xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาข่าวโทรทัศน์ บทเรียนจากกรณีสมัคร สุนทรเวช

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา


กรณีคุณสมัคร สุนทรเวชใช้รายการโทรทัศน์ของตนที่ช่อง 5 "เช้าวันนี้ที่เมืองไทย" พูดจาจาบจ้วงต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เกี่ยวกับปาฐกถาของท่านว่าด้วยแนวพระราชดำริด้านการปกครอง จนกระทั่งเขาและคู่หูคือคุณดุสิต ศิริวรรณ ถูกตอบโต้อย่างกว้างขวางจากหลายๆ ฝ่าย จนต้องตัดสินใจอำลาจากการจัดรายการที่ช่อง 5 รวมทั้งรายการวิทยุในสื่อเครือเดียวกัน และรายการโทรทัศน์ที่ช่อง 9 ด้วย ทั้งนี้ ข่าวล่าสุดยังระบุว่าจะไม่มีการขอขมา ทั้งๆ ที่มีแรงกดดันไม่ใช่น้อยๆ นั้น

นอกจากจะเป็นอีกอาการหนึ่งของความเร่าร้อนของการเมืองยุคทักษิณ ชินวัตรที่ชักจะลามปามไปมากขึ้นทุกทีแล้ว นี่ยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงวิกฤตการณ์ของรายการประเภทข่าวๆ ในโทรทัศน์ไทยด้วย

ก่อนหน้านี้ คอลัมน์นี้ได้กล่าวถึงข่าวโทรทัศน์มาหลายครั้ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายการของคุณสมัคร สุนทรเวชและคุณดุสิต ศิริวรรณนั้น บทความชื่อ ที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์" ข้อความบางส่วนกล่าวไว้ดังนี้ :

"ข้อสังเกตก็คือทิศทางของรายการพวกนี้ การสนทนาเกี่ยวกับข่าวที่เชิญบุคคลภายนอกไปทำ มักจะเป็นไปตามพื้นเพของผู้ทำรายการ เช่น ถ้าเป็นคุณสมัคร สุนทรเวชกับคุณดุสิต ศิริวรรณ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาให้ความสำคัญกับการเข้าข้างกลุ่มที่มีอำนาจอยู่แล้ว อีกทั้งยังตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่มีอุดมการณ์ ความคิดเห็น และผลประโยชน์ไม่เหมือนกับกลุ่มที่มีอำนาจอยู่แล้วอย่างเป็นตุเป็นตะ ทั้งนี้ โดยการทำรายการมีลักษณะเป็นการใช้วาทศิลป์สั้นๆ ประเภท "กระบี่ประโยคเดียว" เพื่อยกย่องคนที่ตนชอบ หรือเสียดสีคนที่ตนไม่ชอบแบบง่ายๆ ไม่ปะติดปะต่อ และบ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่แสดงอารมณ์ โดยไม่ค่อยมีการนำเสนอเหตุผลและข้อมูลที่เป็นกลางประกอบเท่าที่ควร

กล่าวได้ว่า นี่คือรายการ "ความคิดเห็น" ล้วนๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการทำรายการแบบวิพากษ์วิจารณ์ข่าวทางวิทยุที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนที่มักจะเน้นข่าวชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกัน ทว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีขอบเขตการแพร่กระจายกว้างขวางทั่วประเทศ การนำวัฒนธรรมการพูดแบบผ่านๆ ที่เป็นความคิดเห็นล้วนๆ และค่อนข้างด้านเดียวมาเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองระดับสูง ทั้งระดับชาติและระหว่างชาตินั้น ดูจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย

นักศึกษาในโครงการบัณฑิตศึกษาต่างๆ น่าจะนำรายการอย่างนี้ไปวิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์โดยละเอียดว่า รายการเช่นนี้ผลิตเนื้อหาอะไรและด้วยวิธีการอย่างไร จะส่งผลกระทบอะไรอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งป้อมเป็นนักสรรเสริญ หรือแม้กระทั่งเป็นนักขอโทษแทนรัฐบาลตลอดเวลานั้น ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต้องนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างเป็นกลางและรอบด้าน ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับสาร เพราะสื่อที่ดีในสังคมเปิดใดๆ คงไม่ใช่โฆษกของรัฐบาลที่หาความเพลิดเพลินจากการยกย่องหรือด่าทอใครๆ เป็นกิจวัตร วันละหลายเวลาเช่นนี้"

ด้วยเหตุนี้ การที่รายการต่างๆ ของบุคคลทั้งสองหายไปจากโทรทัศน์และวิทยุจึงไม่ส่งผลอะไรกับเรื่องราวของข่าวเลย มิหนำซ้ำ ถือเป็นความก้าวหน้าด้วย เพราะพื้นที่นั้นๆ จะได้ถูกนำไปใช้อย่างอื่น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

ข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งในกรณีที่คุณสมัครจาบจ้วงพลเอกเปรม ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ในทางปกป้องคุณสมัครโดยคุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ หรือข้อเขียนของคุณโสภณ สุภาพงษ์เกี่ยวกับเรื่องราวอันสัมพันธ์กันนั้น ดูจะส่อไปในทิศทางที่ว่า รายการของคุณสมัครและคุณดุสิตนั้นได้รับการสนับสนุนจากบุคคลระดับสูงในรัฐบาลทั้งสิ้น

เนื่องจากความล้าหลังของรายการที่จัดโดยบุคคลทั้งสองจนกระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไดโนเสาร์แห่งวงการ ประกอบกับสายสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองนี่เอง ทำให้นักสังเกตการณ์ที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลจำนวนมากรู้สึกเสียดายที่รายการของคนเหล่านี้จะขาดหายไปจากตลาด เพราะรายการพวกนี้มีพลังแอบแฝงที่สร้างศัตรูให้กับรัฐบาลได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

พูดง่ายๆ ใครๆ เขาก็พูดกันว่า รายการในสื่อของคุณสมัครกับคุณดุสิตนี่มีฐานะเป็นฝ่ายการตลาดของปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลเลยทีเดียว

เรื่องราวจากความขัดแย้งในกรณีการจาบจ้วงท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งอย่างชัดเจนว่า รายการข่าวของโทรทัศน์ถูกแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยความร่วมมือของผู้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ ทั้งนี้ คงจะเป็นอะไรที่มีการวางระบบเอาไว้อย่างเป็นขั้นตอน นับตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานข่าว การคัดเลือกบุคคลที่มาทำงานข่าว และกลยุทธ์ในการทำงานเป็นช่วงๆ หรือแม้กระทั่งข่าววันต่อวัน

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความประสงค์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งมีอำนาจในการคัดเลือกบุคคลในระดับนโยบายของสถานีโทรทัศน์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐไปบางลักษณะนั้น ก็มักจะยึดนโยบายปลอดภัยเอาไว้ก่อน นั่นก็คือ ไม่แตะต้องอะไรที่ไม่แน่ใจอยู่แล้ว

ลงท้าย ในแง่ของข่าวโทรทัศน์จึงกลายเป็นพลังอนุรักษนิยมไปโดยปริยาย นั่นก็คือ การพยายามทำให้คนดูยอมรับสภาพทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างไม่ตั้งคำถาม ทว่าเป้าหมายที่ว่านี้จะได้ผลหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าระดับทางความคิดของรายการข่าวโทรทัศน์กับของคนดูนั้นถี่ห่างจากกันอย่างไรบ้างนั่นเอง

หากข้อสรุปเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับรายการข่าวโทรทัศน์ดังที่กล่าวข้างต้นใกล้เคียงกับความเป็นจริง ก็หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์นั้นก็คือส่วนหนึ่งของระบบงานด้านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ทั้งในแง่ของการชักชวนให้รับรู้เฉพาะแต่เรื่องราวบางประเภทจากบางมุมมอง ตลอดทั้งการขัดขวางไม่ให้ได้รับรู้เรื่องราวบางประเภทจากบางมุมมองด้วย

ด้วยเหตุผลในทำนองนี้เองละกระมังที่ทำให้คุณสมัครและคุณดุสิต ซึ่งมีประวัติทางการเมืองที่ค่อนข้างพิเศษ นั่นก็คือ ชอบเกาะเกี่ยวกับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายเหยี่ยว ทั้งนี้ โดยไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเมืองภาคประชาชน อันเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมประชาธิปไตย จึงได้รับการเชื้อเชิญเข้าไปทำรายการโทรทัศน์และวิทยุต่างๆ อย่างมากมาย

ทั้งนี้ แต่ละรายการก็เหมือนๆ กันไปหมด นั่นก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยมุมมองของผู้มีอำนาจล้วนๆ แบบสบายๆ ง่ายๆ ผ่านๆ โดยเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีการทำงานอย่างจริงจังเพื่อการเตรียมตัวอะไรมาก่อนเลย เพราะรายการพวกนี้มีลักษณะแบบอยากพูดอะไรก็พุดไปเรื่อยๆ อยากจบเมื่อไรก็จบเอาดื้อๆ และไม่มีการนำเสนออะไรใหม่ๆ นอกจากการตอดนิดตอดหน่อย หรือไม่ก็ถึงขนาดด่าทอด้วยคำพูดที่รุนแรงโดยไม่จำเป็น เป็นต้น

ไม่มีอะไรจากรายการแบบนี้ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผลงานการทำการบ้านด้านข่าวอย่างจริงจัง หรือจากการค้นคว้าด้วยหลักวิชาการอะไรทั้งสิ้น เพื่อความเป็นธรรม รายการสนทนาข่าวที่คล้ายๆ กันกับรายการของคุณสมัครกับคุณดุสิตนั้นก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันสักเท่าไรนัก ความแตกต่างที่พอจะมีอยู่บ้างเป็นเรื่องของการเล่นกลเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งเป็นคราว ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้รายการนั้นๆ ดูดีขึ้นมาบ้างนิดๆ หน่อยๆ มากกว่า

ความที่รายการประเภทข่าวคำนึงถึงข้อพิจารณาของฝ่ายการเมืองมากเกินไป การพัฒนาสายงานข่าวของโทรทัศน์จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ ผลกำไรต่อปีมากมายของสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งจำนวนนับได้เป็นพันๆ ล้านคงไปไม่ค่อยถึงสายงานข่าวเท่าไรนัก

ลงท้าย สายงานข่าวในโทรทัศน์จึงพิกลพิการ ไม่ค่อยมีนักข่าวที่เอาจริงเอาจังอยากไปร่วมงานด้วย ส่วนนักข่าวที่ทำงานในโทรทัศน์โดยตรงมาโดยตลอด ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานข่าวให้สมศักดิ์ศรีนัก ใครมีข้อเสนออะไรใหม่ๆ ก็คงตกไปหมด ไม่ด้วยผลทางการเมือง ก็ด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป สู้การลอกข่าวจากหนังสือพิมพ์ไม่ได้

บ่อยๆ รายการประเภทข่าวของโทรทัศน์จึงเป็นอะไรที่ทำๆ กันไปอย่างเสียไม่ได้ ทำๆ กันไปพอเป็นพิธีเพราะกลัวจะเสียหน้าว่าตนเองไม่มีอะไรขาย นอกจากละครน้ำเน่ามากน้อยบ้าง หรือรายการอื่นๆ ที่น้ำเน่าไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น ข่าวซุบซิบพวกดาราว่าใครไปนอนกับใครมาบ้าง ผลลัพธ์เป็นอย่างไร หรือรายการกีฬานำเข้าหรือรายการการสนทนาเรื่องบ้าๆ บอๆ ที่ไปคัดเลือกเรื่องราวมาจากข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ชาวบ้านๆ เท่านั้น

ทำไปทำมา รายการประเภทข่าวต่างๆ ในโทรทัศน์ก็เลยต้องไปเชื้อเชิญให้คนนอกมาทำ โดยไม่สนใจกับการสร้างบุคลากรของตนเอง ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ข่าวของสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งมีบุคลิกประจำตัว ไม่มีใครเหมือน เป็นการแสดงความเคารพงานข่าวมากขึ้น

ความเชื่อลึกๆ ที่ว่าสถานีแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องพัฒนาสายงานข่าวของตนเองให้เต็มที่จึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้ว ข่าวเป็นอาณาจักรที่ใหญ่โตมากกว่าที่สื่อต่างๆ ได้ค้นพบแล้วเท่านั้น หากสื่อแต่ละแห่งมีความพร้อมทั้งในแง่วิสัยทัศน์ ทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และงบประมาณ การทำงานข่าวยังสามารถเปิดประเด็นใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด

สิ่งที่เรียกว่าข่าวดังที่ปรากฏขึ้นในแต่ละวันในสื่อทั้งหมดของเมืองไทยนั้น จริงๆ แล้วยังเป็นเพียงอะไรที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดๆ อันเป็นกระผีกเดียวของโลกของข่าวเท่านั้น ยังไม่ใช่อะไรทั้งหมด หรือแม้กระทั่งไม่ใช่อะไรอย่างที่พึงเกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยซ้ำ

หากเราเชื่อว่าการรับรู้ข่าวที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ คืออะไรที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาคนและสังคมของเรามากขึ้น การลงทุนกับงานข่าวจะต้องมีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อที่มีความมั่งคั่งทางการเงินที่สุดอย่างโทรทัศน์

การสักแต่คิดว่าการไปจ้างนักข่าวจากภายนอกมาทำงานเป็นครั้งเป็นคราวไป หรือการหยิบข่าวมาจากหนังสือพิมพ์จากการลงทุนเพียงวันละร้อยสองร้อยบาท จึงเป็นความมักง่ายที่ให้อภัยไม่ได้ เพราะนี่เท่ากับว่าโทรทัศน์ไม่ยอมลงทุนทำงานข่าวของตนเองอย่างเพียงพอ ศักดิ์ศรีในฐานะของการเป็นสื่อมวลชนจึงถือได้ว่าไม่มี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาขายเป็นสินค้าโดยตรงด้วยการ "ตกแต่ง" ให้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เป็นการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ ใดๆ เลยอย่างที่ทำๆ กันอยู่ทุกๆ วันนั้น คงถือได้ว่าเป็นอะไรที่แย่ที่สุดเท่าที่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว

หากจะพูดกันอย่างถึงที่สุดแล้ว การพัฒนางานโทรทัศน์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานข่าวที่อ่อนไหวกับการถูกแทรกแซงทางการเมืองมากที่สุด คงจะขึ้นอยู่กับการจัดวางระบบอุตสาหกรรมทั้งหมดเสียใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นอิสระจากการเมืองมากขึ้น ให้มีความสำนึกในความเป็นเลิศในวิชาชีพมากขึ้น ให้มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น ให้มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมโดยส่วนรวมมากขึ้น และให้มีความตระหนักต่อความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ มากมายในระดับโลกมากขึ้น คงจะขึ้นอยู่กับการปฏิรูประบบทั้งหมดอย่างจริงจังขึ้น ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทว่าในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ข่าวโทรทัศน์ของเมืองไทยก็ไม่น่าจะอยู่ในสภาพสมยอมกับรัฐบาลง่ายๆ แบบคนสิ้นคิด การริเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์นั้นคงยังพอทำได้อยู่บ้าง อย่าให้ถึงกับสิ้นหวังไปเสียทั้งหมดจนกระทั่งรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลยก็แล้วกัน

ฝ่ายรัฐบาลก็ควรจะเลิกแทรกแซงงานข่าวของโทรทัศน์เสียที เพราะกรณีของคุณสมัครกับคุณดุสิตนั้นเป็นบทเรียนที่ชัดเจนแล้วว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบีบบังคับให้ผู้บริโภคข่าวสมัยใหม่ที่ฉลาดขึ้นมากและมี "ทางเลือก" มากมายให้อดทนกับความล้าหลังต่างๆ เพราะผลลัพธ์สุดท้ายย่อมเป็นลบกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่า

บทบาทง่ายๆ ที่รัฐบาลควรดำเนินการได้ทันทีก็คือ การสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทั้งระบบว่าอยู่ในสภาพอย่างไรบ้างในทุกๆ ด้าน และทางเลือกในการวางระบบการจัดการชนิดใดบ้างจะสามารถเกื้อกูลให้โทรทัศน์สามารถทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้ หากมีความจริงใจที่จะพัฒนาโทรทัศน์จริงๆ ก็ไม่เห็นจะจำเป็นต้องทำเป็นรีๆ รอๆ คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติที่ลากกันไปลากกันมาจนโดนล้มกระดานอะไรนั่นเลย

ในส่วนของผู้จัดการระบบโทรทัศน์ ก็น่าจะพยายามยกเลิกการสมยอมกับความต้องการผิดๆ ของฝ่ายรัฐบาลเสียที ทว่าพยายามทำงานอย่างมืออาชีพมากขึ้นด้วยการพัฒนาวาทกรรมในการต่อรองกับฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นให้ได้ว่า ระบบการผลิตข่าวโทรทัศน์ที่ดีนั้นมีประโยชน์ นอกจากจะทำให้คนและสังคมเจริญขึ้นแล้ว การรอบรู้ข่าวที่ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้นยังทำให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย สุดท้ายแล้ว แนวทางเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและส่วนรวมมากกว่า

สำหรับระดับผู้ปฏิบัติการข่าวโทรทัศน์ก็เหมือนกัน การสำรวจการทำงานของตนเองอย่างที่ทำๆ กันอยู่นั้นคงไม่ใช่วิธีเดียวที่สามารถทำได้ โอกาสในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้อะไรต่างๆ ดีขึ้นนั้นยังทำได้เสมอ มากบ้างน้อยบ้างสุดแต่เงื่อนไขเฉพาะต่างๆ ลงท้ายแล้ว ข่าวโทรทัศน์จะต้องมีมากขึ้นและดีขึ้น

ด้านผู้บริโภคข่าวโทรทัศน์เช่นกัน บทบาทในการช่วยพัฒนาข่าวโทรทัศน์นั้นยังทำได้มาก เช่น พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจจะส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องข่าวเกี่ยวกับข่าวโทรทัศน์มากขึ้น แล้วก็นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งเป็นคราว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณอีกชนิดหนึ่งแก่ฝ่ายรัฐบาลว่าตนเองมีความรอบรู้อย่างเพียงพออะไร เป็นอะไร ไม่ใช่การพูดลอยๆ เหมือนกับที่ชอบทำๆ กันอยู่

สำหรับกลุ่มอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระของรัฐ บริษัทขนาดต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งของรัฐและเอกชน และองค์กรอื่นๆ ของภาคประชาชน ก็สามารถรวบรวมข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่างๆ ว่าข่าวโทรทัศน์เป็นอยู่อย่างไรและควรจะทำอะไรต่อไปได้ ทั้งนี้ โดยอาจจะนำเสนอต่อสื่อมวลชนเป็นระยะๆ เพื่อส่งสัญญาณไปถึงผู้ที่มีอำนาจกำหนดความเป็นไปของโทรทัศน์ แทนที่จะสมยอมเป็นผู้บริโภคที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ ไม่ว่าโทรทัศน์จะทำอะไรกับตน เป็นต้น

ประเด็นในที่นี้ก็คือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นจะต้องยอมรับสิ่งที่เรียกๆ กันง่ายๆ เกินไปในนามของ "ข่าว" โทรทัศน์ว่าเป็นอะไรที่ดีเพียงพอแล้ว หรือแม้ไม่ดี เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แล้วก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ทนๆ กันไปวันๆ หนึ่ง จนกระทั่งความชั่วร้ายที่ซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์สามารถมีโอกาสได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่ก่อให้เกิดความตายหรือความเสียหายอื่นๆ ขึ้นได้ เช่น ในกรณีพฤษภาทมิฬ หรือกรณีสึนามิ เป็นต้น

ในโลกที่ดูเหมือนว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัด โอกาสในการแก้ไขมากบ้างน้อยบ้างก็ยังคงมีอยู่เสมอ หากว่าเรามีความขยันขันแข็งและจินตนาการที่จะเสาะหาช่องทาง โดยไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น