xs
xsm
sm
md
lg

มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงและการตีความนั้น ก็ได้ยุติลงหลังจากมีพระราชดำรัสขององค์พระประมุข ซึ่งพระองค์ท่านได้ให้ความกระจ่างอย่างยิ่งในเนื้อหาของมาตราดังกล่าว และในความเป็นจริงเนื้อหาในมาตรา 7 นั้นมีความแจ่มชัดในตัวของมันเอง ประเด็นก็คือจำเป็นจะต้องทราบที่มาที่ไปของมาตราดังกล่าว และต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้มาตรา 7 เพื่อแก้ข้อขัดข้องทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างระมัดระวัง

มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เนื้อหาตามลายลักษณ์อักษรและตามเจตนารมณ์มีอยู่ว่า ในกรณีที่มีประเด็นทางการเมืองที่เป็นปัญหาแต่มิได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีความจำเป็นต้องหาทางออก ก็ต้องอิงประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เคยมีการปฏิบัติมาในอดีต แต่ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยมี 2 ระบบ คือ ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอังกฤษซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ระบบดังกล่าวก็มีอยู่ในญี่ปุ่น เดนมาร์ก ประเทศไทย ส่วนอีกระบบหนึ่งคือระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จะนำมาปรับใช้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใดสามารถจะนำมาเพื่อให้กระบวนการทางการเมืองดำเนินไปได้นั้น จะต้องเป็นประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นี่คือความหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 7 มิได้มีความหมายไปจนถึงขั้นที่จะตีความ โดยมองข้ามมาตรา 3 และมาตรา 202 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540

ที่มาของมาตรา 7 ก็เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญของบังคลาเทศและอินเดียมีความยาวถึง 500-600 มาตรา เนื่องจากมีการใส่รายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการงบประมาณ เป็นต้น แทนที่จะแยกไปเป็นพระราชบัญญัติต่างหาก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งกริ่งเกรงว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ซึ่งมีเพียง 300 กว่ามาตรานั้นอาจจะไม่ครอบคลุมบางประเด็น อันจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง หรือความยากลำบากในการปฏิบัติ จึงได้เสนอว่าน่าจะเปิดกว้างไว้หนึ่งมาตรา นั่นคือการใช้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาตราดังกล่าวนั้นมีที่มาจากแนวความคิดธรรมนูญการปกครองสองฉบับ และมาตรา 4 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่นำมาอ้างนั้นได้แก่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ปี 2502 และปี 2515 โดยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2502 นั้น มาตรา 20 ระบุว่า

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด” และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2515 มาตรา 22 ระบุไว้ทำนองเดียวกัน” ความว่า

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด”

นอกจากนั้นยังมีการใช้วรรคสองของมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้ออ้างอิง โดยมีเหตุผลว่า เมื่อมีปัญหาทางกฎหมายเกิดขึ้นจะต้องมีทางออก วรรคสองมาตรา 4 ระบุไว้ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป” ที่ประชุม ส.ส.ร. ก็ได้รับข้อเสนอดังกล่าวและนั่นคือที่มาของมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

การนำมาตรา 7 มาใช้นั้นอาจจะต้องใช้ในกรณีที่เกิดความคลุมเครือของกฎหมาย หรือไม่มีบทบัญญัติให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น เมื่อวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งสิ้นสุดวาระ แต่วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งยังมีสมาชิกไม่ครบ 200 คนเนื่องจากต้องเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องใช้มาตรา 7 มาแก้ปัญหาโดยให้วุฒิสภาชุดเดิมที่สิ้นสุดวาระรักษาการจนกว่าวุฒิสภาชุดใหม่จะมีสมาชิกครบ 200 คน การวินิจฉัยโดยไม่มีการรักษาการก็เท่ากับทำให้ประเทศไทยเหลือสภาเดียวซึ่งขัดกับมาตรา 90 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งระบุว่าประเทศไทยมีสองสภา

อีกกรณีหนึ่งคือ มาตรา 159 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ระบุไว้ว่า “ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก.....” จะเห็นได้ว่าไม่มีการเปิดช่องในมาตรา 159 เมื่อมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น เช่น หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นลงและเกิดสงครามขึ้น หรือเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างรุนแรง จนทำให้การเปิดประชุมสภาครั้งแรกไม่ได้ภายในสามสิบวัน ก็จะไม่มีทางออกถ้าตีความตามลายลักษณ์อักษร ในกรณีเช่นนี้ก็คงต้องใช้มาตรา 7 โดยการขยายเงื่อนเวลาออกไป เพราะการขยายเงื่อนเวลาเป็นการปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดินที่กระทำมาเป็นปกติ เช่น ถ้าการสร้างถนนไม่เสร็จภายในหนึ่งปีก็คงต้องมีการขยายเวลาในสัญญาว่าจ้าง ส่วนจะมีค่าปรับหรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หรือในกรณีมาตรา 98 ที่ระบุไว้ว่า “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 99 จำนวนหนึ่งร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 102 จำนวนสี่ร้อยคน......”

ซึ่งโดยความเข้าใจนั้นหมายความว่าจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขต 400 คน แต่ในกรณีบัญชีรายชื่อ 100 คนนั้นโอกาสที่จะไม่ครบหนึ่งร้อยย่อมจะเกิดขึ้นได้ เช่น พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 5 พรรคทำบัญชีรายชื่อเพียงพรรคละ 10 คน ก็จะมีทั้งสิ้น 50 คน จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ก็จะทำให้การมีสมาชิกสภาแบบบัญชีรายชื่อครบ 100 คนไม่ได้ และในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายเลือกตั้งก็มิได้ระบุว่าพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบ 100 คน ช่องโหว่ทางกฎหมายนี้จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบ 500 คน ตามมาตรา 98 เป็นไปไม่ได้ และไม่มีมาตราใดระบุเพื่อหาทางออกไว้ ดังนั้น ในกรณีที่เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อก็อาจต้องใช้มาตรา 7 มาแก้ปัญหา นั่นคือ ประเทศจะว่างเว้นรัฐสภาไม่ได้ และการปกครองบริหารราชการแผ่นดินคือ 3 อำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมีต่อไป เมื่อรัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องก็ต้องใช้ประเพณีการปกครองเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความต่อเนื่อง ส่วนในกรณี ส.ส. แบบแบ่งเขตนั้นก็คงต้องมีการเลือกตั้งจนครบจำนวนถ้าการเลือกตั้งเดิมไม่โมฆะ แม้จะทำให้เงื่อนเวลา 30 วันในมาตรา 159 เป็นปัญหา ในส่วนของเงื่อนเวลานั้นก็คงต้องใช้มาตรา 7 แก้ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว

ข้อสังเกตก็คือ ส.ส. แบบแบ่งเขตจำเป็นอย่างยิ่งต้องครบ 400 คน เพราะการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีตัวแทนของประชาชนในเขตใดนั้น เท่ากับทำให้ประชาชนในเขตนั้นเสียสิทธิ์อันสำคัญยิ่งในทางการเมือง ส่วนการอ้างวรรคสองในมาตรา 98 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่” เพื่อมาให้ความชอบธรรมกับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันตามมาตรา 159 คงไม่ถูกต้อง เพราะข้อความในวรรคสองของมาตรา 98 หมายความว่า จำนวน ส.ส.นั้นขาดหายไปหลังจากจำนวน ส.ส. มีครบถ้วนแล้วในการประชุมครั้งแรก จึงระบุไว้ในวรรคสองต่อจากวรรคแรกซึ่งเป็นจำนวนเต็มของ ส.ส. ดังนั้น จะใช้ข้อความในวรรคสองตีความว่าเป็นกรณีการมี ส.ส. ไม่ครบจำนวนก่อนการประชุมตามมาตรา 159 ตามที่บางคนตีความไม่น่าจะถูกต้อง

ประเด็นสำคัญของมาตรา 7 ก็คือ ถึงแม้จะมีการใช้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาจะต้องกระทำระมัดระวัง ที่สำคัญต้องไม่นำเอาประเพณีที่ไม่ถูกต้องมาอ้างเพื่อปรับใช้ เช่น ในอดีตเคยมีการออกพระราชกฤษฎีกางดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะพระราชกฤษฎีกานั้นมีสถานะทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด การงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยพระราชกฤษฎีกาแทนที่จะเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามครรลองที่ระบุในรัฐธรรมนูญก็เท่ากับเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ประเพณีดังกล่าวไม่ควรนำมาอ้างเพื่อการปรับใช้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเพณีใดที่ขัดต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย จะนำมาปรับใช้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

และเนื่องจากมาตรา 7 ระบุถึงประเพณีจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยต้องระมัดระวังไม่สร้างประเพณีที่ไม่ดีเพราะจะถูกนำมากล่าวอ้างเป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น การเสนอให้นับองค์ประชุมและมีการเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่มีการนับนั้น ก็เท่ากับจงใจที่จะให้เกิดปัญหาในการประชุม สิ่งที่ถูกต้องก็คือจะต้องมีการนับองค์ประชุมของผู้มาร่วมประชุมทุกคน มิใช่เฉพาะสมาชิกของพรรคที่เหลือ ส่วนพรรคที่เสนอให้นับองค์ประชุมเดินออกจากห้องประชุม ซึ่งย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ แต่เมื่อมีการนับองค์ประชุมและมีองค์ประชุมครบแล้ว ผู้ซึ่งเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่มีการนับนั้นก็ไม่ควรที่จะกลับมาประชุมอีกเพราะได้เดินออกไปและไม่ถูกนับในห้องประชุมแล้ว ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นสิทธิที่จะมาร่วมประชุมใหม่ก็ตาม เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเล่นเกมทางการเมืองที่ไม่ควรจะถือเป็นแบบอย่าง ประเพณีเช่นนี้จึงไม่ควรเป็นประเพณีที่ควรยกมากล่าวอ้าง

โดยสรุปก็คือ การกระทำอันใดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่จะนำมากล่าวอ้างได้อย่างสง่างามทุกกรณี จะต้องเป็นประเพณีที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อระบบ และไม่ขัดต่อหลักการอันสำคัญยิ่งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงจะนำมากล่าวอ้างตามมาตรา 7 ได้อย่างชอบธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น