การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบหนึ่งสัปดาห์ก่อนการนัดเคลื่อนไหวใหญ่ที่ท้องสนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ กำลังเข้มข้นและเข้าด้ายเข้าเข็ม
วัฏจักรการเมืองไทยจะว่าไปก็แปลก คือมีวงจรเดิมๆ ที่หมุนเวียนซ้ำๆ ก่อให้เกิดสถานการณ์เดิมๆ อย่างสมัยก่อนเรามีวงจรทางการเมืองที่รู้จักกันในนาม “วงจรอุบาทว์” นั่นก็คือการหมุนเวียนซ้ำๆ ทางการเมืองในเรื่องของการเดินทางของประชาธิปไตย ที่มักจะสะดุดด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร จากนั้นก็เริ่มกันใหม่แล้วกงล้อก็วนกลับมาเจอกับการปฏิวัติรัฐประหารใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเป็นวงจรทางการเมืองไทยในสมัยทหารยังเรืองอำนาจ
อย่างไรก็ดี ในสังคมการเมืองของไทยที่ผู้คนยังไม่สิ้นหวังที่จะยึดมั่นตามกรอบกติกาประชาธิปไตย ทำให้ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของประชาชนในอันที่จะเรียกร้องอำนาจของตัวเองคืนมาเป็นผลให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อ “ไล่ทรราช” สองครั้ง ครั้งแรกคือ “14ตุลา2516” และครั้งที่สองก็คือ “พฤษภา2535”
มีการกล่าวว่า “14ตุลา2516” ทัพขับไล่ทรราชก็คือ “นิสิต-นักศึกษา” ส่วนครั้ง “พฤษภา2535” คือการต่อสู้และความสำเร็จของ “คนชั้นกลาง” ที่สื่อหลายฉบับในช่วงนั้นให้ชื่อเล่นเพื่อง่ายต่อการพาดหัวว่า “ม็อบมือถือ”
เวทีการเมืองครั้ง “14ตุลา2516” และ “พฤษภา2535” คือเวทีของความกดดันทางการเมืองในเชิงระบบและทฤษฎีทางการเมืองที่ขัดแย้งระหว่าง การเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยที่เราคิดว่าควรจะเป็นกับการเมืองกึ่งประชาธิปไตยที่ผู้กุมอำนาจคือฝ่ายทหาร ที่เราคิดว่าไม่ใช่ตัวละครของประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง
ตัวละครฝ่ายอำนาจรัฐ ทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว มีความชัดเจนในฐานะ “เผด็จการทหาร” ที่ใช้ “เวทีการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” สืบทอดทางอำนาจและพยายามยึดกุมให้อยู่ในมือ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนโดยมิต้องอธิบายความให้เสียเวลาว่า “ตัวละคร” อยู่ผิด “เวที”
เวทีของการต่อสู้ทางความคิดอันนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นภาพที่ชัดเจน ทำให้สะท้อนไปสู่เป้าหมายที่ไม่สลับซับซ้อนและอธิบายเหตุผลได้ง่าย คือการ “ขับไล่เผด็จการทหาร”
ในขณะที่ การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ ในฉากและเวทีการเมืองดังกล่าวถือได้ว่าต้องอาศัยการอธิบายความในเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เนื่องจาก “ตัวละคร” นั้นไม่ได้อยู่ผิดเวที เพียงแต่ใช้เวทีเป็นเครื่องมือทำมาหากินให้กับตัวเอง พรรคพวกและญาติโกโหติกากันอย่างสนุกสนาน ซึ่งผมและใครต่อใครหลายคน ได้เคยเล่าถึงเรื่องดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง
วันนี้ผมเลยเปลี่ยนใจมาเขียนเรื่องเบาๆ เป็นการคลายเครียดให้กับผู้อ่าน เนื่องจากบทความตลอดจนข่าวด่ารัฐบาลนั้นมีให้อ่านเยอะแยะแล้ว (อย่างบทความครั้งที่แล้ว “ทรราชยุคดิจิตอล ไล่ไม่ยากอย่างที่คุณคิด” บางคนก็บอกว่าฮาคลายเครียดดี)
ผมไม่ได้มีส่วนในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 14 ตุลา 2516 เพราะตอนนั้นเพิ่ง 2 ขวบ แต่ศึกษาจากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้อง และการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ส่วนการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคม 2535 ผมมีประสบการณ์ตรง เนื่องจากทำหน้าที่ ผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำรัฐสภาของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นผู้สื่อข่าวประจำหน้ารัฐสภาเพราะรับหน้าที่เฝ้า “ฉลาด วรฉัตร” อดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภา)
ผมเองเป็นคนชอบเก็บของเพื่อเตือนความจำ เนื่องจากแม่ผมชอบบ่นว่าผมเป็นคนขี้ลืม บอกหรือสั่งอะไรไม่เคยจำ ซึ่งเรื่องนี้คงจะจริง เนื่องจากปัจจุบัน เมียผมก็ชอบผมทำนองเดียวกับแม่อยู่บ่อยๆ
มีคำกล่าวว่า คนไทยเรานั้นเป็นพวกลืมง่าย ผ่านไปไม่กี่ปีเราก็ลืมหมดแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าคำกล่าวนี้จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
ของสะสมอย่างหนึ่งที่ผมเก็บสะสม คือของสะสมที่เตือนให้นึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่คนแต่ละยุคแต่ละสมัยแลกมาให้คนรุ่นปัจจุบัน ด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ และน้ำตา ของสะสมที่ว่าถือเป็น “ของที่ระลึกไล่ทรราช” จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนสองครั้งที่ว่ามาข้างต้น
ของสะสมชุดแรกมีอยู่สองชิ้น บอกไปแล้วใครหลายคนอาจจะตกใจว่าของสองชิ้นนี้มาอยู่กับผมได้อย่างไร จริงๆ แล้วของสะสมชุดนี้ของผมถือเป็นของสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ นั่นก็คือ “หมวกแบเร่ต์” และ “ธงชาติ” ของคู่กาย “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ที่ติดตัวอยู่กับเขาตลอดเวลาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
หมวกแบเร่ต์และธงชาติของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” หรือที่ผมเรียกว่าอาเสก เป็นของที่พ่อผมมอบให้ผม โดยที่อาเสกเป็นคนมอบให้พ่ออีกทีหนึ่ง พ่อเล่าว่าอาเสกใส่หมวกแบเร่ต์สีน้ำตาลมอๆ นี้ระหว่างการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม 2516 จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนจำได้ ส่วนธงชาติผืนเล็กๆ ผืนนี้อาเสกเล่าให้พ่อฟังว่า ระหว่างเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายมีประชาชนคนหนึ่งเอามายัดใส่มือของเขาพร้อมร้องบอกว่า “ขอให้ปลอดภัย” ซึ่งอาเสกก็เอาธงชาติผืนนี้ยัดใส่ไว้ในอกเสื้อ
พ่อบอกผมว่า อาเสกเป็นคนเก่ง ในฐานะผู้นำมวลชนอาเสกสามารถจัดระเบียบฝูงชนได้อย่างน่าอัศจรรย์ท่ามกลางสถานการณ์ที่จัดอยู่ในระดับอภิมหาโกลาหล
ผมเองไม่ได้สนิทสนมกับอาเสกมากมายนัก แต่ผมชื่นชมอาเสกในฐานะคนกล้า ผมจึงชอบที่จะจับจ้องมอง “ของที่ระลึก” ที่เป็นของอาเสกสองชิ้นนี้ เพื่อเตือนตัวเองให้มองข้ามความกลัวในฐานะปุถุชนคนธรรมดา เตือนให้กล้าที่จะรู้จักต่อสู้กับอำนาจยิ่งใหญ่ที่บิดเบือนระบอบประชาธิปไตย
ระหว่างสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวายในช่วงนี้ ผมเอาหมวกแบเร่ต์และธงชาติมาตั้งไว้ในห้องทำงาน วางอยู่ข้างๆ ระหว่างเขียนบทความชิ้นนี้ด้วย เป็นเครื่องเตือนสติว่า ประชาธิปไตยที่ได้มาในปัจจุบัน ได้มาซึ่งหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ และน้ำตา ของคนรุ่นก่อนๆ และในฐานะประชาชนคนหนึ่งผมคิดว่าเมื่อมีโอกาส ผมก็จะพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยของเราไว้ไม่ยอมให้ใครมาปู้ยี้ปู้ยำทำมาหากินกับมัน
มีหลายคนที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้เมื่อครั้ง 14 ตุลา 2516 ที่ก้าวเข้าไปสู่วังวนของอำนาจและหลงใหลยึดติดอยู่กับมันโดยหลงลืมเจตนารมณ์ที่พวกเขาเคยต่อสู้เพื่อให้ได้มา ผมได้แต่สงสัยว่า อะไรหนอที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนไป
เหตุไรพวกเขาจึง “ลืม” เจตนารมณ์อันดีงามที่เด็กสองขวบในตอนนั้นอยากจะจดจำ แต่พวกเขาแกล้งทำเป็นลืม
ของสะสมชุดที่สองนี้ คือ “เข็มกลัดที่ระลึกไล่ทรราช” มีหลายรูปแบบหลายเวอร์ชั่น ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย และ “กระสุนปืนที่หล่นอยู่กลางถนนราชดำเนิน” ในระหว่างเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เป็นกระสุนปืนของใครหรือหน่วยไหนก็ไม่รู้ทำหล่นเอาไว้ ผมเลยเก็บมาเป็นที่ระลึก
สองสิ่งนี้ผมได้มาจากประสบการณ์ตรงเมื่อครั้งเป็นนักข่าวสายการเมือง ผมเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาไม่กี่เดือน สมัครเข้ามาเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่นาน ก็ได้พบกับบทเรียนอภิมหามหึมารับน้องใหม่ นั่นก็คือเหตุการณ์เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่สืบทอดอำนาจมากจาก “รสช.”
เหตุการณ์ผ่านมาไม่นานนัก แต่ผมคิดว่าผู้คนในยุคนั้นคงจำได้ โดยเฉพาะบรรดาพวกคนชั้นกลางที่ลุกฮือขึ้นต่อสู้จนถูกขนาดนามว่า “ม็อบมือถือ”
ประโยคดังในตอนนั้นที่ทำให้คนเจ็บจี๊ดในหัวใจ คงจะประโยคที่พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พูดถึงเรื่องการวางตัวนายกรัฐมนตรีที่ว่า “สุไม่เอาให้ตุ๋ย ตุ๋ยไม่เอาให้เต้” จนทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า “ประเทศเป็นของมึงหรือไง?” แล้วพวกเราก็ลุกขึ้นสู้
ในเวลานี้ เดือนนี้ พ.ศ.นี้ มีประโยคมากมายที่หลุดออกมาจากปากนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ผมรู้สึกคล้ายๆ กับวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามเรื่องเลี่ยงภาษี “อ่ะโธ่ อิจฉาอ่ะดิ” “ไอ้พวกที่มาชุมนุมมีแต่พวกกุ๊ย” หรือแม้แต่คำพูดที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงที่บอกว่าหากในหลวงมากระซิบก็จะยอมลาออก และมีอีกมากมายที่ทำให้บาดลึกลงไปในจิตใจ
เหตุการณ์เดือนพฤษภา2535 คือการลุกขึ้นของคนชั้นกลาง โดยเฉพาะนักธุรกิจ อาจจะเพราะคนกลุ่มนี้เห็นว่าประเทศชาติขณะนั้นหากจะเติบโตและพัฒนาไปได้จะต้องยุติการเมืองในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคเผด็จการทหารและการปฏิวัติรัฐประหารต้องจบสิ้นไปจากเมืองไทย และครั้งนั้น พวกเราก็ทำสำเร็จ
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนนักธุรกิจที่ถูกเรียกขานว่าเป็นคนชั้นกลางหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ผูกพันอยู่กับการทำกำไรในตลาดหุ้น หลายคนก็มีส่วนร่วมใน “ม็อบมือถือ” เมื่อเดือนพฤษภา 2535 น่าแปลกใจที่เวลานี้บางคนสนใจการเมืองเพียงเฉพาะที่จะเอื้อต่อการเติบโตของตลาดหุ้น บางคนบอกกับผมว่า ไม่สนใจว่านายกฯคนนี้จะเป็นอย่างไร ขอแค่ทำให้เขารวยจากตลาดหุ้นเขาก็พอใจ ผมฟังแล้วก็ได้แต่หวังว่าพวกนักธุรกิจที่ผูกพันอยู่กับตลาดหุ้นคงไม่มีความคิดเช่นนี้ทุกคน
ผมไม่เข้าใจว่า เหตุไร บางคนเลือกที่จะ “จำ” แต่เฉพาะส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์เฉพาะตัว และเลือกที่จะหลับหูหลับตาที่จะ “ลืม” หรือทำเป็นไม่เข้าใจในรูปแบบประชาธิปไตยเพื่อส่วนรวม
ผมมอง “ของที่ระลึกไล่ทรราช” ทั้งจากยุค “ตุลาคม 2516” และ “พฤษภาคม 2535” ด้วยความเชื่อที่ว่า คนไทยส่วนใหญ่ในสังคมไม่ใช่คนที่ลืมอะไรง่ายๆ และกล้าหาญที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ก็ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไป ผมจะเพิ่มของสะสมไล่ทรราชอีกสักกี่เวอร์ชัน ผมหวังว่าผมคงไม่ “ลืม” ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับมัน