xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณยอมตายดีกว่าทำชั่ว?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

สุวัฒน์ ทองธนากุล

มีคนถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจ "ยุบสภา" เป็นเกมถอยหรือรุก
เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็ยังพูดเชิงเยาะเย้ยกระแสต่อต้าน และการชุมนุมขับไล่ที่ขยายวงอย่างกว้างขวาง
"การลาออก หรือยุบสภา ต้องชาติหน้าตอนสายๆ" เป็นประโยคเด็ดที่เจ้าตัวพยายามแสดงความมั่นใจ ถึงแม้อาจอยู่ในภาวะ "ปากกล้า ขาสั่น" ก็เป็นได้
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมกลืนน้ำลายตัวเองที่เพิ่งพูดไปหยกๆ โดยประกาศ "ยุบสภา" ในเย็นวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ก็ถือว่าเป็นการล้มกระดานแบบยอม "เสียหน้าดีกว่า จนแต้ม"
เป็นการแก้เกมก่อนถึงวันชุมนุมใหญ่วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ท้องสนามหลวง
ก็ถือว่าเป็นทางออกของคนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นปัญหา เป็นเป้าที่ "องค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่่อประชาธิปไตย" ผนึกกำลังกันเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงื่อนไข
มีการออกคำประกาศที่ชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีคนนี้มักแอบอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แต่ใช้อำนาจบิดเบือนและทำลายเจตนาของระบอบประชาธิปไตยที่มี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง
รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักของกระบวนการตรวจสอบ- ถ่วงดุล เพื่อป้องกันการฉ้อฉลประพฤติมิชอบ โดยให้ยึดหลักการบริหารที่เป็นธรรมและโปร่งใส รวมทั้งการรับรองสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
แต่หลักการที่ว่าก็ถูกทำลายลงอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสารมวลชน หากมีอิสรเสรีภาพ ก็จะเป็นกลไกช่วยตรวจสอบและส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส
แต่ทุกวันนี้สื่อโทรทัศน์และวิทยุส่วนใหญ่ถูกควบคุมให้เสนอข่าวสารที่เอาใจผู้นำรัฐบาลเป็นหลัก
จะมีก็เพียงสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นของเอกชนที่ได้รายงานข้อเท็จจริง และให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากล
การเคลื่อนไหวของประชาชนชั้นกลาง นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และแม้กระทั่งนักเรียนที่ตื่นตัวกับข่าวสารจึงได้ ออกแถลงการณ์สอดคล้องกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ" ชินวัตร ขาดความชอบธรรมในตำแหน่งผู้บริหารประเทศ เพราะขาดจริยธรรมในความเป็นผู้นำที่ดี
กระแสการไม่เชื่อถือ ไม่ยอมรับในตัวผู้นำรัฐบาลแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางทุกภาคส่วนของสังคม
จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจผ่าทางตัน โดยเลือกการ ยุบสภาด้วยความหวังว่าจะมีคนเชื่อตามเหตุผลที่แถลงว่า เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวที่ไม่พอใจผู้นำรัฐบาลก็ขอคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งใหม่ว่าจะเลือกให้กลับมาบริหารอีกหรือไม่
กลยุทธ์นี้จึงเป็นการเบี่ยงตัวเองออกจากเป้าที่ถูกจี้เรื่องความบกพร่องในการบริหารที่มีประเด็นคาใจมากมาย
เฉพาะที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ยกเป็นประเด็นผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ก็ได้ถึง 40 ข้อ
จนแม้ท้าให้ออกรายการโทรทัศน์แบบตัวต่อตัวให้สังคมได้รับรู้และตัดสินถูกผิด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็กลับนิ่งเฉย
เมื่อใช้วิธีการ "ยุบสภา" นั่นเท่ากับเอาคำว่า "ระบอบและกติกา" มาใช้เป็นเครื่องมือให้ร้ายคนที่ไม่เห็นด้วยว่าไม่รักษาระบบไม่เคารพกติกา
ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งเห็นคล้อยตามเพราะเห็นว่า เป็น การแก้ปัญหาภายใต้ระบบและกติกาที่มีอยู่
ซึ่งฟังดูก็เหมือนดี
แต่ปัญหาที่ยังคงอยู่ก็คือ ความน่าเชื่อถือในตัวคนที่ถูกประท้วงขับไล่ด้วยประเด็นขาดจริยธรรมในการบริหาร แต่่ยังรักษาการในตำแหน่งที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือกลไกควบคุม การเลือกตั้ง
แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.จะเป็นองค์กรอิสระแต่ภาพลักษณ์ผลงานที่ผ่านมาก็เป็นที่เชื่อกันว่าถูกแทรกแซง
ปฏิกิริยาการไม่ยอมรับการยุบสภาจึงตามมา เพราะเห็นว่าไม่ใช่การแก้ปัญหา ตราบเท่าที่เป็นกติกาเก่า และมีโอกาสได้คนเก่าที่มีปัญหากลับมา
แม้แต่พรรคฝ่ายค้านก็ยังกลัวจะกลายเป็นเครื่องมือ ฟอกรัฐบาลเจ้าปัญหา ที่จะใช้ผลการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างความชอบธรรม จึงมีปฏิกิริยา"คว่ำบาตร" ไม่ส่งคนลงสมัครแข่ง ซึ่งหากมีมติของแนวร่วมออกมา เช่นนั้น ก็ไม่ใช่ประเด็นกลัวแพ้ และเป็นสิทธิ์ที่จะไม่ร่วมในเกมของฝ่ายรัฐบาลหากเห็นความไม่ชอบธรรมที่จะเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ก็มีสิทธิ์แสดงปฏิกิริยาไม่ยอมรับได้ หากเห็นว่าไม่เป็นธรรม
เพราะหลักการ "ประชาธิปไตย มิใช่มีแค่ "การเลือกตั้ง" และประชาชนไม่ใช่เครื่องมือนักการเมืองที่ตีค่าว่ามีอำนาจแค่ 4 วินาที ในวันหย่อนบัตรลงคะแนนเท่านั้น
ขณะที่ผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเข้ามาบริหารประเทศก็ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมของคะแนนเสียงจากประชาชน ที่จะไปก่อกรรมฉ้อฉลหรือทำโครงการของรัฐเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวได้
ดังนั้น ข้อความท้ายจดหมายเปิดผนึกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีไปถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยและคนของพรรคนำไปแจกชี้แจงชาวบ้านที่ว่า
"ขอได้โปรดมั่นใจว่า ผมขอยอมตายดีกว่าที่จะทำชั่ว และผมจะไม่ยอมทำลายความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ผม"
ก็น่าประทับใจดีอยู่หรอก หากว่าจุดยืนในความเข้าใจว่า อะไรเป็นการ "ทำชั่ว" นั่นตรงกับสิ่งที่ผู้มีคุณธรรมเข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น