xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีไร้ระเบียบกับซุนหวู่

เผยแพร่:   โดย: ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

นักวิชาการหลายคนที่สนใจเรื่องระบบซับซ้อน(complex system) ได้แบ่งประเภทของความซับซ้อนไว้อย่างน่าสนใจว่ามันมีด้วยกัน 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ความซับซ้อนที่มีพลวัต(dynamic complexity) ความซับซ้อนทางสังคม( social complexity ) และความซับซ้อนที่บานปลาย(generative complexity) ถ้าระบบใดที่ความซับซ้อนยังมีดีกรีต่ำการแก้ปัญหาแบบวิธีเดิมก็พอจะเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าระบบใดที่มีความซับซ้อนสูงจนถึงขั้นสูงยิ่ง วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว เช่นวิธีการ “สั่งการและควบคุม”(command and control) จะไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะระบบที่มีความซับซ้อนสูงจะไม่ทำงานดุจดังเครื่องจักรที่เดินไปเป็นเส้นตรง และยิ่งความซับซ้อนทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมาปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกัน ระบบมันจะเดินไม่ปกติ มันจะคดเคี้ยวพลิกผันได้ง่าย สถานการณ์และพฤติกรรมของระบบจะขึ้นๆลงๆ มีทิศทางที่คาดเดายาก ระบบใดก็ตามเมื่อเข้ามาอยู่ในสภาวะเช่นนี้จะเปราะบาง กระทบง่ายเรื่องเล็กๆสามารถส่งผลกระทบปฏิกริยาลูกโซ่และมีการป้อนกลับกันไปมาเชิงยกกำลัง(reinforcing feedback) จนบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทฤษฎีไร้ระเบียบหรือบางคนเรียกว่าทฤษฎีโกลาหล(chaos theory) ได้พูดเชิงอุปมา “ผลกระทบผีเสื้อ”(butterfly effect) ผลกระทบผีเสื้อนั้นคนไทยเราน่าจะยังจดจำกันได้ดีเพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับสังคมไทยมาแล้วสองครั้งในเวลาไม่ถึง10ปี

ครั้งแรกคือเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในกรุงเทพฯแล้วเป็นโรคระบาดลามไปทั่วทั้งทวีปเอเซียจนกระทบไปถึงทวีปอเมริกาใต้ที่ฝรั่งเรียกว่า “โรคระบาดต้มยำกุ้ง” เหตุการณ์เชิง “ผีเสื้อกระพือปีก”ครั้งที่สองก็เป็นกรณีที่หนังสือพิมพ์เขมรอ้างว่า “น้องกบ”สุวนันท์ คงยิ่งกล่าววาจาดูถูกคนเขมรทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงคนไทยจนเกิดบานปลายถึงขั้นเผาสถานทูตไทยและกิจการร้านค้าของคนไทย จากเรื่องที่ไม่มีอะไรกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศ

ทฤษฎีไร้ระเบียบเตือนให้เราคิดและทำด้วยจิตปัญญา(contemplative thinking) ให้มองเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดของระบบ และตระหนักต่อสภาพอ่อนไหวเปราะบางของระบบเมื่อมันเคลื่อนตัวไกลออกมาจากจุดสมดุลย์(far from equilibrium) ทฤษฎีไร้ระเบียบย้ำอย่าหนักแน่นว่าการจัดการกับสถานการณ์ที่อ่อนไหวยิ่งเช่นนี้ไม่ควรใช้กำลังและความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาเพราะจะยิ่งทำให้ทำให้เรื่องราวเลวร้ายลงไปกว่าเดิมอีก

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของจิม จิเมียน( Jim Gimian) ที่เขียนลงในนิตยสาร Shambhala Sun ฉบับมกราคม 2544 เขาได้ตีความตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ไว้อย่างน่าสนใจ และผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์สังคมและการเมืองที่เปราะบางกระทบง่าย ณ เวลานี้

ซุนหวู่ได้ย้ำ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องทำสงคราม ซึ่งหมายถึงการเอาชนะความขัดแย้งโดยไม่ต้องใช้กำลังนั่นเอง จิมพูดว่าจะทำเช่นนี้ได้ ต้อง taking whole หรือหมายถึงต้องคิดเป็นองค์รวม ต้องเห็นภาพใหญ่ทั้งหมด คือ เห็นทั้งตัวเรา เห็นคู่ต่อสู้และเห็น “ฟ้า”คือสภาพที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เป็นอิทธิพลที่เราทำอะไรไม่ได้ แต่เราอาจจะมี ญาณทัศน์(intuition) พอจะสัมผัสได้บางๆ(sense) ว่าจะเป็นอย่างไรหรือไปทิศใด ขณะเดียวกันเมื่อรู้ฟ้า แล้วก็ต้องรู้ดิน ดินคือสภาพการณ์หรือสถานการณ์ที่เป็นจริงในเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร เราและคู่ต่อสู้ยืนอยู่ตรงไหน และอย่างไร ดินหรือสถานการณ์เองก็ไม่ได้นิ่ง มันเคลื่อนตัวไปมา เราจำเป็นต้องตระหนักต่อสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ข่าวสารข้อมูลที่แม่นยำเป็นสิ่งจำเป็น ผู้นำจะต้องมีอารมณ์สงบรักษาความแจ่มชัดในการพินิจพิจารณาตลอดเวลา สายตาต้องไม่ฝ้ามัวด้วยความโกรธหรือมิจฉาทิฐิ

จิมพูดถึงศิลปะของซุนหวู่ในการทำงานกับความปั่นป่วนและไร้ระเบียบ (chaos) ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ “แก่นแท้ของการยุทธ์ และชีวิตที่แท้จริงมักจะทำนายให้แม่นยำได้ยาก มันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสับสนวุ่นวาย ความไร้ระบียบมันเกิดขึ้นเมื่อกติกาเก่า กฎเกณท์เก่าและระบอบเก่ากำลังจะหมดสภาพ แต่ระเบียบใหม่ กติกาใหม่และระบอบใหม่ก็ยังไม่ทันเกิด มันเป็นห้วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่ และเป็นอันตรายเมื่อสรรพสิ่งที่ดูข็งแกร่งได้แตกลงเป็นเสี่ยง ผู้นำที่ชาญฉลาดจะไม่หวั่นไหวกับความปั่นป่วนเขายังสงบเยือกเย็นเพราะเห็นภาพรวม เพราะท่ามกลางความปั่นป่วนสับสนนี้เขาได้เห็นร่องรอยของระบบที่กำลังฟอร์มตัวขึ้นมา ดังเช่นท่ามกลางความดกลาหลวุ่นวายของพายุเฮอริเคนที่เคลื่อนตัวแถบชายฝั่งดูเสมือนทำนายยาก เราสามารถมองเห็นรูปร่าง( pattern) ของมันได้ ความไร้ระเบียบกับความเป็นระเบียบจึงเป็นสองด้านของเหรียญ ทั้งสองส่วนนี้แหละประสบการณ์องค์รวมของเรา เราเห็นความดีและความชั่ว เห็นความไม่เป็นธรรมกับความยุติธรรม เห็นทั้งความสับสนและความแจ่มชัด รู้ว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันและกันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ความไร้ระเบียบเกิดจากความมีระเบียบ
ความกลัวเกิดจากความกล้า
ความอ่อนแอเกิดจากความเข้มแข็ง”

ห้วงเวลาที่มีความไร้ระเบียบเกิดขึ้นมักเป็นช่วงที่มีความยากลำบากและทุกข์ใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นห้วงเวลาที่มีพลวัต เป็นเวลาของการเปิดกว้างครั้งใหญ่ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น มันเป็นโอกาสของการสร้างสรรค์ ผู้นำที่ฉลาดต้องมองทะลุเรื่องนี้เห็นศักยภาพของสรรพสิ่งที่กำลังก่อตัวแล้วชื่นชมมัน เพราะเขาไม่หุยดนิ่งอยู่กับที่ทำตัวได้เสมือนน้ำ ความไร้ระเบียบจึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามเขา

เมื่อความไร้ระเบียบคือห้วงเวลาที่มีพลานุภาพ เขาจึงรู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ เขาจึงไม่ด่วนลงมือปฎิบัติการเมื่อมันยังไม่สุกงอม เขารู้จักรอคอยอย่างสงบ รอคอยจังหวะที่จะใช้ “พลังฉี” แม้มันจะไม่มากแต่พลิกสถานการณ์ได้ ผู้นำจะต้องไม่คลาดสายตาจากภาพรวมไม่ปล่อยให้ “เฉพาะส่วน”ที่มาทำลาย “ส่วนใหญ่” เขาจึงฝึกฝนตนเองให้มีความลุ่มลึกในวิธีพิจารณา มีสติ และปล่อยวางพฤติกรรมเดิมๆ เขาเห็นทั้งหมด เห็น “ฟ้า” เห็น “ดิน” เห็น คู่ต่อสู้ และเห็นตนเองทั้งอารมณ์ความรู้สึก จิตใจทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของตนโดยไม่เข้าข้างตนเอง

สังคมไทยได้ก้าวมาถึงจุดที่มีความเป็นไปได้ทุกอย่าง เรามองเห็นการฟอร์มตัวของสิ่งใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่หลังเมฆดำทมึนหรือไม่ว่ายังมีดวงสุริยานับพันดวงที่กำลังรอจะฉายแสงออกมา Scott Peck ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า A World is Waiting to Be Born เราตระหนักกันใหมว่า “สังคมไทยที่มีพลังเข้มแข็งของพลเมืองกำลังรอที่จะผุดบังเกิด”

พวกเราทุกคนคือผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลง การเป็นผู้นำที่แท้คือทำสิ่งที่ดีให้เป็นจริง เวลาของผู้นำยุคใหม่มาถึงแล้ว เพราะท่ามกลางความไร้ระเบียบนี่แหละคือโอกาสที่ระบบที่เราปรารถนากำลังก่อรูป

เห็นหน่ออ่อนอันงดงามมีวุฒิภาวะของเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยไหม?

ทำไมเราคนไทยจึงไม่ช่วยกันให้ความใฝ่ฝันอันดีงามของเด็กๆเหล่านี้ได้เป็นจริง

ดูภาพใหญ่ที่เป็นอนาคตของชาติเราไว้ ให้แจ่มชัด รักษาอารมณ์ความรู้สึกและความกล้าหาญในการก้าวข้ามกรอบเดิมๆให้ดี อีกไม่นานวันเราจะสู่ “ภพใหม่”ของสังคมพลเมืองกันแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น