xs
xsm
sm
md
lg

การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณก็ตัดสินใจยุบสภา ทั้งๆ ที่ชอบอ้างว่าประชาชน 19 ล้านเสียงเลือกตัวมา แสดงให้เห็นว่าเสียงเหล่านั้นไม่มีความหมายอะไรเลย หากเสียงที่เลือกมามีความหมาย นายกรัฐมนตรีก็ควรยืนหยัดต่อไป การชุมนุมวันที่ 26 ก.พ.ก็กำลังจะเกิดขึ้น แสดงว่านายกรัฐมนตรีเกรงกลัวกลุ่มคนที่ตนเคยปรามาสมาตลอดว่าไม่มีความหมาย และเป็นกฎหมู่

ที่สำคัญก็คือ การยุบสภาจะทำเมื่อใดนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ เพียงแต่ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้ มีการกระทำเป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยมีหลักว่าจะใช้ธรรมเนียมนี้ก็ต่อเมื่อมีความขัดแย้งกันระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านในสภา มักจะเป็นเพราะสองพรรคหรือหลายพรรคมีที่นั่งใกล้เคียงกัน แล้วสมาชิกพรรครัฐบาลเกิดไปลงคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้านหรือเกิดความวุ่นวายในรัฐสภา หรือภายในพรรครัฐบาลเอง

ดังนั้น การยุบสภาครั้งนี้จึงผิดธรรมเนียมที่ทำกันในระบบการปกครองแบบรัฐสภา การผิดธรรมเนียมครั้งนี้แปลง่ายๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำผิดธรรมเนียมใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ

คำถามมีต่อไปว่า เมื่อผิดธรรมเนียมเช่นนี้ พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะมีปฏิกิริยาอย่างไร การไม่ยอมร่วมสังฆกรรมโดยไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง จึงเป็นทางเลือกที่ดีไม่ต้องคิดถึงเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว ประชาชนก็จะมีทางเลือกคือไปเข้าคูหาแต่ไม่กาบัตร เป็นการแสดงว่าไม่ต้องการเลือกพรรคไทยรักไทย และหากพรรคไทยรักไทยยังดื้อด้านจัดตั้งรัฐบาลก็จะมีพรรคเดียว แต่พรรคไทยรักไทยก็คงไม่รู้สึกอะไร เพราะเท่าที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

ระบอบทักษิณก็จะแสดงธาตุแท้ออกมาอย่างแจ่มแจ้ง เพราะ ส.ส.พรรคไทยรักไทยเชื่องมากๆ อยู่แล้ว ไปๆ มาๆ อำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารก็จะรวมอยู่ในตัวนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว

คนที่กล้าคิดกล้าทำเช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่ปากพูดว่าจะไม่ทำนั้น ผมสงสัยมากว่าน่าจะเป็นคนป่วย บางคนป่วยแต่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนโรคจิตบางประเภท มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “เขาปล่อยให้คนป่วยบริหารประเทศ” ผมไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณเคยอ่านหรือยัง

คราวนี้มาพูดถึงพรรคการเมืองที่ไม่ยอมร่วมสังฆกรรม และพันธมิตรประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองภาคสองบ้างว่าจะทำอย่างไร

การปฏิรูปการเมืองไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาพการณ์เช่นนี้ เพราะเราไม่อาจเชื่อถือ พ.ต.ท.ทักษิณได้

มีวิธีเดียวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน และจะรวมอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยบางคนก็ได้ วุฒิสมาชิก และกลุ่มผู้เรียกร้องได้มีการปฏิรูปการเมืองทั้งหมด ต้องถวายฎีกาอีกครั้งหนึ่งขอให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ยังไม่ให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ

เมื่อมีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ก็ควรงดใช้มาตราที่เกี่ยวกับที่มาของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและมาตราที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องถูกยุบไปโดยปริยายเพราะองค์กรเหล่านี้ถูกแทรกแซงครอบงำจนผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เราก็จะเริ่มต้นใหม่ โดยไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบกัน

สิ่งที่รัฐบาลรักษาการจะต้องดำเนินการก็คือ การตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมาควบคุมดูแลการเลือกตั้ง โดยควบคุมการพิมพ์บัตรเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด และดูแลมิให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอเข้าไปให้คุณให้โทษผู้สมัคร

หากทำได้เช่นนี้ ประชาชนจึงจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้ และเราก็จะมีการปฏิรูปการเมืองรอบสอง แต่ไม่ใช่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณทำตามอำเภอใจตนเองแล้วมาให้เรายอมรับผลการเลือกตั้ง และเลิกชุมนุมเลิกวิพากษ์วิจารณ์ตน

ในเวลาเดียวกัน ขอให้อาจารย์หมอประเวศ คุณอานันท์ ปันยารชุน และผู้ซึ่งคนนับถืออีก 2-3 คน เป็นคณะกรรมการอิสระทำการสอบสวนการกระทำที่เป็นผลเสียหายต่อประเทศชาติ เช่น การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ การซื้อเครื่องบินการบินไทย และการเปิดเส้นทางการบินบางสาย เป็นต้น

ผมขอให้วุฒิสมาชิกรวมตัวกันเป็นเจ้าภาพขอไลเซนส์จากกลุ่มพันธมิตรเพื่อถวายฎีกา การถวายฎีกาครั้งที่แล้วเป็นการกล่าวโทษนายกรัฐมนตรี เมื่อกล่าวโทษแล้วต่อไปก็น่าจะมีการถวายฎีกา เพื่อขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น