xs
xsm
sm
md
lg

“ราชประชาสมาสัย” กู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีแถลงการณ์ด่วนออกในนามของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความเรื่อง “วิกฤตศรัทธาในตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี”


นับว่าเป็นการแสดงจุดยืนของ 2 สถาบันทางวิชาชีพที่มีน้ำหนักน่าสนใจมาก

แถลงการณ์ฉบับนี้ชี้ให้เห็นความผิดทางกฎหมาย และเห็นว่าไม่ชอบธรรมที่ให้ผู้ที่มีความผิดติดตัวอยู่ยังมารักษาการ และมีอำนาจในการบริหาร

ผมขอสรุปประเด็นจากแถลงการณ์ดังนี้

1. การชี้แจงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครอบครัวของรักษาการนายกรัฐมนตรี รวมตลอดถึงการให้ผลประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิทางภาษีอากรของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการขยายสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับบริษัทในเครือของครอบครัวรักษาการนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันได้ขายให้กับบริษัทที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลต่างชาติไปแล้วนั้น

ที่อ้างว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ ที่ถึงขนาดจะต้องลาออก สภาวิชาชีพทั้งสองเห็นว่ามีการกระทำหลายเรื่องที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดของตนเองได้ เป็นกรณีที่ชัดแจ้ง

2. กรณีแรกเป็นความผิดที่รักษาการนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลต่างชาติมาซื้อหุ้น และได้เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย ทำให้รัฐวิสาหกิจของต่างชาติได้รู้ถึงสถานที่ตั้งสถานีโทรคมนาคมทางภาคพื้นดิน ตลอดจนวงโคจรของอุปกรณ์ดาวเทียมที่เป็นทรัพย์สินของประเทศชาติ และเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นความลับของทางราชการตามพระราชบัญญัติความลับทางราชการ พ.ศ. 2483

รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124 ที่เป็นกรณีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร

3. กรณีชี้แจงต่อสาธารณชนเรื่องการซื้อขายหุ้นของคนในครอบครัวนั้น โดยเฉพาะกรณีความผิดของบุตรชายคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศลงโทษไปแล้ว และเป็นการลงโทษสถานเบาเพียงโทษปรับ

แต่ตัวรักษาการนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รู้เห็น และพูดกับสาธารณชนโดยเปิดเผยตลอดมาว่า ครอบครัวของตนเองไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้คิดหลีกเลี่ยงภาษี จึงมีมูลที่ถือได้ในเบื้องต้นว่า รักษานายกรัฐมนตรีได้กระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนให้นายพานทองแท้ ชินวัตร เข้าข่ายกระทำความผิดด้วย จึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน สมควรที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการต่อรักษาการนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชน

4. รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งเงินไปต่างประเทศ และจนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้ชี้แจงว่าเมื่อไปลงทุนตั้งบริษัท แอมเพิล ริช ที่เกาะ British Virgins Islands นั้น ได้ส่งเงินออกไปอย่างไร

กรณีมีมูลที่ถือได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ข้อเท็จจริงนี้ความผิดของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ก็มีเช่นเดียวกัน เพราะมีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่า ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงว่านายพานทองแท้ ชินวัตร ได้ขออนุญาตส่งเงินไปซื้อหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป จากบริษัท แอมเพิล ริช ด้วยวิธีใด นายพานทองแท้เองก็ไม่ใช่นักธุรกิจเพราะได้กล่าวกับสาธารณชนว่า “เป็นเรื่องของผู้ใหญ่” ตลอดมา

รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นบิดาจึงมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ใช้หรือสนับสนุนทำให้เกิดการกระทำธุรกรรมที่ผิดต่อกฎหมายอาญาในเรื่องของการส่งเงินออกนอกประเทศ

5. รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่อาจชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นของตนและครอบครัวในบริษัท วินมาร์คฯ ที่จดทะเบียนในเกาะบริติช เวอร์จิน จึงเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้แก่สาธารณชนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความจึงระบุในแถลงการณ์ว่าด้วยการกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางอาญาข้างต้น และการขาดความน่าเชื่อถือจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้าง “กฎหมาย” หรือ “กติกา” เพื่อทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะยังมีอำนาจในทางบริหารอยู่มาก

จึงควรต้อง “ลาออก” เพื่อให้มีการไต่สวนคดีความอาญาตามประเด็นข้างต้นต่อไป

ขณะที่เกิดความตีบตันในการจะดำเนินการตามกฎหมายทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนก็ไม่คืบหน้า เพราะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (กตร.) โดยตำแหน่ง การไต่สวนความรับผิดของรักษาการนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมาธิการยุติธรรมของรัฐสภาก็เกิดขึ้นไม่ได้ วุฒิสภาก็ไม่อาจทำอะไรได้

การดำเนินการทางศาลปกครองก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่กรณีเป็นคำสั่งทางปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยไม่รับพิจารณา เป็นต้น

ท่ามกลางภาวการณ์ตีบตันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังพอใจกับการสร้างภาพให้มีกลุ่มแสดงความสนับสนุนเพื่อให้เห็นว่ามิใช่มีแต่การชุมนุมขับไล่ที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สถานการณ์จึงอยู่ในขั้นตึงเครียดใกล้ภาวะวิกฤตร้ายแรง

เพราะกระแสมวลชนสาขาต่างๆ ทั้งชนชั้นสูง บุคคลชั้นกลาง ปัญญาชน นักวิชาการ นักวิชาชีพต่างๆ และข้าราชการ รัฐวิสาหกิจพากันออกมาสนับสนุนมากขึ้น และขยายวงกว้างขวางขึ้น

กลยุทธ์ของรักษาการนายกรัฐมนตรี และพวกพ้องก็อาศัยการยื้อเวลา และพยายามใช้การเลือกตั้งเป็นข้ออ้างในการเคารพกติกาประชาธิปไตย

โดยหวังว่าจะใช้อิทธิพลการบริหาร และอำนาจเงินทำให้เกิดคะแนนเสียงมากกว่า 19 ล้านเมื่อครั้งที่แล้ว เพื่อเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ

แม้ว่าขณะนี้ก็รู้อยู่ว่ามีการถอนสิทธิผู้สมัครกำมะลอถึง 320 คน และจะเป็นการเลือกตั้งที่ต้องสงสัยว่าทุจริตก็เริ่มถูกเปิดโปง

ความวุ่นวายยังจะหนักข้อขึ้นจากความดื้อดึงต่อสู้แบบเบี่ยงเบนประเด็น โดยไม่สามารถตอบข้อสงสัยให้โปร่งใส

แถลงการณ์ของ 2 สถาบันวิชาชีพข้างต้นที่ชักชวนให้กลุ่มองค์กร สถาบันทางวิชาชีพผนึกกำลังเสนอให้เกิดแนวทาง “ราชประชาสมาสัย” เพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาขณะนี้

สถานการณ์ขั้นวิกฤตไม่จำเป็นต้องอยู่ในลักษณะการ “นองเลือด” และสามารถมีทางออกอย่างสันติได้ หากแต่จำเป็นต้องพึ่งพระบารมีครับ

(อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ที่ www.presscouncil.or.th)
กำลังโหลดความคิดเห็น