xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเยี่ยมฐานผลิตจักรยานยนต์ของซีพีในประเทศจีน

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

คณะของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เยี่ยมกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ของบริษัท Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle Corp ซึ่งเป็นธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายน 2549 และมีโอกาสพบปะหารือกับผู้บริหารของบริษัท นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยและอยากมาเล่าสู่กันฟัง

ตลาดรถจักรยานยนต์แบบเครื่องยนต์ทั่วโลกปี 2547 มีขนาด 30 ล้านคัน โดยจีนนับเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์รวมปีละ 17 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ 14 ล้านคัน และผลิตเพื่อส่งออกอีก 3 ล้านคัน ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถจักรยานยนต์มากกว่า 200 โรง โดยในจำนวนนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 20 โรง

ปัจจุบันผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของจีนได้ปรับความสามารถในการแข่งขันอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ขนาดตั้งแต่ 200 ซีซี ลงมา สามารถแข่งขันกับญี่ปุ่นได้ในด้านคุณภาพ ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนการผลิตต่ำมาก แม้แต่ยักษ์ใหญ่ด้านรถจักรยานยนต์ของโลก คือ ฮอนด้า ซึ่งไปตั้งฐานผลิตในประเทศจีน แต่ครองตลาดประเทศจีนได้ไม่ถึง 10%

ต้นทุนการผลิตรถจักรยานยนต์ในจีนต่ำกว่าในไทยมาก ทำให้ราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในจีนต่ำมาก ขนาด 90 ซีซี ราคาจำหน่ายปลีก 4,000 หยวน หรือประมาณ 20,000 บาท ขนาด 100 ซีซี ราคา 4,500 หยวน หรือประมาณ 22,500 บาท และขนาด 150 ซีซี ราคาประมาณ 35,000 บาท

นอกจากรถจักรยานยนต์แบบธรรมดาที่ใช้เครื่องยนต์แล้ว จีนยังมีรถจักรยานยนต์อีกตลาดหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่มากเช่นเดียวกัน คือ รถจักรยานยนต์แบบไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์แบบนี้มีค่อนข้างน้อยเนื่องจากกฎหมายของจีนจำแนกว่ารถจักรยานยนต์ประเภทนี้เป็นจักรยาน ผู้ขับไม่ต้องมีใบขับขี่และไม่จำเป็นต้องนำรถไปจดทะเบียน มีการประมาณว่าตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทนี้ในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ถึง 12 ล้านคัน/ปี

ปัจจุบันมีเมืองขนาดใหญ่มากกว่า 100 เมืองในประเทศจีนที่ห้ามการใช้รถจักรยานยนต์แบบเครื่องยนต์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ประชาชนตายผ่อนส่งจากอากาศเป็นพิษ ดังนั้น ประชาชนไม่มีทางเลือก ต้องเปลี่ยนไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นการทดแทน ทำให้รถจักรยานยนต์แบบไฟฟ้าครองตลาดเมืองขนาดใหญ่ได้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การใช้รถจักรยานยนต์แบบนี้ก็มีข้อกำจัดว่าห้ามแล่นบนถนนทั่วไป จะต้องแล่นในเลนรถจักรยานเท่านั้น เนื่องจากมีความเร็วค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ มีความเร็วสูงสุดเพียง 20 กม./ชั่วโมง

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านับว่ามีราคาถูกมาก จำหน่ายในประเทศจีนในราคาเพียงแค่คันละ 1,000 - 2,000 หยวน หรือ 5,000 - 10,000 บาท แต่ก็มีข้อจำกัดสำคัญ คือ แบตเตอรี่แบบ Maintenance-Free Lead Acid ขนาด 48 โวลต์ ความจุ 10 แอมป์ สามารถแล่นได้ไกลประมาณ 25 - 55 กม. ใช้เวลาชาร์จนานถึง 4 - 10 ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้นมีอายุเพียง 1 ปี จากนั้นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ซึ่งมีราคาประมาณ 300 - 500 หยวน หรือ 1,500 - 2,500 บาท

แม้มีการห้ามใช้จักรยานยนต์แบบมีเครื่องยนต์ในเมืองขนาดใหญ่แทบทั้งหมด แต่ตลาดรถจักรยานยนต์แบบมีเครื่องยนต์ก็ยังคงมีขนาดใหญ่มากในประเทศจีนเนื่องจากลูกค้าเป้าหมาย คือ ประชาชนในชนบท ซึ่งมีจำนวนมากถึง 900 ล้านคน โดยรุ่นที่ขายดีที่สุดเป็นแบบ 125 ซีซี คิดเป็นสัดส่วน 55% ของตลาดรถจักรยานยนต์แบบใช้เครื่องยนต์ทั้งหมด

เครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยหรือที่จีนเรียกขายในชื่อว่า “เจิ้งต้า” ได้เข้าไปร่วมลงทุนก่อตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในประเทศจีนจำนวน 2 บริษัท บริษัทแรก คือ บริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ตั้งที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยร่วมทุนฝ่ายละครึ่งหนึ่งกับบริษัท Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจรถยนต์ในประเทศจีน ผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Xingfu

สำหรับบริษัทที่สอง คือ บริษัท Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle Corp ตั้งที่นครเล่อหยางในมณฑลเหอหนาน ผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อต้าหยาง เป็นการร่วมลงทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในสัดส่วน 55% และ Louyang Northern Enterprise Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ถือหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 45%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2540 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ โดยจะตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป โดยตั้งเป้าหมายให้เหลือเฉพาะธุรกิจการเกษตรและธุรกิจค้าปลีกค้าส่งซึ่งตนเองมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น จากนโยบายข้างต้น เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ครึ่งหนึ่งในบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp จำกัด ออกไป (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Shanghai Xingfu Motorcycle จำกัด) ดังนั้น ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์จึงยังคงเหลือเฉพาะกิจการบริษัท Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle Corp จำกัด ซึ่งมีโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ที่นครลั่วหยางเท่านั้น

ปัจจุบันบริษัท Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle Corp จำกัด ของกลุ่มซีพี ประกอบรถจักรยานยนต์ 8 รุ่น ขนาดตั้งแต่ 50 ถึง 200 ซีซี รวมถึงผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2548 ประมาณ 680,000 คัน จำแนกเป็นการจำหน่ายในประเทศจีน 600,000 คัน และส่งออกอีก 80,000 คัน โดยเกือบทั้งหมดเป็นรถจักรยานยนต์แบบใช้เครื่องยนต์ สำหรับรถไฟฟ้ายังผลิตน้อยเนื่องจากเพิ่งเริ่มผลิตปี 2548

บริษัทนับเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 - 8 ของจีน แต่หากวัดตามแบรนด์แล้ว แบรนด์ต้าหยางของกลุ่มซีพีนับเป็นแบรนด์รถจักรยานยนต์ซึ่งมียอดขายมากเป็นอันดับ 5 ของจีน เนื่องจากบริษัทคู่แข่งบางรายแม้จะมียอดขายมากกว่า แต่มีหลายแบรนด์ ทำให้ยอดขายตามแบรนด์มีจำนวนน้อยกว่า

สำหรับสถานที่ตั้งโรงงานแห่งนี้ เดิมเป็นโรงงานผลิตกระสุนปืนของบริษัท Norinco ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านอาวุธของจีน มีพื้นที่กว้างขวางถึง 1 ตร.กม. ปัจจุบันมีกำลังผลิตรถจักรยานยนต์ 800,000 คัน/ปี พนักงานในโรงงานเกือบ 3,000 คน โดยผลิตทั้งจักรยานยนต์แบบมีเครื่องยนต์เบนซินและจักรยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มต้นผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2535

โครงการเริ่มต้นจากรับเทคโนโลยีมาจากหลายแหล่ง เป็นต้นว่า รถจักรยานยนต์ขนาด 125 ซีซี ได้รับเทคโนโลยีทั้งในด้านการผลิตและเครื่องยนต์จากบริษัทฮอนด้า โดยได้รับฟิล์มเขียวสำหรับผลิตเพียงรุ่นเดียว คือ ฮอนด้าดรีม ส่วนรถจักรยานยนต์ขนาด 250 ซีซี ใช้เทคโนโลยีในยุคทศวรรษ 1950 ของรถจักรยานยนต์ของประเทศเช็คโกสโลวาเกีย (ปัจจุบันแยกออกเป็น 2 ประเทศ คือ สาธารณเช็กและสาธารณรัฐสโลวัก)

จากนั้นบริษัทได้พัฒนารถจักรยานยนต์ขึ้นเองเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของตนเองในประเทศจีน โดยมีบุคลากรทำงานในด้านวิจัยและพัฒนามากถึง 130 คน โดยบุคลากรเหล่านี้มีการศึกษาระดับสูงตั้งแต่ระดับปริญญาเอกลงมา

การผลิตทั้งแบบใช้แบรนด์เนมของตนเอง คือ แบรนด์ต้าหยาง และผลิตตามแบรนด์เนมของลูกค้า ปัจจุบันมียอดขายประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์มีแผนจะผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มเติมอีก 1 แบรนด์ คือ แบรนด์เจิ้งต้า โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อเจาะตลาดวัยรุ่น

รูปแบบการตลาดจะจำหน่ายให้เอเยนต์เป็นเงินสด เนื่องจากเดิมตลาดจีนเป็นของผู้ขาย โดยผู้ซื้อต้องนำเงินมาหน้าโรงงานเพื่อขอซื้อรถจักรยานยนต์ ไม่ยอมขายเงินเชื่อ แต่ต่อมามีการก่อตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในประเทศจีนจำนวนมาก ทำให้แข่งขันเป็นไปอย่างรุนแรง ทำให้ตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อ โดยแทบทุกบริษัทต้องเปลี่ยนมาขายเป็นเงินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ต่อมาประเทศจีนเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้แทบทุกบริษัทประสบปัญหาหนี้เสีย ตามเก็บเงินจากเอเยนต์ไม่ได้ ดังนั้น ปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่จะขายเป็นเงินสด โดยเอเยนต์ต้องส่งเงินมาให้ก่อน ถึงจะจัดส่งรถจักรยานยนต์ให้ ทำให้ปัจจุบันบริษัทประกอบรถจักรยานยนต์ในประเทศจีนส่วนใหญ่ ร่วมถึงโรงงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย แทบไม่มีหนี้เสียแต่อย่างใด

เครือเจริญโภคภัณฑ์มีแผนจะดึงบริษัท กวางเจาต้าหยางมอเตอร์ไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นเข้ามาร่วมทุน โดยจะเปิดโอกาสให้พันธมิตรท้องถิ่นเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ต้าหยางและแบรนด์เจิ้งต้าด้วย และจะจำหน่ายชิ้นส่วนสำคัญๆ ให้แก่บริษัท กวางเจาต้าหยาง อาทิ เครื่องยนต์ คาบูเรเตอร์ เป็นต้น

แม้บริษัทมีฐานการผลิตใหญ่ในประเทศจีน โดยหากตั้งโรงงานในประเทศไทยก็เป็นโรงงานใหญ่เป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่โรงงานของฮอนด้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถก่อตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยได้ เนื่องจากมีปัญหาว่าบริษัทผลิตชิ้นส่วนในไทยเกือบทั้งหมดมีสายสัมพันธ์กับบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ไม่ยอมขายชิ้นส่วน หากจะต้องมาตั้งกิจการในประเทศไทย จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร โดยต้องพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยขึ้นมาเองหรือมิฉะนั้นจะต้องนำผู้ผลิตชิ้นส่วนจีนตามมาด้วย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น