ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
มนุษย์ที่อยู่ในสังคมยุคปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยที่ดำรงตำแหน่งในการบริหารในภาครัฐหรือภาคสาธารณะ หรือภาคเอกชน โดยบุคคลเหล่านี้จะมีภูมิหลังทางครอบครัวที่ต่างกัน และก็มีข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเหล่านี้แม้จะเป็นตำแหน่งเดียวกันก็จะแตกต่างกันในแง่ความนิยมชมชอบ การให้ความยอมรับ การให้ความเคารพนับถือ ฯลฯ หรือที่เรียกกันรวมๆ ว่าบารมี แตกต่างกัน ไตรลักษณ์คือ สถานะ ตำแหน่ง และบารมี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อจะใช้เป็นกรอบของการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาในสังคม รวมทั้งเพื่อความเข้าใจถึงระบบและสถาบันต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในภาคส่วนต่างๆ
สถานะของมนุษย์ย่อมแตกต่างกัน ในแง่กายภาพจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความสูงความต่ำ รูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ น้ำเสียง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนของธรรมชาติ และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างทางกายภาพนี้อาจจะส่งผลถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการดำรงตำแหน่งในสังคมในบางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรบางองค์กร เช่น องค์กรที่เป็นธุรกิจนั้นอาจจะมองหาบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะดีมาดำรงตำแหน่งในฝ่ายที่ต้องติดต่อลูกค้า หรือในองค์กรที่ต้องใช้คนรูปร่างสูงใหญ่มาทำหน้าที่ก็อาจจะไม่ยินดีรับบุคคลซึ่งมีรูปร่างเล็กมาดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น เรื่องของกายภาพเป็นเรื่องของรูปธรรมนามธรรม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมและอารมณ์ของมนุษย์ ไม่มีใครสามารถจะแก้ไขความอ่อนด้อยในส่วนนั้นได้ ทางเลือกของปัจเจกบุคคลคือต้องหาตำแหน่งหรือประกอบวิชาชีพที่กายภาพไม่เป็นอุปสรรค
แต่ความแตกต่างที่นอกเหนือจากกายภาพนั้นก็คือสถานะของปัจเจกบุคคล อันประกอบด้วย 5 ประการดังต่อไปนี้ คือ
วัยวุฒิ ซึ่งได้แก่อายุและความอาวุโส อายุหมายถึงอายุทางชีวภาพ ความอาวุโสเช่น ดำรงตำแหน่งงานมาเป็นเวลานานกว่าบุคคลอื่น แม้จะมีวัยวุฒิทางชีวภาพน้อยกว่า วัยวุฒิทางชีวภาพจะถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่บ่อยครั้งก็จะเกี่ยวพันกับความอาวุโสในองค์กรด้วย เพราะคนที่มีอายุสูงก็มีโอกาสอยู่ในองค์กรนานกว่าคนที่เข้ามาในองค์กรใหม่ๆ ในสังคมตะวันออกวัยวุฒิยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสังคมตะวันตกโดยที่ตัวแปรเรื่องอายุไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าที่การงาน แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณี ตัวอย่างของความสำคัญของวัยวุฒิและความอาวุโส เช่น มีนักการเมืองบางท่านที่มีความสามารถ มีความรู้ แต่อาจจะด้อยในแง่วัยวุฒิ และส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นในแง่ความอาวุโส ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการยอมรับของคนในสังคม
คุณวุฒิ หมายถึงความรู้ซึ่งเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษา ผนวกกับประสบการณ์จากการทำงานโดยเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่เรียกว่าผ่านงานมามาก ดังนั้น ถ้าหากมีระดับการศึกษาสูง มีประสบการณ์มาก และมีระยะเวลาของการทำงานนาน ที่เรียกว่าอาวุโส ก็จะกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคลนั้น คือมีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ
ชาติวุฒิ ซึ่งได้แก่สถานภาพโดยกำเนิด เป็นต้นว่า สืบเชื้อสายเจ้าหรือเชื้อสายตระกูลขุนนางเก่าแก่ หรือเป็นลูกหลานของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมที่เคยทำคุณงามความดีให้แก่แผ่นดิน ส่วนใหญ่จะดูจากนามสกุล ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติวุฒิจะเป็นผลบวกกับบุคคลที่เป็นผู้สืบสันดานเช่นลูกหลานของตระกูลขุนนางเก่าแก่ เนื่องจากบางครั้งจะได้รับการยอมรับเพราะเป็นที่รู้จักมากกว่าบุคคลที่มีพื้นเพและภูมิหลังทางครอบครัวธรรมดา อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของชาติวุฒิได้ลดน้อยลงในระบบที่มุ่งเน้นความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณวุฒิ ผู้ซึ่งมาจากครอบครัวที่ดีแต่ถ้าระดับการศึกษาไม่สูงเมื่อเทียบกับคนที่มาจากภูมิหลังครอบครัวธรรมดาแต่มีคุณวุฒิสูงกว่า และมีอาวุโสทางการงานมากกว่า ก็ย่อมจะไม่มีความได้เปรียบอันเนื่องมาจากตัวแปรเรื่องชาติวุฒิ
ธนวุฒิ ได้แก่ การมีทรัพย์สินเงินทองจากการประกอบธุรกิจและการค้าขายโดยสุจริต การเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือการรับมรดก ธนวุฒิจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อการใช้ทรัพย์สินเงินทองดังกล่าวเพื่อการดำรงชีวิต ทำให้ครอบครัวมีความสุขตามอัตภาพ และที่สำคัญจะต้องใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการกุศล การสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพย์สินเงินทองที่ชาญฉลาด และในกรณีของการทำธุรกิจที่มีลูกจ้างอยู่ในความดูแล ก็ควรจะมีจิตใจเมตตาเผื่อแผ่ดูแลให้เขาอยู่ดีกินดี นำส่วนกำไรมาเฉลี่ยและปันผลเพื่อให้เป็นแรงจูงใจในการทำงาน ธนุวฒิจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคมและช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
ธรรมวุฒิ คำนี้เป็นคำใหม่ที่ผู้เขียนคิดขึ้นเอง หมายถึงการมีคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรมของปัจเจกบุคคล กล่าวคือ บุคคลที่เป็นที่ทราบกันว่าเป็นคนดี เป็นคนธรรมะธัมโม มีความยุติธรรม ไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องส่วนตัว ในเรื่องการทำงาน พูดจามีเหตุมีผลสมเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหา มีวุฒิภาวะที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี คือบุคคลที่มีธรรมวุฒิเพราะเป็นคนธรรมะธัมโม เป็นประธานองค์กรพุทธศาสนา นอกเหนือจากคุณวุฒิโดยจบการศึกษาจากอังกฤษ ความอาวุโส ได้แก่ เป็นประธานศาลฎีกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี นอกจากนั้นยังมาจากครอบครัวที่เป็นขุนนางเก่าแก่โดยบิดาเป็นขุนนางระดับสูงของแผ่นดิน และอาจารย์สัญญาก็มีฐานะในทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับดี ก่อนการถึงอสัญกรรมของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คือบุคคลที่ประกอบด้วย คุณวุฒิ วัยวุฒิ ชาติวุฒิ ธนวุฒิ และธรรมวุฒิ
ที่กล่าวมาเบื้องต้นคือสถานะของบุคคล บุคคลที่มีสถานะในทางบวกดังกล่าวนั้นย่อมมีโอกาสที่จะดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ในสังคม ตำแหน่งที่สำคัญในสังคมนั้นมาจาก 3 แหล่ง แหล่งที่หนึ่ง คือตำแหน่งของภาคราชการ เริ่มตั้งแต่องค์พระประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหารและรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา เป็นต้น ข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ตุลาการ รัฐวิสาหกิจ อันได้แก่ตำแหน่งในระบบราชการ ตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งสาธารณะ เช่น นายกสมาคมต่างๆ เช่น นายกสมาคมสตรีอาสาสมัคร นายกสมาคมทหารผ่านศึก นายกสมาคมกีฬา กรีฑา และการกุศลอื่นๆ ประธานมูลนิธิ ฯลฯ ในกรณีของศาสนานั้นคาบเกี่ยวระหว่างตำแหน่งที่เป็นราชการและตำแหน่งที่เป็นสาธารณะ ตำแหน่งในแหล่งที่สามได้แก่ตำแหน่งภาคเอกชน ได้แก่ ธุรกิจเอกชน บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมตลอดทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่กล่าวมาคือรายละเอียด ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง หรือผสมกันหลายข้อในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของบุคคล เช่น จะต้องมีคุณวุฒิ และบางตำแหน่งต้องมีวัยวุฒิด้วย กล่าวคือ ต้องมีประสบการณ์ มีความอาวุโสพอ และบางตำแหน่งก็อาจจะพิจารณาถึงภูมิหลังทางครอบครัวด้วย และในบางตำแหน่งก็ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกลาง ซึ่งได้แก่ธรรมวุฒิ
จากสถานะและตำแหน่งก็มาถึงส่วนที่สำคัญยิ่งคือบารมี คำว่าบารมีมีการกล่าวถึงบ่อยครั้งโดยผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจความหมาย แต่ถ้าจะเพียรพยายามอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก บางครั้งก็พยายามใช้ศัพท์อังกฤษ คือ charisma มาอธิบาย ซึ่งเป็นศัพท์มาจากภาษาละติน หมายถึงบุคคลที่สามารถดึงดูดคนอื่นให้เลื่อมใสโดยเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ คำว่าบารมีสูงกว่า charisma บารมีหมายถึงการเป็นที่ยอมรับ เป็นที่เคารพนับถือ นิยมชมชอบ และศรัทธา โดยเชื่อในคุณความดีของบุคคลผู้นั้น และมีความไว้วางใจที่จะให้บุคคลผู้นั้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ความนิยมชมชอบและชื่นชมอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นความศรัทธาสูงสุดจนถึงขั้นเคารพและบูชาได้
บารมีของปัจเจกบุคคลจะเกิดจาก 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะต่างๆ ที่กล่าวมา 5 สถานะ คือ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ชาติวุฒิ ธนวุฒิ และธรรมวุฒิ จะเป็นฐานสำคัญของบารมีของปัจเจกบุคคล แต่บารมีจะสูงส่งยิ่งขึ้นเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงในสังคม เช่น ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นประธานศาลฎีกา เป็นประธานรัฐสภา เป็นรัฐมนตรี เป็นประธานบรรษัทใหญ่ ฯลฯ ตำแหน่งหน้าที่การงานจะมีส่วนผลักดันให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ เป็นที่รู้จักและมีโอกาสในการทำผลงาน ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงจะสามารถสร้างสมบารมีได้จนถึงระดับหนึ่ง
แต่บุคคลที่จะมีบารมีอย่างแท้จริงจะขึ้นอยู่กับสองส่วนด้วยกัน คือในส่วนของการกระทำอันได้แก่ผลงาน ซึ่งจะต้องมาจากคุณวุฒิ วัยวุฒิ ในส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นธรรมวุฒิ อันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ จริงจัง อุทิศชีวิตความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ไม่ด่างพร้อยในพฤติกรรมส่วนตัว มีคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรมเป็นที่ปรากฏ สร้างสมคุณงามความดีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ก็จะทำให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นบุคคลที่มีบารมีอย่างสูงส่ง ดังนั้น บารมีที่มาจากสถานะบวกตำแหน่ง และการกระทำผสมผสานกับคุณสมบัติในส่วนของธรรมวุฒิของผู้ดำรงตำแหน่ง ก็จะกลายเป็นบารมีที่สมบูรณ์
แต่จะมีกรณีซึ่งคนบางคนอาจจะดำรงตำแหน่งที่สำคัญ แต่เนื่องจากขาดคุณวุฒิ ขาดวัยวุฒิซึ่งได้แก่ขาดวุฒิภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดธรรมวุฒิ ก็อาจจะเป็นบุคคลที่มีอำนาจเนื่องจากตำแหน่งนั้นแต่จะไม่มีบารมี จนมีการกล่าวว่า “นาย ก. มีอำนาจ แต่ไม่มีบารมี” บารมีจึงไม่ได้เกิดจากการดำรงตำแหน่งแต่อย่างเดียว ผลที่สุดแล้วการมีบารมีของบุคคลจะขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและผลงาน ผสมผสานคุณงามความดีที่มีพื้นฐานจากศีลธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต การอุทิศชีวิตและการเสียสละเพื่อผู้อื่น คนที่ไม่มีบารมีอย่างแท้จริงเมื่อหลุดจากตำแหน่งก็จะไม่มีใครทักทายปราศรัย หรือคบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นเพียงบารมีชั่วคราวอันเกิดขึ้นระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ตรงกันข้าม คนบางคนแม้จะออกจากตำแหน่งแล้วคนก็ยังเคารพกราบไหว้ด้วยความชื่นชม เพราะบุญบารมีที่ได้สร้างสมไว้จนติดตัวผู้นั้น คนที่มีสถานะสูง เช่น คุณวุฒิสูงแต่มีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ทรยศต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แม้จะดำรงตำแหน่งระดับสูงคนก็จะรังเกียจไม่ให้ความเคารพนับถือ บุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นคนที่ไม่มีบารมี แม้จะมากด้วยความรู้หรือคุณวุฒิ และตำแหน่งหน้าที่การงานก็ตาม หรือในกรณีคนที่มีฐานะร่ำรวยจากมิจฉาชีพ จากการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนกลายเป็นเศรษฐีมีธนวุฒิแต่ก็จะไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง และย่อมจะไม่มีบารมี
สถานะ ตำแหน่ง และบารมี เป็นเรื่องที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอย่างถึงแก่น มิฉะนั้นอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดๆ ที่ว่า เมื่อมีตำแหน่งอำนาจแล้ว บารมีก็จะเกิดขึ้นเอง ซึ่งอาจเป็นจริงเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่บารมีที่แท้จริงย่อมเกิดจากผลงานและการกระทำผนวกกับธรรมวุฒิของบุคคลผู้นั้นเป็นหลัก
มหาชนเป็นเรือนแสนเรือนล้าน และเป็นสิบๆ ล้าน ที่น้ำตาคลอเบ้าด้วยความปลื้มปีติและตื้นตันใจในงานฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระภัทรมหาราช จะอธิบายด้วยเหตุผลใดไม่ได้เลยนอกเสียจากพระบารมีอันยิ่งใหญ่ขององค์พระประมุข ซึ่งเกิดจากสถานะของการเป็นเลือดขัตติยาแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอันประกอบด้วยประชากร 65 ล้านคน แต่ที่สำคัญที่สุด พระบารมีอันเปี่ยมล้นซึ่งเกิดจากพระราชกรณียกิจและพระจริยาวัตรอันงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทรงงาน ทรงอาบพระเสโทต่างวารี เพื่อความผาสุกของพสกนิกร โดยเห็นได้จากโครงการพระราชดำริเป็นพันๆ โครงการบนพื้นฐานของความรู้และปัญญา รวมตลอดทั้งโครงการพระราชกุศลจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรและเป็นแนวทางการดำรงชีวิตตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” และที่สำคัญคือการที่ทรงธำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเพื่อความเจริญของบ้านเมืองและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ตามพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” องค์พระประมุขจึงเปี่ยมด้วยพระบารมีอันเกิดจากชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ธนวุฒิ และธรรมวุฒิ องค์พระประมุขจึงทรงเป็นพระมงกุฎของชาติไทยและทรงเป็น “พ่อหลวงของคนไทยทั้งแผ่นดิน”
ราชบัณฑิต
มนุษย์ที่อยู่ในสังคมยุคปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยที่ดำรงตำแหน่งในการบริหารในภาครัฐหรือภาคสาธารณะ หรือภาคเอกชน โดยบุคคลเหล่านี้จะมีภูมิหลังทางครอบครัวที่ต่างกัน และก็มีข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเหล่านี้แม้จะเป็นตำแหน่งเดียวกันก็จะแตกต่างกันในแง่ความนิยมชมชอบ การให้ความยอมรับ การให้ความเคารพนับถือ ฯลฯ หรือที่เรียกกันรวมๆ ว่าบารมี แตกต่างกัน ไตรลักษณ์คือ สถานะ ตำแหน่ง และบารมี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อจะใช้เป็นกรอบของการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาในสังคม รวมทั้งเพื่อความเข้าใจถึงระบบและสถาบันต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในภาคส่วนต่างๆ
สถานะของมนุษย์ย่อมแตกต่างกัน ในแง่กายภาพจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความสูงความต่ำ รูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ น้ำเสียง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนของธรรมชาติ และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างทางกายภาพนี้อาจจะส่งผลถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการดำรงตำแหน่งในสังคมในบางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรบางองค์กร เช่น องค์กรที่เป็นธุรกิจนั้นอาจจะมองหาบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะดีมาดำรงตำแหน่งในฝ่ายที่ต้องติดต่อลูกค้า หรือในองค์กรที่ต้องใช้คนรูปร่างสูงใหญ่มาทำหน้าที่ก็อาจจะไม่ยินดีรับบุคคลซึ่งมีรูปร่างเล็กมาดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น เรื่องของกายภาพเป็นเรื่องของรูปธรรมนามธรรม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมและอารมณ์ของมนุษย์ ไม่มีใครสามารถจะแก้ไขความอ่อนด้อยในส่วนนั้นได้ ทางเลือกของปัจเจกบุคคลคือต้องหาตำแหน่งหรือประกอบวิชาชีพที่กายภาพไม่เป็นอุปสรรค
แต่ความแตกต่างที่นอกเหนือจากกายภาพนั้นก็คือสถานะของปัจเจกบุคคล อันประกอบด้วย 5 ประการดังต่อไปนี้ คือ
วัยวุฒิ ซึ่งได้แก่อายุและความอาวุโส อายุหมายถึงอายุทางชีวภาพ ความอาวุโสเช่น ดำรงตำแหน่งงานมาเป็นเวลานานกว่าบุคคลอื่น แม้จะมีวัยวุฒิทางชีวภาพน้อยกว่า วัยวุฒิทางชีวภาพจะถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่บ่อยครั้งก็จะเกี่ยวพันกับความอาวุโสในองค์กรด้วย เพราะคนที่มีอายุสูงก็มีโอกาสอยู่ในองค์กรนานกว่าคนที่เข้ามาในองค์กรใหม่ๆ ในสังคมตะวันออกวัยวุฒิยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสังคมตะวันตกโดยที่ตัวแปรเรื่องอายุไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าที่การงาน แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณี ตัวอย่างของความสำคัญของวัยวุฒิและความอาวุโส เช่น มีนักการเมืองบางท่านที่มีความสามารถ มีความรู้ แต่อาจจะด้อยในแง่วัยวุฒิ และส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นในแง่ความอาวุโส ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการยอมรับของคนในสังคม
คุณวุฒิ หมายถึงความรู้ซึ่งเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษา ผนวกกับประสบการณ์จากการทำงานโดยเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่เรียกว่าผ่านงานมามาก ดังนั้น ถ้าหากมีระดับการศึกษาสูง มีประสบการณ์มาก และมีระยะเวลาของการทำงานนาน ที่เรียกว่าอาวุโส ก็จะกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคลนั้น คือมีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ
ชาติวุฒิ ซึ่งได้แก่สถานภาพโดยกำเนิด เป็นต้นว่า สืบเชื้อสายเจ้าหรือเชื้อสายตระกูลขุนนางเก่าแก่ หรือเป็นลูกหลานของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมที่เคยทำคุณงามความดีให้แก่แผ่นดิน ส่วนใหญ่จะดูจากนามสกุล ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติวุฒิจะเป็นผลบวกกับบุคคลที่เป็นผู้สืบสันดานเช่นลูกหลานของตระกูลขุนนางเก่าแก่ เนื่องจากบางครั้งจะได้รับการยอมรับเพราะเป็นที่รู้จักมากกว่าบุคคลที่มีพื้นเพและภูมิหลังทางครอบครัวธรรมดา อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของชาติวุฒิได้ลดน้อยลงในระบบที่มุ่งเน้นความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณวุฒิ ผู้ซึ่งมาจากครอบครัวที่ดีแต่ถ้าระดับการศึกษาไม่สูงเมื่อเทียบกับคนที่มาจากภูมิหลังครอบครัวธรรมดาแต่มีคุณวุฒิสูงกว่า และมีอาวุโสทางการงานมากกว่า ก็ย่อมจะไม่มีความได้เปรียบอันเนื่องมาจากตัวแปรเรื่องชาติวุฒิ
ธนวุฒิ ได้แก่ การมีทรัพย์สินเงินทองจากการประกอบธุรกิจและการค้าขายโดยสุจริต การเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือการรับมรดก ธนวุฒิจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อการใช้ทรัพย์สินเงินทองดังกล่าวเพื่อการดำรงชีวิต ทำให้ครอบครัวมีความสุขตามอัตภาพ และที่สำคัญจะต้องใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการกุศล การสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพย์สินเงินทองที่ชาญฉลาด และในกรณีของการทำธุรกิจที่มีลูกจ้างอยู่ในความดูแล ก็ควรจะมีจิตใจเมตตาเผื่อแผ่ดูแลให้เขาอยู่ดีกินดี นำส่วนกำไรมาเฉลี่ยและปันผลเพื่อให้เป็นแรงจูงใจในการทำงาน ธนุวฒิจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคมและช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
ธรรมวุฒิ คำนี้เป็นคำใหม่ที่ผู้เขียนคิดขึ้นเอง หมายถึงการมีคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรมของปัจเจกบุคคล กล่าวคือ บุคคลที่เป็นที่ทราบกันว่าเป็นคนดี เป็นคนธรรมะธัมโม มีความยุติธรรม ไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องส่วนตัว ในเรื่องการทำงาน พูดจามีเหตุมีผลสมเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหา มีวุฒิภาวะที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี คือบุคคลที่มีธรรมวุฒิเพราะเป็นคนธรรมะธัมโม เป็นประธานองค์กรพุทธศาสนา นอกเหนือจากคุณวุฒิโดยจบการศึกษาจากอังกฤษ ความอาวุโส ได้แก่ เป็นประธานศาลฎีกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี นอกจากนั้นยังมาจากครอบครัวที่เป็นขุนนางเก่าแก่โดยบิดาเป็นขุนนางระดับสูงของแผ่นดิน และอาจารย์สัญญาก็มีฐานะในทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับดี ก่อนการถึงอสัญกรรมของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คือบุคคลที่ประกอบด้วย คุณวุฒิ วัยวุฒิ ชาติวุฒิ ธนวุฒิ และธรรมวุฒิ
ที่กล่าวมาเบื้องต้นคือสถานะของบุคคล บุคคลที่มีสถานะในทางบวกดังกล่าวนั้นย่อมมีโอกาสที่จะดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ในสังคม ตำแหน่งที่สำคัญในสังคมนั้นมาจาก 3 แหล่ง แหล่งที่หนึ่ง คือตำแหน่งของภาคราชการ เริ่มตั้งแต่องค์พระประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหารและรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา เป็นต้น ข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ตุลาการ รัฐวิสาหกิจ อันได้แก่ตำแหน่งในระบบราชการ ตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งสาธารณะ เช่น นายกสมาคมต่างๆ เช่น นายกสมาคมสตรีอาสาสมัคร นายกสมาคมทหารผ่านศึก นายกสมาคมกีฬา กรีฑา และการกุศลอื่นๆ ประธานมูลนิธิ ฯลฯ ในกรณีของศาสนานั้นคาบเกี่ยวระหว่างตำแหน่งที่เป็นราชการและตำแหน่งที่เป็นสาธารณะ ตำแหน่งในแหล่งที่สามได้แก่ตำแหน่งภาคเอกชน ได้แก่ ธุรกิจเอกชน บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมตลอดทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่กล่าวมาคือรายละเอียด ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง หรือผสมกันหลายข้อในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของบุคคล เช่น จะต้องมีคุณวุฒิ และบางตำแหน่งต้องมีวัยวุฒิด้วย กล่าวคือ ต้องมีประสบการณ์ มีความอาวุโสพอ และบางตำแหน่งก็อาจจะพิจารณาถึงภูมิหลังทางครอบครัวด้วย และในบางตำแหน่งก็ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกลาง ซึ่งได้แก่ธรรมวุฒิ
จากสถานะและตำแหน่งก็มาถึงส่วนที่สำคัญยิ่งคือบารมี คำว่าบารมีมีการกล่าวถึงบ่อยครั้งโดยผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจความหมาย แต่ถ้าจะเพียรพยายามอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก บางครั้งก็พยายามใช้ศัพท์อังกฤษ คือ charisma มาอธิบาย ซึ่งเป็นศัพท์มาจากภาษาละติน หมายถึงบุคคลที่สามารถดึงดูดคนอื่นให้เลื่อมใสโดยเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ คำว่าบารมีสูงกว่า charisma บารมีหมายถึงการเป็นที่ยอมรับ เป็นที่เคารพนับถือ นิยมชมชอบ และศรัทธา โดยเชื่อในคุณความดีของบุคคลผู้นั้น และมีความไว้วางใจที่จะให้บุคคลผู้นั้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ความนิยมชมชอบและชื่นชมอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นความศรัทธาสูงสุดจนถึงขั้นเคารพและบูชาได้
บารมีของปัจเจกบุคคลจะเกิดจาก 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะต่างๆ ที่กล่าวมา 5 สถานะ คือ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ชาติวุฒิ ธนวุฒิ และธรรมวุฒิ จะเป็นฐานสำคัญของบารมีของปัจเจกบุคคล แต่บารมีจะสูงส่งยิ่งขึ้นเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงในสังคม เช่น ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นประธานศาลฎีกา เป็นประธานรัฐสภา เป็นรัฐมนตรี เป็นประธานบรรษัทใหญ่ ฯลฯ ตำแหน่งหน้าที่การงานจะมีส่วนผลักดันให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ เป็นที่รู้จักและมีโอกาสในการทำผลงาน ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงจะสามารถสร้างสมบารมีได้จนถึงระดับหนึ่ง
แต่บุคคลที่จะมีบารมีอย่างแท้จริงจะขึ้นอยู่กับสองส่วนด้วยกัน คือในส่วนของการกระทำอันได้แก่ผลงาน ซึ่งจะต้องมาจากคุณวุฒิ วัยวุฒิ ในส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นธรรมวุฒิ อันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ จริงจัง อุทิศชีวิตความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ไม่ด่างพร้อยในพฤติกรรมส่วนตัว มีคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรมเป็นที่ปรากฏ สร้างสมคุณงามความดีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ก็จะทำให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นบุคคลที่มีบารมีอย่างสูงส่ง ดังนั้น บารมีที่มาจากสถานะบวกตำแหน่ง และการกระทำผสมผสานกับคุณสมบัติในส่วนของธรรมวุฒิของผู้ดำรงตำแหน่ง ก็จะกลายเป็นบารมีที่สมบูรณ์
แต่จะมีกรณีซึ่งคนบางคนอาจจะดำรงตำแหน่งที่สำคัญ แต่เนื่องจากขาดคุณวุฒิ ขาดวัยวุฒิซึ่งได้แก่ขาดวุฒิภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดธรรมวุฒิ ก็อาจจะเป็นบุคคลที่มีอำนาจเนื่องจากตำแหน่งนั้นแต่จะไม่มีบารมี จนมีการกล่าวว่า “นาย ก. มีอำนาจ แต่ไม่มีบารมี” บารมีจึงไม่ได้เกิดจากการดำรงตำแหน่งแต่อย่างเดียว ผลที่สุดแล้วการมีบารมีของบุคคลจะขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและผลงาน ผสมผสานคุณงามความดีที่มีพื้นฐานจากศีลธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต การอุทิศชีวิตและการเสียสละเพื่อผู้อื่น คนที่ไม่มีบารมีอย่างแท้จริงเมื่อหลุดจากตำแหน่งก็จะไม่มีใครทักทายปราศรัย หรือคบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นเพียงบารมีชั่วคราวอันเกิดขึ้นระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ตรงกันข้าม คนบางคนแม้จะออกจากตำแหน่งแล้วคนก็ยังเคารพกราบไหว้ด้วยความชื่นชม เพราะบุญบารมีที่ได้สร้างสมไว้จนติดตัวผู้นั้น คนที่มีสถานะสูง เช่น คุณวุฒิสูงแต่มีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ทรยศต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แม้จะดำรงตำแหน่งระดับสูงคนก็จะรังเกียจไม่ให้ความเคารพนับถือ บุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นคนที่ไม่มีบารมี แม้จะมากด้วยความรู้หรือคุณวุฒิ และตำแหน่งหน้าที่การงานก็ตาม หรือในกรณีคนที่มีฐานะร่ำรวยจากมิจฉาชีพ จากการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนกลายเป็นเศรษฐีมีธนวุฒิแต่ก็จะไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง และย่อมจะไม่มีบารมี
สถานะ ตำแหน่ง และบารมี เป็นเรื่องที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอย่างถึงแก่น มิฉะนั้นอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดๆ ที่ว่า เมื่อมีตำแหน่งอำนาจแล้ว บารมีก็จะเกิดขึ้นเอง ซึ่งอาจเป็นจริงเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่บารมีที่แท้จริงย่อมเกิดจากผลงานและการกระทำผนวกกับธรรมวุฒิของบุคคลผู้นั้นเป็นหลัก
มหาชนเป็นเรือนแสนเรือนล้าน และเป็นสิบๆ ล้าน ที่น้ำตาคลอเบ้าด้วยความปลื้มปีติและตื้นตันใจในงานฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระภัทรมหาราช จะอธิบายด้วยเหตุผลใดไม่ได้เลยนอกเสียจากพระบารมีอันยิ่งใหญ่ขององค์พระประมุข ซึ่งเกิดจากสถานะของการเป็นเลือดขัตติยาแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอันประกอบด้วยประชากร 65 ล้านคน แต่ที่สำคัญที่สุด พระบารมีอันเปี่ยมล้นซึ่งเกิดจากพระราชกรณียกิจและพระจริยาวัตรอันงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทรงงาน ทรงอาบพระเสโทต่างวารี เพื่อความผาสุกของพสกนิกร โดยเห็นได้จากโครงการพระราชดำริเป็นพันๆ โครงการบนพื้นฐานของความรู้และปัญญา รวมตลอดทั้งโครงการพระราชกุศลจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรและเป็นแนวทางการดำรงชีวิตตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” และที่สำคัญคือการที่ทรงธำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเพื่อความเจริญของบ้านเมืองและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ตามพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” องค์พระประมุขจึงเปี่ยมด้วยพระบารมีอันเกิดจากชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ธนวุฒิ และธรรมวุฒิ องค์พระประมุขจึงทรงเป็นพระมงกุฎของชาติไทยและทรงเป็น “พ่อหลวงของคนไทยทั้งแผ่นดิน”