xs
xsm
sm
md
lg

ระหว่างคนกับระบบ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อผมยังเรียนหนังสืออยู่นั้น ปัญหาหลักของการเมืองไทยคือ การที่รัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ส่วนการเมืองภาคประชาชนซึ่งได้แก่การเคลื่อนไหวนอกสภานั้น ไม่ต้องพูดถึง การปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมนี้ ข้ออ้างก็คือความมั่นคง เพราะยังคงมีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ เมื่อหมดยุคสงครามเย็นทุกประเทศ รวมทั้งประเทศสังคมนิยมก็เริ่มผ่อนคลาย การควบคุมจากส่วนกลางลง ระบบทุนขยายตัวมากขึ้น ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง ในขณะที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างดีเลิศ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปช้าไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองก็คือ วัฒนธรรมทางการเมือง

วัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคมนั้น อาจมีไม่เหมือนกัน ในอเมริกามีนักรัฐศาสตร์ทำการวิจัย และมีข้อสรุปว่าโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ในอเมริกาก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสียเท่าไร ที่สำคัญและเป็นปัจจัยจรรโลงระบอบประชาธิปไตยในอเมริกาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นเพราะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก

ข้อสรุปก็คือ วัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำทำให้ประชาธิปไตยคงอยู่ได้

เมื่อเราพบกับระบอบทักษิณ พฤติกรรมของผู้นำเป็นไปในทางที่ตรงกันข้ามกับคุณค่าของประชาธิปไตย ผู้นำอาศัยกติกาที่เป็นทางการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ และใช้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง เมื่อเราเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง เราจึงต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า เราจะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร

สำหรับเมืองไทยแล้ว ระบบที่ดีน่าจะหมายถึงระบบที่สามารถป้องกันการบ่อนทำลาย แทรกแซงทางการเมือง และการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ระบบ กกต.ที่ให้อำนาจบุคคลเพียงห้าคนอย่างที่เป็นอยู่ คงจะต้องล้มเลิกไป การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบนำมารวมกัน แทนที่จะแยกนับตามหน่วยก็คงต้องเลิก ผมจำได้ว่าคุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นผู้สนับสนุนการนับคะแนนแบบนับรวม ผมไม่ทราบว่าคุณอุทัย ยังจะยืนยันความคิดเดิมหรือไม่ เพราะเวลานี้การโกงการเลือกตั้งทำได้ง่ายกว่าเก่า ด้วยการซื้อตัวกรรมการทั้งหน่วยเลือกตั้ง บางคนถึงกับกล่าวหาว่าซื้อ กกต.ได้ด้วย

การมีประสบการณ์กับทักษิณ คงทำให้เราไม่มีความไว้วางใจกับผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าเก่า ถ้าเช่นนั้น เราจะปรับปรุงระบบการเมืองในจุดใด บางคนถึงกับเสนอให้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้เพียงสมัยเดียว บ้างก็เห็นว่าไม่ควรให้ ส.ส.หาเสียง รัฐแค่จัดเวทีและให้เวลามาออกโทรทัศน์ วิทยุ เพราะ ส.ส.จะได้ไม่ใช้เงินหาเสียงมาก และไม่ควรให้เป็น ส.ส.เกินสองสมัย

ที่ใดมีการเลือกตั้งที่นั่นมีการใช้เงินทั้งสิ้น แม้ในอเมริกา คนที่ขาดทุนสนับสนุนจะดีหรือเก่งอย่างไรก็ไม่อาจเป็นประธานาธิบดีได้ แต่การใช้เงินในการเลือกตั้งมากๆ ในอเมริกานั้น ผู้ชนะก็จะตอบแทนผู้สนับสนุนด้วยการมีนโยบาย และมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มผู้สนับสนุน แต่ก็ไม่ใช่นโยบายแบบที่ทักษิณทำ นโยบายด้านภาษี และการเปิดตลาดการค้ากับต่างประเทศ การพิทักษ์ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมบางประเภทเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามพรรคการเมืองที่ประธานาธิบดีสังกัด

ปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นหลักประกันได้แต่เพียงว่า ผู้นำแบบเผด็จการ และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จะได้รับการต่อต้าน การที่ศาลปกครองพิพากษากรณี กฟผ. โดยเฉพาะการอ้างเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนย่อมเป็นบรรทัดฐานให้มีกรณีอื่นๆ ตามมาอีก

ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้ชนชั้นนำมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีได้ ผมเคยให้ข้อคิดไว้ว่า ชนชั้นนำของไทยเรานั้น ไม่รู้จักใช้อำนาจในทางที่ถูก ผู้นำทุกคนมักจะมีปัญหาในการใช้อำนาจ และลงเอยด้วยการถูกประท้วง เราสามารถสอนเด็กๆ ให้มีความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำ และรู้จักใช้อำนาจได้หรือไม่ เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักใช้อำนาจในทางที่ถูกที่ควร

ระหว่างการสร้างระบบกับการสร้างผู้นำ เราจะต้องทำควบคู่กันไป ทักษิณผ่านโรงเรียนเตรียมทหารกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจทั้งสองโรงเรียน รวมทั้งมหาวิทยาลัยของเราด้วย ไม่มีการสอนภาวะผู้นำ นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีโอกาสน้อยมากในการเรียนรู้และพัฒนาอุปนิสัย บุคลิกภาพ และจริยธรรมของการเป็นผู้นำ ไม่ว่าเราจะมีระบบที่ดีอย่างไร หากเรามีผู้นำที่อุปนิสัยไม่ดี เขาก็จะอาศัยระบบเป็นเครื่องมือได้

ประชาชนที่ไปชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องหลายวัน ได้รับความรู้และประสบการณ์อันล้ำค่า แต่รัฐบาลกลับเป็นฝ่ายทำลายโอกาสแห่งการเรียนรู้นั้น ด้วยการระดมคนโดยอาศัยอำนาจและอามิสสินจ้าง ทำอย่างไรประชาชนส่วนนั้น จึงจะมีความเข้าใจแยกแยะระหว่างรัฐบาลที่ทำประโยชน์ในระยะยาวให้กับพวกเขากับรัฐบาลที่ให้ประโยชน์ระยะสั้น ผมหวังว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะไม่หยุดการเคลื่อนไหว สนธิเคยบอกผมว่า จะใช้ชีวิตบั้นปลายให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ผมเห็นว่าเป็นก้าวกระโดดเชิงคุณภาพที่สำคัญในบทบาทของสื่อมวลชน สื่อไม่ได้มีบทบาทแบบเดิมอีกต่อไป แต่ผู้นำสื่อมีบทบาทในการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง เป็นผู้สร้างข่าวด้วยการเคลื่อนไหวนั้นเองแทนที่จะเป็นเพียงผู้รายงานข่าว พัฒนาการนี้ทำให้บทบาทของสื่อในทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น