เชียงราย - เผยพรานปลาบึกบ้านหาดไคร้ริมฝั่งโขง แหกมติชมรมปลาบึกฯ ที่ตกลงเลิกล่า ที่เพิ่งลงนามกันมาไม่กี่วัน โดยดอดร่วมกลุ่มพราน สปป.ลาว ออกล่าปลาบึกไม่หยุด ล่าสุดจับได้อีก 1 ตัว น้ำหนัก 230 กก. ด้านรักษาการ ส.ว.เชียงราย ที่ประสานงานหาเงินทุนซื้ออวน หรือ "มอง" จากพรานปลาบึก ระบุใกล้ได้เงินครบแล้ว
วานนี้(10 พ.ค.)นายบุญจันทร์ (ไม่มีนามสกุล) ชาวลาวกับพวกรวม 5 คน ที่นำเรือออกวางอวน หรือ มอง ในแม่น้ำโขง เพื่อล่าปลาบึก หน้าวัดหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ ได้จับปลาบึกที่มาติดอวนได้ โดยได้ลากปลาบึกไปผูกกับเชือกด้วยการร้อยเหงือก มัดไว้ในแม่น้ำโขง ริมเกาะกลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามบ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ ซึ่งขณะนี้ชาวลาวได้ทำกระท่อม เพื่อทำเป็นที่พักให้แก่พรานปลาบึกหลายสิบคน
จากการชั่งน้ำหนักปลาบึกตัวดังกล่าว พบว่า น่าจะมีน้ำหนักราว 230 กิโลกรัม(กก.)ยาวราว 2 เมตร และเป็นปลาบึกเพศเมีย ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีไข่หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นมีชาวลาวและพ่อค้าไทย เดินทางไปดู เพื่อเตรียมจะซื้อเนื้อปลาบึกมาขายต่อ โดยราคาปลาบึกน่าจะขายกก.ละ 500 บาท โดยปลาตัวนี้จะทำรายได้แก่พรานปลาบึกได้เกือบ 1 แสนบาท จากนั้นพรานปลาบึกจะนำมาแบ่งกัน แต่ยังไม่แน่ชัดว่า จะมีการชำแหละเนื้อปลาบึกวันไหน ขึ้นอยู่กับความพร้อมและผู้ซื้อ
นางสายหยุด นวลสิริสกุล สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ และเจ้าของร้านอาหารนางนวล อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศเลิกล่าปลาบึก โดยนายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ไปทำข้อตกลงกับ นางเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการ ส.ว.เชียงราย และรักษาการประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.49 เพื่อที่จะให้ชาวประมงเลิกล่าปลาบึกนั้น
ขณะนี้มีชาวประมงหาดไคร้ 15 ราย จาก 68 ราย ได้ไปร่วมกับชาวลาวเพื่อล่าปลาบึก โดยไปปักหลักอยู่ฝั่งลาว เพื่อไม่ต้องการมีเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวประมงหาดไคร้ และมีสถานีโทรทัศน์ จากซีเอ็นเอ็น (CNN) ซึ่งเป็นสถานโทรทัศน์ชื่อดังของโลก มาทำข่าวไปหลายวันก่อน จะออกอากาศเรื่องวิถีชีวิตของชาวประมง
ดังนั้นเรื่องการจะให้ชาวประมงเลิกล่าปลาบึกตามมติชาวหาดไคร้ทั้งหมด จึงยังไม่น่าจะเป็นผล เพราะเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา จะไปห้ามพวกเขาได้อย่างไร ซึ่งเรื่องการจับปลาบึกได้ ตนจะแจ้งให้ นายสุเทพ เตียวตระกูล นายอำเภอเชียงของ และอำเภออาจจะแจ้งให้กรมประมงทราบต่อไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังข่าวการจับปลาบึกได้มีการเผยแพร่ เริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยมาเที่ยวหาดหลวง หรือ หาดไคร้ อ.เชียงของ มากขึ้นตามที่เกิดขึ้นทุกปี เมื่อมีการจับปลาบึกได้ ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้น
นางเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการ ส.ว.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากมีการหารือกันชัดเจนเมื่อวันที่ 4 พ.ค.49 อีกครั้งที่วัดหาดไคร้ สมาชิกชมรมรักปลาบึกหาดไคร้ มีแนวทางที่จะเลิกล่าปลาบึกชัดเจน และ วานนี้(10 พ.ค.)นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และสมาชิก ราว 10 คน จะแถลงข่าวที่ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กทม. เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ปลาบึก และมีการนำอวน หรือ มอง บรรทุกมากับรถตู้ นำมาแสดงด้วย
ส่วนการหาเงินตอบแทนเพื่อซื้ออวน หรือ "มอง" 68 ปาก มูลค่าอวนละ 20,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,360,000 บาท เพื่อจะนำมาเป็นทุนในการประกอบอาชีพอื่นทดแทน โดยขณะนี้ ในส่วนของต่างประเทศ คือ สหภาพอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสากล (IUCN) หาทุนได้แล้ว 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 แสนบาทเศษ โดยทราบว่าส่วนหนึ่งได้มาจาก บริษัท เนชันแนลจีโอกราฟฟิก ซึ่งเป็นผู้ผลิตนิตยสาร และผู้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ชื่อดังของโลก
ส่วนของประเทศไทย คือมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย
ผู้ดำเนินงานได้ติดต่อภาคเอกชน เช่น ปตท.และหลายฝ่าย เพื่อขอการสนับสนุน คาดว่าอาจจะได้รับการสนับสนุนทุนอีก 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 แสนบาทเศษ ซึ่งก็จะครบตามกำหนด และทยอยมอบเงินซื้ออวนล่าปลาบึก โดยเงินก้อนแรก จะจ่ายให้ชาวประมงหาดไคร้ รายละ 10,000 บาท ในปลายเดือนนี้ งวดที่สองอีก 10,000 บาท ต่อราย จะจ่ายเดือนต.ค. 49 หลังจากส่งมอบอวน ซึ่งชาวประมงจะนำเงิน ที่ได้ไปทำทุนประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่นทำการเกษตร และ เป็นนักอนุรักษ์
ส่วนการที่ ชาวลาวตรงข้าม อ.เชียงของ มีการล่าปลาบึกอยู่ ไม่กระทบต่อภาพการออกมาแสดงความจำนงจะอนุรักษ์ปลาบึกของชาวหาดไคร้ เพราะถือว่าส่วนที่ล่าปลาบึกเป็นคนส่วนน้อย และถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขงแล้ว และต่อไปจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึงมากขึ้น
ในส่วนของ สปป.ลาว เป็นอำนาจของ เจ้าแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว แต่เนื่องจากขณะนี้ จ.เชียงราย หลังจาก นายวรเกียรติ สมสร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ลาออกไปลงสมัคร ส.ว.เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และยังไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ ทำให้มีเพียง นายวรชัย อุตตมชัย เป็นรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แต่มีภารกิจมาก ยังไม่สามารถประสานงาน เรื่องขอความร่วมมือให้กับเจ้าแขวงบ่อแก้ว เพื่อการอนุรักษ์ปลาบึกตามคำร้องขอของกลุ่มอนุรักษ์ได้ ทำให้ชาวลาวจึงล่าปลาบึกอยู่