xs
xsm
sm
md
lg

ของจริงหรือของปลอม

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ตอนที่ผมเคลื่อนไหวทำฎีกาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมจำได้ว่าต้องทำกันเงียบๆ แล้วไปคุยกับผู้ซึ่งมีความคิดเห็นคล้ายกัน ครั้งนั้นผู้กล้าลงชื่อในฎีกามีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ มาครั้งนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ผมไม่ใช่ผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวก่อน หากมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่แต่ก่อนแต่ไรไม่สนใจการเมืองมาเป็นฝ่ายโทรศัพท์ถึงกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อมาลงรายชื่อ

ในการชุมนุม เมียผมทีแรกก็เชียร์อยู่่ที่บ้าน แต่เดิมสมัยพฤษภาทมิฬ ก็ห่วงเจ้าเพชรลูกชายซึ่งเพิ่งจะจบแล้วต้องไปทำข่าวทุกวัน มาคราวนี้เมียผมไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง และมาเล่าบรรยากาศให้ฟังว่ามีความเป็นมิตรกันมาก แสดงว่าความสามัคคีสมานฉันท์ทางการเมืองเกิดขึ้นเพราะไม่ชอบทักษิณเหมือนกัน

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างท่วมท้น ผมเองก็ได้เข้าไปร่วมทำงานในรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการหลายชุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงห้าปี พ.ต.ท.ทักษิณกลับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีประชาชนเกลียดชังมากที่สุด โดยเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

ผมลองมาคิดทบทวนดูว่า เหตุใดจึงมีผู้จงเกลียดจงชัง พ.ต.ท.ทักษิณมากขนาดนี้ ก็ได้ข้อสรุปดังนี้

1. พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่อยู่นอกแวดวงข้าราชการ และไม่มีความสัมพันธ์กับชนชั้นสูง ดังนั้นจึงไม่มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับชนชั้นสูง ไม่มีใครรู้ถึงนิสัยใจคอที่แท้จริง ผมมักได้รับคำถามอยู่เสมอว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนอย่างไร และต้องการอะไรกันแน่ คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยถามผมตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ว่า ผมคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็น “ของจริงหรือของปลอม” ผมตอบไปว่า “สงสัยจะของปลอมมากกว่า” แต่ตอนนั้นผมก็ยังพร้อมที่จะให้โอกาส พ.ต.ท.ทักษิณพิสูจน์ตนเอง สนธิก็เคยถามผมว่า ผมคิดว่า ทักษิณต้องการอะไรในที่สุด ผมตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่ไม่น่าจะใช่การอยากเป็นรัฐบุรุษ น่าจะมีวาระซ่อนเร้นบางอย่าง

ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง พอมีการขายหุ้นให้เทมาเส็ก ภาพที่ขาดหายไปเลยต่อติด การที่ทักษิณไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครแก้ตัวให้ ผิดกับสนธิซึ่งแต่เดิมชนชั้นสูงก็ไม่รู้จัก และมีข่าวในทางไม่สู้ดีทางธุรกิจ แต่ผมก็บอกว่า สนธิไม่เคยโกงใคร แม้จะประสบปัญหาทางธุรกิจบ้างก็เป็นเพราะการลงทุนมากเกินไป โดยตนเองไม่มีทุนต้องกู้มาลงทุน ในที่สุด สนธิก็พิสูจน์ตนเองด้วยการกระทำไปๆ มาๆ สนธิกลายเป็นวีรบุรุษของคนอายุมากๆ และเป็นที่ชื่นชอบของคนชั้นสูง อาจกล่าวได้ว่า สนธิเป็นผู้ให้ความรู้ทางการเมืองแก่พลังเงียบของสังคม พลังเงียบนี้เป็นผู้มีความรู้ทางการศึกษาสูง มีฐานะในสังคม มีเครือข่ายแบบดั้งเดิม คือเพื่อนฝูงวงศาคณาญาติมาก

2. พ.ต.ท.ทักษิณ มีความก้าวร้าวต่อข้าราชการ ทำการโยกย้ายข้าราชการ ก่อให้เกิดความหวาดกลัว แต่ผสมกับความเกลียดชังตามไปด้วย คือทั้งเกลียดและกลัว ที่เกลียดนั้นก็เพราะตำแหน่งหลายตำแหน่งในวงราชการ และรัฐวิสาหกิจมีอิทธิพลของภรรยา และพี่น้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

3. การสร้างพรรคการเมืองแบบทักษิณ เป็นแบบระดมทุนจากหุ้นส่วน ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้หุ้นส่วนหากินกับโครงการหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ที่มีการก่อสร้างและการจัดซื้อ ข่าวคราวเรื่องการเรียกรับค่าคอมมิชชันเริ่มหนาหูขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

4. ผมสรุปได้ว่า จุดหมายปลายทางของทักษิณไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความยากจน แต่เป็นการอาศัยอำนาจทางการเมืองสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาณาจักรธุรกิจของตนเองโดยมีสิงคโปร์เป็นเป้า ดังนั้นจึงให้สิงคโปร์ได้รับสิทธิในการใช้สนามบินเสมือนหนึ่งเป็นการสร้างบุญคุณเพื่อแลกกับการขายหุ้น หากทักษิณไม่ขายหุ้น ผู้คนก็คงยังไม่ต่อต้านมากเท่านี้ และยิ่งเลือกวิธีการหลบหลีกโดยไม่ต้องเสียภาษีด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าทักษิณเป็นผู้เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

5. การใช้ผู้ใกล้ชิดที่ประชาชนไม่ชอบในการแก้ปัญหาทางการเมือง มีการระดมคนมาสนับสนุนด้วยการว่าจ้างคนขับรถของเพื่อนผมไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวงได้ค่าจ้าง 500 บาท นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการข่มขู่กลั่นแกล้งผู้ขัดผลประโยชน์ เช่น ให้สรรพากรไปตรวจภาษี เป็นต้น

6. ทักษิณเชื่อว่าประชาชนผู้เลือกตั้งมีจำนวนมาก ทักษิณเชื่อในเรื่องโพล และนิยมจำนวนมากกว่าคุณภาพ จึงไม่ใส่ใจในคำวิพากษ์วิจารณ์ติติงของนักวิชาการ นอกจากนั้น ยังปิดกั้นสื่อโดยอาศัยการฟ้องร้อง และการกดดันให้มีการปลดผู้สื่อข่าวที่มีความเป็นอิสระด้วย

ทักษิณยังไม่ได้ออกไปจากการเมืองไทย การไม่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายความว่า ระบอบทักษิณจะคลายอิทธิพลลง ตรงกันข้าม สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลง ใครที่ต่อต้านจะถูกกลั่นแกล้งอย่างที่เรียกว่า “เช็กบิล” เพราะทักษิณและสมุนเป็นพวกที่ไม่มีความเป็นนักกีฬา แม้ปากจะพร่ำพูดถึง “กติกา” บ่อยๆ แต่ก็ไม่เป็นสุภาพบุรุษ

การที่ทักษิณต้องเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชน ทั้งๆ ที่มีทั้งเงินและอำนาจนั้น ก็เป็นเพราะทักษิณขาด “อุปนิสัย” ที่ดีขาดคุณธรรม กรณีของทักษิณทำให้นักการศึกษาจะต้องหันมาทบทวนและเน้นความสำคัญของการสร้างอุปนิสัยว่าเป็นเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง

คนเราจะเป็น “ของจริง” หรือ “ของปลอม” นั้น ดูกันที่อุปนิสัยเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น