xs
xsm
sm
md
lg

สื่อในวิกฤตการเมือง สามยุคสามอย่าง

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

เนื่องจากติดงานอื่นๆ สองสามเดือนที่ผ่านมาผมจึงไม่ได้เขียนคอลัมน์นี้สม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังไม่มีเวลาที่จะให้ข้อคิดเห็นกับสื่อหลายๆ ประเภทที่ติดต่อมาเพื่อขอความคิดเห็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในวิกฤตการเมืองยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทว่าก็มีใครๆ ฝากให้ได้ช่วยคิดว่าบทบาทที่เหมาะสมของสื่อในช่วงที่มีวิกฤตการเมืองคืออะไร ในวันนี้ แม้จะยังไม่ใช่โอกาสที่จะตอบคำถามนี้ตรงๆ แต่ผมก็จะขอตอบแบบอ้อมๆ ก็แล้วกัน

โจทย์วันนี้ก็คือ ในช่วงที่เมืองไทยมีวิกฤตการเมืองสามช่วงคือในทศวรรษที่ 1970 และ 1990 จวบจนปัจจุบันนั้น สื่อมีบทบาทอย่างไรและเพราะอะไร เรื่องราวชนิดนี้อาจจะน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับนักข่าวที่อยู่ในรุ่นอายุ 20-30 ที่ไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงกับวิกฤตการเมืองในยุคก่อนๆ ทว่าอยู่ๆ ก็ต้องมาเจอกับวิกฤตการเมืองยุคนี้เลย

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นั้น เมืองไทยมีวิกฤตการเมืองอย่างชัดเจนสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อนักศึกษาและประชาชนได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องหารัฐธรรมนูญและรัฐบาลพลเรือน ทั้งนี้ ก็เพราะในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาอยู่ในระหว่างการถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ฉะนั้น เมื่อระหว่างที่ “ช่องว่างแห่งอำนาจ” กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลทหารไทยที่ได้รับการคุ้มครองโดยตรงจากความสัมพันธ์ทางการทหารกับอเมริกาจึงถูกท้าทายจากปัญญาชนรุ่นใหม่ในการนำของคนอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและธีรยุทธ บุญมี รวมทั้งคนอื่นๆ อีกมากมาย

เนื่องจาก “การปฏิวัติ” ครั้งนั้นเกิดขึ้นในขณะที่ชีวิตการเมืองไทยยังล้าหลังอยู่มาก สื่อต่างๆ ส่วนมากจึงไม่ค่อยรู้อีโหน่อีเหน่นักว่าตนเองควรจะวางตัวในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนั้นอย่างไรดี ความที่สื่อในยุคนั้นมักจะมีความสัมพันธ์กับทหารและนายธนาคารอย่างใกล้ชิด รวมๆ แล้ว สื่อทั้งหลายจึงยึดถือนโยบายปลอดภัยเอาไว้ก่อน นั่นก็คือ เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลเป็นส่วนมาก ฉะนั้น จึงมีการรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนไม่ค่อยมากนัก และบ่อยๆ เป็นไปในทางลบว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวาย แม้กระทั่งหลังจากการปะทะกันบนท้องถนนจนก่อให้เกิดความูญเสียชีวิตแล้ว สื่อส่วนมากก็ยังเข้ากับฝ่ายรัฐบาลเสียเป็นส่วนมาก

ฉะนั้น กว่าที่สื่อต่างๆ จะสามารถปรับตัวให้ทำหน้าที่สอดคล้องกับการก่อรูปของ “ความจริงใหม่” ก็ต่อเมื่อนักศึกษาและประชาชนได้รับ “ชัยชนะ” จนกระทั่งผู้นำทหารในรัฐบาลต้องลี้ภัยทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วนั่นแหละ

พูดง่ายๆ สื่อส่วนมากในช่วงนั้นมีอันเป็นไปขนาด “ตกกระแส” จนถูกขนานนามให้เป็น “ไดโนเสาร์” กันเป็นแถวๆ ไปก็คราวนั้นแหละ จะมีนักหนังสือพิมพ์ไม่กี่มากน้อยคนเท่านั้นที่ปรับตัวให้ “ทันกระแส” ได้โดยหน้าไม่แตก

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2514 แล้ว เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของการเมืองเมืองใหม่ กิจกรรมด้านวารสารศาสตร์ในเมืองไทยได้แตกหน่อใหม่ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง จนสามารถพูดถึงวารสารศาสตร์แบบซ้ายๆ ขวาๆ และกลางๆ ได้อย่างมีความหมายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งวารสารศาสตร์ของประเทศ

พูดอีกวิธีหนึ่งก็คือ นี่เป็นช่วงเวลาที่สื่อต่างๆ ถูกฝ่ายต่างๆ นำออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างจงใจและเผ็ดร้อนยิ่งกว่าที่เคยได้รู้ได้เห็นกันมาในประวัติศาสตร์ก่อนหน้าทั้งหมด ในสมัยนั้น หากใครจะคุยกับใครก็มักจะมี “อคติ” ในใจเสียก่อนแล้วใครคนนั้นเป็นฝ่ายไหน ดังนั้น จึงไม่มีอะไรสนุกไปกว่าการพูดกันเรื่องลัทธิบ้าๆ บอๆ ทั้งหลาย

จากมุมมองของสื่อฝ่ายขวา ผู้นำนักศึกษาควรที่จะถูกจิกหัวด่าเป็นว่าเล่น และในทางกลับกัน จากมุมมองของสื่อฝ่ายซ้าย นักการเมืองรุ่นเก่าๆ ที่แก่ทั้งกายและใจ ก็ควรจะถูกประณามด้วยฉายาต่างๆ ไม่น้อยไปกว่ากัน ส่วนสื่อฝ่ายกลางๆ ก็โดนกระแทกจากทุกทิศทางแบบอีรุงตุงนัง

ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า สามปีระหว่างเดือนตุลาคม 2516-ตุลาคม 2519 เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ทว่าดูเหมือนว่าความตื้นลึกหนาบางต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ยังไม่ได้รับการสำรวจจากนักวิชาการอย่างเพียงพอนักคนรุ่นหลังๆ จึงไม่ค่อยมีหนังสือดีๆ เกี่ยวกับยุคนั้นให้เลือกอ่านสักเท่าไรนัก

ทว่าความเร่าร้อนของการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในช่วงเพียงสามปีหลังจากนั้น ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้วางระบบปฏิบัติการขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 จนทำให้ฝ่ายปัญญาชน นักศึกษา และประชาชนผู้ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามต้องเป็นฝ่ายหนีภัยการเมืองบ้าง ยังผลให้ชีวิตการเมืองไทยต้องหวนกลับไปเชื่อมโยงกับการเมืองโลกยุคสงครามเย็นอีกครั้งหนึ่งในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1970 ทั้งๆ ที่ทหารอเมริกันได้ถอนตัวจากอินโดจีนและเมืองไทยไปในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 แล้ว

จุดที่น่าสนใจมากก็คือ ในขณะที่วิทยุโทรทัศน์มีบทบาทไม่มากนักในเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ในเหตุการณ์สามปีต่อมา วิทยุและโทรทัศน์กลับมีบทบาทพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นการเล่นบทบาทเข้ากับฝ่ายขวา

ข้อยกเว้นสำคัญก็คือโอกาสที่คุณสรรพศิริ วิริยศิริ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ได้ตัดสินใจนำเสนอภาพสดการปราบปรามนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามความเป็นจริง (โดยแทบจะไม่มีคำบรรยายใดๆ) จนกระทั่งท่านต้องถูกกดดันให้ลาออกจากงานข่าวที่ท่านรักมากหลังจากวิกฤตการเมืองนั้น


เคราะห์ดี กว่าหนึ่งทศวรรษต่อมา ในต้นทศวรรษที่ 1990 บทบาทอันกล้าหาญในครั้งนั้นได้ส่งผลให้ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านวารสารศาสตร์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นเกียรติยศต่อตัวท่านเองแล้ว ยังเป็นเกียรติยศต่อนักสื่อสารมวลชนใดๆ ที่ให้ความสำคัญแก่การนำเสนอ “ความจริง” โดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างด้วย

นักข่าวและนักเขียนหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ในเมืองไทยยุคปัจจุบันที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 55-65 ปีในวันนี้ล้วนเป็นผู้คนที่ได้ผ่านยุคแห่งการเผชิญหน้าระหว่างสื่อกับฝ่ายการเมือง และสื่อกับสื่อด้วยกัน มาแล้วทั้งนั้น


สำหรับในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ขึ้นนั้น ความที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ๆ ส่วนมากมีประสบการณ์มาจากทศวรรษที่ 1970 ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เมื่อฝ่ายทหารเข้ามาทำการรัฐประหารนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ล้าหลังกว่ายุคสมัยอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลประการหนึ่งก็เป็นเพราะ “เศรษฐกิจฟองสบู่” กำลังแตกฟองเต็มที่ ยังผลให้สื่อต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ฉะนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์จึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากพอสมควรในการปกป้องระบบการเมืองแบบเปิด ซึ่งมีค่าไม่น้อยไปกว่าการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองด้วย หลังจากเกิดวิกฤตการเมืองคราวนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์จึงใช้เวลาเพียงไม่กี่มากน้อย ก็สามารถรวมหัวกันนำเสนอข่าว และความคิดเห็นในทิศทางที่นำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลทหารได้สำเร็จ

ทว่าเหตุการณ์เดียวกันนั้นกลับสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่สวยงามให้แก่วงการวิทยุและโทรทัศน์ เพราะสื่อทั้งสองนี้ได้ทำหน้าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการเมืองแบบเปิด ด้วยการนำเสนอข่าวและความคิดเห็นเข้าข้างรัฐบาลทหารของพลเอกสุจินดา คราประยูร จนกระทั่งนักข่าวในสื่อเหล่านี้ต้องออกมาขอโทษขอโพยประชาชนหลังจากวิกฤตการเมืองครั้งนั้นสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชน ที่ยอมเอาชีวิตไปเสี่ยงกับลูกกระสุนอย่างอาจหาญ

ในการเผชิญหน้าทางการเมืองที่มีการสาดกระสุนกลางวันแสกๆ ครั้งนั้น หนังสือพิมพ์อยู่ในสถานภาพที่ถือได้ว่าเป็นผู้ต่อสู้กับรัฐบาลทหารร่วมกับประชาชนบนท้องถนนโดยตรงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ หลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” หนังสือพิมพ์จึงมีความภาคภูมิใจในบทบาททางการเมืองของตนในระดับสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ส่วนวิทยุและโทรทัศน์ก็ปิดประวัติศาสตร์ส่วนนี้ของตนด้วยความละอายใจ ทั้งๆ ที่มีกระแสทางสังคมที่ต้องการการปฏิรูปสื่อไฟฟ้าทั้งสองแขนงนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ลงท้าย ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นสักเท่าไรนัก นอกจาก itv ซึ่งมีผลงานด้านข่าวดีเด่นในระยะแรกๆ ก่อนที่จะประสบปัญหาทางการเงินอย่างใหญ่หลวง

หลังจากนั้นนับได้ราวๆ สิบปี รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ก็ให้กำเนิดแก่รัฐบาลในการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงสามปีแห่งความรุ่งโรจน์ รัฐบาลนี้ก็เข้าสู่ยุคแห่งความตกต่ำลงเรื่อยๆ จากการที่หัวหน้ารัฐบาลเริ่มถูกกล่าวหาว่ามีการใช้ตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและหมู่คณะในลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งในกรณี itv ซึ่งถูกซื้อโดยชินคอร์ปด้วยเงื่อนไขที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขที่ว่ากันว่าเข้าข่ายเข้าพกเข้าห่อ

ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว วิกฤตการเมืองคราวล่าสุดนี้จะเกิดขึ้นจากความไม่พอใจเกี่ยวกับผลประโชน์ทับซ้อนและข้อกล่าวหาที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในรัฐบาล ทว่าความแข็งแกร่งทางการเมืองของรัฐบาล รวมทั้งการอาศัยกลเม็ดเด็ดพรายทางการเมืองแบบด่าดะและชนดะแบบไม่เกรงใจใครได้ทำให้การต่อกับรัฐบาลนี้เกิดขึ้นค่อนข้างช้า และต้องอาศัยวิธีการที่ออกจะพิสดารขึ้นเรื่อยๆ จึงจะพัฒนามาได้ไกลอย่างที่ได้รู้ได้เห็นกันในวันนี้

นับตั้งแต่การเปิดโปงในจอโทรทัศน์ของสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งในตัวมันเองก็ถือว่า “ใหม่” มากสำหรับสื่อโทรทัศน์ (จนกระทั่งต้องถูกยกเลิกในที่สุด) ทว่าการตัดสินใจของช่อง 9 โดยการสนับสนุนของคนในรัฐบาลในครั้งนั้น อันนำไปสู่การนำรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” สัญจรไปตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีกลายเป็นต้นมานั้น ได้ยังผลให้ “การประท้วง” รัฐบาลกลายเป็น “ของจริง” เพราะมีคนจริงๆ มานั่งๆ ยืนๆ ตบไม้ตบมือและเป่าปากให้ แทนที่จะเป็น “ของปลอม” ที่อยู่ในจอโทรทัศน์ที่ประเมินปฏิกิริยาของคนดูได้ยาก และคนดูก็มองไม่ค่อยเห็น “ความจำเป็น” ว่าตนเองจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะมีคนด่าให้แทนเรียบร้อยแล้ว

ลงท้าย สิ่งที่ผมขนานนามเอาไว้กว่า “ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล” จึงกลายเป็น “ข่าว” ใหญ่ขึ้นทุกที ในแง่หนึ่งก็เพราะสิ่งที่หัวหน้ารัฐบาลทำๆ เอาไว้นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบๆ ซ่อนๆ นำเอาชินคอร์ปไปขายให้กองทุนรัฐบาลต่างชาติ (ทั้งๆ ที่กิจการบางอย่างที่บริษัทนี้ถือครองอยู่ถือเป็นกิจการของชาติแท้ๆ โดยชินคอร์ปเป็นผู้ “ถือแทน” ในนามเท่านั้น หาใช่ “เจ้าของ” ที่สมบูรณ์แบบไม่) นั้นถือได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนธิ ลิ้มทองกุลสามารถทำตลาดการเมืองได้ จนภายในสี่ห้าเดือนต่อมาได้กลายเป็น “พันธมิตรประชาธิปไตย” ที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นทุกวันในการระดมใครๆ มาช่วยกันตรวจสอบและด่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกันอย่างสนุกสนาน คงไม่มียุคไหนสมัยไหนอีกแล้วที่นายกรัฐมนตรีถูกขนานนามว่าเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องประเภทกรรมตามสนอง เพราะตนเองได้เป็นผู้ริเริ่มด่าคนอื่นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (รวมทั้งเป็นลิงเป็นค่าง) เอาไว้มานานนั่นเอง

ครั้นเมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมืองประกาศเข้าร่วม “พันธมิตร” รัฐบาลก็เลือกที่จะประกาศยุบสภาในเกือบทันใดทันควัน เพราะนี่คือสัญญาณว่าการต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากท่านผู้นี้คืออะไรที่ไม่มากไม่น้อยไปกว่าแกนนำผู้สร้างเอกภาพและความสำเร็จให้แก่การเมืองภาคประชาชนจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

จุดที่น่าสนใจมากในวิกฤตการเมืองคราวปัจจุบันก็คือ ฝ่ายรัฐบาลได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิข่าวอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ความพยายามที่จะฟ้องร้อง วานคนให้ซื้อ และควบคุมสื่อต่างๆ เท่าที่จะกระทำได้ มาวันนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้วิธีก่นด่าสื่อว่าไม่ให้ “ความเป็นธรรม” กับฝ่ายตนแล้ว นอกจากข่าวที่เกิดจากฝ่าย “พันธมิตร” จะมีมากกว่าและน่าสนใจกว่า จนกระทั่งยึดครองพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ส่วนมากได้สำเร็จอย่างง่ายดายแล้ว ในระยะเร็วๆ นี้ สื่อวิทยุก็นำเสนอข่าวของฝ่าย “พันธมิตร” มากขึ้นด้วย

สำหรับโทรทัศน์ พัฒนาการที่น่าสนใจมากก็คือ ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ สถานีโทรทัศน์บางแห่งได้ริเริ่มที่จะนำเสนอข่าวคราวของฝ่าย “พันธมิตร” มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตนเอง นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลข้างเคียงจากการที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตได้นำเสนอความเคลื่อนไหวของฝ่าย “พันธมิตร” มากขึ้นทุกวัน

มากจนกระทั่งเรื่องราวของฝ่าย “พันธมิตร” กลายเป็น “ความจริง” ที่ยากแก่การที่โทรทัศน์จะปฏิเสธ หากปฏิเสธ โทรทัศน์ก็ไม่เพียงจะโดนข้อหาว่า “ตกข่าว” เท่านั้น ทว่าจะมีข้อหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทั้งระหว่างและหลังจากวิกฤตการเมืองคราวนี้สิ้นสุดลง

พูดกันตามจริง โทรทัศน์เองก็มีประสบการณ์อันเจ็บปวดมามากจาก “พฤษภาทมิฬ” เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนจำเป็นแสนๆ ล้านๆ ออกมาช่วยกันชี้หน้าด่าโทรทัศน์ต่างๆ นานา การที่โทรทัศน์เริ่มปรับตัวในระยะหลังๆ มานี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ อันเป็น “สัญญาณ” ว่าระบอบทักษิณ ชินวัตรได้ถึงจุดตกต่ำในอีกระดับหนึ่งแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ในวงการโทรทัศน์ก็ถือได้ว่าใหม่เอี่ยมอ่อง ทว่าจะใหม่จริงหรือปลอมขนาดไหน ก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไปแบบไม่ละสายตา เพราะในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมมีเหตุผลและขั้นตอนของมัน

ก็จะไม่ตกต่ำได้อย่างไรเล่า เมื่อการท้าทายรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากสนธิ ลิ้มทองกุลอีกต่อไปแล้ว ทว่ามาจากมิตรสหายเก่าแก่ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเองหลายๆ คน มาจากราชนิกูล วุฒิสมาชิก ปัญญาชนอิสระ และข้าราชการระดับสูงจำนวนไม่น้อย มาจากผู้นำการศึกษาระดับสูงอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มาจากครูบาอาจารย์และนักศึกษาอีกหลายต่อหลายแห่งทั่วประเทศ มาจากนักเรียนโรงเรียนมัธยม มาจากคนพิการ ฯลฯ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ เสื้อคอกลม ผ้าพันคอ เสียงเพลงและริงโทน การปิดๆ เปิดๆ ไฟหน้ารถยนต์ หรือแม้กระทั่งการตะโกนด่าเล่นในศูนย์การค้า ฯลฯ

เมื่อผสมผสานเข้ากับคำซุบซิบนินทา คำด่าทอบนเวที เสียงตะโกนไล่ในรูปแบบต่างๆ คำประกาศเจตนารมณ์ การเดินขบวนและยืนล้อมทำเนียบ และอื่นๆ อีกมากมายแล้ว ดูเหมือนว่าเมืองไทยกำลังหายใจเป็น “ทักษิณ...ออกไป” มากขึ้นทุกวัน

รออีกสักหน่อย ก็แทบไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์กันเลยก็ได้ เพราะเรื่องราวในสื่อเหล่านี้จะเหมือนๆ กันไปหมด นี่ก็คงจะเป็นเรื่องของเวรของเวรกรรมที่ทำเองอีกเหมือนกัน ไม่รู้จะหยุดได้อย่างไร

หากปล่อยให้เนิ่นนานออกไปอีกเรื่อยๆ แม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง ด้วยพลิกผันตนเองให้กลายเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ อย่างที่พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้แนะนำเอาไว้ ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

เพราะสงครามทางวัฒนธรรมที่ใหญ่โตขนาดนี้คงเอาชนะไม่ได้ด้วยเงิน

กำลังโหลดความคิดเห็น