xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาศาลจะต้องกู้ชาติ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผมเขียนบทความนี้ถึงศาล ศาลควรจะภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย และทรงขอร้องให้ร่วมมือกันกู้ชาติ

ผมเชื่อว่าประชาชนทั่วไปต้องแซ่ซ้องสาธุการ เชื่อใจศาลเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เชื่อว่าศาลจะไม่ทำให้ผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเพิ่งได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 นี้ นับว่าเป็นเวลาประวัติศาสตร์ที่เหมาะเจาะพอดี

โดยเฉพาะศาลฎีกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “จะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทย ยังเรียกว่ายังมีน้ำยา เราเป็นคนที่มีความรู้และตั้งใจที่จะกู้ชาติจริงๆ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสถึงการที่ปวงพสกนิกร (ได้แก่สภาหนังสือพิมพ์ สภาทนายความ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สามพรรคฝ่ายค้าน คณาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาทิ) กราบบังคมทูลขอนายกพระราชทาน หรือนัยหนึ่งขอให้ใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ท่านทรงเห็นว่าเป็นการขอมั่วๆ พระมหากษัตริย์ไม่เคยทรงใช้อำนาจอย่างมั่วๆ และจะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างมั่วๆ อย่างเด็ดขาด

พระองค์ดำรัสในตอนหนึ่งว่า “ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วถึงเวลาถ้าจะทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัวถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ ตอนนี้ต้องอยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นสำคัญที่จะบอกได้”

ผมได้อ่านพระราชดำรัสทบทวนไปมาหลายเที่ยว ผมแน่ใจว่าตุลาการทั้งหลายทุกศาลจะกระทำเช่นเดียวกัน และไม่กระทำอะไรที่มั่วๆ อย่างเด็ดขาด ไม่เหมือนกับสื่อหลายๆ ฉบับ พรรคการเมืองหลายๆ พรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคไทยรักไทย และแม้กระทั่งกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ต่างก็ยกเอาพระราชดำรัสมาเน้นหรือตีความเข้าข้างตนเองแบบเป็นเสี้ยวเป็นส่วน ยิ่ง กกต.ยิ่งแย่ที่สุด บอกว่าจะน้อมรับพระราชดำรัสใส่เกล้า แต่จะเดินหน้าดำเนินการเลือกตั้งอัปยศให้ถึงที่สุด นายกฯ รักษาการ (ผิดกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน) ชิดชัยก็แสนตลกที่ออกมาเน้นถึงความปรองดอง การปรองดองเป็นสิ่งที่ดี แต่การนำมาเน้นที่ผิดกาละเทศะและไม่สอดคล้องกับความในพระราชดำรัสเป็นเรื่องไม่สมควร

ในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนเรื่องพระราชอาจและเป็นผู้เริ่มจุดประเด็นเรื่องการนำมาตรา 7 มาใช้ ผมได้เขียนขั้นตอนทั้งเงื่อนไขและเงื่อนเวลาอย่างครบถ้วนทุกประการและผมได้ย้ำว่ามาตรา 7 นั้นมิได้เน้นแต่ไม่ยกเว้นเรื่องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในกรณีที่เกิดสุญญากาศไม่สามารถปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดได้ แต่จะต้องดำเนินกระบวนการต่างๆ ให้ถึงที่สุดทุกอย่างเสียก่อน และการนำมาตรา 7 มาใช้นั้นหลายกรณีจะต้องเชื่อมโยงกับมาตราอื่นๆ ตัวอย่างเช่น พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะต้องเชื่อมโยงกันถึง 3 มาตราคือ มาตรา 3 มาตรา 201 (วรรค 1)และละมาตรา 7 เป็นต้น ดังนี้

มาตรา 3 อำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 201 (วรรค 1) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้แก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สาเหตุที่จะต้องนำมาตรา 7 มาใช้ก็เพราะว่าเกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะองค์กรหรือองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญบางอย่างสิ้นสภาพไป และไม่สามารถจัดขึ้นมาให้ตรงกับเงื่อนไขและเงื่อนเวลาได้ ในกรณีนี้ได้แก่การสิ้นสภาพของมาตรา 201 วรรค 2 และวรรค 3 ดังนี้

มาตรา 201 วรรค 2 นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 118 (7) ในอายุสภาผู้แทนชุดเดียวกัน

วรรค 3 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำความสำคัญของการที่จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามทฤษฎี The King Can Do No Wrong ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องพิจารณาว่ารักษาการประธานวุฒิสภาที่เป็นผู้รักษาการประธานรัฐสภาอยู่ในขณะนี้จำต้องเป็นผู้ที่จะต้องกระทำหน้าที่

สำหรับศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเข้าเฝ้าก่อนศาลฎีกาเล็กน้อยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

“ ก็เลยขอร้องท่าน อย่าทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้ อีกข้อหนึ่งคือ การที่จะบอกว่าจะ มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้อง ก็จะต้องแก้ไข แล้วก็อาจจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือไม่ ซึ่งท่านจะมีสิทธิ ที่จะบอกว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควร ที่ไม่ควร ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟัง ดูมันเป็นไปไม่ได้ ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งขึ้นพรรคเดียว เบอร์เดียว ไม่ใช่ทั่วไป อย่างมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ในตอนต้นทรงตรัสว่า “การเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับพวกท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ดำเนินการไม่ได้ แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณไว้เมื่อกี้นี้ ก็เป็นหมัน ที่บอกว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ ถ้าท่านทำงานไม่ได้ ท่านก็อาจจะต้องลาออก ไม่มีทางแก้ ต้องหาทางแก้ไขให้ได้”

ผมเคารพศาลและเชื่อมั่นว่าศาลจะต้องสำนึกอย่างยิ่งที่สนองพระราชดำรัสในการกู้ชาติ การกู้ชาติเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพระองค์ท่านได้ทรงกล่าวย้ำว่าไม่ให้เห็นการกู้ชาติเป็นเรื่องเล่นๆ เอะอะอะไรก็จะกู้ชาติ กู้ชาติ

พระองค์ตรัสว่า เราจะต้องกู้ชาติจริงๆ “ทำไมถึงจะกู้ชาติ แต่ว่าป้องกันไม่ให้จมลงไปแล้ว เราจะต้องกู้ชาติจริงๆ แต่ถ้าจมแล้วกู้ชาติไม่ได้”

ทั้งหมดนี้ ผมเข้าใจเอาเองตามปัญญาอันต่ำต้อยของผมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาตรา 7 มาใช้กับศาลแล้ว โดยมิได้ทรงกล่าวถึง เลยแม้แต่น้อย นั่นก็คือทรงขอจากศาล มิใช่เพียงให้ปฏิบัติหน้าที่ในพระนามาภิไธยตามขบวนการพิจารณาและธรรมนูญศาลตามกฎหมายบัญญัติและสาระบัญญัติเท่านั้น แต่ทรงขอให้ปฏิบัติหน้าที่อันอุกฤษฏ์ยิ่ง คือขอให้ช่วยพระองค์ปฏิบัติหน้าที่ “กู้ชาติ” ที่กำลังจะจม มิให้จม พระองค์ได้ทรงมอบพระราชอำนาจของพระองค์ให้ศาลทั้งหลายไปดำเนินการ

มีผู้ที่ผูกตัวติดกับผลประโยชน์ทางการเมืองแคบๆ ของตนและพรรค พากันลิงโลดใจว่าศาลจะทำอะไรได้ เพราะศาลมีข้อจำกัดว่าศาลจะต้องพิจารณาคดีที่ถูกนำมาฟ้องเท่านั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งศาลก็จะต้องถูกมัดอยู่ที่การตีความตามตัวอักษรที่เคร่งครัดเท่านั้น

การเป็นเช่นนี้ ทุกอย่างก็จะเข้าล็อกของอำนาจการเมือง คือ (1) ศาลจะต้องสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (2) ศาลจะต้องสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน (3) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ก็จะพากันลงสมัครเลือกตั้ง
ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยโรงเรียนไทยลักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะลอยนวลกลับมาอีก เพราะทักษิณได้เว้นวรรคทางการเมืองไปเที่ยวเมืองนอกเรียบร้อยแล้วตั้งพักใหญ่ๆ

ถ้าคิดได้เพียงแค่นี้ก็เห็นจะดูถูกศาลเกินไป แถมยังหามีความเข้าใจถึงบุญญาบารมีและอำนาจคุ้มหัวคุ้มแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลยแม้แต่น้อย พระองค์ท่านทรงขอให้ศาลกู้ชาติ เพราะชาติกำลังจะล่มจม มิใช่เพียงแต่ทรงขอให้ตัดสินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งมิใช่พระราชภาระของพระองค์

พูดถึงวุฒิภาวะและความรอบรู้ของศาลสมัยนี้ จะต้องเข้าใจถึงวิวัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมของเราร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา คุณภาพและการคัดเลือกผู้พิพากษา นอกจากความมั่งคั่งทางวัตถุและความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีแล้ว ศาลของประเทศไทยไม่เป็นรองใคร แม้กระทั่งศาลปกครองซึ่งมีอายุไม่กี่ปี ก็ยังผลิตคำตัดสินคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ลึกซึ้งทั้งความรู้ ปรัชญา ข้อมูลเปรียบเทียบ หาได้ติดยึดอยู่กับตัวบทแต่เพียงอย่างเดียวไม่ เป็นการตัดสินที่เยี่ยมยอดอย่างแท้จริง

ตามความเข้าใจของผม ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นเพียงข้าแผ่นดินคนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ต่างกับคนอื่นๆ ผมคิดว่าทั้งศาล ทั้งผม และคนไทยที่รักแผ่นดิน รักพระเจ้าอยู่หัวทุกคน มีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำอะไรให้พระเจ้าอยู่หัวสักอย่างหนึ่ง มิใช่คอยแต่จะเอาอะไรจากพระเจ้าอยู่หัวร่ำไป นั่นก็คือ ช่วยกันกู้รัฐนาวาไทยที่กำลังจะจมเพราะโครงสร้างและพฤติกรรมของอำนาจทางการเมืองที่กำเริบเสิบสานและโกงชาติโกงแผ่นดิน

พวกเราจะต้องร่วมมือกับศาลช่วยกันทำลายระบอบการเมืองคณาธิปไตยที่เป็นต้นเหตุให้เมืองไทยกำลังจะล่มจม ทำให้ศาลสามารถจับตัวเอาองค์กรที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ กกต.หรือหน่วยราชการใดๆ และบุคคลที่ร่วมมือกันทำร้ายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก้าวล่วงทำลายข้อบัญญัติและการตรวจสอบของรัฐธรรมนูญ สมคบกันโกงกิน ฝ่าฝืนและครอบงำอาญาแผ่นดิน กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายอาญาและสารพัดกฎหมายอื่นๆ คดีต่างๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาลทั้งที่ได้ก่อขึ้นในนามส่วนตัว ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ และในฐานะผู้สมคบส่งเสริม จะต้องถูกนำมาสู่ศาลเพื่อให้ชำระคดีและรับโทษอย่างสาสม

ผมหวังและเชื่อมั่นว่า ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดจะซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณและความไว้วางพระหฤทัย ทรงมอบอำนาจอันกว้างขวางอุกฤษฏ์ให้ศาลเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจบพระราชดำรัสกับศาลปกครองสูงสุดว่า “ขอร้องท่าน อย่าทอดทิ้งการปกครองประชาธิปไตย”

พระองค์ทรงเชื่อว่า ถึงเวลาศาลฎีกากู้ชาติได้จริงๆ และ “ขอขอบใจท่านที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่ แล้วก็ทำตามหน้าที่ที่ดี บ้านเมืองก็รอดพ้นไม่ต้องกู้ ก็ขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติตัวดี และประชาชนจะอนุโมทนา ขอบใจแทนประชาชนทั่วทั้งประเทศที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้มแข็ง ขอบใจที่ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงานที่ดี ขอให้มีพลามัยแข็งแรง ต่อสู้ ต่อสู้เพื่อความดี ยุติธรรมในประเทศ ขอบใจ”

ฉะนี้แล้ว ผมจะพูดอะไรได้ นอกจากจะฝากความหวังไว้กับศาลให้ลูกหลานไทยได้มีโอกาสร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมีไปชั่วกาลนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น