xs
xsm
sm
md
lg

จากเตียงคนไข้ถึงนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

กุมภาพันธ์ 2549

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ผมกลับจากลอนดอนแล้วครับ มีของมาฝากท่านนายกฯ คือศัพท์สงครามภาษากรีก ทับเป็นอังกฤษว่า Phyrric Victory แปลเป็นไทยได้ 2 นัยว่า ชัยชนะบนความฉิบหาย หรือชัยชนะบนอนาคตอันผุยผง

นั่นก็คือ ชัยชนะของตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมา

บรรดาผู้คนจากสูงถึงต่ำที่ความเห็นไปคนละทางสองทาง ต่างก็พากันฝากความหวังไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้สงบเย็นลงสักระยะคราวนี้ศาลคงไม่กล้าเบี้ยว

แต่ผมรู้จักมาตรฐานของศาลนี้มาแต่ต้นแล้วเมื่อดร.ชัยอนันต์ลาออก ต่อมาในการแข่งขันระหว่างศาสตราจารย์ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล กับนายศักดิ์ เตชาชาญ ซึ่งเทียบคุณวุฒิทางกฎหมายแล้วต่างกันราวฟ้ากับดิน ดร.ไพศิษฐ์เป็นนักเรียนทุนหลวง จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ปริญญาเอกจากเยอรมนี กลับมาได้เนติบัณฑิตไทย เคยอยู่กฤษฎีกา เป็นคณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เลขาธิการรัฐสภา ฯลฯ วุฒิสภากลับไปเลือกนายศักดิ์ ซึ่งเป็นแค่ น.บ.(เกียรตินิยม) ได้ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ เข้ามหาดไทยเป็นผู้ว่าฯ และเลขาธิการ รพช.มิได้ประกอบอาชีพทางกฎหมายแม้แต่น้อย อย่างนี้เด็กอมมือก็รู้ว่าดร.ไพศิษฐ์ ตายเพราะยาสั่ง

ผมได้กล่าวในจดหมายฉบับแรกแล้วว่ากรณีซุกหุ้น 2 นี้ ท่านนายกฯ ไม่มีทางรอด เพราะมันเข้าข่าย Mala Prohibita ยกเว้นแต่ท่านนายกฯ จะพิสูจน์ได้ว่าหลักฐานที่นำมาอ้างนั้นไม่จริง ข้อสันนิษฐานแวดล้อมอื่นๆ ที่จะเป็นโทษต่อท่านนายกฯ ในคดีความธรรมดา เช่น คุณหญิงก็ซุกหุ้น ลูกท่านนายกฯ ก็ซุกหุ้นถูกปรับมาแล้ว ท่านนายกฯ ก็ซุกหุ้นแต่เป็นความบกพร่องโดยสุจริต ท่านนายกฯ ประกาศว่าใครไปตั้งบริษัทพรางตาที่เกาะเวอร์จินไอร์แลนด์เป็นคนไม่รักชาติ ฯลฯ เหล่านี้จะไม่อาจนำมาเป็นข้อต่อสู้ท่านนายกฯ เว้นแต่ในศาลประชามติของผู้ที่รู้ความ

ผมเองก็แก้ต่างแทนท่านนายกฯ ว่าการขายหุ้นก็ดี การไม่ต้องเสียภาษีก็ดี เหตุผลของทนายท่านนายกฯ ของกรมสรรพากร ของรัฐมนตรีคลัง ล้วนแต่ถูกต้องทั้งสิ้น บริษัทอื่นๆ ก็เคยทำ และในอนาคตก็จะมีคนทำอีก และก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับบริษัทชิน แต่เขาเหล่านั้นมิใช่นายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศมีหน้าที่จะต้องคิดว่า จริงอยู่ ถึงจะถูกกฎหมาย แต่กฎหมายก็อาจจะไม่ถูก หรืออย่างน้อยก็นำมาใช้ผิดเจตนารมณ์ ที่ออกกฎหมายนี้มานั้นเพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นโดยให้ผู้เล่นรายเล็กรายน้อยมีแรงจูงใจยกเว้นภาษี จะได้มาลงทุนมากๆ ตลาดหุ้นจะได้ค่อยๆ พัฒนาโตขึ้นอย่างมีสุขภาพ มิใช่ปล่อยให้ขาใหญ่ชักเข้าถอยออกๆ พอได้จังหวะก็ซัดโครมวันเดียวใหญ่ท่วมตลาดธรรมดาตั้งหนึ่งอาทิตย์ หรือถ้าจะยืนยันว่ากฎหมายถูก จังหวะการออกกฎหมายและจังหวะการถือเอาประโยชน์จากกฎหมายนั้นๆ ก็ไม่ถูก จู่ๆ พอกฎหมายออกได้ 2 วัน ก็ขายโครม แสดงว่าได้มีการเตรียมการมาเป็นขั้นตอน จะนานกี่ปีก็ตาม มันก็ผิด และผิดตรงที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมน้อยไปหน่อย การข่มเหงน้ำใจคนไทยก็ถือได้ว่าเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างหนึ่ง

ท่านนายกฯ ลองเอาฝ่าเท้าตรองดูหน่อย เหตุไฉนบุคคลที่ท่านนายกฯ ควรจะกตัญญูที่สุด เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดทางการเมืองของท่าน จึงกระโดดออกมาเข้ากับขบวนการพันธมิตรขับไล่นายกรัฐมนตรี แถมยังประกาศว่าไม่ออก ไม่เลิก พลตรีจำลองท่านประพฤติธรรม ยึดมั่นในความจริง ไม่กล่าวร้ายใคร ความข้อนี้ประจักษ์ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือคนหนึ่งของเมืองไทย ผมว่าฟังท่านเอาไว้เถิด

เทคนิคการควบคุมข่าวแบบ “โกหก ปกปิด บิดเบือน” ที่รัฐบาลนำมาใช้ เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างฉกรรจ์ อันนี้แหละที่ทำให้คนเข้าร่วม “ปรากฏการณ์สนธิ” เพิ่มขึ้นทุกวันจนกลายเป็นพันธมิตรประชาธิปไตยที่ใหญ่โตมหึมา เต็มไปด้วยคุณภาพ ความหลากหลาย และน่าเชื่อถือ ท่านนายกฯ กลับบอกว่าไม่มีอะไร นักวิชาการส่วนน้อย หลงผิด มองโลกด้านเดียว โกรธที่ขอของแล้วไม่ให้ ฯลฯ

ลองตรวจรายชื่อดูลวกๆ จะเห็นว่ามี นายกราชบัณฑิต อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หมอหลวง กรรมการสิทธิมนุษยชน อดีตผู้ว่ารัฐวิสาหกิจที่มีสัมฤทธิผลที่สุดของประเทศไทย ราษฎรอาวุโส อดีตรัฐมนตรีว่าการฯ เอกอัครราชทูต วุฒิสมาชิก ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ชั้นแนวหน้าใน 2 มหาวิทยาชั้นนำเก่าแก่ที่สุดของประเทศ คือ จุฬาฯ กับธรรมศาสตร์ ถ้าจะระบุชื่อนักวิชาการที่มีศักดิ์ศรีเป็นที่เคารพเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศบางคน ก็มี ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศ.ระพี สาคริก ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ฯลฯ นี่นะหรือ คนส่วนน้อย หลงผิด ไม่พอใจ ให้เท่าไรไม่รู้จักพอ ที่ท่านนายกฯ นำไปปล้นประชาชน

ผมถึงอังกฤษเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ไม่อยากเชื่อว่าคนอังกฤษรู้เรื่องเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ที่เมืองไทยดีกว่าผม วันนั้นผมเองก็มัวแต่ไปอยู่บ้านนอก ตอนบ่ายได้เห็นผู้ใหญ่ของจังหวัดลุกพรวดพราดจากที่ประชุมว่าจะต้องไปจัดระเบียบม็อบเชียร์นายกฯ ให้ถึงหมื่น พอวันที่ 5 ผมก็ต้องไปพูดเรื่องทางออกที่ดีของเมืองไทยให้สมาชิกสถาบันวิถีทรรศน์ฟัง แล้วกลับมาเตรียมตัวเดินทาง ถามใครๆ ว่าเป็นยังไงบ้างดูทีวี เขาก็ตอบว่ามันสะกัดข่าวเกือบทุกช่องทำเป็นเหมือนข่าวกระจอก (ไม่ต่างกับโจรกระจอกภาคใต้) ยังไงยังงั้น ผมได้แต่ปลงอนิจจัง

ผมอยากเปรียบเทียบคุณภาพของบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ท่านนายกฯ กับ 19 ล้านเสียงรวมทั้งพวกที่กลไกของรัฐของพรรคระดมมาเชียร์ พวกแรกเราอาจจะเรียกว่า political rearguard ที่กลายมาเป็น vanguard หรือกองหน้าทางการเมืองของประชาชน พวกนี้สำคัญมากเพราะเป็น critical mass คือมวลชนแนวหน้า ถ้าหากคนพวกนี้สามารถสื่อสารพูดให้คนส่วนใหญ่เข้าใจและเชื่อถือเมื่อใด ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพขึ้นในสังคมทันที ส่วน mass หรือมวลชนของท่านนายกฯ เป็นคนส่วนใหญ่ที่ยากไร้ ไม่มีความรู้ หวังพึ่งและหลอกง่าย เช่น ใช้มาตรการประชานิยมแบบฉาบฉวยก็จะพากันเฮมาทันที ในการต่อสู้พวกแรกเสียเปรียบเพราะขาดความอดทนเบื่อง่ายและชอบทะเลาะกัน ในขณะที่พวกหลังมีเวลาทั้งชาติ อะไรก็ได้ขอให้มีเหยื่ออ่อย จนเขาค่อยๆ ได้รับการเปิดหูเปิดตาเมื่อไรจึงจะกลับมีพิษสงขึ้นมา แปลว่าท่านนายกฯ ได้เปรียบครับ ใช้ยุทธศาสตร์สงครามยืดเยื้อ ปลุกระดมบ้านนอกเป็นกำลัง ใช้กลไกของรัฐในระบบรวมศูนย์ รวบอำนาจ เป็นทาสส่วนกลาง รอให้ขบวนการขับไล่หมดแรงเพลียไปเองทีละน้อยๆ

ผมได้ทราบว่ามีกระแสที่ท่านนายกฯ อาจจะยุบสภาฯ อย่าทีเดียวนะครับ เพราะท่านไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่น รัฐบาลขัดกันกับสภา รัฐบาลเสียงไม่พอบริหารไม่ราบรื่น กฎหมายสำคัญไม่ผ่าน และเงื่อนเวลาก็ยังไม่ให้เพราะอีกตั้ง 3 ปีจึงจะครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร ท่านนายกฯ อย่าหลงผิดเหมือนพวกไม่มีความรู้ว่า การยุบสภาฯ เป็นเอกสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรี การยุบสภาฯ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ต่างหาก นายกฯ มีเอกสิทธิ์แค่เลือกวันเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น ผมจะลอกตำรารัฐธรรมนูญอังกฤษให้อ่านนะครับ

The Queen’s reserve powers Prime Ministers and governments do not routinely request dissolutions of Parliament in circumstances which the Sovereign feels constrained to refuse. The Queen however possesses in law what I term her reserve powers which would enable her to behave in these ways is not disputed. และอีกตอนหนึ่งว่า “It is beyond doubt that the Sovereign can refuse a request for a dissolution of Parliament: the difficulty lies in identifying the situations in which such action would be constitutionally appropriate.” ผมจะยอมเสียมารยาทไม่บอกชื่อหนังสือที่คัดลอกมาเพราะอยากให้นักกฎหมายของรัฐบาลรู้จักทำการบ้านเสียบ้าง รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ในหลวงส่งกฎหมายกลับและไม่ลงพระปรมาภิไธยอีกหลายเรื่อง ผมไม่อยากเห็นความขี้เกียจหรือผยองอำนาจเป็นเจ้าเรือนรัฐบาลใดๆ ของผม

แต่ผมอยากจะบอกด้วยความภูมิใจว่าในหลวงของเราทรงเป็นหนึ่งในเรื่องที่ Sir
William Anson เขียนไว้ ดังนี้ “The King or Queen for the time being is not a mere piece of mechanism but a human being carefully trained under circumstances which afford exceptional chances of learning the business of politics” ผมบอกท่านนายกฯ มาหลายเดือนแล้วว่าขอให้รีบพึ่งพระราชอำนาจ ก็ไม่เชื่อ ซ้ำยังมัวแต่ประกอบวจีทุจริตให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเสียอีก

ยังไม่สายเกินไปที่ท่านนายกฯ จะเป็นผู้นำในการปฏิรูป สถาปนาพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ต้องคอยอะไร ทำได้ทันที ไม่ต้องผ่านสภาฯ หรือกฎหมายที่ไหน ความจริงใจ ตั้งใจ มโนธรรมและความกล้าหาญของท่านนายกฯ คนเดียวก็พอ

1. สร้างระบบพระราชอำนาจทั่วไปคือ อำนาจแนะนำ ให้กำลังใจและตักเตือน รัฐบาล โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดวันเวลาและพิธีการที่แน่นอน เดือนละกี่ครั้งก็ตามแต่จะทรงโปรดฯ ให้นายกรัฐมนตรีเข้าถวายรายงานเช่นเดียวกับอังกฤษ

2. สร้างระบบถามนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับ Prime Minister Question ของอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรีไปตอบปัญหาในสภาฯ สัปดาห์ละหนึ่งครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมงในเวลาเดียวกันที่กำหนดตลอดสมัยประชุมสภาฯ

3. สร้างระบบให้เวลาเท่ากัน Equal Time กับหัวหน้าฝ่ายค้านในกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้กระบอกเสียงของรัฐบาลโฆษณาตนเองและพรรค

4. สร้างกองทุนประชาธิปไตยโดยนายกรัฐมนตรีบริจาคสมทบกับงบประมาณของรัฐบาล และจัดลงเป็นมูลนิธิย่อยๆ ในทุกจังหวัดอีกด้วย

รีบทำเสียเถิดครับ ท่านนายกฯ ก่อนที่จะหมดโอกาส เวลานี้ความเชื่อถือท่านในต่างประเทศหมดแล้ว ในบรรดาทูตานุทูตร่อยหรอลงทุกที ในสถาบันสังคม ศึกษา ศาสนาและในเมืองกำลังจะมอดมิด ครับไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าหากท่านนายกฯ ทำแค่ 4 อย่างข้างบนนี้ วันข้างหน้าชื่อของท่านก็จะอยู่ในประวัติศาสตร์เยี่ยงวีรบุรุษ

หากท่านเลือกที่จะไม่ทำ โปรดกรุณาอ่านพระธรรมข้างล่างนี้เพื่อเจริญสติเสียก่อนเถิด

ใน “มิลินทปัญหา” พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพระนาคเสน ตอบพระเจ้ามิลินท์ว่า

“หากบุคคลขาดคุณสมบัติที่ดี ไร้ความสามารถ ไร้ศีลธรรมจรรยา ไม่เหมาะสม ได้ขึ้นบัลลังก์มาเป็นใหญ่ มีอำนาจมากเพียงใด เขาจะถูกฉีกเนื้อ และลงทัณฑ์โดยประชาชน เพราะเขามิได้ขึ้นมาและมิได้อยู่

“ในอำนาจด้วยความชอบธรรม ผู้ปกครองเยี่ยงนี้ เหมือนผู้ปกครองทั้งหลายที่ฝ่าฝืน ทำลายศีลธรรมจรรยา และกฎเกณฑ์ของสังคม ก็จะถูกประชาทัณฑ์ เยี่ยงเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองที่ประพฤติตนเหมือนโจรปล้นสมบัติของแผ่นดิน”

พระพุทธองค์ทรงเปรียบผู้ปกครองว่า

“คนพาลผู้สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ปกครองหมู่คณะ ตกอยู่ในอำนาจจิตของตนแล้ว พึงนอนตาย เหมือนลิงจ่าฝูง นอนตายอยู่ ฉะนั้น”

ด้วยความปรารถนาดี

ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น