากที่สุดในโลก รวมทั้งบริโภคน้ำมันมากเป็นที่ 2 ของโลก กล่าวได้ว่าจีนเป็นประเทศที่ทำให้สินค้าขั้นสุดท้าย (โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม) ราคาถูกลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้วัตถุดิบต่างๆ ราคาแพงขึ้น

จีนได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลกแทนที่ญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ที่ผ่านมา โดยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 853.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นจีนจึงมีเงินทุนสำรองมากมายสำหรับการพัฒนาประเทศ และพร้อมจะก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในฝั่งตะวันออกที่สามารถคานอำนาจกับยักษ์ใหญ่ฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาได้ในอนาคตในอันใกล้นี้

การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนซึ่งเริ่มต้นประมาณปลายปี ค.ศ.1978 ภายใต้นโยบาย “สี่ทันสมัย” ของเติ้งเสี่ยวผิง อันประกอบด้วย การพัฒนาทางการเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการทหาร ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรการที่จีนใช้ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแผนใหม่ในปลายปี ค.ศ.1978 เป็นต้นมา ประกอบด้วย การมุ่งเน้นการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง การให้สิทธิและเสรีภาพแก่ผู้ประกอบการเศรษฐกิจมากขึ้น และการยินยอมให้กลไกราคาเข้ามามีส่วนสำคัญในระบบตลาด

มาตรการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยวิธีการต่างๆ เช่น การลดอัตราภาษีอากรแก่บริษัทจากต่างประเทศ การปกป้องบริษัทเหล่านั้นไม่ให้ถูกเก็บค่าธรรมเนียมตามอำเภอใจ การอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุน การสร้างหลักประกันว่า ทางการจีนจะไม่เข้าแทรกแซงกิจการของบริษัทร่วมทุน เป็นต้น

การดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของจีนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมภายหลังจากที่ได้เปิดประเทศ คือ การส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมทั้งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone - SEZ’s) ขึ้นเพื่อทดลองและซึมซับเอาสิ่งใหม่ ๆ ของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจากโลกภายนอก แล้วจึงถ่ายทอดสู่ส่วนอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจจีนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จัดตั้งขึ้นทั้ง 5 ได้แก่ เซินเจิ้น (Shenzhen), ซัวเถา (Shantou), จูไห่ (Zhuhai), เซี๊ยเหมิน (Xiamen), ไห่หนาน (Hainan) และเขตให่ผู่ตง (Pudong) โดยเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ได้รับสิทธิพิเศษและสามารถบริหารงานเป็นอิสระจากรัฐบาลมณฑล โดยขึ้นตรงต่อรัฐบาลปักกิ่ง พร้อมกับการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ในการจูงใจให้มีการลงทุนหรือเกิดความร่วมมือจากต่างประเทศมากที่สุด นอกจากนั้น จีนได้กำหนดเขตเมืองท่าเปิดซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลรวม 14 แห่ง เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ

ในปี ค.ศ.1996 จีนได้ประกาศให้บริเวณแม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง บริเวณปากแม่น้ำจูเจียง และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฝูเจี้ยน เป็นเขตเศรษฐกิจเปิด เนื่องจากเห็นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสูง เช่น มีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร มีอุตสาหกรรมกระจายโดยรอบ ประชากรได้รับการศึกษาดี โดยนักลงทุนต่างชาติจะได้รับความสะดวกในการเข้าไปลงทุนในเขตเหล่านี้เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจ และเขตเมืองท่าชายฝั่งทะเล

ประมาณปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้กำหนดนโยบายการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่ด้านใน อันได้แก่ ภาคกลางและภาคตะวันตก ด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในมณฑลภาคกลางและภาคตะวันตก โดยให้มีแรงจูงใจต่างๆ เช่น แรงจูงใจทางภาษีอากร โอกาสการขายสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศแทนที่จะมุ่งเพื่อส่งออก เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมักกระจุกตัวอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและภาคใต้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อพัฒนาในประเทศให้มีความทัดเทียมกันมากขึ้น เช่น การลงทุนพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการชายฝั่งทะเลที่มีความก้าวหน้าและพัฒนามากกว่าเข้าไปลงทุนในมณฑลด้านใน เป็นต้น

ในระหว่างปี ค.ศ.2001-2005 ประเทศจีนกำหนดนโยบายให้เป็นช่วงของการพัฒนาความเจริญสู่ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแผน 10 และในระหว่างปี ค.ศ.2006-2010 ซึ่งอยู่ในช่วงแผน 11 เน้นยุทศาสตร์เชิงรุกของโดยเฉพาะในภาคกลางและเขตชนบท โดยประเทศจีนมุ่งเน้นการผลักดันให้ผู้ประกอบการจีนออกไปลงทุนนอกประเทศ โดยมีเป้าหมาย 8,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี

ปัจจุบันจีนยังคงเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศในจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2005 มีโครงการจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในจีนทั้งหมด 552,942 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 622.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศหลักที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน

ประเภทกิจการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในจีนโดยส่วนมากได้แก่ กิจการด้านการค้าปลีกค้าส่ง การทำเหมืองแร่ และกิจการด้านการผลิตในด้านต่างๆ เช่น ยานยนต์ โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์และ ICT ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของโลกจำนวนมากได้เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ด้านยานยนต์ เช่น Toyota, Honda, Nissan, Volkswagen, General Motor, Ford, Hyundai ด้านอิเล็กทรอนิกส์และ ICT เช่น NOKIA, Motorola, Ericsson, Hutchison, Siemens, SUN, Dell, IBM ด้านพลังงาน เช่น Mobil, Shell, Esso ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น Sony, Samsung, LG, NEC, GE, Panasonic, TDK, Sanyo, Mitsubishi, Toshiba ด้านการค้าปลีกค้าส่ง เช่น Walmart, Carrefour, Parkson, Metro, Mitsukoshi, Sogo, seven-eleven ด้านการเงิน เช่น Citi Corp, Standard Chartered ในด้านการเกษตร เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น Pepsi, Coca-Cola, P&G, Nestle, Amway, Mcdonald, Pizza Hut, KFC, Mr. Donut

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ สนใจเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศจีน คือ ตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนแรงงานภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งฐานวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างเพียงพอต่อการผลิต

ถึงแม้การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนจะยังมีมูลค่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในจีน แต่มีบริษัทจีนจำนวนมากที่เป็นบริษัทข้ามชาติ (Trans-national Companies : TNCs) และมีแนวโน้มในการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยในระหว่างปี 2000 - 2004 มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละมากกว่า 70% และในปี 2004 การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนมีมูลค่าประมาณ 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 93%

ทั้งนี้มีปัจจัยหลายประการที่เป็นแรงผลักดันให้บริษัทจีนออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การแข่งขันของตลาดในประเทศสูงขึ้นมากทำให้มีความต้องการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น การแสวงหากำไรหรือขยายตลาดแต่เพียงในประเทศจีนทำได้ยากขึ้น การลงทุนในต่างประเทศของจีนจึงเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศจีนสามารถขยายตลาด รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศที่เข้าไปลงทุนและสามารถลดต้นทุนลงได้

ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในต่างประเทศของจีนจะมีส่วนช่วยให้ประเทศที่เป็นสากลยอมรับจีนในแง่ของการทำธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้นแล้ว ยังมีผลให้สามารถพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้าและพื้นฐานความรู้ทางการผลิตการจัดการ รวมทั้งการเพื่อสนับสนุนการส่งออกของจีน

บริษัทข้ามชาติของจีนไม่ได้ลงทุนเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังออกไปลงทุนในในทวีปอื่นๆ ด้วย เช่น แอฟริกา ละตินอเมริกา อเมริกาเหนือ และยุโรป เป็นต้น ในปี 2004 ภูมิภาคที่ประเทศจีนเข้าไปลงทุนมากที่สุดคือ เอเชีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 54% และมีอัตราการเติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึงหนึ่งเท่าตัว รองลงมาคือ ลาตินอเมริกา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32% ส่วนการลงทุนของจีนในทวีปแอฟริกาถึงแม้จะมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของจีน แต่เมื่อพิจารณาในด้านการเติบโตแล้วเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด กล่าวคือเพิ่มขึ้นถึง 324% จากปี 2003

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น