xs
xsm
sm
md
lg

คำสอนจาก “พระมหาชนก”

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล


คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

“แล้วคุณจะซาบซึ้ง รัก และเทิดทูนในหลวงมากยิ่งขึ้น”


ข้อความย้ำเชิญชวนให้ประชาชนไปชม “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งเปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ถึงวันที่ 4 มิถุนายน ศกนี้

ไปชมมาแล้ว ก็ยอมรับว่า เกิดความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

ควรจัดเวลาให้พร้อมด้วยเพื่อจะได้ชมนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ให้ได้ครบสมบูรณ์ภายใน 2 อาคารยักษ์ นับว่าคุ้มค่าและเป็นสิริมงคลยิ่ง

ได้รับความประทับใจในพระราชประวัติ พระอัจฉริยภาพ พระเมตตากรุณาต่อราษฎรอย่างมหาศาล รวมทั้งแนวคิด และทฤษฎีการพัฒนาป่า น้ำ ดิน ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคน

กล่าวได้ว่า นี่เป็นนิทรรศการที่เกี่ยวกับเกียรติประวัติและผลงานของบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ด้วยทรงมีวิสัยทัศน์และทรงห่วงใยในประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ตามปฐมบรมราชโองการจึงได้ทรงอุทิศพระวรกายอย่างยาวนาน จนได้มีข้อมูลภาพและผลงานเป็นที่สรรเสริญสดุดีไปในระดับโลก และองค์การสหประชาชาติได้กราบถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” และสดุดีในหลวงของไทยเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา”

เมื่อได้ชมนิทรรศการแล้วถึงตอนค่ำได้มีโอกาสได้ชมการแสดงมหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ “พระมหาชนก” ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นคำตอบสำหรับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย ขณะนี้ได้เป็นอย่างดี

น่าอัศจรรย์มากที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ในช่วงปี 2520-2531 และใช้เวลาให้คณะจิตกรวาดเป็นภาพการ์ตูนประมาณ 8 ปี แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือวางจำหน่ายในงานเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี

เมื่อผ่านมา 10 ปี ได้มีการนำมาประมวลย่อบางส่วนเป็นการแสดงประกอบดนตรีได้อย่างงดงามประทับใจมาก

พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” นั้น มีความลึกซึ้ง ที่ให้คติสอนใจอยู่หลายประเด็น การตีความก็อาจแตกต่างกันตามแต่ภูมิหลัง ประสบการณ์และช่วงวัยของผู้ได้รับชม

การแสดงในรอบที่ผมได้ชมเมื่อค่ำวันก่อน ซึ่งมีคุณอัษฎาวุธ เหลืองสุนทร แสดงเป็นพระมหาชนก และคุณพิจิตรา จิตตะปุตะ รับบทนางมณีเมขลา ควบคุมการผลิตโดย คุณผุสชา โทณวณิก เขียนบท โดยอาจารย์พันธ์ศักดิ์ สุขี แห่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กำกับดนตรีโดย อาจาย์บรุช แกสตัน

ผมได้ซึมซับเรื่องความเพียร สติ และปัญญา ซึ่งพระมหาชนกได้สอนให้มีความมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรค แม้ยังไม่เห็นผลสำเร็จก็ตาม แม้เผชิญภาวะเรือแตกก็มีมานะว่ายน้ำข้ามทะเลโดยไม่ย่อท้อ เดชะบุญมีปูยักษ์มาช่วยเป็นที่เกาะและยึดเหนี่ยวอยู่ถึง 7 วัน จนได้นางมณีเมขลามาช่วย

ด้วยบุญญาบารมีของพระมหาชนก เมื่อมีราชรถมารับตามการเสี่ยงทายของราชปุโรหิตแห่งกรุงมิถิลาอัญเชิญเสด็จไปครองเมือง และได้ทุ่มเทพัฒนาบ้านเมือง แต่ต่อมาประชาชน พ่อค้า ขุนนางที่หลงมัวเมากับโลภ โกรธ หลง จนเสมือนสังคมตกอยู่ในสภาพ “เมืองอวิชชา” นำมาซึ่งความเสื่อม

ภาพการแสดงช่วยให้เห็นพฤติกรรมและธุรกิจที่มุ่งไปในทางกามราคะ อบายมุข การทะเลาะวิวาทของคนในสังคม การหาเสียงของนักการเมือง การประพฤติมิชอบจนมีกลุ่มประชาชนประท้วงขับไล่

พระมหาชนกที่ผ่านประสบการณ์แหวกว่ายฝ่าคลื่นลมในทะเลมาแล้ว บัดนี้ต้องมาพบกับปัญหาของ “ทะเลมนุษย์” ที่เวียนว่ายอยู่ในความทุกข์ เพราะ “ความไม่รู้” จนมีการประพฤติผิดของผู้คนชนชั้นต่างๆ

พระมหาชนกเกือบจะคิดลาบวช แต่เมื่อนางมณีเมขลาได้มาเตือนให้ช่วยให้ประชาชนรู้แจ้งเห็นจริง และชี้ทางที่เหมาะสมแก่สังคม

พระมหาชนกจึงได้คิดว่า ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ และผู้เป็นกษัตริย์ก็จะทำหน้าที่ช่วยพลิกฟื้นต้นมะม่วงซึ่งเคยมีผลดก รสชาติดี แต่ถูกโค่นลงเพราะความโลภไม่รู้จักประมาณของผู้คน

พระมหาชนกได้แนะนำ 9 ขั้นตอนในการเพาะปลูก และการบำรุงรักษาให้ต้นมะม่วงเติบโตและให้ผลดกงามขึ้นอีกครั้ง

พร้อมกันนั้นยังได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาใช้ชื่อว่า “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ” เพื่อรำลึกถึงปูยักษ์ที่เคยช่วยตอนว่ายน้ำฝ่าคลื่นลมเมื่อครั้งเรืออับปาง

ได้คติสอนในตอนต้นเรื่องให้มีความมุ่งมั่น และความเพียร

การต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” ที่จุดประกายจากเทียนเล่มแรกของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวอย่างของความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำว่าถูกต้อง แม้ยังมองไม่เห็นทางชนะ มีแต่ความมุ่งมั่นพร้อมรับความเดือดร้อนเหนื่อยยาก และในที่สุดก็เริ่มมีคนร่วมจุดเทียนมากขึ้นทั้งภาคประชาชน ราชการ และวงการสื่อ

ตอนท้ายของการแสดงนั้น ผมคิดว่า อาจเป็นคำตอบของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยปัจจุบัน

เพราะ “อวิชชา” ยังครอบงำบางหมู่ชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองผู้เสนอตัวเข้ามาบริหารประเทศ หากมีความจริงใจต่อพันธกิจที่ต้องทำงานเพื่อให้เกิด “ประโยชน์สุข” แก่ประชาชน

ข้อคิดจากพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนกิ” และหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานไว้เพื่อให้ยึดมั่นในทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงมา อย่าให้แนวการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับรากหญ้าสวนทางกับแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การจัดงานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนจะได้น้อมรำลึกถึงหลักการตามแนวพระราชดำริ และน้อมนำไปประยุกติใช้ถวายเป็น “ปฏิบัติบูชา” ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น