xs
xsm
sm
md
lg

การวางแผนภาษีนั้นสำคัญไฉน

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

ภาษีเป็นเรื่องที่น้อยคนไม่รู้จัก แม้ว่าประชาชนกว่า 62 ล้านคนเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงประมาณ 6 ล้านคน แต่ประชาชนลูกเล็กเด็กแดงก็หนีภาษีไม่พ้น ตราบใดที่ยังมีการซื้อขายของกินของใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่มแทรกแซงอยู่ในการซื้อขายภายในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะรู้จักภาษีหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติก็ตาม แล้วการวางแผนภาษีหมายถึงอะไร อีกทั้งวางแผนไปเพื่ออะไร เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่

การศึกษาให้เข้าใจเรื่องภาษีเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่การวางแผนภาษียิ่งยากกว่า แล้วยังเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดก่อนประกอบธุรกิจใดๆ เสียด้วย เช่น การนำเข้ารถยนต์มาจำหน่าย การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ การประกอบกิจการศูนย์สรรพสินค้า การรับเหมาก่อสร้าง การซื้อขายภายในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยการวางแผนภาษีที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากมีผลเป็นการลดต้นทุน และเพิ่มกระแสเงินสด (Cash Flow) ให้แก่กิจการได้ ขณะที่การวางแผนภาษีมิได้หมายความถึงการหนีภาษี หรือการจัดทำบัญชีสองชุดเช่นแต่ก่อน แต่มุ่งถึงการวางโครงสร้างทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอากร ซึ่งก่อให้เกิดปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น มีผลเป็นการยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีอากร หรือหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เป็นต้น

การวางแผนภาษีจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบและปัจจัยต่างๆ ในเรื่องของนิยามคำว่า “เงินได้” ข้อยกเว้นภาระภาษี การลดอัตราภาษี การหักค่าใช้จ่าย การหักภาษี ณ ที่จ่าย อำนาจการประเมิน การกระจายฐานภาษี การใช้อนุสัญญาภาษีซ้อน และเกณฑ์การชำระภาษี โดยเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ให้รวมถึงเงินได้อันพึงเสียภาษีและประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ การวางแผนภาษีที่สำคัญ คือ เงินได้ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็น “เงินได้” ที่ต้องเสียภาษีจริงหรือไม่ แม้เงินได้ที่ได้รับจะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

แต่ประมวลรัษฎากรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจบัญญัติข้อยกเว้นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีอากรก็ได้ เช่น สัญญารับจ้างทำของที่หน้าที่งานเกิดขึ้นนอกประเทศ และคู่สัญญาได้ทำสัญญาขึ้นนอกประเทศจะได้รับยกเว้นไม่ต้องติดอากรแสตมป์เป็นอัตราร้อยละ 0.1 หรือกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่บุคคลธรรมดาได้รับจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขณะที่เงินปันผลที่บุคคลธรรมดาได้รับจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 ดังนั้น ผู้ถือหุ้นอาจเลือกขายหุ้นดังกล่าวไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนการประกาศจ่ายเงินปันผล เพื่อรับกำไรจากการขายหุ้นซึ่งได้รับยกเว้นภาษี หลังจากที่บริษัทได้ประกาศจ่ายเงินปันผลไปแล้ว และมีผลให้ราคาหุ้นเริ่มลดลง จึงเริ่มทยอยซื้อหุ้นกลับคืนมา เป็นการแปรสภาพเงินได้ประเภทหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นภาษีให้กลับกลายเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

เงินได้ที่ต้องเสียภาษีบางประเภทอาจได้รับการลดหย่อนภาษี เช่น เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งบุคคลธรรมดาได้รับจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 15 โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่นๆ หรือเงินปันผลที่บุคคลธรรมดาได้รับจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ โดยได้รับเครดิตภาษีในอัตราร้อยละ 3 ใน 7 ส่วนของเงินปันผล เป็นการแปรสภาพเงินได้ที่ต้องเสียภาษีอัตราสูงมาเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีอัตราต่ำ นอกจากนั้นประมวลรัษฎากรจะให้คำนวณเงินได้พึงประเมินโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หรือหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงก็ได้ ดังนั้น สิทธิในการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีอากรจึงเป็นข้อพิจารณาสำคัญอย่างหนึ่งในการเลือกรูปแบบการลงทุน

การหักภาษี ณ ที่จ่ายก็เป็นข้อพิจารณาสำคัญในการวางแผนภาษี เนื่องจากผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีล่วงหน้า ทำให้รายได้ที่ได้รับจริงมีจำนวนน้อยลง เมื่อถึงเวลาชำระเงินภาษีที่แท้จริง หากผู้มีเงินได้อยู่ในสภาวะขาดทุน หรือภาระภาษีน้อยกว่าจำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้ชำระไปแล้ว ต้องขอคืนงินภาษีจากกรมสรรพากร ก็อาจนำไปสู่การตรวจสอบบัญชีของกรมสรรพากร การบรรเทาภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายจึงอาจเป็นสิ่งจำเป็น แม้อาจจะไม่ทุกกรณีก็ตาม เช่น บริษัทรับจ้างก่อสร้างมีรายรับจากการก่อสร้าง 300 ล้านบาท หากทำสัญญารับจ้างก่อสร้างจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 เป็นจำนวน 9 ล้านบาท

เมื่อถึงเวลาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หากบริษัทมีกำไรสุทธิต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดรายรับ บริษัทก็จะต้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ทางปฏิบัติจึงนิยมแยกสัญญาก่อสร้างเป็นสัญญาซื้อขายหนึ่งฉบับ และสัญญารับจ้างอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายในสัญญาซื้อขาย มีเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขอคืนได้ แต่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 ในสัญญารับจ้าง และบางกรณีก็จำเป็นต้องใช้ 2 บริษัทเข้าทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง เพื่อเพิ่มเงินสดหมุนเวียน และตัดปัญหาการขอคืนภาษี

ภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็จำเป็นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีเงินได้ที่จ่ายจาก หรือจ่ายในประเทศไทย ซึ่งมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรได้จัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายเฉพาะกรณีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) (6) ดังนั้น หากเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (7) และ 40 (8) ก็จะหลุดพ้นระบบภาษีในประเทศไทย

อำนาจการประเมินของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เช่น กรณีการขายทรัพย์สินให้กู้ยืมเงิน หรือให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด มาตรา 65 ทวิ (4) ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาตลาดเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่หากนักลงทุนเป็นบุคคลธรรมดา เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเพียงกำหนดราคาตลาดเฉพาะกรณีการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และการขายอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เว้นแต่กรณีที่มีการได้รับเงินได้กันจริง แต่หลีกเลี่ยงไม่นำมารวมคำนวณภาษีอากร

การกระจายฐานภาษีเป็นการมุ่งใช้ประโยชน์จากหน่วยภาษีหลายหน่วยเพื่อการวางแผนภาษี เช่น กระจายรายรับให้บริษัทในเครือที่มีสภาพขาดทุน และกระจายรายจ่ายให้บริษัทในเครือที่มีกำไรสุทธิสูง สำหรับการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนในกรณีนักลงทุนที่เข้ามาจัดตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจในประเทศไทย หรือบริษัทไทยที่จ่ายค่าบริการ หรือเข้าทำสัญญาใดกับบริษัทต่างประเทศ โดยอนุสัญญาภาษีซ้อนอาจมีผลเป็นการยกเว้นหรือลดภาษีในประเทศไทย หรือในประเทศคู่ค้า แต่อนุสัญญาภาษีซ้อนไม่มีผลเป็นการยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีศุลกากร ดังนั้น การปรับใช้จึงต้องศึกษาขอบข่ายด้านภาษีและตัวบุคคลที่อาจใช้สิทธิได้ให้รอบคอบ

เกณฑ์การชำระภาษี กรณีบุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ชำระภาษีก็ต่อเมื่อได้รับเงินได้จริง มิใช่เพียงแค่มีสิทธิที่จะได้รับเท่านั้น เว้นแต่กฎหมายมีบทบัญญัติไว้ เช่น ค่าภาษีที่นายจ้างออกให้ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีแรกที่มีเงินได้นั้น แม้นายจ้างจะยังมิได้ออกให้จริงก็ตาม ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.1/2528 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้เกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) ในการคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษี โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ประเด็นสำคัญของการวางแผนภาษีอีกประการหนึ่ง คือ จุดที่ต้องเสียภาษี (Taxing Point) หากสามารถชะลอให้ถึงจุดที่ต้องเสียภาษีช้าลงเท่าไร ก็จะชะลอการไหลออกของเงินได้มากเท่านั้น ทำให้เงินทุนหมุนเวียนมีมากขึ้น กระแสเงินสดก็มากสร้างความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยจุดของการเสียภาษีประเภทต่างๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม อยู่ที่การยื่นใบขนสินค้าขาเข้า ส่งมอบ ออกใบกำกับภาษี หรือรับเงิน ขณะที่ภาษีธุรกิจเฉพาะ อยู่ที่วันลงบัญชีรายรับ ยกเว้นธุรกิจบางประเภท เช่น สำนักงานกฎหมาย สำนักงานบัญชี ธุรกิจรับจ้างบางชนิด ยอมให้ใช้เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ส่วนภาษีสรรพสามิต เมื่อขนสินค้าออก เช่น เคลื่อนย้ายออกจากสถานที่ผลิต ออกจากท่าเรือ เป็นต้น

เขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone-EPZ) คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse-BW) และเขตปลอดอากร (Free Zone-FZ) ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการชะลอหรือยกเว้นภาษีอากร กรณีนำเข้าเพื่อการส่งออกหากอยู่ใน EPZ ก็จะไม่ต้องเสียอากรขาเข้า อากรขาออก และภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ BW เป็นประโยชน์ในการชะลอการเสียภาษี โดยอยู่ใน BW จะไม่ต้องเสียภาษี เสียภาษีเมื่อนำออกจาก BW เท่านั้น ใช้มากในกรณีการนำเข้ามาเก็บสินค้าไว้ใน BW ก่อน

เมื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าจึงนำออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยจะมีรายรับจากค่าสินค้า พร้อมกับการจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ไม่เกิดกรณีเงินทุนจมในสินค้า เนื่องจากการชำระภาษี พร้อมไปกับการมีรายได้ สำหรับ FZ ก็ยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และอากรขาออกด้วย การวางแผนภาษีที่ดีจึงจำเป็นต้องนำ EPZ BW และ FZ เข้ามาพิจารณาด้วยในบางกรณี

การวางแผนภาษีมีผลต่อการประกอบธุรกิจ ยิ่งในการประมูลโครงการต่างๆ ยิ่งจำเป็นอย่างมาก หากวางแผนภาษีได้ดีและรัดกุม ก็จะสามารถเสนอราคาในการเข้าประมูลโครงการได้ในราคาต่ำ แต่มีกำไร และสามารถได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการนั้นๆ และจะยิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การวางแผนภาษีต้องถูกต้องแม่นยำด้วย ป้องกันผลเสียหายที่อาจเกิด การวางแผนภาษีจึงหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและรุ่งเรือง

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ กองการตลาดเพื่อการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น