xs
xsm
sm
md
lg

3 ประมุขศาล สรุปแนวทางแก้ไขวิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลหารือร่วม ประมุข 3 ศาล แก้วิกฤติชาติได้ข้อสรุปแล้ว 3 ประเด็น ให้แต่ละศาลเร่งรัดวินิจฉัยคดีให้ทันต่อปัญหา -ตีความกฎหมายสอดคล้องกัน ไม่ให้ประชาชนสับสน ยึดหลักอิสระยุติธรรม ส่วนการวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะหรือไม่ ยังต้องรอคำวินิจฉัยศาลปกครอง เลขาฯศาลฎีกา ยันมีทางออกให้ชาติหลุดจากหล่มได้แน่

วานนี้ (28 เม.ย.)ที่ห้องประชุมชั้น 12 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา แถลงผลประชุมร่วมของประธาน 3 ศาล ประกอบด้วย ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ที่ประชุมใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชม.และได้ข้อยุติใน 3 ประเด็น คือ 1. ทั้ง 3 ศาลจะเร่งรัดพิจารณาวินิจฉัยคดี และดำเนินการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของแต่ละศาล ให้รวดเร็วและทันต่อความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น 2. การใช้และการตีความกฎหมายบทเดียวกันของแต่ละศาลควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสับสนของประชาชน 3. ในการดำเนินการของแต่ละศาล ต้องยึดถือความเป็นอิสระของศาลตามเขตอำนาจของแต่ละศาล ให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญและ กฎหมายด้วยความสุจริตและยุติธรรม ส่วนรายละเอียดและวีธีดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องของแต่ละศาล ในชั้นนี้จะนำมาเปิดเผยไม่ได้

นายจรัญ กล่าวว่าที่ประชุมได้มีการหารือเกือบทุกประเด็นที่เป็นปัญหาของบ้านเมือง แต่จะไม่ผูกมัด หรือยุติในทางคดี เพราะต้องให้เป็นไปตามอำนาจของแต่ละศาลที่จะวินิจฉัย ส่วนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ที่ประชุมไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัย จึงยังไม่มีมติตรงนี้ การลงมติและการชี้นำคงยังทำไม่ได้ แต่คดีต่างๆ แต่ละศาลจะวินิจฉัยเองตามขอบเขตของอำนาจ ซึ่งขณะนี้มีคดีไปสู่ 3 ศาล เช่น ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีการนำเสนอเรื่องนี้เพื่อเข้าสู่การวินิจฉัย ศาลปกครองก็มีประเด็นเหล่านี้แล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงกรอบเวลา เพียงแต่มีข้อสรุปร่วมกันว่า แต่ละศาลต้องเร่งรัดในคดีที่อยู่ในขอบเขตอำนาจในทันท่วงที และต้องทันต่อความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละเรื่อง

"ศาลยุติธรรมจะยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ว่า คดีไหนที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมจะไม่ก้าวก่าย แต่หากคดีไหนที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น คดีนั้นจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม โดยแต่ละศาลจะให้อำนาจตุลากการอิสระตามกรอบของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร แล้วแต่องค์คณะที่รับผิดชอบ แต่เชื่อว่า ผลการหารือ 3 ฝ่ายวันนี้ จะแก้ปัญหาการติดหล่มของประเทศชาติได้อย่างแน่นอน"

นายจรัญ กล่าวว่า 3 ศาลจะต้องมีทางออกในการแก้วิกฤตแน่นอน เพราะแต่ละศาลมีความเป็นอิสระ และมีความเที่ยงธรรม

"ผมเข้าใจว่า ประชาชนคาดหวังให้ศาลทำงานให้ทันท่วงทีต่อวิกฤตเหตุการณ์บ้านเมือง ประชาชนต้องการคำตอบที่ทันใจ แต่ศาลจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมีกรอบของกฎหมาย แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจ คือ 1. ศาลจะไม่ล่าช้าต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมือง และ 2. ศาลจะไม่ขัดแย้งกันเองในข้อกฎหมายบทเดียวกัน เพราะจะทำให้ประชาชนสับสนและแตกแยกกันเองได้ ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ จะต้องดูผลการดำเนินการที่จะทยอยออกมาตามจังหวะเวลาที่จำเป็นต่อเหตุการณ์ "นายจรัญ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวแทนศาลยุติธรรมที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้มีจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา,นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม, นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา, นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา,นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา และนายสุทธิพล ทวีชัยการ รองเลขานุการศาลฎีกา

สำหรับศาลปกครองสูงสุด มี นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายสนธยา พงษ์สุริยะวรรณ เจ้าหน้าที่ศาลปกครอง ส่วนตัวแทนฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ มี 4 คน ประกอบด้วย นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุระ หวังอ้อมกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

**ศาลรธน.รับวินิจฉัยค้างคา

นายผัน จันทรปาน ตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จากมติของที่ประชุมที่ออกมา ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเองก็จะเข้าไปดำเนินการพิจารณางานคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ยังค้างรอการพิจารณาวินิจฉัยอยู่ในเวลานี้ ซึ่งมีอยู่ 2 คำร้อง โดยในเรื่องแรกเป็นคำร้องที่ส่งมาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของกกต.ในการออกระเบียบการใช้ตรายางแทนเครื่องหมายกากบาท โดยคำร้องดังกล่าวนำเข้าสู่วาระการประชุมของคณะตุลาการ และพร้อมที่จะดำเนินการอภิปรายแล้ว และล่าสุดในช่วงเช้า ของวันที่ 28 เม.ย.นี้ ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับการประสานจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ว่า ได้ยื่นคำร้องของคณะอาจารย์นิติศาสตร์ ที่ร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.และ 23 เม.ย. เป็นการการทำที่มิชอบรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดระยะเวลาเลือกตั้งไม่เหมาสม จัดคูหาลงคะแนนหันหลังอันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มีการฮั้วกันทางการเมืองด้วยการจ้างพรรคเล็กลงสมัครแข่งขันเพื่อหนีปัญหาการลงคะแนนเสียงเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ และกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้มีการประชุมหารือเป็นมติคณะกรรมการ ทั้งนี้ในทั้ง 2 คำร้องศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนและพิจารณาต่อเนื่อง โดยนัดประชุมคณะตุลาการนัดแรกในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้

**ผู้ตรวจการฯ ชงเพิกถอนเลือกตั้ง

นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ร่วมกันแถลง ว่า คณะผู้ตรวจการฯ มีมติให้ส่งคำร้องที่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เม.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงคำร้องของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต)ในกรณีเดียวกันนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกาศ และคำสั่งของกกต.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎชัดในสื่อสาธารณะ และมีผลต่อการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศโดยรวม จึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ผู้ตรวจการฯ ก็เห็นพ้องกับคำร้องดังกล่าวว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้กกต.จะยืนยันในอำนาจ และจะจัดการเลือกตั้งรอบ 3 ในวันที่ 29 เม.ย.ก็เป็นดุลพินิจของกกต. แต่ในส่วนผู้ตรวจการฯ เห็นเป็นปัญหาจึงได้มีมติดังกล่าว

ทั้งนี้เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งใดในประเทศไทยที่จะเป็นแบบนี้ เสมือนเป็นการเลือกตั้งพรรคเดียว และยังมีการเลือกหลายรอบจากการที่ผู้สมัครคนเดียว ได้คะแนนไม่ถึง 20 % ของผู้มีสิทธิ

**ชิดชัยดักคอพันธมิตร-ฝ่ายค้านอย่ากลืนน้ำลาย

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศาลยังไม่ได้พูดอะไรเลย พูดถึงแต่หลักการ ศาลเพียงแต่บอกว่าอยู่ในอำนาของแต่ละศาล การพิจารณาจะพิจารณาในขอบเขตของศาล ซึ่งแต่ละศาลต่างไปทำการบ้าน ในส่วนของรัฐบาลก็ยังไม่มีการหารือกับฝ่ายกฎหมายของพรรค เพราะนั่งคิดแล้วไม่รู้จะหารือเรื่องอะไร จะไปวิ่งนำหน้าได้อย่างไร

พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่าระหว่างที่รอการตัดสิน ทุกคนพูดออกมาชัดเจนควรอยู่ในความสงบ คงไม่มีใครกลืนน้ำลายตัวเอง เหตุการณ์ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป อย่าไปตีความเดี๋ยวจะยุ่ง ตนพูดเฉพาะส่วนเรื่องการน้อมรับกระแสพระราชดำรัส แต่ไปตีความกันไกลกว่านั้น บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย

**3 พรรคร่วมฝ่ายค้านรอผลวินิจฉัย 3 ศาล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ 3พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ว่ามติที่ประชุม เห็นด้วยและสนับสนุนตามแนวทางการดำเนินการตามมติของที่ประชุม 3 ศาล ซึ่งฝ่ายค้านจะร่วมติดตามสถานการณ์ต่อไป และรอผลการพิจารณาคดีต่างๆ ของแต่ละศาล ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลแล้วในหลายคดี ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านเดิมที่ผ่านมาก็ได้ส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลใน 2 ส่วน คือ 1. พระราชกฤษฎีกายุบสภา เห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งน่าจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกำหนดวันเลือกตั้งแค่ภายใน 37 วันเท่านั้น แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรจะเป็น 46-60 วัน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2.กรณีความไม่สุจริตเที่ยงธรรมในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งจัดคู่หาการเลือกตั้งไม่เป็นความลับ กกต.เปิดโอกาสให้มีการเวียนเทียนผู้สมัคร มีการว่าจ้างผู้สมัครพรรคเล็กลงสมัครเป็นไม่ประดับ แก้ไขข้อมูลความเป็นสมาชิกพรรคของกกต.และกกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ

**ผบ.สส.หนุนไอเดียบิ๊กจิ๋วตั้งคนกลางแก้วิกฤติ

พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า เมื่อ 3 ศาลประชุมกันแล้วมีข้อสรุปออกมาเช่นนี้ ตนมั่นใจว่าสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นแน่ โดยเฉพาะถ้าทุกคนร่วมมือระดมความคิด ช่วยกันแก้ปัญหา

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้คนกลางเข้ามาดูแลบ้านเมือง พล.อ.เรืองโรจน์ กล่าวว่า พล.อ.ชวลิต ท่านเป็นคนเก่ง และผ่านโลกมาเยอะ และมีความคิดที่ดี ซึ่งก็เป็นแนวความคิดของท่าน สำหรับตนเห็นด้วย เพราะท่านคิดไว้ดี แต่เป็นความคิดของแต่ละคน ส่วนจะปฏิบัติได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อถามว่า กองทัพอยากให้การเมืองเป็นอย่างไร พล.อ.เรืองโรจน์ กล่าวว่า ตนอยากเห็นประชาชนอยู่อย่างมีความสุข และสงบสุข เหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราเคยอยู่อย่างมีความสุข เศรษฐกิจก็ดี มีเงิน มีงานทำประชาชนทุกคนมีความสุข

**ส.ว.หวังมีการเลือกตั้งส.ส.ใหม่

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการ ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนหวังกับอำนาจของศาลทั้งสามเพื่อผ่าทางตันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นอย่างมาก เพราะเราเองไม่สามารถหวังกับอำนาจในการแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะกับศาลปกครองที่เหมือนว่าจะเป็นความหวังสูงสุดของประชาชนในขณะนี้ เนื่องจากได้รับคำร้องจากหลายฝ่ายที่เสนอให้ศาลปกครองวินิจฉัยให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งทีเกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จึงอยากให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นที่ต้องไม่ใช่การจัดการเลือกตั้งของกกต.ชุดนี้ เพราะกรรมการทั้งสี่คนถือว่าได้หมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งไปแล้ว หลังจากใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับบางฝ่าย

รักษาการ ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า แต่ปัญหาที่จะตามมาหลังจากนี้คือ เรื่องของเงื่อนเวลา 30 วัน ที่ภายหลังจากการเลือกตั้งจะต้องทำการเปิดสภาให้ได้ ซึ่งกำลังจะครบในวันที่ 2พ.ค.นี้ จึงอยากเรียกร้องให้ศาลเร่งรีบพิจารณาแก้ไขด้วย เพราะหลังจากนี้อาจจะมีวิกฤติทางการเมืองรอบใหม่ตามมาอีกก็ได้ ดังนั้นขอให้ศาลเร่งใช้อำนาจในการพิจารณาเร่งแก้วิกฤติทางการเมืองเป็นการด่วน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ รักษาการส.ว.กทม.กล่าวว่า หลังศาลมีมติเช่นนี้ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ได้ และเข้าใจดีว่าถึงแม้ว่าการแถลงข่าวจะยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ตนเชื่อว่าแต่ละศาลจะต้องมีธงในใจของตัวเองไว้อยู่แล้วแต่ยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะต้องรอให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาก่อน แต่ต่อมาแสงสว่างในการแก้ปัญหาเริ่มส่องชัดมากขึ้นเมื่อศาลปกครองมีคำสั่งระงับการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่อให้เห็นว่าประธานศาลปกครองได้ทำงานเชื่อมต่อกันจากการประชุมกันของ 3 ศาลก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอาจจะเป็นโมฆะก็ได้ ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องกลับมาพิจารณาบทบาทของตัวเองว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากส่วนไหน และจะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมถึงเมื่อศาลมีมติอย่างไรกกต.ก็ต้องปฎิบัติตามมตินั้นโดยไม่มีเงื่อนไข และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังโยงใยไปถึงพรรคไทยรักไทยที่ได้รับการเลือกตั้งมาด้วยความไม่ชอบ หลายประเด็น

"ผมเคยแนะนำให้ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาชิงลาออก เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่และพรรคฝ่ายค้านอีกหลายๆพรรคกลับมาลงแข่งกันตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตอนที่ผมแนะนำนั้นยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆจากศาล แต่ขณะนี้ภายหลังจากที่ในหลวงทรงมีกระแสพระราชดำรัสเพื่อแก้วิกฤตจนทำให้ศาลทั้งหลายลดความเกร็งที่กลัวว่าจะไปทับซ้อนอำนาจกัน ได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันจนนำไปสู่การแก้ปัญหา จึงเป็นการสายเสียแล้วที่ส.ส.แต่ละพรรคที่ได้รับเลือกมาจะลาออก เพราะขณะนี้ประชาชนได้เสื่อมศรัทธากับส.ส.ที่ได้รับเลือกมาโดยเฉพาะส.ส.ไทยรักไทย จนหมดแล้ว"รักษาการส.ว.กทม. ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น