xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาคือทักษิณหรือรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

ขณะนี้บางท้องที่จะมีป้ายข้อความหาว่า การเคลื่อนไหวโจมตีนายกรัฐมนตรีเป็นความวุ่นวาย
ขณะที่พระพยอมรณรงค์คำขวัญ “รักพ่ออย่าทะเลาะกัน”

ส่วนการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ออกมายกป้ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนใหญ่ก็มีต้นตอจากการสั่งของฝ่ายการเมืองข้างตัวนายกรัฐมนตรีผ่านลงไปยังกลไกราชการผู้ใต้บังคับบัญชา

สังคมจึงเหมือนมี 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน

ทั้งๆ ที่ ถ้าพิจารณาตามกระแสเนื้อหาของการทำหน้าของหนังสือพิมพ์ ก็จะรู้ประเด็นข้อมูลที่ถูกตีแผ่และการวิเคราะห์ที่เห็นความน่าสงสัยจากกรณีการขายหุ้นจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาทของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นให้กลุ่มทุนสิงคโปร์ที่ซับซ้อนซ่อนเร้นเพื่อเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษี
เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับธุรกิจครอบครัวนายกรัฐมนตรีได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่คณาจารย์หลายมหาวิทยาลัยร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ระบุการขาดจริยธรรมของผู้นำประเทศและเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง

เวทีเสวนาทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถึงพากันวิตกว่าจะเป็นปัญหาถึงขั้นต้องฉีกตำราเรียน และเป็นห่วงว่าสังคมจะทำตามตัวอย่างการเลี่ยงภาษี ที่อำนาจบารมีผู้นำทำให้กลไกราชการต่างพากันยอมรับ

ชื่อรายการ “สอนลูกให้รวย วิชาช่วยหรือกลโกง” ในรายการนี้จึงสะท้อนความรู้สึกเจ็บปวดของวงวิชาการได้ไม่น้อย

ทั้งๆ ที่ถ้าจะรณรงค์เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติก็น่าจะเป็นว่า

“รักพ่อ ต้องยอมรับความจริง”

“รักพ่อ ยุติการฉ้อราษฎร์บังหลวง”

แต่จากการตีแผ่ข้อมูลและตั้งข้อสงสัยของเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการโดยเฉพาะที่จุดประกายจากรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ทุกครั้ง

ไม่ว่าตัวนายกรัฐมนตรีหรือลูกน้องที่แสดงบทปกป้อง ก็ยังไม่เคยมีการชี้แจงตอบประเด็นสงสัยต่างๆ อย่างเจาะจงตรงๆ

จึงเห็นได้ว่า กลุ่มที่ออกมาสนับสนุนจะมีพื้นฐานที่มาจากการได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หรือเกรงกลัวอำนาจบารมีที่สั่งการลงไป

ผิดกับกระแสความไม่ยอมรับที่ขยายตัวมากขึ้น จะเกิดจากการได้รับทราบข้อมูลและเหตุผลความไม่ถูกต้องชอบธรรมที่ทำให้สังคมประเทศชาติเสียประโยชน์

ประเด็นภาษีที่ต้องเสีย แต่สร้างตัวละครเล่นบทเชื่อมโยงจนไม่ต้องเสีย

นี่ยังไม่รวมประเด็นข้อหาทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างหลายเรื่อง เช่น เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX ของสนามบินสุวรรณภูมิที่หายเงียบไป

ความจริงข้อดีของระบบประชาธิปไตยก็คือ การให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และมีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหาร

แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ถูกอำนาจของทุนเข้าครอบงำจนกลายเป็นธุรกิจการเมือง

องค์กรอิสระซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นกลไกการตรวจสอบวินิจฉัยก็กลายเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังไม่ได้

การที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยเสียงข้างมากไม่รับวินิจฉัยเรื่องที่ 28 วุฒิสมาชิกยื่นขอให้ศาลนี้พิจารณากรณีมีพฤติการณ์ครอบครองหุ้นชินคอร์ป ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าอาจขัดต่อคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209

ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่สังคมต้องการองค์กรอิสระมาชี้ขาดข้อถกเถียง และศาลรัฐธรรมนูญสามารถเรียกหาหลักฐานจากคู่กรณีมาพิสูจน์ได้

การมีมติไม่รับพิจารณา ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ความสิ้นหวังจะพึ่งกลไกในระบบ

การเคลื่อนไหวชุมนุมแสดงปฏิกิริยาเรียกร้องความถูกต้อง เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็ยิ่งจะมีมากขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ชี้ให้เห็นความเสื่อมทรุดของระบบการเมือง และแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทำให้สังคมรับรู้ผลร้ายที่ชัดเจนขึ้น จนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยอย่างกว้างขวางขึ้น

คณาจารย์ระดับนำของหลายมหาวิทยาลัยได้แสดงมติไม่ยอมรับตัวนายกรัฐมนตรี

ขณะที่นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยก็มีการอภิปรายและตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อให้ครบ 5 หมื่นชื่อเพื่อขอถอดถอนนายกรัฐมนตรี

นิสิตนักศึกษาซึ่งกลายเป็นพลังเงียบมานานกว่ายี่สิบปี ก็ยังเริ่มตื่นตัวและมีความเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง

เรื่องราวที่เกิดขึ้น มีประเด็นและข้อมูลที่มากพอแล้วที่จะสรุปว่าประเทศไทยถึงคราวที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่อีกแล้ว

โดยเฉพาะระบบการเมืองและกฎหมาย

ที่จะต้องมีหลักควบคุมไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ และการเสริมสร้างจริยธรรมควบคู่กันไปกับการทำงาน

ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่นี้ก็เป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในขั้นดี

แต่เผอิญเจอคน “เก่ง” ที่มีปัญหา “จริยธรรม” ทำให้เกิดการทำลายองค์ประกอบและกลไกสำคัญ เพราะมุ่งครองอำนาจเป็นสำคัญ

ดังนั้น การแก้เกมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนักวิชาการต่อต้านแล้วมาเบี่ยงประเด็น ด้วยการเสนองบประมาณให้ 137 มหาวิทยาลัยไปวิจัยหาประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ

นอกจากจะยื้อเวลาให้ยาวนานแล้ว มันเป็นการแก้ปัญหาถูกวิธีหรือไม่

ความจริงก็คือ คนที่ยังมีอำนาจอยู่ จะยอมให้แก้กฎกติกามาลดอำนาจตัวเองหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น