xs
xsm
sm
md
lg

30 บาท - ฮับสุขภาพป่วนหนัก หมอ รพ.รัฐ เผ่นไปซบเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – สาธารณสุขเผย ปี 48 รพ.เอกชนถูกร้องเรียนถึง 519 เรื่อง แถมเจอคดีหมอเถื่อนมากสุด 85 เรื่อง พร้อมคุยรพ.ของไทยเนื้อหอมสุดๆ ระบุปีที่แล้วมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาเกือบ 7 แสนราย สร้างรายได้กว่า 3 หมื่นล้าน ขณะที่ สปสช.รับ 30 บาท มีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง จี้จัดสรรงบให้เพียงพอ เผยงบรายหัวอัตราใหม่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ต้องรอรัฐบาลใหม่ ส่วนหมออัดไม่ยั้ง ชี้บุคลากรทางการแพทย์ไทยขาดแคลนหนัก เหตุถูกรพ.เอกชนดูด ระบุเป็นผลมาจาก 30 บาทและนโยบายเมดิคอลฮับ

วานนี้(5 มิ.ย.)นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพ มาตรฐานสถานพยาบาลเอกชน ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ว่า ขณะนี้การแพทย์และสาธารณสุขของไทย มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค ความสามารถของแพทย์ไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายๆ ประเทศ ทำให้ชาวต่างชาตินิยมมาใช้บริการ

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาที่ประเทศไทยทั้งหมด 630,000 ราย สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 32,000 ล้านบาท โดยสหรัฐอเมริกา ใช้บริการมากที่สุด 33% จีน 29 % ญี่ปุ่น 18 % อังกฤษ 14 % ตะวันออกกลาง 6 % ออสเตรเลีย 6 % และอื่นๆอีก 17 % ชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบริการราคาไม่สูง ทั้งนี้บริการที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ การรักษาฟัน การทำศัลยกรรมตกแต่ง การรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรคมะเร็ง ผ่าตัดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น

ด้านนพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปี 2548 กองการประกอบโรคศิลปะได้รับเรื่องร้องเรียนสถานพยาบาลเอกชนทั้งหมด 519 เรื่อง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 171 เรื่อง และคลินิก 348 เรื่อง อันดับ1 เป็นเรื่องหมอเถื่อน 85 เรื่อง รองลงมาคือ เปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต 79 เรื่อง และมาตรฐานการรักษา 77 เรื่อง ซึ่งได้ส่งดำเนินคดี 47 เรื่อง ปิดสถานพยาบาล 11 แห่ง และเพิกถอนใบอนุญาต 2 ราย

ทั้งนี้ ในปี 2548 มีโรงพยาบาลเอกชนขึ้นทะเบียนทั้งหมด 356 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ป่วยวันละ 35,900 เตียง และมีคลินิกเอกชน 16,547 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเอกชนเปิดใหม่ 10 แห่ง ปิดกิจการ 8 แห่ง ขยายเตียง 4 แห่ง และลดจำนวนเตียงลง 4 แห่ง

วันเดียวกัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จัดสัมมนาเรื่อง “มองหลายมุมอนาคตหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสปสช. นพ.ประทีป รองเลขาธิการสปสช. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ/ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตัวแทนภาคประชาชนผู้ใช้บริการ นพ.เจตน์ ศริธรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ตัวแทนผู้ให้บริการ โดยข้อสรุปของการสัมมนาในครั้งนี้จะรวบรวมเพื่อเสนอผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปรับใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

นพ.สงวน กล่าวว่า กว่า 5 ปีแล้วประชาชนคนไทยมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ 62.99 ล้านคน ซึ่งมีประชากรที่ลงทะเบียนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพจำนวน 47.60 คน และในจำนวนนี้เสียค่าธรรมเนียม 22.77 ล้านคน ขณะที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม 24.83 ล้านคน ทั้งนี้ พบว่า ในปีที่ผ่านมาคนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการ 118 ล้านครั้ง ส่วนผู้ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมีทั้งสิ้น 4.5 ล้านราย

สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังและมีค่าใช้จ่ายสูงได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เสียชีวิต 3 อันดับแรกคือ โรคมะเร็งมีผู้ถือบัตรทองได้ใช้บริการในปี 2548 ถึง 157,015 คนเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีได้รับบริการ 125,977 คน ขณะที่โรคผ่าตัดสมองมีคนเข้าถึงบริการถึง 10,063 คน ผ่าตัดโรคหัวใจ 6,134 คน ผ่าตัดตาต้อกระจก 42,191ราย จากตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าประชาชนเข้าถึงบริการในโครงการ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรคเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 96-130% ส่งผลให้มีครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยหนักและมีค่าใช้จ่ายสูงไม่ต้องล้มละลายได้ถึง 116,672 ครัวเรือนเมื่อเทียบกับในอดีตที่ยังไม่มีโครงการหลักประกันมีครัวเรือนที่ยากจนและเข้าไม่ถึงบริการมีจำนวนถึง 209,533 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีปัญหาในระบบที่รอการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนผ่านมายัง 1330 หรือผ่านคอลัมน์ในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่าง ๆโดยเฉพาะเรื่องหน่วยบริการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิจะเรียกเก็บ

“ตอนนี้ งบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 2,089 บาท ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เพราะขณะนี้เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ การพิจารณางบประมาณคงยืดเยื้อถึงปลายปีนี้งบประมาณดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการพิจารณาช่วงนั้น โครงการ 30 บาท ยังใช้งบประมาณ 1,659 บาทต่อหัวจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่”

นพ.สงวน กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ว่า ต้องการให้จัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอ ปีงบประมาณหน้า สปสช.จะได้เงินเร็วขึ้นโดย สปสช.ส่งเงินตรงไปยังสำนักงานสาขาไม่ต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าประเด็นอยู่ที่ความพอเพียงของงบประมาณต้องนำเงินเฟ้อมาพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณด้วย

ด้านน.ส.สารี กล่าวว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องที่ดีซึ่งจะต้องมีการต่อยอดต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพ ไม่เกี่ยวว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลหรือไม่เป็นแล้วหลักประกันสุขภาพจะล้มไปเพราะไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะต้องสานต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

“อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในครั้งนี้ไปปรับใช้ในส่วนที่ยังขาดให้มีความชัดเจนหรือเติมเต็มมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะโรคบางโรคที่โครงการหลักประกันฯยังไม่ได้บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะ โรคไต และอยากจะบอกว่าโครงการหลักประกันฯหรือชื่อที่รู้จักว่า 30 บาทนั้นหากเป็นไปได้ไม่ควรเก็บค่ารักษาพยาบาลเสียด้วยซ้ำไป เพราะคนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน โดยที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ให้กระจายทั่วประเทศไม่ใช่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น”น.ส.สารีกล่าว

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลดำเนินงานโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค และมีการผลักดันให้เมืองไทยเป็นเมดิคอล ฮับ ทำให้ระบบสาธารณสุขอย่างมาก ไทยขาดแคลนแพทย์เพราะโครงการนี้ดึงบุคลากรออกจากระบบสาธารณสุขไปสู่โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก แม้ว่าโครงการนี้จะถือเป็นพันธกิจของรัฐบาลที่ต้องการเงินเข้าประเทศ เพราะคนไข้ต่างประเทศในปี 2548 มีประมาณ 1 ล้านคน และปี 2549 คาดว่าจะมีคนไข้ต่างชาติเข้ามารับบริการประมาณ 1.4 ล้านคน ด้วยจำนวนคนไข้ที่มากขึ้นโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องดึงบุคลากรจากระบบ

“โรงพยาบาลพระจอมเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง เมื่อมีโครงการ 30 บาท ทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้น และยังเจอปัญหาสมองไหล ผมส่งแพทย์ไปเรียนต่อเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลายปี แต่เมื่อแพทย์คนนั้นเรียนจบกลับมา ก็มาขอลาออกจากโรงพยาบาลเพื่อไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะไปว่าแพทย์ไม่ให้ลาออกก็ไม่ได้ เพราะค่าตอบแทนในระบบราชการต่ำ ในขณะที่เงินเดือนขั้นต่ำของโรงพยาบาลเอกชน 2 แสนบาทต่อเดือน” นพ.เจตน์ กล่าว และว่า เมื่อแพทย์ลาออกจากระบบจึงทำให้แพทย์ที่อยู่ในระบบทำงานหนักขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น