xs
xsm
sm
md
lg

สังคมกับระบบการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทศกาล “สงกรานต์” เพิ่งผ่านพ้นไป พวกเราคงได้คลายร้อนกันบ้าง สนุกสนานกับ “การรดน้ำดำหัว” แต่ส่วนใหญ่ก็เล่นสาดน้ำแบบเดิมๆ และแน่นอนที่สุด ที่จะต้องเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนน สาเหตุเกิดจาก ไม่สนุกสนานเกินเหตุก็ “เมา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนรถโดยสาร รถยนต์ส่วนตัว และรถปิกอัพก็มีบ้าง

อย่างไรก็ตาม “อุบัติเหตุ” เกิดขึ้นทุกปีช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่เท่าที่เฝ้าสังเกตดูตัวเลขอุบัติเหตุจะลดปริมาณลงบ้างไม่มากก็น้อย

หลายๆ คนคงได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว พ่อแม่ และก็พักผ่อน งานกว่าจะเริ่มเดินเครื่องปกติ ก็คงประมาณสัปดาห์หน้า เพราะฉะนั้น เดือนเมษายนแทบทั้งเดือนจึงเรียกได้ว่าเป็น “เดือนแห่งวันหยุด” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Holidays Month” จนเลยเถิดว่าเป็น “Vacation” หรือ “หยุดพักยาว!”“หนึ่งเดือนพักยาว!” ทุกปี เป็น “เทศกาล” สำหรับคนไทยไปเลย

“เทศกาลหยุดยาว!” แบบนี้ในต่างประเทศก็มีเหมือนกัน อย่างน้อยก็หยุดยาว เริ่มตั้งแต่สองสัปดาห์ สามสัปดาห์ หรือไม่ก็หนึ่งเดือนเต็มๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นหนึ่งแห่งล่ะ ที่มีการหยุดยาวแบบนี้ หรือไม่ก็สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้

เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปิดทอดยาวตั้งแต่ “วันจักรี” จนถึงปลายสุดสัปดาห์ที่แล้ว “แสงแดด” ฉวยโอกาสเดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อปฏิบัติภารกิจ “พ่อ” ในการมาดูแลบุตรชายที่ศึกษาอยู่ที่อังกฤษ พร้อมทั้งเฝ้าดู “พฤติกรรม-กิจกรรม” ของผู้ชายวัยหนุ่มว่ามีอะไรเกินเลยบ้างหรือไม่ แต่ไม่สำคัญเท่ากับ “คุณภาพเวลา (Quality Time)” ที่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เพราะเวลาอยู่เมืองไทยช่วงปิดเทอม แทบจะไม่มีเวลาคลุกคลีกัน เนื่องด้วยเรามักไม่ว่าง งานเยอะ แถมเครียดจากงาน จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะ “เสวนา-สนทนา” กัน เดี๋ยวอารมณ์ไม่ดี ความสัมพันธ์จะมีปัญหา

ดังนั้น “แสงแดด” และครอบครัว พยายามจะหาโอกาสอยู่ด้วยกัน ด้วยการหนีออกไปต่างจังหวัด หรือไม่ก็เดินทางไปต่างประเทศ ประมาณ 3-5 วัน ถ้าสามารถทำได้เพื่อเป็นโอกาสที่จะอยู่ด้วยกันจริงๆ พูดคุย แลกเปลี่ยน “ปัญหา” และ “ความคิดเห็น” ซึ่งบ่อยครั้ง ก็จะเกิดการระบายคลายทุกข์ พร้อมปรึกษาหารือกัน

หลักการและปรัชญาของครอบครัวสำคัญมากที่จะต้อง “หาเวลา!” เพื่อการสนทนา พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และแน่นอนที่สุด บางครั้งก็ต้องมีการถกเถียงกันบ้าง ซึ่งต้อง “ปล่อย” ห้ามถือว่า เราเป็นพ่อแม่ที่จะต้องให้ลูกเชื่อฟังทุกอย่าง เราควรจะใช้หลักเหตุและผลในการสนทนา “โต้แย้ง-ถกเถียง” กันถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แสดง “ความจริง” ออกมา

ในกระบวนการอย่างนี้ ก่อให้เกิดการอบรมสั่งสอน และไม่สำคัญเท่ากับ “กระบวนการเรียนรู้” และ “ความอดทน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะต้องร่วมอยู่ในกระบวนการ ยิ่งถ้าเรามีอารมณ์ไม่ฟังเหตุผลของลูก เมื่อนั้น “ความไม่ไว้วางใจ” และ “ความกลัว” พร้อมทั้ง “การเปิดเผย” ระหว่างกันจะไม่เกิดขึ้น เนื่องด้วย แน่นอนที่สุด ที่ลูกๆ รักพ่อแม่ทุกคน และไม่กล้าเปิดเผยมาก เพราะเกรงว่าจะทำให้พ่อแม่ “เสียใจ”

“ความเป็นเพื่อน” สำคัญที่สุดที่ต้องก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นที่ “ความไว้วางใจ” และ “ความเปิดเผย” จะเกิดขึ้น และที่สำคัญคือ “ความอบอุ่น” ที่จะสามารถพูดคุยได้เกือบทุกเรื่อง ในกรณี “ความเป็นเพื่อน” นี้สำคัญที่สุด

นอกเหนือจากนั้น เราควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ และศักดิ์ศรีของความเป็นผู้อาวุโสที่อายุมากกว่า ด้วยการพูดจาต่อว่าต่อขาน ดุด่า หรือเลยเถิดไปจนถึงลงไม้ลงมือ ซึ่งจะก่อให้เกิด “ความห่างเหิน” และ “ความไม่เข้าใจ” ระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ไม่ดี จนในที่สุด “เพื่อน” ของเขาจะเป็นที่พึ่ง ถ้าได้ “เพื่อนดี” ก็ดีไป แต่ถ้า “เพื่อนเหลวไหล!” ก็จะไปกันใหญ่

สภาวการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างมากกับสังคมทุกแห่งหน ไม่ว่าประเทศใด หรือยุคใด สมัยใด จนกลายเป็น “ปัญหาสังคม” ขนาดใหญ่ ที่หลายๆ ครอบครัว “เอือมระอา!” กับ “ความสัมพันธ์พัง!” ระหว่างสมาชิกในครอบครัว

หลายครอบครัวประสบปัญหา ลูกๆ เรียนหนังสือไม่ดี เที่ยวเตร่ ขาดความรับผิดชอบ อยู่นอกบ้านมากกว่าอยู่ในบ้าน และที่เป็นปัญหาร้ายสุดคือ “ติดยา” เพื่อหาทางออก

เราอาจจะคิดว่า “คนระดับล่าง-คนจน” มักประสบปัญหาเช่นนี้ แต่จริงๆ แล้ว “คนรวย-เศรษฐี” ก็เป็น “โรคระบาด” นี้เช่นเดียวกัน ซึ่งน่า “ตำหนิ” มากกว่าปัญหาของคนระดับล่างเพราะจะมาอ้างว่า “ต้องทำมาหากิน” ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นปัญหาของคนรวยคือ “สบาย” มากเกินไป และเชื่อหรือไม่ว่า “คนรวย” มัก “เสียคน!” เสียส่วนใหญ่เพราะ “ตามใจตัวเอง!”

“แบบอย่าง” สำคัญที่สุดที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่ง ครูบาอาจารย์คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง จนเลยเถิดไปถึง “สังคมขนาดใหญ่” ที่จะต้องมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรม กิจกรรม และทิศทางในทางความคิดให้แก่ “เยาวชน” ซึ่งในกรณีนี้ความจริงที่ต้องยอมรับว่า “สังคมไทย” บกพร่องอย่างมาก เพราะทุกฝ่ายมีแต่ “ความเห็นแก่ตัว!” และ “ตัวใครตัวมัน” จนปัจจุบันสังคมไทยมีแต่ “เอารัด-เอาเปรียบ” และ “แก่งแย่ง” กัน แยกแยะไม่ออกว่า “ผิด ชอบ ชั่ว ดี!” อยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร ชนิดที่เรียกว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” จึงเป็นปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน

เราคงไปประณามใครมากมายคงไม่ได้เพราะ “ปัญหาสังคม” ที่กล่าวข้างต้นนั้น เพราะเรา “ขาดแบบอย่างที่ดี!” เริ่มตั้งแต่ผู้ปกครอง พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สภาพแวดล้อมทางสังคม นักการเมือง แม้กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้า และที่สำคัญคือ “วงการสื่อมวลชน” โดยเฉพาะ “รายการโทรทัศน์” ที่มีแต่รายการ “เถิดเทิง!” เกมโชว์ ละครน้ำเน่า

ประเภท สารคดี ความรู้ เพื่อ “ประเทืองปัญญา” มักไม่ค่อยมีหรือแทบไม่มีเลย ไม่ว่าเจ้าของรายการ โปรดิวเซอร์ ผู้บริหารสถานีมุ่งอยู่อย่างเดียวคือ “ธุรกิจ” ทั้ง “ใต้โต๊ะ“ และ “บนโต๊ะ” สังคมไทยถึงได้มีแต่ “แบบอย่างเน่าเฟะ!” เช่นนี้

นักการเมืองคนแล้วคนเล่า “ดีแต่พูด!” แต่ยังไม่เคยเห็นใครซักคน “ทุ่มเท” ที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงจริงๆ จังๆ พอ “เงินพูด คนเดิน” หรือภาษาอังกฤษฝรั่งพูดว่า “Money Talk People Walk!” หรือคนไทยเรียกว่า “เงิน งง งัน!” พูดง่ายๆ คือ “เงินคือพระเจ้า-เงินเป็นใหญ่!”

ระบบการศึกษาที่ดีนั้น มิใช่จะต้องถูกจัดแบบเป็น “ทางการ” หรือศึกษาเล่าเรียนใน “ห้องเรียน” เท่านั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นแบบ Conventional แต่ระบบการศึกษาที่ดีนั้นคือ “สังคมรวม” กล่าวคือ สภาพแวดล้อม และ/หรือ “บริบท (Context)” ของสังคมมีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะต้องเป็นกรอบขนาดใหญ่ที่เข้าทำนอง “อบรม-บ่ม” และ “กล่อมเกลา” ให้ผู้คนที่อยู่ในสังคมค่อยๆ “ซึมซับ” จาก “แบบอย่าง-ตัวแบบ (Model)” นานาสารพัดที่ “พึงประสงค์” จากสังคมองค์รวมเพื่อให้ประชาชนอยู่ใน “กรอบ” ที่ดี

ตัวอย่างสำคัญที่ “การศึกษานอกระบบ-สังคม” ก่อให้เกิด “เป้าหลอม” และ “หล่อหลอม” ให้ประชาชนอยู่ในกรอบของ “พลเมืองดี” ด้วยการมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมขนาดใหญ่ ต่อจากนั้น การมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย และที่สำคัญคือ “เกรงกลัวความผิด!” ซึ่งจะทำให้คนไม่กล้าทำความผิด หรือละเมิดต่อการทำผิด นอกเหนือจากนั้น “ความมีศีลธรรม” ที่ในที่สุด คนเราจะต้องรู้จัก “หิริโอตตัปปะ” คือ “เกรงกลัวละอายต่อการทำบาป!”

เมื่อใดที่ผู้คนในสังคมมีองค์ประกอบหลักๆ ข้างต้นเป็น “พื้นฐาน” ของชีวิตแล้ว สังคมนั้น จะเป็นสังคมที่ดีได้ และที่สำคัญคือ “ความสงบสุข” ที่ประชาชนต่างเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่รังแกเบียดเบียนใคร

สังคมตะวันตกที่ต้องยอมรับว่า “อารยะสูง (High Culture)” มากกว่าคนไทย ที่นับว่า “เห็นแก่ตัว!” มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น สังคมต้องเป็น “โรงเรียน” ขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม “การศึกษาในระบบ” หรือ “ห้องเรียน” ที่ต้องมีหลักสูตร ระบบการเรียนการสอนเป็นทางการ ก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการพัฒนานานาสารพัด “ความรู้” ทั้งในเชิงสังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อไต่ระดับ “ความคิด” ให้มีการพัฒนาสู่ “ความก้าวหน้า” ในการนำเป็น “เทคนิค” และ “เครื่องมือ” ในการพัฒนาตนเองและยกระดับสังคมในที่สุด มิเช่นนั้น คงไม่ต้องศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก

สรุปก็คือว่า ระบบการศึกษาที่ดีนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวด้วยการหาเวลาคุณภาพ เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยน ตามด้วยการแยกแยะ “ผิด ชอบ ชั่ว ดี” รู้จักรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยเข้าใจหลักศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม สุขภาพแข็งแรง จิตใจดี พร้อมทั้งมีความห่วงใยสังคม และอนาคตลูกหลาน ชาติบ้านเมือง

เมื่อคนเราประกอบด้วยพื้นฐานที่ดีนั้น และมีระบบการศึกษาที่ดี พัฒนาไปสู่การนำความรู้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม

ระบบการศึกษาที่ดี “ผู้นำ” ต้องดี ดำเนินด้วยความจริงจัง พร้อมด้วยสังคม เด็กไทยจะดีได้ในที่สุด!

กำลังโหลดความคิดเห็น