ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โรงตึ๊ง 22 แห่ง 9 จังหวัดอีสาน เริ่มขาดสภาพคล่อง หลังผู้ปกครองแห่ใช้บริการช่วงก่อนเปิดภาคเรียน ขณะที่โรงรับจำนำแห่งที่ 1 โคราชมียอดรับจำนำแล้วเกือบ 50 ล้าน เฉพาะเดือน เม.ย.-พ.ค.รับจำนำพุ่งกว่า 20 ล้าน สูงกว่าช่วงเดียวกันของทุกปีถึง 30% เผย ปัญหาน้ำมันแพง รุมเร้าค่าครองชีพสูงประชาชนรากหญ้าเดือดร้อนหนัก ต้องงัดกรุทรัพย์สมบัติของมีค่าออกมาจำนำ ด้านเทศบาลนครโคราชอุดหนุนเงินทุน ให้แก่โรงรับจำนำทั้ง 3 แห่ง 200 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2549 สถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ ทั้ง 3 แห่งของเทศบาลนครนครราชสีมา คึกคักมากเป็นพิเศษ เนื่องจากประชาชนจำนวนมาก ได้นำทรัพย์สินมาจำนำ เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายเป็นค่าการศึกษาและซื้อเสื้อผ้าอุปกรณ์การเรียนให้แก่บุตรหลาน รวมถึงใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในภาวะเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้
นายวรวิทย์ วัฒนโรจนกิจ ผู้จัดการสถานธนานุบาล 1 เทศบาลนครนครราชสีมา และผู้ตรวจการสถานธนานุบาลภาค 5 ดูแลรับผิดชอบสถานธนานุบาล 22 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, เลย, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และหนองคาย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ถึง พ.ค. ประชาชนเข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงรับจำนำหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินที่รับจำนำเพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาน้ำมันราคาแพง ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องนำทรัพย์สินออกมาจำนำกันมาก โดยเฉพาะช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงใกล้จะเปิดภาคเรียนใหม่ ประชาชนยิ่งพากันมาใช้บริการมากเป็นพิเศษ
สำหรับสถานธนานุบาล 1 เทศบาลนครนครราชสีมา ได้สำรองเงินเพิ่มเพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนเป็น 60 ล้านบาท จากเดิม 40 ล้านบาท ล่าสุด เหลือเงินสำรองเพียง 13-14 ล้านบาทเท่านั้น เพราะรับจำนำไปแล้วเกือบ 50 ล้านบาท
โดยเฉพาะเดือน เม.ย.- พ.ค.รับจำนำทรัพย์สินจากประชาชนเป็นมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ยอดรับจำนำสูงกว่าช่วงเดียวกันของทุกปีที่ผ่านมาถึง 20-25% ทั้งนี้ เนื่องจากทองรูปพรรณมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยรับจำนำเพียงบาทละ 4,000-5,000 บาท แต่ขณะนี้มูลค่าจำนำพุ่งสูงถึงบาทละ 8,000- 8,500 บาท โดยเฉลี่ยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 400 ราย/วัน ส่วนใหญ่นำทองรูปพรรณ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามาจำนำ
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชน เข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำสูงกว่าทุกปี เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ของประชาชนยังเหมือนเดิม อีกทั้งในช่วงใกล้เปิดภาคเรียน ผู้ปกครองจำเป็นต้องใช้จ่ายในด้านเล่าเรียน และซื้อเสื้อผ้าอุปกรณ์การศึกษาให้แก่บุตรหลาน
"เงินสำรองที่เหลืออยู่ของโรงรับจำนำแห่งที่ 1 ในขณะนี้คาดว่าจะมีไม่เพียงพอให้บริการประชาชนจนถึงสิ้นปีนี้ จึงจำเป็นต้องมองหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อขอกู้มาสำรองเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ที่เดือดร้อนและมีความจำเป็นเร่งด่วน" นายวรวิทย์ กล่าว
ด้าน นายเชิดชัย โชครัตนชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดภาคเรียนของบุตรหลานผู้ปกครองต่างนำสินทรัพย์สิ่งของมีค่า มาจำนำกับสถานธนานุบาลจำนวนมาก
ปีนี้เทศบาลนครนครราชสีมา ได้สนับสนุนงบประมาณ ให้สถานธนานุบาลในเขตเทศบาลนครทั้ง 3 แห่ง เป็นจำนวนเงินกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษเพียงร้อยละ 75 สตางค์/เดือน สำหรับประชาชนที่นำสิ่งของมาจำนำ ตั้งแต่วงเงิน 100 -3,000 บาท ส่วนจำนำตั้งแต่วงเงิน 3,000 บาทขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท/เดือน