xs
xsm
sm
md
lg

ปูนใหญ่ทำใจแนฟธาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "ชลณัฐ" บิ๊กกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ในเครือซิเมนต์ไทย ชี้ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มาร์จินของแนฟธาแครกเกอร์ปีนี้ปรับตัวลดลงจากเดิม 600 เหรียญสหรัฐ/ตันเหลือเพียง 520 เหรียญสหรัฐ เผยจะเน้นพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพื่อรักษามาร์จินที่นับวันลดลง พร้อมนำเข้าแนฟธาจากโรงอะโรเมติกส์ที่อินโดฯ 1ล้านตัน ป้อนโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ของเครือฯที่จะแล้วเสร็จในปี 2553
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลราคาวัตถุดิบ คือแนฟธาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่มีราคาเฉลี่ยตันละ 550-560 เหรียญสหรัฐ ขยับขึ้นเป็น 600 เหรียญสหรัฐ/ตันในปัจจุบัน แต่มาร์จินของแนฟธาแครกเกอร์ยังดีอยู่ที่ตันละ 520 เหรียญสหรัฐต่อตันลดลงกว่าปีก่อน
"ในปีนี้ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกกับวัตถุดิบ(สเปด) ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ยตันละ 600 เหรียญสหรัฐเหลือเพียง 520-550 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาแนฟธาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน"
ดังนั้น เครือซิเมนต์ไทยจึงได้หันมาเน้นด้านนวตกรรมใหม่ๆ(INNOVATION)) ทั้งสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า (VALUE ADDED) หวังรักษามาร์จินของธุรกิจเอาไว้ เนื่องจากจะมีโอเลฟินส์แครกเกอร์จากตะวันออกกลางเกิดขึ้นในปี 2550 ทำให้อุปทานในตลาดมีสูงกว่าอุปสงค์ในภูมิภาคนี้ ส่งผลต่อระดับมาร์จินที่จะลดลงไปเรื่อยๆ
นายชลณัฐ กล่าวถึงโครงการโอเลฟินส์แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 1.7 ล้านตันว่า บริษัทฯได้มีการลงนามกับดาว เคมิคอล เพื่อลงทุนสร้างโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ผู้รับเหมายื่นประมูลก่อสร้างโรงงานคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ส่วนความมั่นคงด้านวัตถุดิบนั้น บริษัทฯมีแผนจะนำเข้าแนฟธาจากโรงงานอะโรเมติกส์ที่เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้นอยู่ในอินโดนีเซีย จำนวน 1 ล้านตัน ถือว่าเป็นการอินทิเกรดระหว่างธุรกิจของเครือฯ
ทั้งนี้ โรงอะโรเมติกส์ในอินโดนีเซียได้เริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในอีก 4- 6 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากนั้นจะมีการลงบันทึกตัวเลขเงินลงทุนของโครงการนี้ในบัญชีของเครือซิเมนต์ไทยอีกครั้ง หลังจากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจได้มีการตัดเงินลงทุนดังกล่าวออกไป(CUT LOST)แล้ว
โครงการโอเลฟินส์แห่งที่ 2 จะใช้แนฟธาเป็นวัตถุดิบประมาณ 2.5 ล้านตัน มูลค่าเงินลงทุน 4.4 หมื่นล้านบาท และโรงงานผลิตHDPE และPP คิดเป็นเงินลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2553 ส่วนโรงอะโรเมติกส์จะผลิตแนฟธา 1 ล้านตัน พาราไซลีน 5 แสนตัน เบนซีน 3 แสนตัน และอื่นๆ
ส่วนโครงการผลิต HDPEที่อิหร่าน ยังคงเดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะมีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านก็ตาม ซึ่งความเสี่ยงของบริษัทฯจะอยู่ที่ปริมาณการลงทุน ซึ่งเครือฯลงทุนในอิหร่านไม่มากนัก และไม่มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในอิหร่านช่วงนี้
" เครือซิเมนต์ไทยมีนโยบายที่จะแสวงหาการลงทุนในต่างประเทศ โดยเราก็ดูทุกแห่ง เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจปิโตรเคมียังมีการเติบโตอยู่ โดยเฉพาะเอเชียเป็นตลาดที่น่าสนใจ เหมือนตะวันออกกลางที่มีวัตถุดิบที่น่าสนใจ "
*** ยืนยันไม่แข่งแย่งลูกค้ากับปตท.
นายชลณัฐ กล่าวถึงกรณีที่ปตท.เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบมจ. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ)ว่า เมื่อปตท.เข้าไปบริหารงานในทีพีไอจะทำให้การแข่งขันทางธุรกิจลดลง เพราะเหลือผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยแค่ 2 ราย ทำให้หันมาแข่งขันด้านคุณภาพสินค้า และที่ผ่านมา เครือฯก็ได้มีการร่วมมือกับปตท. เช่น การซื้อวัตถุดิบ และไฟฟ้าจากบริษัทในเครือปตท.จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแข่งขันกัน
สวนในการประชุมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาเซียน(APIC) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค.นี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก จะมีผู้นำด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์จากเอเชียและหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงานประมาณ 900 คนจาก 200 บริษัทฯ เพื่อประชุมหารือและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดและการแข่งขันในตลาดโลก โดยงานครั้งนี้จะสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้ให้โดดเด่น ซึ่งไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ติดอันดับ 5ในภูมิภาคเอเชีย และมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากอยู่ใกล้ตลาดทั้งอาเซียนและจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น