xs
xsm
sm
md
lg

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (ตอนที่ 35)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

35. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานกับการบูรณาสรรพธรรม
ถ้าหาก การฝึกมหาสติโดยการพิจารณาโครงกระดูกตัวเอง เป็น เคล็ดลับและอุบายวิธี ที่หลวงปู่พุทธะอิสระถ่ายทอดให้แก่เหล่าศิษย์ที่มาศึกษาพุทธธรรม โดยเฉพาะวิชามหาสติปัฏฐานกับท่าน ในส่วนที่เกี่ยวกับ การฝึกดูกาย หรือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเวลาต่อมา หลวงปู่พุทธะอิสระยังได้ถ่ายทอด เคล็ดลับและอุบายวิธี ของท่านใน การฝึกดูจิต เพื่อเห็นแจ้งสภาวะแห่งการรับรู้ของจิต อันเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้แก่เหล่าศิษย์ของท่านด้วย (ดูหนังสือ “การอบรมวิถีจิต-อาการจิต 10” ของหลวงปู่พุทธะอิสระ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิธรรมอิสระ มกราคม 2549) จึงขอเรียบเรียงนำเสนอเคล็ดลับ และอุบายวิธีเกี่ยวกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานของหลวงปู่พุทธะอิสระ ณ ที่นี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์คำสอนประเภทเคล็ดลับ และอุบายวิธีให้แก่ผู้สนใจใช้ศึกษาเปรียบเทียบเพื่อประโยชน์แห่งการเติมเต็ม การฝึกฝนวิถีจิตของผู้นั้นไม่ว่าจะศึกษากับครูท่านใดหรือแนวทางใดก็ตาม

หลวงปู่กล่าวว่า การจะเจริญองค์ฌาน หรือสมาบัติที่เป็นสัมมาสมาบัติเป็นสัมมาสติ และสัมมาสมาธิจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคนผู้นั้นไม่รู้ที่เกิดแห่งฌานสมาบัติ หรือบุพกิจเบื้องต้นในการเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้าไปสู่ที่เกิดของฌานสมาบัติ ซึ่งก็คือ การเพ่งอารมณ์ กับ การเจริญปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญปัญญาเบื้องต้น ก็คือ การเจริญสติ เพื่อประคับประคอง ฌานวิถี นั้นให้กลายเป็นสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

เพื่อการนี้ ผู้นั้นจะต้องศึกษาเรียนรู้ สภาพจิต 10 ประการ ที่เรียกว่า อาการของจิต 10 อย่าง เสียก่อน ซึ่งได้แก่

(1) คิดเป็น “จิต”
(2) น้อมไปในอารมณ์ที่คิดเรียกว่า “มโน”
(3) เก็บอารมณ์นั้นไว้ เรียกว่า “หทัย”
(4) พอใจ เรียกว่า “มนัส”
(5) แช่มชื่นเบิกบาน เรียกว่า “ปัณฑระ”
(6) สืบต่อในอารมณ์นั้น เรียกว่า “มนายตนะ”
(7) เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า “มนินทรีย์”
(8) รับรู้อารมณ์ เรียกว่า “วิญญาณ”
(9) รู้เป็นเรื่องๆ อย่างๆ เรียกว่า “วิญญาณขันธ์”
(10) รู้แจ้งในอารมณ์นั้น เรียกว่า “มโนวิญญาณธาตุ” หรือ สาธุจิต อันเป็น จิตมหากุศล เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาล้วนๆ

จิต 10 อาการข้างต้นนี้ หลวงปู่บอกว่าคือ ภูมิวิปัสสนาญาณ เป็นภูมิที่เป็นหัวใจของวิปัสสนาและของฌานสมาบัติของปัญญา ของสติ ของความรู้ทั้งปวง ทั้งส่วนโลกียะ โลกุตระ ทั้งส่วนกุศล อกุศล และอัพยากฤต (จิตที่เป็นกลาง)

เพราะฉะนั้น การรู้จิตเบื้องต้นก็คือ การรู้จักและรู้ทันจิต 10 อาการนี้นั่นเองว่า มันเกิดอาการนี้เมื่อใด ด้วยเหตุปัจจัยอะไร การฝึกดูจิตในจิตเบื้องต้น คือการฝึกดูอาการจิต 10 โดยเฉพาะเฝ้าดูตัวคิดตัวเดียวก่อน อุบายวิธีในการฝึกดูตัวคิดของหลวงปู่ก็คือ ให้เขียนตารางอาการจิต 10 ใส่แผ่นกระดาษ เมื่อใดที่ คิด ให้ขีด 1 ขีดในช่อง จิต เมื่อใดที่ น้อมไปในความคิด ขีดในช่อง มโน เมื่อใดที่เก็บอารมณ์นั้นไว้ ขีดในช่อง หทัย คือขีดทุกครั้งที่เห็นอาการจิตตามลักษณะอาการจิต 10 อย่างดังข้างต้นอย่างจริงจังและจดจ่อ

หลวงปู่บอกว่า วิธีนี้เป็นวิธีเพิ่มตัวรู้ได้ดีที่สุด เป็นวิธีการฝึกสติและสัมปชัญญะได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ที่หลวงปู่เองก็ได้ใช้วิธีนี้ในการฝึกจิตให้มีปัญญารับรู้สภาพตามความเป็นจริง เพราะ นี่เป็นพื้นฐานของการฝึกเป็นผู้แจ้งในอารมณ์ เพื่อที่จะสลัดให้หลุดออกจากการยึดติดของอารมณ์ทั้งปวง

การรู้เรื่องจิต คือการรู้กระบวนการเกิดจิต รู้หน้าที่จิต รู้ลักษณะจิต รู้เครื่องปรุงจิต รู้ลักษณะของจิตก่อนปรุงและหลังปรุง รวมทั้งรู้สิ่งที่เข้ามาครอบงำจิต

การสังเกตจิตจึงไม่ต้องหลับตา สามารถลืมตาแล้วส่งความรู้สึกไปรับรู้สภาพที่ปรากฏภายในในทุกสภาพการณ์ ให้เฝ้าดู ดูแล้วจด รู้แล้วจด เข้าใจแล้วจด รู้ชัดไปเรื่อยๆ ให้รู้ชัดจนกระทั่งเกิด นิพพิทาญาณ หรือญาณหยั่งรู้ที่เป็นความเบื่อหน่ายคลายความยึดติด

การรู้เรื่อง อาการจิต 10 อย่าง และรู้เรื่อง ลักษณะการปรุงจิต 3 อย่าง คือจิตกุศล จิตอกุศล และจิตอัพยากฤต รวมทั้งรู้เรื่อง ลักษณะจิต 4 อย่าง คือ คิด-รับ-จำ-รู้ เป็นการเข้าสู่ มรรคจิต หรือหนทางสู่วิชชา 8 ของพระพุทธเจ้าที่เริ่มต้นจาก วิปัสสนาญาณ ที่หมายถึงญาณหยั่งรู้ชัดตามความเป็นจริง

มโนมยิทธิ หรือฤทธิ์ทางใจมีทั้งหมด 10 ภาค ภาคของจิต ภาคของมโน ภาคของหทัย ภาคของมนัส ฯลฯ แต่ในขั้นต้นต้องรู้อาการของภาคแห่งจิตก่อน ต้องเข้าใจธรรมชาติของจิต 10 อาการอย่างนี้ก่อน

ส่วน เจโตปริยญาณ หรือญาณหยั่งรู้ใจตนและคนอื่น จะทำได้ก็ต้องรู้ใจตนที่เป็นอาการ 10 อย่างของจิตเสียก่อน นี่คือ 3 วิชาหลักที่จะได้รับการพัฒนาขั้นพื้นฐานจากการฝึกแบบนี้ ที่เป็นการฝึกทั้งสติ และปัญญา เพราะการฝึก รู้ อาการจิต เป็นสติ ส่วนการสามารถจำแนกออกมาว่าเป็นมโน เป็นหทัย เป็นมนัส เป็นปัณฑระ เป็นวิญญาณนั้น เป็น ปัญญา หากฝึกดูอาการจิตไปเรื่อยๆ ที่สุดจะลงในอาการที่ 10 คือ มโนวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นปัญญาล้วนๆ เพราะผ่านการฟอกจิต ผ่านการคัดขยะออกจากจิต เพราะรู้ชัดว่าองค์ประกอบของจิตมีอะไรบ้าง

จิตที่ลุถึงองค์ประกอบของมโนวิญญาณธาตุ คือจิตที่สัมปยุตด้วยมหากุศล เป็นสาธุจิต จิตนี้ไม่กระเพื่อม มีแต่ความเย็นสงบนิ่งผ่อนคลาย แต่องค์ประกอบของสาธุจิตหรือมโนวิญญาณธาตุก็ยังมาจาก ปัณฑระ ที่เปรมปรีดา ปราโมทย์ สืบต่อเป็น มนายตนะ จนอารมณ์นี้เป็นใหญ่ เป็น มนินทรีย์ สาธุจิตจะเกิดขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบเหล่านี้สมบูรณ์ จนเป็นจิตที่มีกุศล จิตแบบนี้ไปบังคับให้เกิดไม่ได้ ต้องตามรู้กระบวนการของจิตที่ค่อยๆ เกิดแล้วก่อตัวเรื่อยๆ กระทั่งเป็นสาธุจิต หรือมโนวิญญาณธาตุเองจนลุถึง ตทังควิมุติ หรือการหลุดพ้นชั่วคราว

อนึ่ง สาธุจิต ปัณฑระจิต หรือวิญญาณธาตุ ไม่อาจเกิดได้ด้วยบุญ ต้องเกิดจากปัญญา โดยที่ ปัญญาที่บริสุทธิ์เกิดขึ้นได้เพราะความหยุด สงบ และพิจารณาโดยไม่มีความอยาก คนธรรมดาจึงมีอาการจิตได้แค่จิต มโน หทัย มนัส มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ และวิญญาณขันธ์ แต่จะไม่เกิดปัณฑระ และมโนวิญญาณธาตุ ซึ่งได้จากการฝึกจิตและดูจิตเท่านั้น

ปัณฑระจิต เกิดจากการฝึกใจรวมกายให้ดีก่อนแล้ว จึงค่อยมาฝึกแยกจิตออกจากกาย แยกอาการทางกายออกจากอาการจิต โดยไม่ปรุงจิต ไม่ได้เก็บไว้เป็นอารมณ์ ไม่ได้น้อมไป ไม่ได้สืบไป จิตก็จะเฉยขึ้น เมื่อจิตเฉยมากๆ ขึ้น จิตก็จะเข้าสู่กระบวนการของการรับรู้สภาพธรรมที่ปรากฏแก่จิตแท้จริง แล้วจะเกิดความชุ่มชื่น แช่มชื่น เบิกบาน นี่คือปัณฑระจิตซึ่งเป็นจิตที่ความทุกข์ไม่สามารถเข้ามาวุ่นวายครอบงำได้ จะเรียกว่า จิตประภัสสรก็ได้

หลวงปู่ยังบอกอีกว่า อายตนะ คือแดนเกิดจิต แดนอุบัติแห่งจิตเป็นกระบวนการที่ทำให้จิตเกิด อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เนื่องจากจิตมีลักษณะคิด-รับ-จำ-รู้ อายตนะจึงทำให้เกิดอาการจิต 10 อย่าง พอจิตเกิดแล้วก็รวมไปถึงการปรุงจิตเป็นกุศลจิตกับอกุศลจิต

เพราะฉะนั้น “การบรรลุในทวารทั้ง 6” หรือการบรรลุทางตา บรรลุทางหู บรรลุทางจมูก บรรลุทางลิ้น บรรลุทางกาย และบรรลุทางใจ โดยที่คำว่าบรรลุหมายถึง หลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เรียกกันว่า อินทรียสังวร

การบรรลุในทวารทั้ง 6 ของหลวงปู่หมายถึง

เห็นแบบไม่ปรุง เห็นแบบไม่ให้เกิด กุศล อกุศล แต่ให้เกิดเป็นอัพยากฤตเฉยๆ เป็นกลาง รูปจึงไม่อาจครอบงำเราได้ เราจึงเป็นอิสระต่อการเห็น ในทำนองเดียวกัน เราต้องมีอิสระต่อการฟัง มีอิสระต่อการดม มีอิสระต่อการรับรส มีอิสระต่อการรับสัมผัส และมีอิสระต่อการนึกคิด ชีวิตเราจึงจะมีเสรีภาพ มีความรู้เท่าทันปรากฏ มีความเข้าใจลึกซึ้งแจ่มแจ้ง มีความกระจ่าง ผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย และไม่โดนอะไรร้อยรัด ครอบงำ เกาะกุม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อแลเห็นเพศตรงข้าม

ถ้าเห็นแล้วไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ก็จดแค่ช่องวิญญาณ (8) แต่ถ้าเห็นแล้วมาคิดมาปรุงว่า สวยว่าหล่อ ก็ให้จดว่า เกิดอาการจิต 6 อย่างเกิดขึึ้นคือ จิต (1) มโน (2) หทัย (3) มนายตนะ (6) มนินทรีย์ (7) และวิญญาณขันธ์ (9) เมื่อฝึกฝนดูจิตอย่างต่อเนื่องจริงจัง จนวิญญาณ (8) ไม่คิด ไม่น้อม ไม่เก็บ ไม่สืบต่อ ไม่เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้น ในที่สุด จิตนั้นจะเป็น อัพยากฤตจิต หรือ อัพยากฤตวิญญาณ คือรู้เฉยๆ โดยไม่เป็นทั้งกุศล และอกุศล จิตแบบนี้เป็นจิตที่มีสติครอง มีสติเป็นเครื่องอยู่ และเป็นสภาพจิตที่เฉียดฉิวองค์ฌานแล้ว

หลวงปู่ได้ถ่ายทอดเคล็ดการฝึกสภาพจิตที่รู้เฉย ดังต่อไปนี้

(1) ส่งความรู้สึกเข้าไปในจิต โดยไม่ต้องสนใจลมหายใจ เพ่งไปที่จิต สภาพจิตที่รู้เฉย ฟังเฉย ดมเฉย คิดเฉย คนที่มีจิตระดับนี้แล้ว สีหน้า แววตา กิริยา ท่าทางจะผ่อนคลายไปหมด

(2) จงวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง แค่สนใจไปที่จิตของตนเพ่งไปที่จิตของตน นิ่งอยู่ในความเฉยนั้น ไม่ต้องค้นหาอะไร เย็นโปร่งเบาสบาย ผ่อนคลาย วางเฉย

(3) หรี่เปลือกตา หลับตาลงอย่างผ่อนคลาย และสนิทแนบแน่น ไม่วิตกกังวล หูได้ยินเสียงก็เฉย จมูกดมกลิ่นก็เฉย ลิ้นรับรสก็เฉย กายถูกต้องสัมผัสก็เฉย ใจรู้อารมณ์ก็เฉย ระวังอย่าไปเกาะกับเสียงที่ได้ยิน เพราะจะทำให้เราคิด เราน้อมไป เพราะฉะนั้นต้องระวังอย่าเผลอ เพ่งความเฉยของจิตเป็นสภาพธรรม เป็นอารมณ์

(4) ความเฉยของจิตจะโล่งๆ ว่างๆ อย่างมีแสงสว่างนุ่มนวล อบอุ่น เข้าไปสัมผัสก็จะผ่อนคลาย เป็นกลางๆ ที่เรียกว่า อุเบกขา

สภาพจิตที่ฝึกมาจนได้ดังข้างต้นนี้ หลวงปู่บอกว่า จะทำให้เกิด สุขุมจิต อันเป็นสภาพจิตที่ควรแก่การงาน ลักษณะสภาพที่ปรากฏของสุขุมจิต คือผ่อนคลาย สบายรุ่งเรืองด้วยแสงแห่งปัญญา รู้ชัดตามสภาพรอบกายแต่ไม่ปรุงสิ่งใดๆ เป็นอารมณ์ นุ่มนวล อ่อนโยน ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ยโส ไม่ทระนง ไม่อวดดี แต่อ่อนน้อมถ่อมตน

หลวงปู่บอกว่า จิตที่เป็นสุขุมจิตนี้ เป็นหัวใจของมรรค เป็นหัวใจของวิปัสสนาภูมิ เป็นหัวใจของวิปัสสนาญาณ เป็นหัวใจขององค์ฌาน และเป็นหัวใจของสรรพวิชา ถ้าถึงคำว่า สุขุมจิต ทุกอย่างจะกลายเป็นครูของผู้นั้น แม้แค่แลเห็นลมพัดใบไม้ร่วง สุขุมจิตก็จะพิจารณาองค์ธรรมเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แลเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสรรพสิ่ง

ผู้ที่เข้าถึงสุขุมจิต เขาก็จะมองว่า ทุกอย่างนั้นก็เป็นเพียงพัฒนาการของจิตเท่านั้น คนที่เดินอยู่ในมรรคจิต ถ้าไม่เกียจคร้าน ต่อให้ไม่อยากได้สุขุมจิตก็จะเกิดขึ้นเองในที่สุด การเข้าฌาน ออกฌาน ทรงฌาน จำเป็นต้องใช้สุขุมจิตทั้งสิ้น การพัฒนาสุขุมจิตขึ้นมาในตนนั้น จะต้องใช้ตัวรู้มากกว่าตัวจำ

วิถีแห่งการอบรมสุขุมจิต คือทาน ศีล ภาวนา แผ่เมตตา ซื่อตรง ซื่อสัตย์ กตัญญู อ่อนน้อมถ่อมตน สำนึกในหน้าที่ มีวินัย รู้จักให้อภัย มีน้ำใจ และไม่เห็นแก่ตัว สุขุมจิตนี้ถ้าเกิดขึ้นกับใครแล้ว จะกลายเป็นจิตที่มากด้วยบารมี

หลังจากที่ดูอาการจิต 10 อย่าง รู้ลักษณะจิต 4 อย่างคือ คิด-รับ-จำ-รู้ แล้ว ต่อไปก็ต้องเข้าใจเรื่อง สถานะจิต 3 อย่าง คือ อดีตจิต ปัจจุบันจิต และอนาคตจิต กล่าวคือ เวลาเห็นอะไรก็ให้ดูจิตของตนด้วยว่า เกิดอาการอะไร เป็นลักษณะจิตแบบไหน (รู้ หรือคิด หรือจำ) และอยู่ในสถานะอะไรด้วยทุกครั้งเสมอ

เพราะ การดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบันจิตได้คือ วิธีในการกำราบจิตให้เชื่อง ให้มันเข็ดขยาดในการคิดแต่เรื่องที่ไร้สาระ คนที่มีอดีตจิตคือ ผู้ที่จำ คนที่มีอนาคตจิตคือ ผู้ที่คิด แต่คนที่มีปัจจุบันจิตคือผู้ที่รู้ การรู้ความเป็นไปของจิตในจิต คือรู้สภาพธรรม จากนั้นก็เริ่มต้นฝึกวิชชาจนวิชชานั้นตั้งมั่นอยู่ในตัวเรา เราก็จะใช้วิชชานั้นได้ดั่งใจปรารถนา

หลวงปู่ยังบอกอีกว่า ผู้ที่เข้าถึงสุขุมจิต และดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบันจิตได้เป็นนิตย์แล้วพึงภาวนาในใจเสมอว่า

“ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข ขอสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ ขอสัตว์ทั้งปวงจงรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้แล้ว ขอธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และแสดงไว้ดีแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น รวมทั้งข้าฯ ด้วยจงล่วงรู้ธรรมนั้นๆ”

***

บทส่งท้าย
พวกเราทั้งหลายจะตื่นขึ้นมาทันการณ์ และหลีกเลี่ยงความหายนะอันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยม ลัทธิอำนาจนิยม และความโลภ โกรธ หลง ที่กำลังครอบงำสังคมไทยอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณที่กำลังล่มสลายได้ทันหรือไม่?
นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเราทั้งหลายจะสามารถพลิกเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิด และการรับรู้ รวมทั้งเต็มใจ ตั้งใจที่จะเปลี่ยนจิตสำนึกของตนให้กว้างไกล และลุ่มลึกกว่าเดิม ด้วยการพัฒนาสุขุมจิตภายในตน และบูรณาสรรพธรรมหรือองค์ความรู้ต่างๆ ให้มีในตนได้หรือไม่ เป็นสำคัญ
ผู้ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้นั้นย่อมกลายเป็น บูรณาปัญญาชน และเป็น ส่วนหนึ่งของขุมพลังแห่งภูมิปัญญาบูรณาการ ที่สามารถก่อให้เกิด “จุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ” (integral turn) ขึ้นในสังคมนี้ ซึ่งจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนเชิงวิธีคิด จุดเปลี่ยนเชิงโลกทัศน์ และจุดเปลี่ยนทางการเมือง-เศรษฐกิจ และสังคมในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น