xs
xsm
sm
md
lg

‘เพื่อสังคม’ แท้หรือเทียม

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

“ความรับผิดชอบต่อสังคม” เป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงมากขึ้น ควบคู่มากับข่าวถูกจับได้และเปิดโปงของธุรกิจที่ “เอาแต่ได้” โดยสร้างผลเสียให้สังคมหรือทำลายสิ่งแวดล้อม

ในวงการตลาดหุ้นก็เคยเจอพฤติกรรม เช่น การทำบัญชีสร้างตัวเลขให้มีกำไรดี การใช้ข้อมูลวงในซื้อขายหุ้นเอาเปรียบคนทั่วไป

รวมทั้งกรณีอื้อฉาวที่การขายหุ้น “ชินคอร์ป” ให้กองทุนสิงคโปร์มูลค่า 73,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการยอกย้อนซ่อนเงื่อน แล้วใช้ช่องทางผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อไม่ต้องเสียภาษี

เพราะบทบาทของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวข้อมูลให้ได้รับรู้แนวคิด และพัฒนาการขององค์กร ช่วยให้สังคมได้รับรู้ เรียนรู้ และเปรียบเทียบแยกแยะได้ว่าองค์กรธุรกิจที่ดี และไม่ดีนั้นเป็นอย่างไร

แน่นอนครับ บริษัทที่ทำธุรกิจการค้าแบบไม่มีคุณธรรม ผลิตหรือขายของคุณภาพต่ำแล้วโฆษณาเกินจริง ประชาชนก็ถูกหรอกซื้อถูกเอาเปรียบ เพราะได้รับสิ่งที่ไม่คุ้มค่าเงินที่จ่าย

แม้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. แต่บางครั้งผู้บริโภคก็ไม่รอการจัดการของ สคบ.จึงมีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนบ้าง หรือจัดการประท้วงเองเพื่อเปิดโปงให้ประชาชนรับรู้จากการเสนอข่าวของสื่อ

ขนาดถึงขั้นทุบรถยนต์และติดป้ายประจานก็มีมาแล้วหลายยี่ห้อซึ่งก็ได้ผล เพราะบริษัทรถยนต์เห็นว่ายื้อไปก็ไม่คุ้มกับการเสียชื่อ

จนบางยี่ห้อเรียกให้ผู้ซื้อนำรถกลับไปให้ตรวจแก้หรือเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างที่พบว่ามีปัญหา

นี่เป็นการแสดงความรับผิดชอบแบบหนึ่งด้วยการชิงป้องกันก่อน โดยลูกค้าไม่ได้ร้องขอ ก็กลับได้รับความชื่นชม

วงการธุรกิจยุคใหม่จึงเพิ่มความสนใจกับหลักความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR มากขึ้น

เพราะสังคมจับตาและคาดหวังให้กิจการต่างๆ ไม่ใช่มุ่งแสดงความสามารถหรือ “ความเก่ง” ในการขยายตลาด เพิ่มกำไร แต่ต้อง “มีคุณธรรม” มีความถูกต้อง โปร่งใส เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

การทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ก็จะเกิดภาพลักษณ์ที่ดี สังคมอยากคบค้าด้วย

ยิ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากมีภาพลักษณ์ที่ดี ก็เพิ่มความน่าเชื่อถือสำหรับนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้บรรดาบริษัทจดทะเบียนบริหารอย่างมีหลักธรรมาภิบาลซึ่งที่นี่เรียกว่า “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (Corporate Governance) หรือ CG ก็เพื่อให้มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียคือผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกค้า คู่ค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงถือว่าความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG)

แต่จากผลการวิจัยเรื่อง “การพัฒนา CSR ในองค์กรธุรกิจ” ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันไทยพัฒนาสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR นั้น ในอดีตมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้เกิดประโยชน์กับธุรกิจโดยตรง

แต่เมื่อสังคมยุคข่าวสารผู้บริโภคตื่นตัวในการรักษาผลประโยชน์ของตัวมากขึ้น บริษัทชั้นนำของไทยหลายแห่งจึงประกาศตัวให้ความสำคัญกับกิจกรรม CSR

เพียงแต่ว่าเป็น “ของแท้” หรือ “ของเทียม”

ถ้าเป็น CSR “ของแท้” จะต้องเกิดจากจิตสำนึกของผู้บริหาร และเป็นความสมัครใจในการกำหนดแนวทางธุรกิจ

ผู้บริหารต้องมีความจริงใจว่า จะทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นหลัก สิ่งที่ทำนั้นอาจไม่มีผลต่อยอดขายหรือผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจเฉพาะหน้าเลยก็ได้

แต่ CSR “ของเทียม” จะทำเพราะเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะตามมาหรือเห็นว่า “จำเป็น” หรือสังคมเรียกร้องกดดันให้ทำหรือเพราะกฎระเบียบ

ไหนเลยจะเทียบได้กับการสมัครใจทำ เนื่องเพราะการสะสมความดีจากภายในเพราะใส่ใจสังคม เมื่อภาพลักษณ์ดีสังคมก็พร้อมสนับสนุนร่วมมือ

ตัวอย่างที่เห็นบทบาทต่อชุมชน และสังคมวงกว้างก็คือ “โครงการผู้จัดการสุขภาพ” ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ใช้อาคารอนุรักษ์ตรงข้ามบ้านพระอาทิตย์เป็นที่ดำเนินงานอย่างแข็งขันมาหลายปี

โครงการนี้มิได้ทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแต่อย่างใด แต่มุ่งให้บริการประชาชนในด้านความรู้ และการฝึกอบรมเพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดี

มีหลักสูตรการฝึกปฏิบัติหลายลักษณะ มีการบรรยายธรรม การบรรยายเกี่ยวกับศาสตร์แพทย์ทางเลือก โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกสัปดาห์และทุกเดือน รวมทั้งการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบริการ

นั่นก็คือ กิจกรรมที่ทำด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของเครือผู้จัดการ

ทำนองเดียวกับองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายแห่งที่มีแนวทางนี้ เช่น บริษัท ไทยประกันชีวิตมีโครงการ “ประกันชีวิตทหาร” ซึ่งเป็นกรมธรรม์พิเศษที่ช่วยบริหารการเงินช่วยเหลือครอบครัวทหารที่ประสบภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยที่เงินสินไหมปีใดต่ำกว่าจำนวนเงินเบี้ยประกันที่กองทัพจ่าย ทางบริษัทจะบริจาคคืนให้กองทัพ

โครงการ “หนึ่งคนให้ หลายคนรับ” ที่ไทยประกันชีวิตช่วยเหลือสภากาชาดไทยรณรงค์ให้คนบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมก็น่าชื่นชม

ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ นักบัญชีก็จะบอกว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” แต่มองในมิติใหม่เรียกว่า การลงทุนด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility Investment) หรือ SRI ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร

แต่สำหรับธุรกิจที่อ้างว่าทำเพื่อสังคม หากมีผลประโยชน์เชิงธุรกิจกลับมา มันก็เป็น “การตลาดเพื่อสังคม” (Social Marketing) ที่ใช้สังคมมาเป็นประเด็นเพื่อทำการตลาด

เหมือนนักการเมืองที่อ้างว่า ทำเพื่อสังคม แต่จะเห็นได้ว่าเป็น “CSR เทียม”
กำลังโหลดความคิดเห็น