xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ระวังจะเป็นจำเลย

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

ค่ำคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา การชุมนุมของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เนืองแน่นเป็นพิเศษหลายแสนคน


จากหน้าเวทีบนถนนราชดำเนินนอกจากเชิงสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ทะลักไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนด้านหลังที่ผู้คนชมจากจอขนาดใหญ่ก็แน่นขนัดไปจนถึงบริเวณหน้าสนามมวยราชดำเนิน

ปรากฏการณ์แบบนี้ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากหลายอาชีพชนชั้นกลาง รวมทั้งคนจากวงราชการและรัฐวิสาหกิจ

นี่คือบทบาทการเมืองภาคประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า

“รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย และการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ”

การชุมนุมต่อเนื่องนอกจากเป็นการแสดงมติที่ไม่ยอมรับผู้นำรัฐบาลที่ขาดจริยธรรมในการบริหารแล้ว

นี่คือ “โรงเรียนการเมือง” ที่ประชาชนได้โอกาสเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจกับเหตุและผลที่เกิดจากการกระทำของรัฐบาล

ผ่านรายการบนเวทีที่มีผู้พูดทั้งระดับแกนนำของ “พันธมิตรกู้ชาติ” รวมทั้งนักวิชาการ และผู้มีข้อมูลระดับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจนถึงระดับอดีตเอกอัครราชทูตที่ได้รับรู้หรือใกล้ชิดกับความไม่ถูกต้องเป็นธรรมจนนำมาเปิดโปง

นอกจากนี้ยังมีรายการบันเทิงสลับรายการปราศรัย และสนทนาปัญหาการบริหารของรัฐ แต่ก็เป็นความบันเทิงที่ให้สีสัน และเนื้อหาเพื่อชีวิตเพื่อสังคม

โดยเฉพาะที่โดดเด่นมากคือ “งิ้วธรรมศาสตร์” ที่ผู้เขียนบทสามารถสร้างความสะใจอย่างมีอารมณ์ขันช่วยให้เข้าใจความเลวร้ายจนจำเป็นต้อง “กู้ชาติ”

เมื่อคืนวันเสาร์งิ้วธรรมศาสตร์เล่นกันมาถึงภาค 4 ชื่อ “ศึก 2 นางพญาผจญพันธุ์หมาบ้า” ตอน “แมดด็อก” ครองเมือง

มวลชนที่ไปชุมนุมกันค่อนคืนข้ามคืน แม้จะเหนื่อยล้าแต่ก็ดูมีพลัง เพราะมีความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น ยุคใหม่ทางการเมืองที่คำนึงถึงจริยธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมจะต้องเกิดขึ้น

เพียงแต่เจอนักธุรกิจการเมืองประเภท “ดื้อด้าน” การต่อสู้ที่ยึดแนว “อหิงสา” ของมวลชนจึงต้องอดทนกว่าในยุคอดีต

เพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผู้กุมอำนาจรัฐใช้ความรุนแรงจัดการกับการแสดงออกของประชาชน แล้วก็อยู่ไม่ได้

ขณะที่แกนนำพันธมิตรกู้ชาติครั้งนี้ก็ย้ำยืนยันการขับเคลื่อนมวลชนอย่างสงบสันติตามกติกาของรัฐธรรมนูญ

เป้าหมายคือกดดันเรียกร้องให้ “ทักษิณ...ออกไป” เพื่อเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง

บรรยากาศการรวมตัวที่สนามกีฬาแห่งชาติ และเคลื่อนขบวนไปในย่านธุรกิจศูนย์การค้าตลอดแนวพระราม 1-ราชประสงค์-สุขุมวิทคึกคัดมาก เพื่อแสดงมติและชักชวนขยายวงให้สังคมได้รับรู้การรวมพลังที่จะใช้ช่องทางตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัยขอพระราชทานนายกฯ พระราชทานและรัฐบาลชั่วคราว เพื่อกู้วิกฤตของบ้านเมืองขณะนี้

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พยายามแก้เกมด้วยการจะใช้ “การเลือกตั้ง ส.ส.” เป็นตัวฟอกปัญหา

เพราะเขาเชื่อว่าจะมีวิธีการทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มีคะแนนเสียงมากกว่า 19 ล้านคะแนน ที่ทำได้ครั้งก่อน

เพื่อจะเป็นข้ออ้างว่าประชาชนต้องการทักษิณเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป ก็จะได้โจมตีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลว่าเป็น “กฎหมู่” ที่เกเรไม่เคารพกติกา

สังคมทั่วไปจึงไม่เชื่อมั่นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะความไม่ชอบมาพากลส่อเค้าตั้งแต่การมีผู้ระดมพรรคการเมืองเล็กๆ ที่ไม่เคยมีบทบาทมาสมัครเป็นไม้ประดับ หนีปัญหาการไม่มีผู้สมัครแข่งกับพรรคไทยรักไทย เพื่อเลี่ยงปัญหาต้องทำให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 20% ของผู้ลงคะแนน

มั่วถึงขนาดมีผู้สมัครที่ถูกกรรมการการเลือกตั้งถอนสิทธิมากถึง 320 คน

อีกทั้งยังมีร้องเรียนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวหัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งสังคมกำลังจับตาความเที่ยงธรรมในการสอบสวนเอาจริงของ กกต.

ยิ่งกว่านั้นกรณี “หมอเปรมศักดิ์” ลูกพรรคไทยรักไทยลาออกจากสมาชิกพรรค และไปบวชพระเพื่อตัดปัญหาทางการเมือง ก็ทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนี้ไม่ครบ 100 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เห็นปัญหาชัดเจนว่า การเลือกตั้งที่เกิดจากการยุบสภาซึ่งผิดหลักเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ หาก กกต.ยัง “เถรตรง” เดินหน้าจัดการเลือกตั้งก็ต้องเผชิญปัญหาเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบจำนวน 500 คน

“ภาวะวิกฤต” จึงเป็นคำที่มีการพูดถึงทั้งในวงการรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ขณะนี้

ปัญหาทางการเมืองขณะนี้ ผู้นำรัฐบาลตกอยู่ในภาวะวิกฤตแน่ แม้ครอบครัวจะขายหุ้นได้เงินมูลค่า 73,000 ล้านบาท แต่ก็ถูกสังคมประณามว่าทำการซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษี

ทำให้เป็นประเด็นที่ผู้รักความเป็นธรรม ทั้งวงการวิชาการ วงวิชาชีพ และองค์กรต่างๆ พากันออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเปิดโปงต่อต้านเครือข่ายขบวนการหาผลประโยชน์ดังที่อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

ร้ายแรงถึงขนาดเรียกร้องให้ “ช่วยกันกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตยของเราคืนมา”

แต่การชุมนุมแสดงมติและคำถามความสงสัยในความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมมากมาย ก็ไม่ได้รับการตอบหรือพร้อมเผชิญหน้าตอบข้อสงสัย หรือข้อกล่าวหา

ทั้งๆ ที่เวลาพูดข้างเดียวบนเวทีชุมนุมผู้สนับสนุนก็เรียกหาการหันหน้ามาพูดคุย

การพร่ำชักชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน จึงมิใช่ “การตัดสินอนาคตของชาติ” อย่างที่อ้างในคำโฆษณา

เพราะหากตัวเลขคะแนนเกิดจากการใช้อำนาจเงิน และอำนาจรัฐโดยวิธีการที่ไม่บริสุทธิ์ ก็จะกลายเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่จะถูกอ้างอิงเป็นความชอบธรรมในการกลับมาใช้อำนาจ

วิกฤตที่เกิดจากการจ้าง และการสร้างความแตกแยกในสังคมจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างร้ายแรง

กกต.ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายไม่ตัดสินใจระงับตัวต้นเหตุเสียก่อน วันที่ 2 เมษายน ก็เตรียมเป็นจำเลยทางสังคม และความรับผิดชอบทางกฎหมายไว้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น