xs
xsm
sm
md
lg

Emmy Noether นักคณิตศาสตร์สตรีผู้ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


หลายคนคงประหลาดใจเมื่อรู้ว่า ตลอดเวลาที่ยาวนาน ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงนักคณิตศาสตร์ผู้หญิงที่เก่งกล้าสามารถหลายคน เช่น Ada Byron Lovelace (2358-2395) ผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2387 และ Florence Nightingale (2363-2453) นางพยาบาลผู้คิดภาพการแบ่งขนมพายตามสัดส่วนที่เป็นเปอร์เซ็นต์ ถึงแม้สตรีเหล่านี้จะประสบความสำเร็จสูงในชีวิต แต่ก็มีสตรีอีกหลายคนที่ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย เช่น Hypatia (พ.ศ. 913-958) ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์คนแรกที่ได้ศึกษา และให้คำจำกัดความของรูปที่เกิดจากการตัดกรวยในระนาบต่างๆ เพราะเธอถูกฝูงชนขว้างด้วยก้อนหินจนตายด้วยข้อหาว่าฉลาดเกินไป หรือ Sophie Germain (2319-2374) ผู้พบทฤษฎี Germain ก็เคยถูกห้ามไม่ให้เรียนที่มหาวิทยาลัย Polytechnique ในปารีส สาเหตุเพราะเธอเป็นผู้หญิง ส่วน Emilie de Breteuil (2249-2292) นักคณิตศาสตร์สตรีชาวฝรั่งเศสได้รับการศึกษาดีมาก เพราะครอบครัวเธอคิดว่า เธอสูงและหน้าตาน่าเกลียดจนไม่มีชายใดมาขอแต่งงานด้วย ดังนั้น การศึกษาสูง คงทำให้เธอมีความสุขบ้าง สำหรับ Sonya Kovalevskaya (2395-2434) ก็เข้าเรียนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Berlin ไม่ได้ และเมื่อต้องการหางานทำเป็นอาจารย์ในรัสเซีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน เธอก็หาไม่ได้ ทั้งๆ ที่เธอพบทฤษฎี Kovalevskaya ในประเทศอังกฤษ Mary Somerville (2323-2415) เวลาจะเขียนตำราคณิตศาสตร์ เธอต้องขออนุญาตสามีก่อน และเมื่อเธอทำการทดลองเรื่องอิทธิพลของแสงอัลตราไวโอเล็ตต่อเข็มเหล็กเล็กๆ เธอต้องให้สามีนำเสนอผลงานของเธอในที่ประชุมของ Royal Society แทน ทั้งนี้เพราะสมาคมไม่รับสมาชิกที่เป็นเพศหญิงนั่นเอง

เมื่อถึงวันนี้เรารู้ว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้โลกไม่มีนักคณิตศาสตร์หญิงจำนวนมาก เพราะมหาวิทยาลัยในสมัยก่อนไม่รับสตรีเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก จะมีก็แต่มหาวิทยาลัย Gottingen ในเยอรมนีเท่านั้น Emmy Amalie Noether เป็นสตรีผู้หนึ่งที่โชคดีได้ศึกษาที่ Gottingen และประสบความสำเร็จมาก จนทำให้ Albert Einstein เมื่อได้ข่าวว่าเธอถึงแก่กรรม ได้เขียนคำสดุดีลงในหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า Emmy Noether เป็นอัจฉริยะนักคณิตศาสตร์ สตรีผู้มีผลงานโดดเด่น และสำคัญที่สุดตั้งแต่โลกได้ยินยอมให้สตรีได้รับการศึกษาระดับสูง ส่วน H. Weyl นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งก็ได้กล่าวคำอาลัย ในพิธีฝังศพของ Noether ว่า โลกจะต้องจดจำผลงานและบุคลิกภาพของเธอตลอดไป เพราะนอกจากจะเป็นนักคณิตศาสตร์สตรีที่เก่งที่สุดที่โลกเคยมีแล้ว เธอยังเป็นสตรีผู้ยิ่งใหญ่ด้วย

Emmy Amalie Noether เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2425 (รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เมือง Erlangen ในแคว้น Bavaria ของเยอรมนี เธอมีบิดาเชื้่่อสายยิวชื่อ Max ผู้เป็นศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Erlangen ส่วนมารดาชื่อ Ida Amalia ก็เป็นยิวที่ครอบครัวมีฐานะมั่งคั่งในเมือง Cologne ในวัยเด็ก Noether ได้รับการเลี้ยงดูเช่นเด็กทั่วๆ ไป คือได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีชั้นสูงโดยเรียนอังกฤษ ฝรั่งเศส คณิตศาสตร์ เปียโน และเต้นรำ จนกระทั่งอายุ 13 ปี เธอก็สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรว่า มีความสามารถในการสอนภาษาฝรั่งเศส และอังกฤษได้ดี แต่ Noether ไม่ต้องการเป็นครูภาษา เธอต้องการเรียนวิชายากๆ เช่น คณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แต่ในสมัยนั้น มหาวิทยาลัยเยอรมันไม่ยินยอมให้ผู้หญิงเรียน ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศสได้เปิดประตูให้สตรีเข้าเรียนตั้งแต่ปี 2414 อังกฤษในปี 2421 และอิตาลีในปี 2428 หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย Erlangen ที่บิดาเธอสอนอยู่ก็ปฏิเสธไม่รับนิสิตหญิงเข้าเรียน โดยอ้างว่าผู้หญิงจะทำให้บรรยากาศวิชาการของมหาวิทยาลัยเสีย

ถึงแม้จะเผชิญอุปสรรคและข้อห้ามมากมาย แต่ Emmy Noether ก็มิได้ย่อท้อเธอได้ขออนุญาต D. Hilbert, H. Minkowski, F. Klein ผู้เป็นศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Gottengen เข้าไปนั่งฟังคำบรรยายคณิตศาสตร์บางวิชา และเมื่อถึงปี 2447 ที่มหาวิทยาลัย Erlangen ยินยอมให้ผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เธอก็ได้เข้าเรียนที่นั่น และได้ทำวิทยานิพนธ์คณิตศาสตร์เรื่อง “On complete systems of invariants for ternary biquadratie forms” โดยมีเพื่อนของบิดาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ถึงแม้จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว แต่เธอก็มิได้ออกไปหางานทำที่อื่น เพราะต้องอยู่ดูแลบิดาที่ล้มป่วยเป็นอัมพาต และทำงานสอนพิเศษเล็กน้อยในยามว่าง แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานวิจัยคณิตศาสตร์ร่วมกับ Ernst Fischer ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ตามแนวคิดของ Hilbert จนชื่อเสียงของเธอเริ่มปรากฏในอิตาลี เยอรมนีและออสเตรเลีย การติดตามศึกษาผลงานตีพิมพ์ของ Noether ทำให้ Hilbert และ Klein รู้สึกประทับใจมาก จึงได้เชิญเธอให้มาทำงานวิจัยร่วมกันที่มหาวิทยาลัย Gottingen และพยายามหาตำแหน่งอาจารย์ให้ แต่ก็ถูกบรรดาอาจารย์นักคณิตศาสตร์ชายในมหาวิทยาลัยต่อต้าน โดยอ้างว่าเธอเป็นผู้หญิง การอ้างเช่นนี้ ได้ทำให้ Hilbert เดือดดาลมากจนถึงกับกล่าวว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรแบ่งแยกบุคคลโดยใช้เกณฑ์เพศ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ห้องน้ำที่ต้องแบ่งแยกเพศของคนที่มาใช้สถานที่ ถึงกระนั้น Hilbert ก็ยังขอร้องให้ Noether เป็นอาจารย์ช่วยสอนของเขา โดยในตารางสอนของ Hilbert จะมีชื่อของ Noether ในฐานะอาจารย์ผู้ช่วยปรากฏอยู่

ในปี พ.ศ. 2458 Noether ได้พบทฤษฎี Noether ซึ่งเกี่ยวกับหลักการอนุรักษ์ต่างๆ เช่น พลังงานโมเมนตัมเชิงเส้น และโมเมนตัมเชิงมุม ว่าเกิดจากคุณสมบัติความสมมาตรของระบบ และความยิ่งใหญ่ของทฤษฎีนี้คือ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในทฤษฎีกลศาสตร์ของนิวตัน และในทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ด้วย ความสามารถที่ประเสริฐของ Noether เรื่องนี้ทำให้ไอน์สไตน์ชื่นชมในความฉลาดเฉลียวของเธอมาก

นอกจากจะพบทฤษฎีการไม่แปรเปลี่ยน (theory of invariant) ในฟิสิกส์แล้วเธอยังมีผลงานที่สำคัญด้านคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ เช่น ได้สร้างทฤษฎี ring ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งในการพัฒนาพีชคณิตยุคใหม่ด้วย

ทั้งๆ ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จสูง แต่มหาวิทยาลัยในเยอรมนีก็ยังไม่ยอมรับเธอเข้าทำงานเป็นอาจารย์ จนกระทั่งเธออายุ 37 ปี มหาวิทยาลัย Gottingen จึงตอบรับเธอเป็นอาจารย์ และอีก 3 ปีต่อมา เธอก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์โดยไม่มีภาระหน้าที่สอนใดๆ และไม่มีเงินเดือนให้ด้วย ถึงกระนั้น Noether ก็ยังรู้สึกดีที่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้นิสิตปริญญาเอกหลายคน เพราะเธอได้มีโอกาสอภิปรายถกเถียงกับนิสิต และหลายครั้งที่การสนทนาทำให้เธอลืมตัวว่าเธอกำลังข้ามถนน จนนิสิตต้องเตือนให้เธอระมัดระวัง หรือเวลากระโปรงชั้นในเธอโผล่ ขณะเธอกำลังสอนเธอก็จะก้มตัวลงดึงมันออกแล้วโยนทิ้งไปหน้าห้อง ส่วนปากก็ยังพร่ำสอนสมการต่างๆ ต่อไปเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ

ตามปกตินักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายมักผลิตผลงานชิ้นสำคัญขณะอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่ Emmy Noether เป็นคนพิเศษที่ไม่เหมือนใคร เพราะเธอตีพิมพ์ผลงานชิ้นยิ่งใหญ่ขณะเธออายุเกือบ 40 ปี และผลงานที่โดดเด่นของเธอคือ การวิจัยปัญหาพีชคณิตชนิด non-commutative รวมทั้งเรื่อง axiom development of algebra และ ideal theory ซึ่งมีเรื่อง Noetherian ring ปรากฏเป็นครั้งแรก และนี่ก็คือผลงานที่สำคัญที่สุดของเธอ และผลงานนี้มีอิทธิพลต่อวิชาพีชคณิตสมัยใหม่มาจนทุกวันนี้

เมื่อผลงานของเธอปรากฏ ชื่อเสียงของ Noether ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในปี พ.ศ. 2471 เธอได้รับคำเชิญให้ไปบรรยายที่ International Congress ซึ่งจัดที่เมือง Bologna ในอิตาลี เธอได้รับการเชื้อเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัย Moscow ในรัสเซีย และในปี พ.ศ. 2475 เธอได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกนำในการประชุม International Congress ที่เมือง Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์

เมื่อกองทัพนาซีเรืองอำนาจ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเชื้อสายยิวถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย บรรดาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Augusta Georgia ซึ่ง Noether ทำงานอยู่ หลายคนถูกห้ามสอนและถูกห้ามทำงานที่มหาวิทยาลัย Noether จึงต้องลอบสอน โดยการไปเยี่ยมบ้านของศิษย์และสอนหนังสือที่นั่น ในขณะเดียวกัน เธอได้ครุ่นคิดว่า จะต้องจัดการชีวิตของตนใหม่โดยการอพยพไปทำงานที่รัสเซีย เพราะเธอมีเพื่อนชื่อ Aleksandrov ซึ่งศรัทธาความสามารถของเธอมาก แต่ในขณะเดียวกันบรรดานักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันก็ได้พยายามเชิญให้เธอเดินทางไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัย Bryn Mawr ในรัฐ Pennsylvania ด้วย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ Rockyfeller ตามคำรับรองของ N. Wiener

ภาควิชาคณิตศาสตร์ที่ Bryn Mawr มีอาจารย์ประจำ 4 คน และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา 5 คน Noether ต้องรับภาระสอนวิชาพีชคณิตนามธรรมให้แก่นิสิต 4 คน โดยสอนเป็นภาษาเยอรมันปนอังกฤษ เธอเป็นครูที่พูดเสียงดัง สายตาสั้น และมีบุคลิกภาพที่เป็นมิตรกับเพื่อนร่วมงาน และศิษย์ทุกคน ในวันเสาร์เธอชอบเดินเล่นกับศิษย์ ไม่ว่าอากาศจะเลวร้ายเพียงไร เธอรู้สึกอบอุ่นมาก ขณะพำนักที่ Bryn Mawr และใช้สถานที่นั่นเป็นที่ต้อนรับเพื่อนชาวเยอรมันที่อพยพมาจากอเมริกา ในด้านการใช้ชีวิตส่วนตัว เธอดูไม่ค่อยเป็นสตรีนัก เช่น ไม่คิดมากเรื่องการแต่งตัว หรือเรื่องอาหาร นิยมไว้ผมสั้น เพราะเวลาเธอไว้ผมยาว ขณะเข้าห้องสอน เธอต้องรวบผมเพราะเวลาสมการบนกระดานดำตีกันวุ่นวาย อารมณ์ตื่นเต้นของเธอ ทำให้มวยผมตก จนดูรุงรังไม่เรียบร้อย

หลังจากที่ทำงานในอเมริกาได้นาน 1 ปี Noether ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เยอรมนี เธอรู้สึกตกใจมากที่ได้เห็นสภาพความเสื่อมโทรมของบ้านเมือง หลังจากที่เธอกลับมาอเมริกาได้ไม่นาน เธอเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก และเสียชีวิตในวันที่ 14 เมษายน 2478 ขณะอายุ 53 ปี

ก่อนที่เธอจะจากโลกไป เธอได้กล่าวกับเพื่อนว่า เธอชอบชีวิตของเธอที่ Bryn Mawr ยิ่งกว่าชีวิตของเธอในเยอรมนีมาก

ณ วันนี้โลกมีนักคณิตศาสตร์สตรีหลายคนที่กำลังดำเนินชีวิตตามทางที่ Noether ได้บุกเบิกไว้ และกุลสตรีอีกหลายคนในอนาคตที่เห็น Noether คือสตรีนักคณิตศาสตร์ในอุดมคติครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น