xs
xsm
sm
md
lg

มาตรา 7 และการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการรักษา มิใช่ทำลายรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ทุกวันนี้มีการบิดเบือนความรู้เรื่องประชาธิปไตยอย่างหนักเป็นรายวัน โดยตัวนายกฯรักษาการเอง โดยผู้นำรัฐบาล และโดยลูกกะโล่ของพรรคไทยลักไทย นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการที่เขียนเก่งพูดเก่ง แต่ขี้เกียจค้นคว้าให้ลึกลงไปถึงข้อเท็จจริงทางปฏิบัติและทฤษฎีของประชาธิปไตย บวกกับนักอุดมการณ์ที่คิดว่าคนอื่นไม่บริสุทธิ์เท่ากับตน และกลุ่มชนที่เชื่อเขาเล่าหรือคิดเอาเองโดยสุจริตว่า การนำรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาใช้ หรือ การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น เป็นการ ฉีก ล้มล้าง หรือ ทำลาย รัฐธรรมนูญ เป็นการนำในหลวงมาเล่นการเมือง เป็นการทำรัฐประหารรัฐธรรมนูญ นี้เป็น อวิชชา ความเข้าใจผิด หรือ มิจฉาทิฐิ แท้ๆ หรือไม่ ก็รู้อยู่แต่ก็แกล้งพูดผิดบิดเบือนไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนและพวก

ผู้ที่เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกคนจะต้องเคยเรียนว่าวัตถุประสงค์ของการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นนั้น ก็เพื่อจะรักษารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยทั้งระบอบไว้ ให้ดำรงอยู่และมิให้กระทบกระเทือน

เมืองไทยของเรามีการปกครองระบบรัฐสภา แบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่พวกเราอ้างกันนักหนาว่าเรียนและเลียนมาจากแม่แบบคืออังกฤษ อังกฤษนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร คือมิได้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นไว้เป็นเล่มเหมือนของเรา แต่มีตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติและจารีตประเพณีไว้คอยกำกับมากมาย สังคมอังกฤษรู้กันทั่วว่าสิ่งใดไม่เป็นประชาธิปไตย ใครจะนำสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาปฏิบัติก็จะถูกคัดค้านขัดขวางปฏิบัติมิได้ แม้แต่เมียนายกรัฐมนตรีก็ร่วมขบวนกับผู้คัดค้าน มิยอมให้ออกกฎหมายพิเศษเพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือขยายเวลาควบคุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายโดยมิชอบ นี่ก็คือการงดใช้รัฐธรรมนูญข้อหนึ่งในทางลบ แต่ระบุเป็นมาตรามิได้ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ของไทยเรามีรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เป็นตัวหนังสือ ถึงกระนั้นก็มีการงดใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตราอยู่บ่อยๆ ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ แต่ก็ไม่มีการประกาศให้ประชาชนรู้ว่างดใช้มาตราใด เพราะเหตุผลอะไร ตัวอย่างเช่น การสังหารผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดหรือภาคใต้ การประกาศพระราชกำหนดให้อำนาจที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแก่รัฐบาล การประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือการที่รัฐบาลเพิกเฉยไม่นำรัฐธรรมนูญมาใช้บางมาตรา เช่น มาตรา 43 เป็นต้นฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นการงดใช้รัฐธรรมนูญ ในทางที่ล่อแหลมเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่ไม่มีใครออกมาว่ากล่าวตักเตือนหรือคัดค้าน แต่การงดใช้รัฐธรรมนูญตามจารีตประชาธิปไตยนั้นเป็นการงดที่ดี เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยทั้งระบบ

ขอยกตัวอย่าง การงดใช้รัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง และการนำมาตรา 7 มาใช้ตามจารีตประชาธิปไตย โดยมิได้มีการประกาศ เอาเฉพาะสมัยรัฐบาลทักษิณ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า นั่นก็คือตัวอย่างของในหลวง ในหลวงทรงใช้จารีตประชาธิปไตย โดยการใช้พระราชอำนาจพิเศษ (Royal Prerogative) และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อย่างน้อยก็ใน 2 กรณีที่แจ้งชัด นั่นก็คือ

1. กรณีไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายวิสุทธิ์ มนตริวัตร เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 312

2. กรณีไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยและส่งคืนรายชื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตรา 297

ทั้งหมดนี้เป็นการใช้พระราชอำนาจพิเศษ (Royal Prerogative) มาตรา 7 และการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราไปพร้อมๆ กันตามจารีตประชาธิปไตยที่ถูกต้องทุกประการ

สำหรับมาตรา 7 ไม่เคยมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาก่อน เพิ่งจะมีในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ. 2540 แต่ก็ได้มีการนำมาใช้ก่อนหน้านั้นแล้วหลายครั้งหลายหน เช่น การตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การตั้งสมัชชาแห่งชา และการให้สมัชชาแห่งชาติเป็นผู้เลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น

มาตรา 7 บัญญัติไว้ดังนี้ “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ใครก็ตามที่อ่านภาษาไทยเข้าใจ จะต้องเข้าใจว่าการนำประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างประชาธิปไตย หรือเป็นการปฏิวัติโดยรัฐธรรมนูญ เพราะขบวนการ ครรลองและมาตรการที่นำมาใช้จะต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแม่บท

การนำมาตรา 7 มาใช้มิได้เจาะจงเฉพาะกรณีการตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่ก็มิได้ยกเว้นกรณีดังกล่าวยังมีกรณีอื่นอีกมาก รวมทั้งกรณีที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ที่เราสามารถใช้มาตรา 7 โดยจะประกาศหรือมิประกาศก็ตาม เพื่อเป็นเครื่องมือรักษาประชาธิปไตยและแก้ข้อขัดข้องในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตัวอย่างการนำมาตรา 7 มาใช้ มีอยู่ 4 กรณีใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1. กรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในเมื่อเกิด “Void หรือ สุญญากาศ” ทางการเมืองตามคำอธิบายของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว

2. กรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่องค์ประกอบ เงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาแห่งกรณีนั้นๆ เกิดขัดข้องหรือหายไป หรือนำมาปฏิบัติมิได้ เช่น องค์กรอิสระไม่มี หรือเลือกไม่ทันกำหนหากไม่ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการทดแทนจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน สวัสดิภาพของบ้านเมืองหรือความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย เช่น กรณีที่ไม่มี ป.ป.ช.ที่อาจจะใช้อัยการพิเศษ ศาลยุติธรรม หรือศาลคดีนักการเมืองแทนเป็นต้น

3. กรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาได้ แต่มีความบกพร่องอย่างรุนแรงในด้านองค์ประกอบและความชอบธรรม เช่น กรณีการเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง และดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ วิเคราะห์ตรงกันในรายการโทรทัศน์ เมื่อคืนวันที่ 6 มีนาคมว่า เมื่อปฏิบัติจะเกิดวิกฤตและผลเสียหายตั้งแต่ต้นจนจบและหลังจากนั้นไปอีก เป็นต้น อย่างนี้ก็เข้าหลัก clear and immediate danger ในทฤษฎีรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องแก้ไขเสียแทนที่จะปล่อยเลยตามเลย

4. กรณีอื่นๆ ที่เกิดการสะดุดหยุดลงของรัฐธรรมนูญ ตามตัวอย่างของนายจาตุรนต์ ทางโทรทัศน์ในคืนเดียวกัน คือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีรักษาการและคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออก ถูกออกหรือเลิกปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งเกิดสุญญากาศในทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงมิได้ และผมคิดต่อว่าถ้าหากมีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยตายหรือถอนตัวจากการสมัครอะไรจะเกิดขึ้น ที่แน่ๆ คือเปิดสภาและตั้งรัฐบาลไม่ได้ กรณีเช่นนี้จะต้องอาศัยมาตรา 7 อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ถ้าเช่นนั้น ทำไมไม่นำมาใช้แบบตัดต้นไฟแต่หัวลมเสียเลยเล่า

ผมขอกล่าวถึงการงดใช้รัฐธรรมนูญอีกเล็กน้อย แท้ที่จริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องที่แปลกประหลาดหรือใหญ่โตจนเกินเหตุดังที่ผมได้อธิบายมาแล้ว ผมใคร่ขอย้ำ spirit หรือจิตวิญญาณของระบบรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดให้การงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการรักษามิใช่ทำลายรัฐธรรมนูญนั้น ก็ด้วยเกรงว่าในเวลาเกิดวิกฤตจะมีผู้ที่ฉกฉวยโอกาสงดใช้รัฐธรรมนูญและปกครองตามอำเภอหรือเป็นเผด็จการลูกยาว จึงได้มีจารีตและข้อกำหนดในเรื่องการงดใช้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการใช้จารีตในมาตรา 7 หากจะเป็นข้อยกเว้นต้องเป็นเวลาที่สั้นชั่วคราวและได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชน

ผมขอย้ำและยกตัวอย่างซ้ำอีกว่า การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้นเป็นมาตรการเพื่อรักษาระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่จะต้องมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ไม่ปกติธรรมดาเกิดขึ้น ได้แก่ เกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง เกิดสาธารณจลาจล การสู้รบหรือสงครามกลางเมือง จำเป็นจะต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่างของประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ในการเดินทางไปสู่บางแห่งบางเวลา การทำลายบ้านเรือนเคหสถานเพื่อป้องกันการลุกลามของภัยพิบัติ เป็นต้น ในประเทศไทยมีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราอยู่บ่อยๆโดยไม่มีการประกาศ หรือประกาศเป็นอย่างอื่น เช่น ภาวะฉุกเฉิน หรือพระราชกำหนดให้อำนาจพิเศษกับรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เช่นการสังหารผู้ต้องหาค้ายาเสพติดหรือผู้ต้องสงสัยในภาคใต้ เป็นต้น ทุกกรณีที่กล่าวมาล้วนแต่ร้ายแรงและมิพึงปรารถนายิ่งกว่าการใช้อำนาจในมาตรา 7 เพื่องดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งจะเป็นเฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันขัดข้องและจะต้องยึดจารีตและครรลองประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดขบวนการ มาตรการหรือองค์กรที่เป็นประชาธิปไตยและใช้อำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตยได้

มีข้อพิจารณาเหลืออยู่อีกเพียง 2 ประการเท่านั้น คือ 1. มีจารีตประชาธิปไตยถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยหรือไม่ และ 2. จะต้องรอคอยให้เกิดภัยพิบัติ หรือการต่อสู้ฆ่าฟันกันจนเลือดนองแผ่นดินเสียก่อนหรือจึงจะใช้มาตรา 7 และการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ข้อสุดท้ายนี้ตามหลักวิชารัฐธรรมนูญตอบได้ว่า ไม่ต้อง หากมี่สิ่งที่เรียกว่า Clear and Immediate Danger คือภยันตรายที่เห็นได้ชัดและใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว ก็ให้นำเครื่องมือป้องกันรัฐธรรมนูญมาใช้ได้ โดยมิต้องคอยให้สายเกินไป

เมื่อคืนวานนี้ ผมได้รับโทรศัพท์จากอดีตทหารเรือท่านหนึ่งซึ่งเคยไปรับราชการอยู่ที่ออสเตรเลียนาน ท่านอยากจะนำวิดีโอมามอบให้ เป็นเรื่องราวที่พระราชินีอังกฤษโดยข้าหลวงใหญ่ใช้พระราชอำนาจพิเศษปลดนายก็อท วิตลัม ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งเซอร์มัคคอล์ม เฟรเซอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ผมขอบคุณและฟังท่านบ่นต่อว่า นายกฯ ทักษิณมิใช่ลูกผู้ชาย หากเป็นชายชาติทหารเหมือนศิษย์เก่านายร้อยนายเรือป่านนี้ต้องลาออกไปนานแล้ว ไม่ปล่อยให้บ้านเมืองเดือดร้อนเพราะตัวคนเดียว แล้วท่านก็ยกตัวอย่างพลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรม พลเอกชวลิต พลเอกสุจินดา ผมได้แต่รับฟัง มิได้สวนตอบไปว่า ก็เพราะท่านเป็นแค่พันตำรวจโทนี่ครับ กับทั้งยังมิเคยได้ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาตามที่คุยโม้ไว้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น