เชียงราย - ชาวประมงบ้านหาดไคร้-เชียงของ จัดพิธีบวงสรวง "ศาลเจ้าพ่อปลาบึก" พร้อมประกาศเลิกล่าปลาบึกในแม่น้ำโขง เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเตรียมขายอุปกรณ์การล่าทั้งหมดมูลค่ารวมกว่าล้านบาท ให้แก่องค์กรอนุรักษ์ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนประกอบอาชีพอื่นทดแทน
วานนี้ (18 เม.ย.49) ชาวบ้านหาดไคร้ และชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ ได้ร่วมกันทำพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อปลาบึก ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีนายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกันกับหลายฝ่ายมานานเกี่ยวกับการเลิกล่าปลาบึกของชาวหาดไคร้ ที่ทำกันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ปลาบึก ขณะนี้ได้ข้อตกลงร่วมกันภายในกลุ่มแล้วว่า จะประกาศทิ้งอวนล่าปลาบึก หรือ "มอง" แล้วเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นทดแทน โดยอวนล่าปลาบึกของชาวบ้านหาดไคร้ ที่มีอยู่ 68 อวน จะนำออกขายในราคาอวนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,360,000 บาท ซึ่งจะนำไปใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพทดแทน
ในเบื้องต้น สหภาพอนุรักษ์สากล ได้รับปากที่จะหาเงินส่วนหนึ่งมาซื้ออวนดังกล่าวแล้ว โดยเงินก้อนแรกจะจ่ายให้ชาวบ้านรายละ 10,000 บาท ภายในเดือน พ.ค. และงวดที่สองอีก 10,000 บาทต่อราย จะจ่ายภายในเดือน ต.ค. หลังจากส่งมอบอวนแล้ว ซึ่งเงินดังกล่าว ชาวบ้านจะนำไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ทำการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้สหภาพอนุรักษ์สากล ยังได้รับปากว่า จะช่วยหางานอื่นๆ มารองรับด้วย เช่น การเป็นนักอนุรักษ์ เป็นต้น
สำหรับการเลิกล่าปลาบึกของชาวบ้านหาดไคร้ นายพุ่ม กล่าวว่า อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายบ้าง เพราะนักท่องเที่ยวอาจจะมาท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวสนใจการล่า และนิยมรับประทานเนื้อปลาบึกมาก
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเนื้อปลาบึกจะยังสามารถหารับประทานได้ไม่ยาก เพราะมีการเลี้ยงไว้ตามอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่การล่าปลาบึก สามารถจับปลาบึกได้ลดลงทุกปี เช่นปี 2548 ที่ชาวหาดไคร้จับได้ 3 ตัว และชาวลาว 1 ตัว ซึ่งนับว่าน้อยมาก โดยในอดีตบางปีสามารถจับได้ถึง 60 ตัว
ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ กล่าวอีกว่า แม้ว่าชาวหาดไคร้จะเลิกล่าปลาบึก แต่จะยังคงทำการประมงจับปลาอื่นๆ ในแม่น้ำโขงอยู่ต่อไป ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่เคยใช้เกี่ยวข้องกับการล่าปลาบึกที่เลิกใช้ ชมรมฯจะนำไปจัดเก็บไว้ในลักษณะพิพิธภัณฑ์
"หากจะมีชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมฯออกล่าปลาบึกต่อจากนี้ ก็น่าจะเป็นการทำผิดกฎหมาย เพราะการล่าปลาบึกต้องมีอาชญาบัตร ที่ทางราชการออกให้ แต่หากเป็นชาวลาวที่ยังคงล่าอยู่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับฝั่งไทย"
ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และรักษาการประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เปิดเผยว่า การเลิกล่าปลาบึกของชาวหาดไคร้ครั้งนี้ เป็นการรวมใจเลิกจับปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ปีนี้เป็นปีมหามงคล ที่พระองค์ ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ซึ่ง ชาวบ้านหาดไคร้ ได้หารือกับตนมานานแล้ว ว่าจะเลิกจับปลาบึก เพื่อที่จะรณรงค์ให้ประชาชนทุกฝ่าย ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ปลาบึก และ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างในแม่น้ำโขงถวายแด่ในหลวง
ส่วนเงินที่จะนำมาช่วยซื้อมองหรืออวนของชาวบ้าน จะมาจาก เงินทุนกองทุน ว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (IUCN) ซึ่งจะนำมาซื้ออวนในงวดแรก และที่เหลือจะนำเงินจากการรับบริจาคมาร่วมด้วย
ขณะที่นางสายหยุด นวลสิริสกุล เทศมนตรีตำบลเวียงเชียงของ และเจ้าของร้านอาหารนางนวล องเชียงของ ที่จำหน่ายเนื้อปลาบึกและปลาน้ำโขง ปรุงเป็นอาหาร กล่าวว่า การเลิกล่าปลาบึกของชาวประมงหาดไคร้ เป็นความคิดของชาวบ้านที่ไม่สามารถห้ามได้ แต่คงไม่กระทบการบริโภคปลาบึก เพราะมีการเลี้ยงไว้ตามอ่างเก็บน้ำและเขื่อนอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้มองว่า การเลิกล่าปลาบึกของชาวบ้านหาดไคร้ ยังไม่ได้เป็นการเลิกล่าแบบเบ็ดเสร็จ เพราะยังมีการล่าอยู่ที่องเวียงแก่น และทางฝั่งลาว ซึ่งอยากให้มีการทบทวนให้ดี ว่าจะเป็นการทำลายวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมหรือไม่
อนึ่ง สำหรับ ปลาบึก เป็นปลาหนัง น้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อเรียกกัน ว่า GIANT CAT FISH และตามธรรมชาติอาศัยในแม่น้ำโขงเท่านั้น ตัวโตเต็มที่จะมีน้ำหนัก 200-350 กิโลกรัม ยาวกว่า 3-4 เมตร เมตร และมักจะจับได้ที่ อ.เชียงของ เพราะปลาจะว่ายจาก บริเวณประเทศ เวียดนาม และ สปป.ลาว ขึ้นมาวางไข่ทางตอนเหนือสามเหลี่ยมทองคำ ของไทย และพม่า
อย่างไรก็ตาม จากการขุดลอกแม่น้ำโขงและสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงในจีน ทำให้ระบบนิเวศเสียหายขึ้นทุกวัน ทำให้แม่น้ำโขง ไม่ปกติ บางปีน้ำมาก บางปีแล้งจัด เป็นตัวการที่ทำให้ปลาบึกน่าจะอยู่ในอันตราย โดยตั้งแต่ปี 2544-2546 ไม่เคยจับปลาบึกได้ กระทั่งปี 2547 จับได้ 7 ตัว ปี 2548 จับได้ บริเวณ อ.เชียงของ ทั้งไทย-ลาว จำนวน 4 ตัว ส่วนในอดีตเคยจับปลาบึกที่มีชุกชุมได้ ปีละ 60-70 ตัว
สาเหตุที่จับปลาได้น้อยลง อาจเป็นเพราะปลาบึกมีน้อยลง จากธรรมชาติถูกทำลาย และบางคนยังตั้งข้องสงสัยว่า ปลาบึกเพาะเลี้ยงที่ถูกนำมาปล่อยในแม่น้ำโขง เมื่อตัวโตหลายกก. อาจจะอาศัยในแม่น้ำโขงได้ไม่ดี เท่าปลาบึกที่เกิดในแม่น้ำโขง ทำให้แทบไม่พบปลาบึกเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ปล่อยลงน้ำโขงในรอบหลายปีนี้จำนวนมากหลายแสนตัว