xs
xsm
sm
md
lg

ความสำเร็จในการพัฒนาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน

ระบบประชาธิปไตยโดยกว้างๆ มีสองระบบ ได้แก่ ระบบรัฐสภา (parliamentary system) แบบอังกฤษ และระบบประธานาธิบดี (presidential system) แบบสหรัฐอเมริกา ทั้งสองระบบนี้คือระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างกันในบางประการซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ จะมีคุณลักษณะ 4 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1. มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่กรณี

2. สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการประกันในรัฐธรรมนูญและการบังคับกฎหมาย

3. การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมือง

4. มีหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ

แต่การที่จะพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้มีลักษณะครบถ้วน 4 ประการดังกล่าวมาแล้วนั้น จะขึ้นอยู่กับ 3 ตัวแปรหลักดังต่อไปนี้ คือ

1. สภาพสังคมและเศรษฐกิจเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นักวิชาการทางรัฐศาสตร์หลายคนได้กล่าวไว้ว่า ในสังคมซึ่งคนมีระดับการศึกษาสูง มีความตื่นตัวทางการเมือง มีการเกิดของชุมชนเมืองมากขึ้น มีการพัฒนาสื่อมวลชนที่ให้ข่าวสารข้อมูล และการคิดวินิจฉัยประเด็นทางการเมือง ฯลฯ จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเสริมให้ความพยายามในการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ เพราะคนจะไม่นอนหลับทับสิทธิ์ กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าแสดงการเรียกร้องทางการเมือง รวมตลอดทั้งการแสดงความไม่เห็นด้วยๆ การประท้วงต่อต้าน ที่สำคัญก็คือ จะคอยเป็นหูเป็นตาไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจที่ผิดๆ เกิดขึ้น

ในส่วนเศรษฐกิจนั้นได้มีการค้นพบว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะพัฒนาด้วยดีในสังคมที่มีเศรษฐกิจกึ่งอุตสาหกรรม หรือเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากว่าในสังคมที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ในเบื้องต้นจะมีการพัฒนาระดับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมีบุคลากรที่มีความรู้ในวิทยาการต่างๆ และในสังคมอุตสาหกรรมนั้นจะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหภาพ ที่สำคัญคือจะไวต่อการรับข่าวสารข้อมูล ซึ่งในส่วนนี้สังคมเกษตรอุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะเดียวกัน เพราะจะต้องตื่นตัวต่อราคาผลผลิต และสถานการณ์ตลาดโลก ยิ่งมาในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล การรับข่าวสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอันจะมีส่วนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญ การสามารถสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต การรับข่าวสารจากวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งสถานีภายในประเทศและจากต่างประเทศด้วย ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะเป็นตัวแปรที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า สภาพทางสังคมเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นไปทุกภาคของประเทศ ทั้งในเมืองหลวง ในต่างจังหวัด หรือกระจุกตัวเฉพาะในเมืองหลวงและชุมชนเมืองของจังหวัด ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะถ้าหากมีการพัฒนาดังกล่าวเฉพาะในเมืองหลวงและชุมชนเมืองในจังหวัด ก็จะเกิดความแตกต่างระหว่างสองภาคส่วนในลักษณะของสองนัคราประชาธิปไตย ที่มีนักวิชาการได้กล่าวเอาไว้

ที่สำคัญก็คือ สังคมที่จะมีส่วนพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้นั้น ประชาชนโดยทั่วๆ ไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทจะต้องปลอดจากตัวแปร 2 ตัว นั่นคือ ความยากจนและความเขลา ถ้าคนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่อย่างข้นแค้น และการขาดข้อมูล หรือระดับการศึกษาที่จะช่วยให้เข้าใจการเมืองและระบบการปกครองโดยมีความคิดของตัวเองมากกว่าการถูกชี้แนะชี้นำโดยผู้อื่นก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ความยากจนจะทำให้ง่ายต่อการขายสิทธิ์ขายเสียง การขาดข้อมูลและขาดความรู้เกี่ยวกับการเมืองอาจทำให้ถูกชักจูงได้โดยง่าย ดังนั้น ลักษณะทวิภาพของสองส่วนในสังคมอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

2. โครงสร้างและกระบวนการ โครงสร้างทางการเมืองขึ้นอยู่กับกติกาหรือรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดโครงสร้างไว้เช่นไร โดยทั่วๆ ไปก็จะมี 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สามโครงสร้างดังกล่าวนี้จะมีลักษณะถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หรือจะต้องแบ่งการใช้อำนาจกันย่อมมีความแตกต่างระหว่างระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และแบบประธานาธิบดี ในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษนั้น รัฐสภาสามารถจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร และสามารถจะลงคะแนนเสียงให้ความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาได้เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ส่วนระบบประธานาธิบดีนั้น ประธานาธิบดีได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชน ในขณะที่สภาสูงและสภาผู้แทนราษฎรก็เลือกโดยตรงจากประชาชนเช่นเดียวกัน จึงไม่มีการยุบสภาและไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีแต่การถอดถอนในกรณีที่ประธานาธิบดีกระทำผิดกฎหมาย

โครงสร้างและกระบวนการที่ร่างขึ้นมาในรัฐธรรมนูญนั้นจะมี 2 มิติ คือ

มิติที่หนึ่ง คือ รูปแบบทั่วไปในอุดมคติ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ารูปแบบทั่วไปที่กล่าวมาแล้วนั้นเกิดขึ้นจากสังคมที่เป็นสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมของกลุ่มแองโกลแซกซั่น จึงเป็นระบบที่พัฒนามาจากสังคมตะวันตกที่มีปรัชญา วัฒนธรรม ค่านิยมเฉพาะ เมื่อนำระบบดังกล่าวมาสถาปนาในบริบทที่ต่างออกไปเสมือนการนำต้นไม้เมืองหนาวมาปลูกในประเทศที่เป็นเมืองร้อน ทำให้การเติบโตของต้นไม้ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างเต็มที่ จนนักวิชาการชาวละตินอเมริกันท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ระบอบการปกครองแบประชาธิปไตยเสมือนหนึ่งกับต้นไม้ที่ปลูกผิดที่ในละตินอเมริกา และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งจะต้องกล่าวต่อไปในส่วนที่สาม นั่นคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการเมือง

โครงสร้างและกระบวนการจึงต้องธำรงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตยแบบอุดมคติในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันต้องให้สอดคล้องกับมิติที่สอง คือ สภาพความเป็นจริงของสังคม โดยมีการดัดแปลงและปรับเปลี่ยนในบางส่วน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของไต้หวันนั้นแทนที่จะมี 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่กลับเป็นระบบที่มี 5 อำนาจ หรือ 5 หยวน อันได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ การสอบ และการควบคุม ในกรณีของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น เป็นความพยายามที่จะผสมผสานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งสองระบบ คือ ระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีเข้าด้วยกัน เช่น มาตรา 185 และ 186 เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระบวนการของระบบรัฐสภา ขณะเดียวกันก็มีการร่างไว้ในมาตรา 303-304 อันได้แก่การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดี

นอกจากนั้นยังมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แต่งตั้งและถอดถอนผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงโครงสร้างและกระบวนการที่สร้างในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เกิดปัญหาหลายประการซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ประเด็นอยู่ที่ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งร่างโดย ส.ส.ร. นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่บนพื้นฐานของอุดมคติผสมผสานกับความเป็นจริงทางการเมือง โดยมีข้อสันนิษฐานว่าในบริบทของสังคมไทยนั้นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองในองค์กรต่างๆ จะสอดคล้องกับอุดมคติที่คาดหวังไว้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เนื่องจากตัวแปรที่สามอันได้แก่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

3. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มีการกล่าวว่าฟิลิปปินส์และอินเดียประสบความสำเร็จในการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาปฏิบัติ โดยอินเดียเป็นรูปแบบรัฐสภาอังกฤษ ฟิลิปปินส์เป็นระบบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เนื่องจากตัวแปรที่สำคัญยิ่งก็คือ ผู้นำทางการเมืองของทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติธรรม เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงกระบวนการต่างๆ ที่จะต้องดำเนินไปตามครรลองของระบบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น การผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม การตีความกฎหมายโดยมุ่งเน้นที่การผดุงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากการพยายามหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย มุ่งหาจุดอ่อนของลายลักษณ์อักษรโดยมองข้ามเจตนารมณ์ ขณะเดียวกันความรู้ความเข้าใจในกระบวนการต่างๆ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนก็เป็นไปอย่างกว้างขวางพอสมควร พฤติกรรมการปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะมีบ้างแต่ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นเนื่องจากผู้นำทางการเมืองระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดหลักการต่างๆ อย่างน่าเกลียด การอิงหลักนิติธรรมและการรักษาไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากการผดุงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยในหมู่ผู้นำ และการมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนในระดับที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบนั้น เป็นสิ่งที่กล่าวอ้างได้ว่าเป็นตัวแปรที่มีส่วนช่วยให้ระบบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในฟิลิปปินส์และอินเดีย จะเห็นว่าทั้งสองประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียไม่เคยมีการปฏิวัติโดยทหาร ในฟิลิปปินส์นั้นมีความพยายามแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะมีการปฏิบัติการภายใต้กลไกและกติกาของระบบ แม้จะไม่สมบูรณ์อย่างเต็มที่ก็ตาม

ความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงขึ้นอยู่กับ 3 ตัวแปรหลัก ตัวแปรที่หนึ่ง อันได้แก่สภาพเศรษฐกิจและสังคมนั้น ถือได้ว่ามาถึงจุดที่มองในแง่บวกได้ในระดับหนึ่ง โครงสร้างและกระบวนการนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูป แก้ไข ปรับปรุง ทั้งนี้โดยต้องนำตัวแปรที่สามมาพิจารณาโดยให้น้ำหนักความสำคัญ นั่นคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติการทางการเมือง มิฉะนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและกลุ่ม โดยอ้างความชอบธรรมตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น