xs
xsm
sm
md
lg

พับแผนโครงการยักษ์"ศูนย์ไอซีดีขอนแก่น" ที่ดินยังหาไม่ได้/พิษณุโลกมีสิทธิ์เกิดก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-จังหวัดขอนแก่นพับแผนก่อสร้างไอซีดีชั่วคราว หลังหน่วยงานทหารปฏิเสธให้ใช้ที่ดินทั้งท่าพระ-น้ำพอง เหลือความหวังที่ดินบ.บุญรอดฯเสนอจัดซื้อราคาถูกพร้อมบริจาคบางส่วนแต่ยังเจราจาเงื่อนไขเชิงธุรกิจไม่ลงตัว เผยหากโครงการล่าช้ามีสิทธิ์แห้ว จ.พิษณุโลกอาจแซงหน้าสร้างไอซีดีได้ก่อน

ดร.พนกฤษณ คลังบุญครอง หัวหน้าคณะทีมงานที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างไอซีดี จ.ขอนแก่นกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์บริการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์( Inland Container Depot , ICD )ทางรถไฟ จ.ขอนแก่นว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เรื่องสถานที่จัดสร้าง

จากเดิมผลการศึกษาระบุความเหมาะสม 3 แห่ง จุดแรก คือที่เขตที่ดินทหารอากาศ อ.น้ำพอง จุดที่สอง ที่ดินของกองสัตวบาล ต.ท่าพระ และจุดที่สามที่ดินของเอกชนคือของบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ ที่ ต.ท่าพระเช่นกัน แต่เป็นที่แน่นอนแล้วที่ดินของทหาร 2 จุดแรกได้รับการปฏิเสธจากต้นสังกัดเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว

ดังนั้นจึงเหลือแต่ที่ดินของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ที่ตำบลท่าพระที่อยู่ในเป้าหมาย ในการใช้จัดสร้างศูนย์ไอซีดี ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานของจังหวัด ได้หารือกับผู้บริหารบริษัทบุญรอดฯนายปิยะ ภิรมย์ภักดีแล้วว่าอยากขอแบ่งซื้อที่ดินผืนดังกล่าวจำนวน 300 ไร่ จากที่มีทั้งหมด 900 ไร่ อาจจะขอซื้อในราคาต่ำกว่าตลาดและบางส่วนอาจจะขอรับบริจาค เพราะหากสร้างศูนย์ไอซีดีในที่ดินผืนนี้ บริษัทบุญรอดฯก็จะได้รับความสะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม การหารือยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากสถานะล่าสุดของที่ดินผืนนี้ บริษัทบุญรอดฯได้โอนกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทขอนแก่น บริวเวอรี่แล้ว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของผู้บริหารขอนแก่นบริวเวอรี่ว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของจังหวัดขอนแก่นหรือไม่ และมีเงื่อนไขในทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนอย่างไร

ด้านนายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า การใช้ที่ดินของภาคเอกชนบริษัท ในเครือบุญรอดฯเพื่อจัดตั้งศูนย์ไอซีดีมีความเป็นไปได้มากที่สุด ทางจังหวัดได้มีการหารือกับผู้บริหารบริษัทถึง 2 ครั้งแล้ว โดยได้เสนอเงื่อนไขหลายทางเลือก ทั้งเสนอขายที่ดินจำนวน 300 ไร่ในราคาต่ำ หรืออาจจะบริจาคที่ดินให้จังหวัด แต่จะขอเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์ไอซีดีดังกล่าว

เงื่อนไขที่มีการหารือ จังหวัดขอนแก่นได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยไปแล้ว เพราะเป็นเจ้าภาพดำเนินการโครงการก่อสร้างไอซีดี จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ต้องนำมาพิจารณาในระดับคณะกรรมการจังหวัดขอนแก่น ว่าจะพิจารณาเลือกเงื่อนไขใดที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอน การศึกษาออกแบบ ส่วนเรื่องงบประมาณ เป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ ที่จะต้องไปประสานกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ว่าจะให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างไอซีดีขอนแก่นอย่างไร

"โครงการไอซีดี ขอนแก่น มีหลายทางเลือก ที่จะผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม นอกจากการจัดซื้อที่ดิน หรือร่วมกันบริหารกับภาคเอกชน อาจจะดำเนินการในลักษณะของการเช่า หรือการเวนคืนที่ดิน โดยชดใช้ที่ดินให้ เพราะถือเป็นโครงการสาธารณะที่เกิดประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ และสังคมส่วนรวมในพื้นที่"นายเจตน์กล่าว

ด้าน ดร.พนกฤษณ กล่าวอีกว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องที่ดินจัดสร้างศูนย์ไอซีดี ขั้นตอนการสำรวจออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถดำเนินการได้ และด้วยเงื่อนไขปัญหาด้านกรอบเวลาดังกล่าว โครงการก่อสร้างศูนย์ไอซีดีขอนแก่นคงต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยนำไปบรรจุในแผนพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดปีงบประมาณถัดไป

อย่างไรก็ตาม ดร.พนกฤษณ กล่าวย้ำว่า จังหวัดขอนแก่นจำเป็นต้องเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์ไอซีดีให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ยิ่งล่าช้าออกไปยิ่งเสียโอกาสทางธุรกิจและอาจกระทบต่อภาพรวม การพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดที่ต้องการให้กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค

ที่สำคัญหากระยะเวลาอันใกล้นี้ ยังไม่มีความชัดเจนของโครงการฯ จังหวัดขอนแก่นอาจเสียโอกาสให้จังหวัดอื่นที่จะจัดสร้างศูนย์ไอซีดีขึ้นมาก่อน ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเองก็มีแผนที่จะจัดสร้างเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.)เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดสร้างไอซีดีเสร็จแล้ว แม้ผลการศึกษาความเหมาะสมของพิษณุโลก จะดำเนินการหลังจังหวัดขอนแก่น แต่หากขอนแก่นไม่สามารถจัดหาสถานที่จัดสร้างได้เร็ว ศูนย์ไอซีดีจังหวัดพิษณุโลกก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นก่อน

สำหรับศูนย์ไอซีดี จ.ขอนแก่น ภาครัฐและเอกชนขอนแก่นผลักดันให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขึ้นเป็นแห่งแรก ทั้งผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการก็มีความคืบหน้าดำเนินการแล้วเสร็จก่อนแห่งอื่น

ตามแผนโครงการก่อสร้างไอซีดีแห่งนี้ ได้กำหนดให้มีขนาดพื้นที่การให้บริการแตกต่างจากศูนย์ไอซีดีลาดกระบัง โดยศูนย์ไอซีดีขอนแก่นจะแบ่งสถานีย่อยออกเป็น 2 สถานี เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ โดยผลการศึกษาประมาณการว่าจะใช้เงินลงทุนในเบื้องต้นราว 600 ล้านบาท

ด้านปริมาณสินค้าที่เข้า-ออกในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ตามผลการศึกษาก็ยืนยันว่ามีปริมาณมากพอต่อการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านศูนย์ไอซีดีขอนแก่น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวฯลฯ จากผลการศึกษาพบว่าสินค้าส่งออกที่สามารถเข้ามาใช้บริการศูนย์ไอซีดีแห่งนี้ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการน่าจะมีปริมาณถึง 1,927,813 ต้น/ปี หรือคิดเป็นตู้คอนเนอร์ จำนวน 113,401TEUs ต่อปี

ขณะที่ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการเงินของโครงการนั้น นายเจตน์ชี้แจงว่าจากผลการศึกษาและวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การจัดตั้งศูนย์ไอซีดีที่จังหวัดขอนแก่น จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 26 % ผลตอบแทนทางการเงิน 14.8 % ในกรณีที่รัฐเป็นผู้ลงทุนไอซีดีเป็นโครงสร้างพื้นฐาน

ผลตอบแทนที่ได้ทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งจากรถบรรทุกมาเป็นรถไฟ นอกจากนี้ ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดสินค้า เพื่อการส่งออกของภาคอีสาน ลดจำนวนรถบรรทุกที่แล่นอยู่บนโครงข่ายถนน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากรถบรรทุกมาใช้การขนส่งทางรถไฟ สามารถลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งได้มาก โดยค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดจากการขนส่งทางรถไฟจะถูกกว่าการขนส่งโดยรถบรรทุก 3-4 เท่าตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น