xs
xsm
sm
md
lg

เลขากกต.ทวงแล้วทวงอีก ขอขึ้นเงินเดือนเป็น 8 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลขาฯกกต.ทวงแล้วทวงอีกเรื่องขอขึ้นเงินเดือนตัวเอง แถมยังขอย้อนหลังถึง 1 เม.ย 48 แต่ กกต.ยังไม่กล้าอนุมัติ อ้างเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างจะปรับเงินเดือนอิงตามระเบียบฯเงินเดือนพนักงานกกต.ไม่ได้ แถมมีมติให้ศึกษาเพิ่มเรื่องการเลื่อนรองเลขาฯขึ้นเป็นเลขากกต.ต้องทำสัญญาจ้างหรือไม่ ขณะที่พนักงานกกต.วิจารณ์แซด "เอกชัย"ลาป่วยที่แท้น้อยใจกกต.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่า ขณะนี้ได้มีความพยายามของพล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต.ขอขึ้นเงินเดือนตัวเองจาก 77,250 บาท เป็น 81,120 บาท แต่ทาง กกต.ได้มีความเห็นให้นำกลับไปศึกษาข้อมูลว่าพล.ต.ต.เอกชัย เป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง ตามข้อ 13(2 )ของระเบียบกกต.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2547 หรือไม่ เพราะเหตุใด และหาก กกต.จะแต่งตั้งและเลขาธิการกกต.โดยพิจารณาแต่งตั้งจากรองเลขาธิการกกต.ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน จะต้องทำสัญญาจ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

นอกจากนี้ยังได้ให้ไปตรวจสอบว่า เหตุใดอัตราเงินเดือนของเลขาธิการกกต.จึงอยู่ในระเบียบกกต.ว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งพ.ศ.2547 พร้อมกับให้ตรวจสอบอีกว่า เมื่อครั้งที่ ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการกกต.ดำรงอยู่นั้นได้เคยมีการปรับเงินเดือนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ทั้งนี้ พล.ต.ต.เอกชัยได้พยายามที่จะขอขึ้นเงินเดือนตัวเองถึง 2 ครั้ง โดยทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมกกต.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ค.49 โดยอ้างถึงเรื่องเดิมที่สำนักงานกกต.ได้มีหนังสือที่ 0101/(ฝบค)/864 ลงวันที่ 30 ธ.ค.48 กราบเรียนประธานกกต.เพื่อโปรดลงนามในคำสั่งปรับอัตราเงินเดือน พล.ต.ต.เอกชัย ตำแหน่งเลขาธิการกกต.ให้เป็นไปตามระเบียบกกต.ว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 และระเบียบกกต.ว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง(ฉบับที่ 3 )พ.ศ.2548 ที่ประธานกกต.ให้เสนอที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณานั้น ทางกกต.ก็ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันพุธที่ 11 ม.ค.2549 เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเดือน พล.ต.ต.เอกชัย ให้เป็นไปตามระเบียบกกต.ว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 2)กำหนดให้เลขาธิการกกต.ได้รับอัตราเงินเดือนจำนวน 77,250 บาท โดยให้มีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.47 และระเบียบว่าด้วยเงินเดือนฯ (ฉบับที่ 3)2548 กำหนดให้เลขาธิการกกต.ได้รับอัตราเงินเดือน 81,120 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.48 แต่กกต.ก็ยังไม่ได้เซ็นอนุมัติ จนกระทั่ง พล.ต.ต.เอกชัย ได้ทำหนังสือเสนอไปยังกกต.อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุที่กกต.ยังไม่มีมติตามที่ร้องขอ และดึงเรื่องโดยให้มีการไปศึกษาเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากกกต.เห็นว่าระเบียบกกต.ว่าด้วยเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งนั้น น่าจะใช้บังคับเฉพาะกับพนักงานประจำของกกต.เท่านั้น ไม่น่าจะมีผลรวมไปถึงตัวเลขาธิการกกต.ที่เป็นพนักงานอัตราจ้างที่สัญญาจ้างมีวาระ 5 ปี ดังนั้นจะให้เลขาธิการกกต.มีการปรับเงินเดือนตามระเบียบกกต.ว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งไม่น่าจะถูกกฎหมาย โดยให้ไปพิจารณาว่าควรหรือไม่ที่จะมีการยกร่างระเบียบกกต.เกี่ยวกับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกกต.ขึ้นมาเป็นการเฉพาะหรือไม่ โดยให้มีเกณฑ์การประเมินผลงานของเลขาธิการกกต.ว่าเป็นที่น่าพอใจของกกต.หรือไม่ และการเสนอปรับเงินเดือนเลขาธิการ กกต.ก็ให้ทางสำนักฝ่ายบริหารกลางที่รับผิดชอบงานด้านบุคคลากรเป็นผู้นำเสนอ ส่วนที่ให้มีการไปศึกษาว่าจะสามารถแต่งตั้งรองเลขาธิการกกต.ขึ้นเป็นเลขาธิการกกต.ได้หรือไม่ ก็เนื่องจากตามระเบียบแล้ว รองเลขาธิการกกต.ถือเป็นพนักงานประจำ ขณะที่เลขาธิการกกต.เป็นพนักงานอัตราจ้าง การจะแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งเลขาฯ จึงมีปัญหาว่าบุคคลนั้นต้องลาออกจากการเป็นพนักงานประจำก่อนหรือไม่ อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวปรากฎว่า พล.ต.ต.เอกชัย มีความสนใจที่จะไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่น ประกอบกับเมื่อ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต.ที่พล.ต.ต.เอกชัย สนิทสนมด้วยและมีที่มาจากสายเดียวกันลาออกไป กกต.จึงเกรงว่า หากตำแหน่งเลขาธิการกกต.ว่างลงกระทันหัน ระยะเวลาที่เหลือของกกต.เพียง 2 ปี การจะไปสรรหา หรือทาบทามบุคคลอื่นที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง จะทำให้เสียเวลา และการจ้างคนนอกมาอาจจะต้องอาศัยเวลาศึกษาดูงานอีก จึงให้ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวดู

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กกต.มีมติไม่พิจารณาเรื่องการขอปรับเงินเดือนเลขาธิการกกต.ปรากฎว่า เมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผานมา ซึ่งหลังจากที่กกต.มีมติ พล.ต.ต.เอกชัย ได้ขอลาป่วยโดยแจ้งว่าเนื่องจากเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่กลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พนักงานกกต.ว่า เหตุของการลาป่วยน่าจะมาจากน้อยใจที่กกต.ยังไม่มีมติเห็นชอบเรื่องการปรับเงินเดือน

ด้าน ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ตอนที่เข้ามาตำแหน่งเลขาธิการกกต.นั้นเห็นว่าอัตราเงินเดือนเดิมและเงินเดือนในตำแหน่งเลขาธิการกกต.เมื่อรวมกันแล้วสูงอยู่แล้ว เมื่อทำงานไปแม้งานจะมากแต่ก็ไม่เคยคิดขอขึ้นเงินเดือน เพราะหากขอขึ้นเงินเดือนอีกเมื่อเทียบแล้วก็เกือบเท่ากับเงินเดือนของกกต. จึงคิดว่าไม่น่าจะเหมาะสม แต่การขอขึ้นเงินเดือนนั้นสามารถทำได้ เพราะขณะที่ตนดำรงตำแหน่งนั้นถือว่าเป็นพนักงานของรัฐ หากคิดว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นไม่คุ้มการการทำงานที่หนักซึ่งก็เป็นสิทธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น