xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯ ลุยใต้ พิสูจน์ศพนิรนาม หมอพรทิพย์แฉปี 49 พบอีกนับร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เดินหน้าพิสูจน์ศพไร้ญาติใน 3 จชต.เพื่อสร้างความเป็นธรรมและแก้ข้อสงสัยของประชาคมโลก 'หมอพรทิพย์'เผยแค่ต้นปี 49 มีศพนิรนามถูกฝังแล้วกว่า 100 ศพ ส่วนใหญ่เป็นการฆาตกรรม เตรียมนำกระดูกแพ็คใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปพิสูจน์ DNA ที่สุสานบ้านพรุ หาดใหญ่ คาดลุยได้ ก.ค.นี้ ชาวบ้านร้องอีกญาติถูกอุ้มหายลึกลับ หลังทหารเรียกไปคุย "อานันท์" แถลงปิดภารกิจสุดท้าย กอส.หลังรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งถึงมือ "ทักษิณ"

วานนี้(5 มิ.ย.)ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิต ได้แถลงข่าวเรื่องศพนิรนามในสุสานมูลนิธิ จ.ปัตตานี ท่งเต็กเซียงตึ้ง โดยผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม, นายวสันต์ พานิชย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายมานิต สุธาพร รองปลัดฯยุติธรรม, นายสัก กอแสงเรือง ประธานคณะอนุกรรมการติดตามผู้สูญหาย และนายสุรสิทธิ์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชน

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในการทำงานของศูนย์ติดตามผู้สูญหาย ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ( กอส.) ช่วงแรกได้รับแจ้งว่ามีคนสูญหายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 30 คน ซึ่งเราได้เก็บข้อมูลเบื้องต้นรวมทั้ง DNA ของญาติผู้สูญหายไว้แล้ว ส่วนการติดตามค้นหาผู้สูญหายนั้นแนวทางหนึ่งก็คือ ที่ฝังศพนิรนาม

** ปี 49 ศพนิรนามถูกฝังอีกนับ 100

สำหรับศพนิรนามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการจัดเก็บใน 2 ส่วน คือ ที่ฝังอยู่ในกุโบร์ และที่ฝังอยู่ในสุสานของมูลนิธิต่างๆ โดยหลักการแยกวิธีจัดเก็บนั้นจะมีหมอ ตำรวจ ผู้นำศาสนา มาตรวจสอบศพที่ไม่ทราบชื่อ ก็สามารถแยกได้เบื้องต้นชัดเจน คือ ศพที่เป็นผู้ชาย โดยคาดว่าศพผู้ชายที่ไม่ทราบชื่อ ถูกฝังเก็บในกุโบร์มีอยู่ในจังหวัดละประมาณ 20 คน

"เราคงจะไปหาข้อมูลจากร้อยเวรอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะบางกรณีไม่ได้มีการแจ้งสถานีตำรวจเอาไว้ จึงต้องมีการประสานงานกับมูลนิธิ หรือกุโบร์ ที่รับศพมาฝัง เมื่อเจอศพแล้วหากไม่ทราบชื่อก็จะต้องทำการแยกเพศก่อนนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ โดยศพนิรนามที่พบว่าฝังอยู่ในกุโบร์ทั้ง 3 จังหวัดนั้นมีประมาณ 10-20 ศพ ที่เหลืออยู่ในสุสานจีนที่ จ.นราธิวาส 30 ศพ ส่วน จ.ยะลาไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศพนิรนาม แต่เป็นเพราะไม่มีมูลนิธิ ก็เลยไม่ทราบว่า จ.ยะลา ดำเนินการอย่างไร

ส่วนที่ จ.ปัตตานีมีชัดเจน คือ มูลนิธิท่งเต็กเซียงตึ้ง ซึ่งได้ให้การดูแลศพนิรนามเป็นอย่างดี แต่ก็ได้มีการล่างป่าช้าไปแล้วครั้งล่าสุดเมื่อปี 44 แต่เนื่องจากภาครัฐได้เข้ามาทำโครงการหาผู้สูญหาญจากเหตุไม่สงบ จึงเริ่มนับตัวเลขศพนิรนามขึ้นเมื่อต้นปี 47 พบว่ามีประมาณ 300 ศพ ส่วนที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านจะอยู่ในช่วงปี 47-48 เป็นศพที่ถูกกระทำในคดีฆาตกรรมประมาณ 200 ศพ ที่เหลือจะเป็นผู้ป่วย ส่วนต้นปี 49 จนถึงปัจจุบันมีศพนิรนามที่เข้ามาใหม่และเป็นคดีฆาตกรรมอีกเหมือนเดิมประมาณ 100 ศพ แต่ไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ในเบื้องต้นก็คงจะทำเท่าที่ทำได้"

**คาดลุยพิสูจน์ได้ภายใน ก.ค.นี้

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า ส่วนศพลูกเรือประมงที่ทางพนักงานสอบสวนอ้างว่าลอยน้ำมานั้น ตามข้อมูลพบว่าทางสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่ไม่ได้มีการระบุไว้ ระบุเพียงแค่วันเวลาที่ลงฝัง แต่ในส่วนของมูลนิธิฯ ได้มีการแยกเก็บฝั่งเป็นหลุมๆ ไว้ ซึ่งเราจะได้มีการขุดศพขึ้นมาและแพ็คเก็บไว้อย่างเป็นระบบ จากนั้นจะนำไปตรวจสอบหาสาเหตุการตาย เช่น มีร่องรอยกระสุนหรือไม่ เพราะสามารถตรวจสอบร่องรอยกระสุนจากกระดูกศพได้ง่าย

ส่วนสถานที่ตรวจพิสูจน์ศพนิรนามนั้น หลังจากขุดขึ้นมาและแพ็คไว้อย่างเป็นระบบแล้วก็จะนำศพใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปตรวจสอบที่สุสานบ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อความสะดวกในการในการทำงาน เนื่องจากผู้เชียวชาญชาวอเมริกา ได้แนะนำมาว่า จ.ปัตตานี มีความชื้นสูง จึงต้องนำชิ้นส่วนกระดูกไปทำการตรวจสอบที่หาดใหญ่ ในส่วนนี้เราไม่เคยมีองค์ความรู้มาก่อน ก็จำเป็นจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาให้คำแนะนำ

"คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะเดินทางมาถึงจากนั้นก็จะใช้เวลาในการเตรียมการ 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถดำเนินการขุดศพขึ้นมาพิสูจน์ได้"

**จวก รบ.ไม่ใส่ใจคนสูญหาย

นายวสันต์ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ติดตามผู้สูญหายและพิสูจน์ศพนิรนามนี้ ตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 2 ปี เมื่อมีการล้างป่าช้าทำให้ญาติของผู้สูญหายไม่สามารถมีโอกาสได้พิสูจน์หาศพของญาติตนเองได้ เพราะไม่เคยมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมาก่อน เมื่อรัฐบาลไม่ดำเนินการ กรรมการสิทธิ์ฯจึงต้องลุกขึ้นมาทำเอง

"หลังจากนี้ไปจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลคนหายและศพนิรนามอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของคนไทย หากชาวต่างชาติหายตัวไปก็ต้องมีการค้นหา เมื่อมีการแจ้งว่าพบศพนิรนามที่ถูกฝังอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแรงงานต่างด้าว ก็จะต้องประสานไปยังสถานทูตประเทศนั้น ๆ ให้เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ให้สามารถมาแจ้งบุคคลสูญหายได้ที่ศูนย์นิติธรรมและศูนย์ติดตามบุคคลสูญหายและพิสูจน์ศพนิรนามได้"

นายสัก กล่าวว่า การติดตามบุคคลสูญหายและการพิสูจน์ศพนิรนามในประเทศไทย ยังไม่เคยมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและไม่มีหน่วยงานรองรับ กระทรวงยุติธรรมเองก็พยายามเสนอให้ตั้งโดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นระบบ ขณะนี้กรรมการสิทธิ์ฯ มีอำนาจตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ศพนิรนามควรได้รับการพิสูจน์และเราต้องตอบคำถามต่อประชาคมโลกให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างด้าวล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำให้เกิดความกระจ่าง

"ที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากองค์กรนานาชาติ รวมทั้งสหประชาชาติถึงกรณีบุคคลสูญหาย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรมสำหรับตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ทางออกนี้จึงเป็นทางที่ดี เพราะที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายกรณีเกิดขึ้น แต่รัฐไม่สามารถหาคำตอบให้กับสังคมและประชาคมโลกได้" นายสักกล่าวและว่า กรณีทนายสมชาย ที่หายตัวไปร่วม 2 ปีเศษ แต่รัฐบาลยังไม่มีคำตอบให้กับครอบครัวและสังคมได้คลายความสงสัยว่าเขาหายตัวไปอย่างไร มีชะตากรรมอย่างไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องลุกขึ้นมาและร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ จะเป็นข้อมูลในการตอบคำถามต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

**บุกร้องกก.สิทธิ์ถูกอุ้มหายอีก 1

นายมานิต กล่าวว่า การตั้งศูนย์ติดตามผู้สูญหายและพิสูจน์ศพนิรนาม เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการพิสูจน์ศพนิรนาม เมื่อกรรมการสิทธิ์ฯ ลงมือทำก็ถือเป็นเรื่องที่บรรจบกันพอดี เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถพิสูจน์ศพนิรนามได้ แม้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะพยายามแก้ไขในเรื่องนี้ก็ตาม

"หากยังไม่สามารถพิสูจน์อย่างเป็นระบบได้ กระบวนการยุติธรรมก็จะบกพร่องไป ดังนั้น หลังจากนี้เราจะต้องเก็บข้อมูลเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นจะได้มีแหล่งข้อมูลที่สามารถนำมาพิสูจน์ได้ทันที โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลของ จ.ปัตตานีเป็นแห่งแรก เมื่อเก็บได้หมดก็จะทำให้ระบบยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปในตัว ไม่ใช่ปล่อยให้ใครหายไปโดยไร้ร่องรอย"

ขณะที่นายสุรสิทธิ์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ญาติของนายแวหะเล็ม กูแวกาแม อายุ 30 ปี อาชีพเป็นช่างก่อสร้าง อยู่บ้านบาตะปาเซ หมู่ที่ 6 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ได้มาร้องเรียนว่า นายแวหะเล็ม ได้ถูกอุ้มหายตัวไปอย่างลึกลับ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.49 ที่บนถนนในหมู่บ้านบาตะปาเซ หมู่ที่ 6 ต.บูกิต โดย ญาติของนายแวหะเล็ม บอกว่า นายแวหะเล็ม ถูกทหารตรวจค้นในช่วงเช้า พอตอนเย็นก็หายตัวไป จนถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทางญาติได้ร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องขอให้ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วยติดตามให้

**บุกพิสูจน์ "สุสานศพนิรนาม"

ก่อนหน้านี้เวลา 10.30 น. พญ.คุณหญิงพรทิพย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปที่สุสานตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพนิรนาม โดยนายดำรงค์ สิงค์โตทอง เลขานุการมูลนิธิ จ.ปัตตานี ท่งเต็กเซียงตึ้ง เป็นผู้รายงานข้อมูลถึงการทำงานและชี้บริเวณฝังศพ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 299 ศพ โดยแยกเป็นปี 47 จำนวน 79 ศพ ปี 48 จำนวน 163 ศพ และปี 49 จำนวน 53 ศพ ซึ่งเป็นศพต่างด้าว โดยก่อนฝังได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นใน 5 ลักษณะ คือ อวัยวะเพศ รอยสัก ใบหน้าหนวดเครา การแต่งกาย และเครื่องประดับ ถ้าพบว่าเป็นศพมุสลิมได้มอบให้กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการแถลงข่าวได้มีประชาชนประมาณ 15 คน อ้างว่าเป็นตัวแทนของชาว จ.ปัตตานี นำโดยนายภุเบศ จันทนิมิ อดีตนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี พรรคไทยรักไทย ได้มายื่นหนังสือต่อนายสัก กอแสงเรือง ประธานอนุกรรมการติดตามผู้สูญหาย โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการพิสูจน์ศพไร้ญาติ ที่มีการระบุว่าเกี่ยวโยงกับประเด็นการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเรื่องดังกล่าวทำให้ จ.ปัตตานี เสียภาพลักษณ์โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

**ปิดฉาก กอส.ฉบับสมบูรณ์ถึงมือแม้ว

ที่ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) นำกรรมการเกือบทั้งคณะร่วมแถลงข่าวเปิดรายงานฉบับเต็มของ กอส.อย่างเป็นทางการ หลังจากปฏิบัติภารกิจมาประมาณ 11 เดือน

นายอานันท์ เปิดเผยว่า รายงานฉบับสมบูรณ์ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือได้นำส่งแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีแล้วในเช้าวันเดียวกัน และถือเป็นข้อตกลงระหว่างตนและ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่หลังจากยื่นให้แล้วจะนำรายงานฉบับนี้ ซึ่ง กอส.มีความเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์เสนอต่อสื่อมวลชนและสังคมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวของ กอส.อย่างกว้างขวาง และต่อจากนี้บทบาทการทำงานของ กอส.ก็จะยุติลงโดยปริยาย

สำหรับเนื้อหาหลักข้อเสนอของ กอส.จะอยู่ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.เรื่องการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีข้อเสนอมากที่สุด 2.การพัฒนา ที่พบว่าวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มีความใกล้เคียงกับเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างมาก ก่อนนี้เราเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจในประเทศนี้เหมือนกันหมดทุกแห่ง แต่ท้ายสุดก็เข้าใจว่าไม่สามารถบังคับให้เหมือนกันได้ จึงมีข้อเสนอให้จัดตั้ง "สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ กระจายทั้งอำนาจ ความรับผิดชอบ และงบประมาณ 3.การยอมรับความหลากหลายในท้องถิ่น ซึ่งมีข้อเสนอปลีกย่อยจำนวนมาก และ 4.การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม กักขัง สืบสวนสอบสวน ไปจนถึงขั้นอัยการและศาล ซึ่งประเด็นนี้เป็นจุดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม

"หน้าที่ของ กอส.ก็คือ การวินิจฉัยหาสาเหตุของปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหา แต่ผลสุดท้ายการตัดสินใจก็อยู่ที่รัฐบาลว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาของประชาชนทั้งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว" นายอานันท์ กล่าว และย้ำว่า รายงานชิ้นนี้จะก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ที่สนใจในประเด็นปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สื่อมวลชนและนักวิชาการรวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ออกมาเขียนหรือพูดคุยเพื่อวิจารณ์ด้วยเช่นกัน

นายอานันท์ ย้ำอีกว่า ทางกรรมการทุกคนมีความมั่นใจว่าปัญหาภาคใต้จะสามารถแก้ไขได้ในระยะยาว แต่สำหรับปัญหาระยะสั้นที่มีการจับตัวประกัน การทารุณกรรม ซึ่งก็ต้องได้รับการประณาม และเป็นหน้าที่ของฝ่ายที่รับผิดชอบในการจัดการ แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้คือปัญหานี้แก้ได้ ไม่ใช่แก้แค่เพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่คนทั้งประเทศจะต้องเข้าใจด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมีท่าทีต่อรายงานชิ้นนี้อย่างไร

"ภายหลังจากการยื่นข้อเสนอต่อนายกฯแล้ว บทบาทของ กอส.ก็ถือว่ายุติลง แต่ในฐานะส่วนตัวก็กรรมการแต่ละคนก็อาจจะมีความเห็นที่เป็นอิสระเพื่อเสนอแนวทางเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งในอดีตทางรัฐบาลก็รับข้อเสนอของเราบ้าง ไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับไปก็เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระทำให้ผิดเป้าผิดประเด็นไป"

นพ.ประเวศ วะสี รองประธาน กอส. ระบุว่า รายงานชิ้นนี้ถือว่าเป็นรายงานที่เกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สมบูรณ์และเป็นระบบที่สุดในประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต เพราะข้อเสนอหลายประการที่ได้มีการร่างขึ้นก็เพื่อต้องการให้เป็นประเด็นทางการเมือง และก่อให้เกิดการถกเถียงกัน อาทิ ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรทางด้านยุทธศาสตร์ "ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์ฯ" บนพื้นฐานปัญหาที่ไม่เคยมีความเป็นเอกภาพในการทำงาน หรือการจัดตั้ง "สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" และ "กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์" ซึ่งให้การช่วยเหลืออย่างไม่เลือกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น