ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิชาการม.ขอนแก่น ห่วงอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เผชิญปัญหาวัตถุดิบ ราคาโมลาสพุ่ง เผยหากแก้ปัญหาไม่ทันการณ์ อาจกระทบแผนยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 ภายในปี 50 ล้มเหลว ลั่นถึงเวลา ต้องหาพืชวัตถุดิบใหม่เสริมการผลิต ชู "ข้าวฟ่างหวาน"ส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ล่าสุดพ่อเมืองขอนแก่น ทุ่มงบฯซีอีโอ ทดลองปลูกเชิงพาณิชย์บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ หาข้อมูลกำหนดราคาซื้อ/ขาย และแนวทางส่งเสริมปลูกในเชิงอุตสาหกรรม
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงอุตสาหกรรมเอทานอลว่า ขณะนี้โรงงานเอทานอลทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบผลิต โดยเฉพาะโรงงานเอทานอลที่ใช้โมลาส หรือกากน้ำตาล เป็นวัตถุดิบ ประสบปัญหารุนแรง เผชิญปัญหาวัตถุดิบกากน้ำตาล ไม่เพียงพอกับความต้องการผลิต และราคาขายปรับขึ้นสูงมาก
ปัจจุบัน มีโรงงานเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลหลายแห่ง หยุดเดินเครื่องจักรผลิต ยกเหตุผลปรับปรุงเครื่องจักร ขณะที่โรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กลับไม่คืบหน้า ทำให้การผลิตเอทานอล ไม่เป็นไปตามแผนงานที่รัฐกำหนดไว้ ต้องนำเข้าเอทานอลจากต่างประเทศ มาผสมเป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 95 ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันมีความต้องการพลังงานทดแทน ที่ผลิตได้ในประเทศจำนวนมาก
"กากน้ำตาลปรับราคาขึ้นเฉียด 5,000 บาท/ตัน จากเดิมที่มีราคาไม่เกิน 2,000 บาท/ตัน ระดับราคาดังกล่าว ส่งผลกระทบกับต้นทุนผลิตเอทานอลปรับขึ้น โดยมีต้นทุนรวมค่าการผลิตที่ประมาณ 25.20 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคารับซื้อที่รัฐควบคุมไว้ที่ 23 บาท/ลิตร อีกทั้งมีอุตสาหกรรมแปรรูปอื่น ต้องการวัตถุดิบกากน้ำตาลไปแปรรูปอีกมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตสุรา ซีอิ๊ว"รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวและว่า
อุตสาหกรรมผลิตอ้อยและน้ำตาล แต่ละปีจะมีกากน้ำตาลอยู่ในระบบประมาณ 2.5 ล้านตัน กากน้ำตาล 1 ล้านตัน ส่งออกต่างประเทศ ส่วนที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆภายในประเทศ แต่ในปีการผลิต 2548/2549 นี้ ผลผลิตอ้อยเสียหายจากภัยแล้ง เหลือเพียง 48 ล้านตัน มีกากน้ำตาลในระบบเพียง 2.11 ล้านตัน ทั้งมีอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลเข้ามาใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลเพิ่ม
อุตสาหกรรมผลิตสุรา และซีอิ๊ว สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ราคาที่สูงกว่าเอทานอล โดยเฉพาะการผลิตสุรา ไม่จำเป็นต้องกลั่นเป็นแอลกอฮอล์ให้มีความบริสุทธิ์ถึง 99.5% กลั่นให้บริสุทธ์เพียง 35-40% ก็สามารถแปรรูปเป็นสุราได้แล้ว ซึ่งมีต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตเอทานอล และสามารถกำหนดราคาขายได้สูงกว่า
จุดที่น่าเป็นห่วง หากโรงงานแปรรูปเอทานอลทั้งระบบ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะกากน้ำตาล มาผลิตให้เพียงพอกับความต้องการได้ อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลิตเอทานอล ไม่เพียงพอใช้ผสมเป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 95 จำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์ จนอาจกระทบต่อนโยบาย ยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 ภายในปี 2550
ขณะเดียวกัน หากรัฐบาล เลือกวิธีแก้ปัญหา ด้วยการสั่งนำเข้าวัตถุดิบเอทานอล จากต่างประเทศ มาผสม แม้ว่าจะมีเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์จำหน่ายเพียงพอ และไม่กระทบแผนยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 แต่วิธีการดังกล่าว เท่ากับว่า รัฐไม่ส่งเสริมแผนสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระทบต่อยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้มีโรงงานผลิตเอทานอลทั้งหมด 24 โรงงานที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ โรงงานที่สร้างเสร็จและเปิดดำเนินงานมีเพียงไม่ถึง 6 โรงงาน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างก่อสร้าง และบางโรงงานยังไม่ดำเนินการแม้กระทั่งการปรับหน้าดินก่อสร้าง ที่น่าสนใจมีถึง 18 โรงงาน ที่แจ้งใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลผลิต
ในอนาคตหากโรงงานเอทานอลเดินเครื่องผลิตครบทั้ง 24 โรงงาน จะเกิดความต้องการกากน้ำตาลสูงมาก โดยต้องใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลสูงถึง 2.31 ล้านลิตร/วัน ป้อนโรงงานเอทานอลทั้ง 18 โรงงาน ซึ่งปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศ ไม่น่าจะมีปริมาณกากน้ำตาลเพียงพอกับความต้องการครบทุกอุตสาหกรรม จำเป็นต้องหาพืชวัตถุดิบชนิดอื่น มาส่งเสริมการเพาะปลูก ป้อนโรงงานเอทานอลเพิ่ม
ผู้ว่าฯทุ่มงบฯทดลองปลูก"ข้างฟ่างหวาน"เชิงพาณิชย์
รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยเชิงวิชาการพบว่า ต้นข้าวฟ่างหวาน (Sweet sorghum) เป็นพืชที่ให้ความหวาน มีศักยภาพสูง เหมาะนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล โดยใช้ลำต้นที่มีความหวานคั้นเป็นน้ำเชื่อม หมักเป็นเอทานอล แต่ข้าวฟ่างหวาน ยังเป็นพืชทดลองเพื่อการศึกษา ยังไม่มีการปลูกจริงในเชิงพาณิชย์
ล่าสุด นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เห็นความสำคัญของพืชข้าวฟ่างหวาน ที่จะนำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนของประเทศ ได้จัดสรรงบผู้ว่าฯซีอีโอ ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อทดลองปลูกข้าวฟ่างหวานในเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อนำผลการทดลองดังกล่าว มาใช้ขยายผลส่งเสริมการปลูกข้าวฟ่างหวานให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยเบื้องต้นมุ่งรองรับความต้องการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล
การทดลองปลูกข้าวฟ่างหวาน จะมีการคัดสรรเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม ให้เกษตรกรในเขตอำเภอเมือง บ้านฝาง และน้ำพอง ไม่น้อยกว่า 100 ไร่ เริ่มปลูกช่วงฤดูฝนปี 2549 อีกทั้งจะมีการจัดสรรงบเพิ่มเติม มาทำเครื่องหีบต้นข้าวฟ่างหวานต้นแบบ และเตาเคี่ยวน้ำเชื่อมเข้มข้น เพื่อคั้นเอาน้ำหวานจากต้นข้าวฟ่างหวานและเคี่ยวเป็นน้ำเชื่อมเข้มข้น มาใช้เป็นวัตถุดิบหมักเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% หรือเอทานอล
รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการทดลองปลูกข้าวฟ่างหวานในเชิงพาณิชย์ จะทำให้ทุกฝ่ายรู้ถึงข้อมูลที่แท้จริงข้าวฟ่างหวาน ในด้านต่างๆ ทั้งปริมาณผลผลิต/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว การจัดการในแปลงปลูก ค่าความหวาน ศักยภาพการแปรรูปเป็นเอทานอล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเกิดประโยชน์ต่อการกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ ราคารับซื้อผลผลิต แนวทางการขยายผลปลูกในเชิงอุตสาหกรรม
สำหรับปัจจัยเรื่องราคาซื้อ-ขายวัตถุดิบข้าวฟ่างหวาน เป็นประเด็นสำคัญ ที่พิจารณาในรอบคอบ จะต้องเป็นราคาที่สามารถจูงใจให้เกษตรกรทั้งประเทศปลูกในเชิงอุตสาหกรรมป้อนโรงงานได้ ทั้งราคาข้าวฟ่างหวาน จะต้องไม่สูงเกินไป สามารถแข่งขันด้านราคากับวัตถุดิบชนิดอื่นเช่น กากน้ำตาล ที่มีราคาสูงจนไม่เหมาะผลิตเอทานอล
ทั้งนี้ข้อมูลผลทดลองเชิงวิชาการ ข้าวฟ่างหวาน มีจุดเด่น เป็นพืชให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ปลูกเพียง 100-120 วัน สามารถเก็บเกี่ยวส่งโรงงานได้ หรือ 1 ปีปลูกได้ 3 ครั้ง เมื่อเทียบกับอ้อยแล้ว ข้าวฟ่างหวานให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 3 เท่าตัว ขณะที่พืชวัตถุดิบอื่น เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง ใช้เวลาปลูกเกือบ 1 ปี จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทั้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน คือ ประมาณปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือนเมษายน
น้ำเชื่อมเข้มข้นจากต้นข้าวฟ่างหวาน 1 ตัน ที่ค่าความหวาน 75-80 บริก สามารถแปรรูปเป็นเอทานอลได้ปริมาณถึง 380 ลิตร ส่วนกากน้ำตาล 1 ตัน ที่ค่าความหวานเท่ากัน แปรรูปเป็นเอทานอลได้ 250 ลิตร