xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ เทิดทูนพระราชอำนาจ ทรงแก้วิกฤตการเมืองด้วยนิติประเพณีอันชาญฉลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ เทิดทูน"พระราชอำนาจ"ชี้ ทรงยับยั้งกฎหมายบริหาร-นิติบัญญัติ ด้วยความบริสุทธิ์ ตามวิถีนิติประเพณีปฏิบัติอันชาญฉลาด เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ในการแก้ไขวิกฤตการเมือง ไม่ใช่ออกคำสั่งตามอัธยาศัย ชี้ การใช้มาตรา 7เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เป็นการไม่บังควรที่จะดึงพระองค์มาแปดเปื้อนการเมือง ติงการดึงองคมนตรีมาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะสร้างภาระความเสี่ยงและความรับผิดชอบการเมือง

เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.)ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการบรรยายพิเศษเรื่อง"พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้รัฐธรรามนูญ"จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายธงทอง จันทราศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่แข็งตรึง หรือตายตัว และเหมือนแนบสนิทกับเหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะในรัชกาลปัจจุบันที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 60 ปี ขณะที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475นับจนถึงปัจจุบัน 74 ปีแล้ว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงไม่เคยแม้แต่วินาทีเดียวที่ทรงจะทำให้ประชาชนคนไทยผิดหวัง

หากย้อนไปถึง รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบประเทศอังกฤษนั้น ก็มีความขัดแย้งกันระหว่างคณะราษฎร์ กับรัชกาลที่ 7 สาเหตุหนึ่งที่ต้องทำให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติไปประทับต่างประเทศคือ เรื่องการใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย หรือ"อำนาจการวีโต้" ขณะที่การปกครองของประเทศอังกฤษ พระมหากษัตริย์ไม่มีการใช้อำนาจตรงนี้ แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจยับยั้งได้ แต่ต้องเป็นการทักท้วงให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายเหล่านั้นอย่างรอบคอบเท่านั้น

"ในสมัยนั้นเช่น กรณีหนึ่งเรื่องฎีกานักโทษทั้งหลายที่ถวายไปแล้ว ถ้าไม่คืนภายใน 90 วัน แสดงว่าพระองค์ทรงไม่เห็นด้วย ถือเป็นการลดทอนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ แต่คณะราษฎร์ สามารถใช้เสียง 2 ใน 3 ยังยั้งร่างกฎหมายได้ ขณะที่รัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นคนของคณะราษฎร์ แม้ในรัฐสภาจะมาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง"

นายธงทอง กล่าวอีกว่า ในสมัยรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยทรงใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายเลย แต่ทรงใช้สิทธิให้กราบบังคมทูล ใช้สิทธิได้รับคำแนะนำปรึกษา และใช้สิทธิในการตักเตือน สรุปแล้วก็เป็นการหารือกับทางรัฐบาลนั่นเองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาพร้อมกับพระบารมีที่สามารถคุ้มครองคนไทยให้ได้รับความปลอดภัยได้ทั้งประเทศ พระบารมีที่สะสมเพิ่มพูนขึ้นตลอดมา พระองค์ทรงมีประสบการณ์ทางการเมือง รู้จักประเทศไทย และแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศได้ดีที่สุด ที่ทรงใช้พระราชอำนาจในการตักเตือน มิใช่การออกคำสั่ง

"ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์สามารถใช้พระราชอำนาจตามอัธยาศัย ได้แค่ 2 เรื่องคือ แต่งตั้งประธานองคมนตรี และแต่งตั้งสมุหราชองครักษ์เท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ ที่จะสามารถใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจไม่มีเขียนไว้ ไม่มีให้ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาสัยเลย เหตุผลเพพราะไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ต้องมาแบกรับภาระความรับผิดชอบ และความเสี่ยงทางการเมือง ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้สมบูรณ์ที่สุดแล้ว"

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า เรื่องพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายสังคมไทยมองเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งรัชกาลปัจจุบันไม่เคยใช้อำนาจตรงนี้ยับยั้งร่างกฎหมายเลย แต่กลับมาเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง คือ กรณีเหรียญที่ระลึกของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ ร่าง พ.ร.บ.ครูและบุคลากรฯ แต่ 2 เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแรก เช่น กรณีเมื่อราวปี 35–36 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เสนอร่างกฎหมายลงโทษปรับคดีหมิ่นประมาท เป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาท ซึ่งพระองค์เห็นว่า อาจเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อได้ จึงไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ขณะเดียวกันรัฐสภาก็หมดวาระไป แม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ก็ไม่มีรัฐบาลชุดไหนเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีก ถือเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงใช้เทคนิคตามนิติราชประเพณี ในการใช้พระราชอำนาจ

"วิถีปฏิบัติมีหลากหลาย เช่น ทรงเก็บใส่ในลิ้นชักไปเลย รอให้ยุบสภา รัฐสภาหมดวาระ เก็บรอเวลาจนเหลืออดแล้ว หรือติดต่อตรงกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กับราชเลขาธิการ นี่คือเทคนิค ซึ่งรัฐธรรมนูญเองก็เขียนไว้ด้วยความเข้าใจสภาพความเป็นจริง ในการใช้พระราชอำนาจ ที่ทรงต้องแบกราชภาระเหล่านี้ ผ่านกลไกต่างๆ ตามนิติราชประเพณี ที่พระองค์ทรงได้ผ่านเหตุการณ์ยากๆ มาหลายหน เราก็ได้เห็นแล้วว่า เป็นการใช้พระราชอำนาจด้วยความบริสุทธิ์ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาแล้ว"

นายธงทอง ยังกล่าวถึงการใช้ มาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่เมื่อ 2–3 เดือนที่ผ่านมา มีการเรียกร้องกันมาก เพราะกลัดกลุ้มกับบรรยากาศทางการเมือง แต่ถ้าลองคิดให้ดี สมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นเมื่อปี 2516 มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ ขาดองค์กรหลักโดยสิ้นเชิง คือ นายกรัฐมนตรี ขณะที่วิถีทางในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเปิดกว้างไม่จำกัดว่า จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพราะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แตกต่างจากปัจจุบัน ที่มีคนบางกลุ่มเรียกร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยังอยู่ หากทรงแต่งตั้ง ก็จะทำให้มีนายกรัฐมนตรีซ้อนตำแหน่งกัน เหมือนประเทศกัมพูชาหรืออย่างไร แต่ถ้านายกรัฐมนตรีลาออก ก็ต้องมีการแต่งตั้งตามกลไกรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ที่สำคัญหากพระองค์ทรงแต่งตั้งนายกฯพระราชทานขึ้นมาจริงๆ หากมีการวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จะสร้างความแปดเปื้อนไปถึงเบื้องพระยุคลบาท

"ถ้าเกลียดนักการเมืองทั้งสภา ผมไม่ได้รักใคร หรือเกลียดใคร ต่อให้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน หากทรงใช้มาตรา 7 จริงๆ นายกฯพระราชทานจะทำให้คนรัก 100 % ได้หรือ จะดีกว่าไหมถ้านายกฯมาจากการเลือกตั้ง แต่ตั้งโดยสภา จะด่าจะว่า จะวิจารณ์กันรุนแรงให้ถึงพริกถึงขิงกันอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นนายกฯพระราชทานล่ะ ถ้าวิจารณ์เต็มที่ จะแปดเปื้อน ระคายเคืองไปถึงเบื้องพระยุคลบาทหรือเปล่า จะให้ประเทศไทยเหมือนเนปาลหรือ ให้กษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเอง"

นายธงทอง กล่าวด้วยว่า กระแสการปฏิรูปการเมืองที่ต้องการให้องคมนตรีเข้ามาร่วมแต่งตั้ง คณะร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรู้สึกไม่ไว้ใจนักการเมืองมาช่วยยกร่าง แต่ก็มีข้อให้พิจารณา คือ ขอยกเหตุการณ์เมื่อปี 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ต้องการคลายบรรยากาศเผด็จการให้หลุดพ้น จึงไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จึงอยากจะให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามสนอง แต่พระองค์ทรงทักท้วงไม่เห็นด้วย จะทำให้ไปเกี่ยวข้องรับผิดชอบทางการเมือง จึงอยากให้ศึกษาอดีตเสียก่อน ว่าควรจะพิจารณาปฏิรูปรัฐธรรมนูญกันอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น