xs
xsm
sm
md
lg

รธน.มาตรา 10 กับ “พระเจ้าอยู่หัว”บันทึกของ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

วันที่ 9 มิถุนายน 2549 คือวันนี้ เป็นวันครบ 60 ปีของการทรงขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปีที่ 60 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก ซึ่งประชาชนชาวไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระพร และเฉลิมฉลองทรงครองสิริราชสมบัติปีที่ 60 นี้ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและด้วยความจงรักภักดี

ข้อเขียน ความคิดความเห็นหรือรายงานนี้ ขอน้อมนำเป็นราชสักการะ ด้วยสำนึกแท้ในความจงรักภักดีเช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย อีกทั้งเป็นลักษณะของการ “ปฏิบัติบูชา” ไปพร้อมกับการสักการบูชา

ซึ่งเป็นโอกาสอันสมควรที่พึงจะกล่าวถึงปฏิบัติบูชานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด ยิ่งกว่าโอกาสใดๆ โดยโอกาสนี้จะเป็นโอกาสที่ดีได้กว่าครั้งใดๆ

กล่าวคือ...

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ใช้อยู่นี้กำลังจะเข้าสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางมาตราในโอกาสอันใกล้นี้ จากการที่มีข้อตกลงทางการเมืองหรือเป็นสัญญาประชาคมว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองอีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะมีการพูดกันแต่ในหัวข้อของอำนาจทางการเมืองของกลุ่มคน และพรรคการเมือง แต่ที่เป็นหัวใจของประเทศ คือสิ่งที่จะอยู่คู่กับราชอาณาจักรไทย คือพระมหากษัตริย์นั้น อาจจะมองเห็นกันว่า ในรัฐธรรมนูญ “หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ได้บัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว ทั้งด้านพระราชอำนาจและอื่นๆ

ในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญที่อยู่ในหมวดนี้บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” ซึ่งอาจจะมองกันว่า ถ้อยคำที่บัญญัติไว้นี้ เพียงพอต่อการเข้าใจโดยทั่วไป และเป็นไปตามหลักเกณฑ์หลักการทั้งปวงคือ “ทรงดำรงตำแหน่ง” คือต้องมีตำแหน่งนี้อยู่ และ “จอมทัพไทย” คือมีพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์ที่ทรงเป็นจอมทัพไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของทหารแล้ว โดยไม่ต้องบัญญัติถึงคำที่เป็นลักษณะของการบังคับบัญชาอย่างอื่น

วงการทหารเอง ก็ได้จัดตำแหน่งและลำดับของการบังคับบัญชาไว้ โดยการงดหรือเว้นการมียศเป็น "จอมพล" โดยมียศพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอกเป็นยศสูงสุด แต่เป็นที่รู้กันในอัตราเงินเดือนขึ้น 14 ขั้นสูงสุดของทหารมีวงเล็บต่อท้ายไว้ว่า “อัตราจอมพล” คือไปปรากฏที่ขั้นเงินเดือนว่าอยู่ในอัตราจอมพล แต่ยศจอมพลไม่มี ผู้อยู่ในอัตราจอมพลมีเครื่องหมายยศเป็นนายพลสี่ดาวเท่ากัน แต่อาจจะไปเพิ่มเป็น 5 ดาวในลักษณะอื่นๆ ก็คือเกียรติยศมิใช่การมีตำแหน่งหรือยศ เพราะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น “จอมพล” พระองค์เดียวในไทยในตำแหน่งจอมทัพไทยดังกล่าว

เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว เป็นการสิ้นสุดผู้มียศทหารเป็นจอมพลคนสุดท้ายอย่างแท้จริง

แต่การมีขั้นเงินเดือนอัตราจอมพลโดยไม่มียศจอมพลนั้น ดูเหมือนว่าในกองทัพจะมีอัตราจอมพลค่อนข้างมากคือมีถึง 25 อัตรา อันมีรายละเอียดคือ จเรทหารทั่วไปของกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม 3 อัตรา, สมุหราชองครักษ์ และรองสมุหราชองครักษ์ 3 อัตรา, ประธานคณะที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมในนี้รวม 10 อัตรา

กองบัญชาการทหารสูงสุด มีผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3 อัตรา เสนาธิการทหาร ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด รวมเป็น 6 อัตรา

กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีอัตราจอมพลของผู้บัญชาการ รองผุ้บัญชาการเหล่าทัพ และประธานคณะที่ปรึกษาฯ เหล่าทัพละ 1 อัตรา รวมเป็นเหล่าทัพละ 3 อัตรา ทั้ง 3 เหล่าทัพมี 9 อัตรา รวมทั้งหมดมีทหารซึ่งเงินเดือนอัตราจอมพล 25 อัตราดังกล่าว ซึ่งถ้าหากจะมียศเป็น "จอมพล" ก็จะมีจอมพลถึง 25 คน

การไม่มีตำแหน่งจอมพล เพราะทหารถือว่าได้มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยนั้น เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อบัญญัติใดๆ แต่เป็นนโยบายหรือความเห็นพ้องต้องกันของทหารมาตั้งแต่ครั้ง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และปฏิเสธการจะเป็นจอมพล โดยเหตุผลที่มาจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.กฤษณ์ เองว่า-ต่อไปจะไม่มีจอมพล เพราะทหารมีพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมทัพ เป็นจอมพลอยู่แล้ว ทหารซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพระองค์ท่าน ต้องมียศต่ำกว่าพระองค์

สำหรับตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งดูเหมือนว่าคำว่า “สูงสุด” จะไม่ควรใช้อีกแล้ว เพราะตำแหน่งหน้าที่นี้เกิดขึ้นมายามสงคราม เมื่อครั้งสงครามอินโดจีนที่ไทยรบกับฝรั่งเศสเพื่อเอาดินแดนในเขมรและลาวคืนมา โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และตำแหน่งได้ตกทอดกันมาเป็นตำแหน่งบังคับบัญชา 3 เหล่าทัพนั้น
ก็มีนโยบายหรือการตกลงอย่างเด็ดขาดแล้วว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะเปลี่ยนเป็น ผู้บัญชาการกองทัพไทย กองบัญชาการทหารสูงสุดจะเปลี่ยนเป็นกองบัญชากองทัพไทย

เมื่อกองบัญชาการทหารสูงสุด จะเปลี่ยนนามใหม่ไม่มีคำว่า “สูงสุด” อีกแล้ว และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็จะมีการแก้ไข และปีนี้เป็นปีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์จอมทัพไทย จึงน่าจะร่วมใจสมัครสมานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 นั้นเพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือให้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ โดยที่ มาตรา 10 นั้น บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” ให้เพิ่มบัญญัติคำว่า “และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” ต่อท้ายจากบทบัญญัติเดิมที่มีอยู่ ซึ่งหากว่า มาตรา 10 มีว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” ก็จะเป็นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งในด้านความเป็นจริงอันปรากฏอยู่ แต่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การเพิ่มความให้เป็นดังที่ว่านี้ จะเป็นการ “ปฏิบัติบูชา” อย่างแท้จริงอีกสถานหนึ่งด้วย

ข้อความนี้มิใช่ของใหม่เลย เพราะได้มีปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2505 ที่อยู่ในมาตรา 10 เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้


โดยตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น คณะผุ้ร่างได้ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” แต่คำว่า “และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” ได้เข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 ซึ่งมีผู้แปรญัตติขอให้ต้องใช้คำว่า “และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” นี้ออกไป คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 25 คน ได้พิจารณาคำแปรญัตติดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และมติส่วนใหญ่ของกรรมาธิการได้ตัดออกไปตามคำแปรญัตตินั้น โดยเหตุผลของผู้ร่างเดิมเห็นว่า ทหารมีการใช้กำลังอย่างไม่ถูกควร มีผู้นำกำลังทหารไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง ในการปฏิวัติรัฐประหาร จึงได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญเน้นลงไปอย่างชัดเจนเสียเลยว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และจอมทัพไทยนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร จะได้ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดใช้กำลังทหารเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ส่วนทางด้านกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เห็นด้วยกับการแปรญัตตินั้น กล่าวกันว่า มีความเห็นเป็นเหตุผลอยู่ 2 ทางคือ เห็นว่าตำแหน่งที่ทรงดำรงอยู่คือ จอมทัพไทยนั้น ถือว่าเป็นตำแหน่งบังคับบัญชาสูงสุดของทหารอยู่แล้ว ทั้งราชนิติและนิติบัญญัติ ไม่ต้องระบุถึงการทรงปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ให้ยืดยาว และดูจะไม่เป็นการสมควรเสียด้วยซ้ำที่ต้องมีการระบุหน้าที่เช่นนั้น โดยทหารก็รู้หน้าที่โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา ผู้ที่สำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนนายร้อย จปร.โรงเรียนนายเรือและโรงเรียนนายเรืออากาศ ก็ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานกระบี่เป็นนายทหาร และรับพระราชทานพระบรมราโชวาทก่อนจะไปปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทหารในกองทัพ เพื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการ ก็ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายและปริญญาบัตร ครั้นเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล ก็เข้าเฝ้าฯ คุกเข่าต่อเบื้องพระพักตร์รับพระราชทานปริญญาบัติยศเป็นนายพล การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งก็เป็นพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทั้งหมดนี้เป็นแบบธรรมเนียมทหารที่มีความผูกพันยอมรับระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นราชนิติอยู่แล้ว

ส่วนความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเห็นด้วยกับการตัดข้อความนั้นออกตามที่มีผู้ขอแปรญัตติไว้ มีความรู้สึกที่จับความได้ว่า จะเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และลึกไปกว่านั้น ก็ยังมีความคิดว่า ถ้าหากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดเสียเลย อาจจะใช้พระราชอำนาจนำเอาระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้อีก

ในการกล่าวถึงความข้างต้นนี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่ และนำมาอ้างอิงได้คือ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกอายุครบ 6 รอบ วันที่ 29 สิงหาคม 2529 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในหน้า 32-35 ถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ขณะที่ พล.อ.อ.หะริน เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมาธิการแปรญัตติหนึ่งใน 25 คน พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 2 ที่ได้เขียนไว้ว่า “การประชุมของกรรมาธิการชุดนี้ ก็ไม่ค่อยจะมีการขัดแย้งอะไรกันมาก นอกจากในมาตรา 10 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ในร่างเดิมกรรมาธิการร่างได้เขียนมาว่า

“มาตรา 10 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร”


แต่ได้มีผู้แปรญัตติขอให้ตัดข้อความว่า “และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” ออก

พล.อ.อ.หะริน เขียนบรรยายไว้ว่า

“ส่วนผู้ที่แปรญัตติให้ตัด ก็ยังไม่หายระแวง ถึงแม้ว่าได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาถึง 36 ปีแล้ว (พ.ศ. 2475-2511) ก็ยังเกรงว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร แล้วอาจจะใช้พระราชอำนาจนำเอาระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาอีก

ผมได้ชี้แจงให้ทีป่ระชุมกรรมาธิการทราบว่า ในระบอบประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศ ประมุขของประเทศจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดีก็ตาม ย่อมจะดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหาร คือเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระบุไว้แน่ชัดในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายว่าด้วยการนั้น อังกฤษก็มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น (Commander-in-Chief อเมริกาก็มีประธานาธิบดีเป็น Commander-in-Chief ประเทศอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะมียกเว้นอยู่ก็แต่อิตาลี เมื่อก่อนสงครามที่มีพระมหากษัตริย์ แต่มีมุสโสลินีเป็นผู้เผด็จการ และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดซ้อนอยู่ บัดนี้ พวกฝรั่งก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมประเทศไทยเรา มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพแล้ว จึงต้องมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดซ้อนกันขึ้นมาอีก ทุกประเทศประชาธิปไตย เขาไม่เคยระแวงว่าพระเจ้าแผ่นดิน หรือประธานาธิบดีของเขา จะใช้กำลังทหารมาเป็นเครื่องมือเผด็จการ”

พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือนั้นต่อไปว่า

“ผมถูกโจมตีในที่ประชุมว่า จะดึงเอาพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่รักษาอำนาจของทหาร ซึ่งก็ได้ชี้แจงซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่ามันไม่มีทางจะเป็นไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ขอให้ติดตามดูพฤติการณ์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ไม่มีท่าทีเลยว่าพระองค์ใดจะทรงใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิด หรือแสดงว่ามีพระราชประสงค์ที่จะได้พระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์คืนมา ผมเพียงแต่อยากให้รัฐธรรมนูญของเรา เป็นแบบสากลเหมือนนานาอารยประเทศทั้งหลาย ยกเว้นอิตาลี เมื่อก่อนสงครามตามที่เล่ามาแล้ว”

ในหนังสือนั้น พล.อ.อ.หะริน ได้บอกกล่าวไว้ด้วยว่า กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 25 คน เป็นผู้ใดบ้าง (ในหน้า 32-33) แต่ดูเหมือนว่าจะล่วงลับกันไปเกือบทั้งหมด เหลือแต่ พล.อ.อ.หะริน ซึ่งเวลานี้อายุของท่านได้ 92 ปีแล้ว แต่สุขภาพยังแข็งแรง และมีความจำเป็นเลิศ ยังเชื่อว่า ท่านจะยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ดี เพราะเป็นสิ่งที่ท่านได้กระทำการอันยิ่งใหญ่เช่นนั้นไว้ ด้วยความถูกต้องและด้วยความจงรักภักดีในแบบที่เป็นปฏิบัติบูชา

“ประธานกรรมาธิการ ตกลงจะให้ตัดข้อความในมาตรา 10 ออกตามที่มีผู้แปรญัตติ ผมจึงทูลขอให้มีการลงมติ เพราะในการออกความเห็นนั้น ยังมีกรรมาธิการหลายท่านสงวนท่าทีนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ทราบว่ามีความเห็นอย่างไร ผลของการลงมติ ปรากฏว่ามีผู้เห็นควรให้คงไว้ตามร่างเดิมคือ ให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารเพียง 4 คนคือ

พระยาสุนทรพิพิธ

พระยาอรรถการียนิพนธ์

หลวงประกอบนิติสาร

และผม


จึงเป็นอันว่า แพ้โหวตในที่ประชุม”

ดังที่ได้กล่าวมาว่า เวลานี้เป็นโอกาสอันควรอย่างยิ่ง เมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา จึงควรจะร่วมกันปฏิบัติบูชาต้องการเพิ่มข้อความในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญ “และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” อันเป็นข้อความเดียวกับที่เคยมีร่างรัฐธรรมนูญในฉบับก่อน ที่ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ท่านได้บันทึกไว้ในหนังสือดังกล่าว ซึ่งมีเหตุและผลประกอบดังที่เห็นอยู่จากข้อความนั้น อีกทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็จะมีการยกเลิกแล้ว

เมื่อใดที่มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร” เมื่อนั้นคือการถวายความจงรักภักดีอย่างแท้จริงกว่าสิ่งอื่นๆ โดยไม่ต้องเป็นการต่อสู้หรือสนับสนุน แต่เป็นการถวายแด่พระองค์ ด้วยการมองที่ความเป็นจริง ซึ่งไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญจะเป็นการดีกว่า และเป็นสิ่งที่ทางทหารก็มีความภาคภูมิใจ ในการที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป็นการสืบสานสิ่งที่ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เคยกระทำมาก่อนแล้ว เมื่อไม่สำเร็จในตอนนั้น ก็ต้องสำเร็จในตอนนี้ ตอนที่คำตอบของคำถามที่ว่า “ถ้าบ้านเมืองเรา ไม่มีพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นอย่างไร?” ซึ่งคำตอบนี้มีอยู่แล้วในใจของทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น