xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ พระราชทาน นายกฯ คนกลาง นายกฯ คนนอก

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นี้ 2 วันหลังจากที่มีพระราชดำรัสต่อศาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศว่า เมืองไทยจะต้องมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง เพราะมองไม่เห็นหนทางที่พันธมิตรกับพรรคไทยรักไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ จะสมานฉันท์กันได้

ผมไม่พบกับพลเอกชวลิตมาหลายเดือนแล้ว ไม่นึกว่าจะกล้าหาญชาญชัยอย่างนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพิ่งมีพระราชดำรัสกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดกับตุลาการศาลฎีกาก่อนปาฐกถาของพลเอกชวลิตเพียง 2 วัน คือเมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้เอง

ผมไม่รู้ว่าพลเอกชวลิตมีอะไรในใจ แต่ผมรู้ว่าคงไม่ธรรมดา เพราะพลเอกยังพูดดังๆ ถึงการปฏิวัติประชาธิปไตย และสรรเสริญการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนว่าได้ก่อให้เกิดความเข้มแข็งและความรู้อย่างใหญ่หลวง

ก่อนจะเปิดแถลงการณ์ ก็มีการเปิดเผยว่าพลเอกชวลิตไปพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์มาแล้ว ปล่อยให้ผู้คนเดาเอาเองว่า คงได้มีการปรึกษาหารือและมีความเข้าใจบางอย่างร่วมกันแล้ว ส่วนความเป็นจริงคืออย่างไรมีใครทราบ พลเอกชวลิตเคยเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกของพ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อน ผมจึงไม่ทราบว่าใครสอนลูกไม้ให้ใคร

ก่อนที่นายกฯ ทักษิณจะประกาศเว้นวรรคไม่กี่ชั่วโมง นายกฯ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่วังไกลกังวล ก่อนที่จะเดินทางไปหัวหินขณะที่กำลังประชุมคณะรัฐมนตรี มีการประกาศดังๆว่า มีโทรศัพท์จากราชเลขาธิการว่า ในหลวงทรงเรียกให้นายกฯ เข้าเฝ้า ภายหลังหนังสือพิมพ์มติชนตีพิมพ์เวลาและขั้นตอนระหว่างการประชุมครม. การเข้าเฝ้าและการประกาศเว้นวรรคอย่างละเอียด การกระทำอย่างนี้คล้ายๆ กับจะแสดงให้เห็นว่า นายกฯได้รับการ “กระซิบ” จากในหลวง จึงได้ประกาศเว้นวรรคเพื่อถวายความจงรักภักดี ทำให้เกิดโจษจันกันไปต่างๆ นานาในอันที่จะยกประโยชน์ให้กับนายกฯ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง

ผู้ที่ไม่เชื่อถือลูกไม้ตื้นๆ ย่อมจะมีสิทธิเดาได้เหมือนกันว่าในหลวงมิได้ทรงตรัสอะไรเลย นายกฯถวายรายงานไปคนเดียวแล้วเกิดพลั้งปากว่าจะลาออก พระองค์ท่านก็ทรงแนะนำให้ไปออกทีวีเสีย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น นายกฯ ถึงต้องกลับมาฉีดยาโด๊ป จึงค่อยๆ คิดเรื่องเว้นวรรคออก ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดาทั้งสิ้น แต่อาจจะถูกก็ได้

การแอบอ้างพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้ามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรยิ่ง ถึงแม้ในหลวงจะทรงอนุญาตให้วิจารณ์พระองค์ได้ก็ตาม การนำพระราชดำรัสมาตีความแบบเป็นส่วนเป็นเสี้ยว และบิดเบือนแบบเข้าข้างตัวเองนั้นเป็นสิ่งน่าละอายและมิบังควร แต่ก็เห็นกระทำกันอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมือง ตัวอย่างเช่นเรื่องมาตรา 7 และการขอนายกฯ พระราช ทาน เป็นต้น

ฝ่ายที่กลัวหัวหน้าหรือตัวเองจะไม่ได้เป็นนายกฯ ก็พาดหัวเลยว่าในหลวงไม่เอามาตรา 7 หรือนายกฯ พระราชทาน ถ้ากลับไปอ่านกันใหม่ให้ดีๆ และหลายๆ เที่ยว ก็จะเห็นว่า พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะใช้มาตรา 7 แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่มีผู้ใดรับสนองพระบรมราชโองการ “ไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทานไม่ใช่เป็นของเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ (ขอโทษพูดแบบ) มั่ว”

ความสับสนเกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 อย่าง คือ หนึ่ง ความเห็นแก่ตัวของผู้ฟัง ที่ฟังไม่ได้ศัพท์หรือฟังไม่ได้สรรพแต่จับเอามากระเดียด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสย้ำอีกว่า “อย่างที่เขาขอบอกว่าขอให้มีให้พระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ไม่เคย ไม่เคยมี ข้อนี้ มีนายกฯ แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการอย่างที่ถูกต้องทุกครั้ง” และ สอง ก็คือความหละหลวมของการใช้ภาษาไทย หรือคำว่านายกฯ พระราชทาน และการกล่าวอ้างมาตรา 7 อย่างลอยๆ โดยไม่เชื่อมโยงกับมาตราอื่นๆให้ถูกต้องตามจารีตและบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพระราชอำนาจ และเรื่องการสะดุดหยุดลงของกลไกในรัฐธรรมนูญบางมาตราที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง กับทั้งมาตรา 7 นี้มิได้เกี่ยวกับพระราชอำนาจทุกๆ เรื่อง บางเรื่องก็เกี่ยวกับตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นๆในรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงปฏิเสธมาตรา 7 เช่นนั้น

มิฉะนั้น เราจะต้องกล่าวหาว่าบุคคลสำคัญ 2 ท่านฝ่าฝืนพระราชดำรัส นั่นก็คือ พลเอกชวลิตที่เสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกกลาง และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ให้ความเห็นว่า การมีรัฐมนตรีคนกลางที่มิต้องเป็น ส.ส.ตามมาตา 201 วรรค 2 นั้นกระทำได้ ตามจารีตประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ

เราจะเรียกนายกรัฐมนตรีแบบนั้นว่า นายกรัฐมนตรีพระราชทาน รัฐมนตรีคนกลาง หรือรัฐมนตรีคนนอก ก็สุดแท้แต่ แต่จะต้องไม่รบกวนเบื้องพระยุคลบาทให้ทรงกระทำผิดจารีตประชาธิปไตย

ในเมื่อประเทศไทยชอบแอบอ้างว่าเราลอกแบบประชาธิปไตยระบอบรัฐสภามาจ้างอังกฤษ เอาอังกฤษเป็นแม่แบบ สิ่งหนึ่งที่เราสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยไม่อายก็คือ พระราชอำนาจและสถาบันกษัตริย์

ผมอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า ประเทศอังกฤษเขามีนายกรัฐมนตรีพระราช ทาน แต่เขาไม่มีคำนี้ในปทานุกรมการเมืองของเขา เขาจึงเรียกนายกรัฐมนตรีแบบนี้ว่า นายกรัฐมนตรีที่กษัตริย์ทรงเลือกด้วยพระองค์เองหรือ The Prime Minister to be personally chosen by a monarch

ถ้าท่านผู้อ่านหรือเนติบริกรของรัฐบาลกำลังจะอ้าปากค้านผมว่าเอาเรื่องแต่ดึกดำบรรพ์อะไรมาอ้าง ผมก็ขอเรียนเสียเลยว่า พระบรมราชินีนาถอลิซาเบธ ซึ่งกำลังจะเสด็จมาเป็นพระราชอาคันตุกะอีกครั้งหนึ่งในเดือนหน้า ในพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ทรงเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีเอง จากคนนอกที่มิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี ค.ศ. 1963 หรือ พ.ศ. 2506 นี้เอง สาเหตุก็คือทรงเห็นด้วยกับผู้หลักผู้ใหญ่ของแผ่นดินที่กราบทูลเสนอให้ทรงตั้งนายกฯที่สามารถนำรัฐนาวาอังกฤษฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจและการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้อังกฤษอาการสาหัส

ผมจะขออนุญาตแปลและเรียบเรียงข้อความง่ายๆ ทั้งหมดนี้จากปทานุกรม เพื่อแสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ มิใช่ความรู้ในตำราที่ลึกซึ้งที่ไหน คนที่จบม. 3 ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นก็หาความรู้เอาเองได้

“นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่พระบรมราชินีอังกฤษทรงเลือกด้วยพระองค์เอง”

Alexander Frederick Douglas-Home
(July 2,1903-October 9, 1995), Earl of Home คนที่ 14 จาก ค.ศ.1951-1963 เป็นนักการเมืองอังกฤษที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่างเดือนตุลาคม ปี 1963 หรือ 2506 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 จนกระทั่งถึงตอนนั้น ท่านดำรงฐานะดังต่อไปนี้ คือเป็นสมาชิกสภาขุนนางคนสุดท้ายที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ลาออกจากสภาขุนนางมาลงเลือกตั้งซ่อมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และจนกระทั่งบัดนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่กษัตริย์อังกฤษทรงเลือกด้วยพระองค์เอง

การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในปี 1963 นายกรัฐมนตรี Harold Macmillan แห่งพรรค Conservative ลาออกจากตำแหน่งโดยกะทันหันเพราะแพทย์ตรวจพบ(ผิดๆ)ว่า ท่านเป็นมะเร็งในต่อมลูกหมาก ถึงขั้นที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ ในสมัยนั้น พรรคคอนเซอร์เวตีฟ ยังไม่มีระเบียบหรือวิธีการเลือกหัวหน้าพรรคที่เป็นทางการอย่างมีระบบ นอกจากการประชุมที่สับสนครั้งแล้วครั้งเล่าแบบที่เคยกระทำมา พระราชินีจะทรงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการถวายคำแนะนำของ party’s elder statesmen หรือเชษฐบุรุษของพรรค ถึงแม้ขณะนั้น Rab Butler รองนายกรัฐมนตรี (ซึ่งมีเพียงคนเดียว และเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นทางการในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด)จะได้รับการสนับสนุนเป็น favourite ของเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนในพรรค แต่บรรดาผู้ใหญ่ของพรรคเห็นว่าคนนอก คือ Home น่าจะเหมาะสมกว่า และจะไม่ยอมร่วมทำงานหาก Butler หรือคู่แข่งอีกคนหนึ่งคือ Quintin Hogg หรือ Lord Hailsham ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนที่ Macmillan ลาออกนั้นอยู่ในระหว่างที่พรรคคอนเซอร์เวตีฟมี Party Conference หรือสมัชชาของพรรค คล้ายๆกับ Convention หรือการประชุมเลือกผู้สมัครในนามพรรคของอเมริกัน ซึ่งบุคคลต่างๆ ต้องพากันหาเสียงและเสนอตัวกับกลุ่มต่างๆ ของพรรค หลังจากมีการปรึกษาหารือกันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าใครจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับอย่างทั่วถึงในพรรค เป็นตัวเลือกประนีประนอมที่ดีที่สุด Macmillian ได้กราบทูลพระบรมราชินีนาถว่า ผู้ที่บรรดาเชษฐบุรุษมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควร Kiss Hands หรือจุมพิตพระหัตถ์พระราชินี(เป็นพิธีกรรมที่ประกาศว่าผู้จุมพิตพระหัตถ์คือผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี-ผู้แปล)ได้แก่ Earl of Home ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านว่าอดีตนายกฯ Macmillan ไม่มีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้น และพระบรมราชินีไม่ทรงจำต้องกระทำตามคำแนะนำแต่ประการใด พระนางเจ้าก็ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ Earl of Home เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นสมุหนายกกระทรวงคลัง First Lord of the Treasury ซึ่งเป็นตำแหน่งควบกัน”

เพื่อจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่าน Earl of Home ก็ต้องทำการสละฐานันดร กลายเป็นคนธรรมดามียศเป็น Sir Alex Douglas Home และต่อมาเมื่อตำแหน่งผู้แทนราษฎรว่างลงมีการประกาศเลือกตั้งซ่อม ก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม และสอดคล้องกับประเพณีประชาธิปไตย

ผมหวังว่าเรื่องที่เล่านี้จะมีประโยชน์ ทำให้ทุกฝ่ายรวมทั้งศาล หาช่องทางร่วมมือกันทำให้มีทางเลือกหรือทางออกที่ดีงามให้กับบ้านเมือง โดยไม่จำเป็นจะต้องทำลายประเพณีประชาธิปไตยหรือความเป็นอิสระของสถาบันยุติธรรม

ผมได้ยินพระราชดำรัสคำว่า ลาออก ลาออก หลายครั้ง แม้กระทั่งกับศาลปกครองเมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้ หวนระลึกถึงพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ซึ่งนายกรัฐมนตรีและบรรดาผู้ที่นั่งอยู่แถวหน้าพากันผงกหัวหงึกๆ ทรงตรัสว่า เมืองไทยนี้ ใครทำอะไรไม่เข้าร่องรอย ก็ลาออกเสีย ลาออกแล้วไม่มีความผิดอะไรเลย

ผมขออภัยที่จำต้องกล่าวตรงๆว่า โทษที่ท่านนายกฯ ทักษิณ รัฐบาลและ กกต.ทั้ง 4 ถูกกล่าวหานั้นสาหัสยิ่งนัก เพียงแต่ท่านทำตัวให้แผ่นดินสงสัยว่ากระทำความผิด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ท่านก็สมควรจะมีหิริโอตตัปปะลาออกไปเสีย

ถ้าท่านลาออกไป โอกาสที่บ้านเมืองจะปรับตัว รักษาจารีต คงความเป็นประชาธิปไตยไว้อย่างราบรื่นก็จะง่ายขึ้น

จนป่านนี้ ท่านยังไม่ทราบอีกหรือว่า ท่านและคณะนั่นแหละที่เป็นผู้พากันทำลายประชาธิปไตย จนบ้านเมืองประสบ “วิกฤตที่สุดในโลก”

ท่านไม่คิดบ้างหรือ ว่าเกิดมาชาติหนึ่ง คราวนี้แหละที่ท่านจะมีโอกาสร่วมมือกู้ชาติ ไม่ให้ล่มจมลงเพราะความผิดพลาดในอดีตของท่าน ถ้าท่านกระทำได้ ท่านก็จะเปลี่ยนฐานะจากโมฆะชนมาเป็นวิญญูชนทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น