xs
xsm
sm
md
lg

ร้องเทศบาลแม่สอดเลอะปัดออกสูติบัตร‘น้องแพร’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาวแม่จันร้องนักกฎหมาย เทศบาลแม่สอด ไม่ออกสูติบัตรให้ “น้องแพร” ลูกสาว ทั้งที่เกิดในประเทศไทย และพ่อก็เป็นคนไทย โดยอ้างแม่ถูกล็อคบัตรประชาชน ด้าน อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.ชี้ เทศบาลแม่สอดทำผิดกฎหมายชัด ระบุเด็กได้สัญชาติโดยกำเนิด หากไม่ออกสูติบัตรให้จะมีความผิดทั้งอาญาและปกครอง

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสต ร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับหนังสือร้องทุกข์จาก นางระยอง อภิสกุลไพศาล ซึ่งเป็นคนไทยชาวเขาดั้งเดิมเผ่าลีซอว่า ถูกเทศบาลแม่ ปฏิเสธออกสูติบัตรให้บุตรสาวชื่อ “น้องแพร”ทั้งที่มีเอกสารรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลว่า เกิดที่อำเภอแม่สอด และบิดาของ น้องแพรก็เป็นคนสัญชาติไทย แต่ทางเทศบาลกลับอ้างว่า เลขประจำตัวประชาชน ของนางระยอง ถูกล๊อค เพราะได้ถูกอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพิกถอนสัญชาติ เมื่อปี 2539 ซึ่งจากการที่ได้พิจารณาดูหลักฐานเอกสารต่าง ๆ แล้ว เบื้องต้นเห็นว่า การกระทำของเทศบาลแม่สอดไม่น่าถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

“โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัด น้องแพรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด โดยหลักดินแดน โดยผลของมาตรา 7 (2) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดังนั้น น้องแพรจึงมีสิทธิที่จะได้รับการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร ประเภทบุคคลที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทย (ทร.14) และจะต้องระบุว่า น้องแพรมีสัญชาติไทยใน ทร.14 เทศบาลแม่สอด ไม่อาจอ้างเอาปัญหาสถานะบุคคลที่มารดาของน้องแพรกำลังประสบอยู่ คือ ถูกเพิกถอนสัญชาติ มาเป็นข้อกล่าวอ้างในการปฏิเสธสิทธิของน้องแพร ที่จะมีชื่อใน ทร.14 ดิฉันจึงเห็นว่า การไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ย่อมมีความผิดทั้งตามกฎหมายปกครองและกฎหมายอาญา” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า การปฏิเสธของเทศบาลแม่สอดดังกล่าวได้ส่งผลให้น้องแพรตกเป็น “คนไร้รัฐ” และปัญหาจะทวีมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อน้องแพรเติบโตขึ้น จึงอยากเตือนเทศบาลแม่สอดให้รีบแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยตกเป็นผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ซึ่งกำหนดว่า “เด็กทุกคนย่อมมีหลักฐานทางทะเบียนทันทีที่ถือกำเนิดและย่อมได้รับการตั้งชื่อ” และ “ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและหลักมูลของสังคมและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ” กติกานี้ผูกพันประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นต้นมา

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ยังกล่าวถึงนางระยอง มารดาของน้องแพร ซึ่งถูกเพิกถอนสัญชาติด้วยว่ามีลักษณะเดียวกับการเพิกถอนสัญชาติชาวบ้านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ในอดีต และศาลปกครองสูงสุด เคยชี้ไว้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ว่า อำเภอไม่อาจนำชื่อบุคคลออกจากทะเบียนราษฎรด้วยเหตุที่ไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่อาจนำชื่อออกไปจากทะเบียนราษฎร จนกว่ากระบวนการพิสูจน์ว่าบุคคลไม่มีสัญชาติไทยจะสิ้นสุดลง กล่าวคือ จะนำออกมาก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะสิ้นสุดไม่ได้ ซึ่งการกระทำของอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่เพิกถอนสัญชาตินางระยอง ได้ทำให้นางระยองตกเป็น “คนไร้สัญชาติ” ตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบัน และขณะนี้ตนกำลังประสานกับคณะทำงาน เพื่อเตรียมแนวทางการช่วยเหลือน้องแพรและมารดาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น