xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาอาตมันทางการเมือง (Political Self) แบบประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

นักทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมได้มีการวิเคราะห์ถึงตัวแปรต่างๆ ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ในกรณีของนักจิตวิทยานามอุโฆษ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ก็ได้พูดถึงความรุนแรงและกามารมณ์เป็นตัวผลักให้มนุษย์มีพฤติกรรมไปในทางใดทางหนึ่ง และยังเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่สร้างสรรค์ ศิลปะและสุนทรี และอื่นๆ ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ประกอบด้วย 3 ส่วน ซึ่งได้แก่ id, ego และ superego ในส่วนของ id นั้นอาจจะตรงมากที่สุดกับคำว่า “สันดาน” superego คือค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง ความเหมาะสม ego นั้นเป็นจักรกลสำคัญของตัวปัจเจกบุคคลที่จะต้องถ่วงดุลระหว่าง id กับ superego

ในส่วนของ ego นั้นอาจจะอธิบายได้อย่างหยาบๆ ว่ามีความใกล้เคียงกับอาตมันคือตัวตน หรืออัตตา โดยอาตมันนั้นเป็นจิตสำนึกที่รู้ว่าตนเป็นใคร มีภูมิหลังอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ยืนอยู่ในระดับไหนของสังคม และอื่นๆ คำอธิบายคำนี้อาจจะผิดหรือไม่ตรงกับคำว่า ego ก็ขอให้ถือว่าเป็นคำอธิบายใหม่ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายแง่คิดในลักษณะนี้อีกต่อไป

ในขณะที่อาตมันของแต่ละบุคคล เช่น นาย ก รู้ว่าตัวเองนั้นเป็นคนไทยเนื่องจากเกิดในผืนแผ่นดินไทย ทั้งพ่อแม่ เพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็บอกว่าตนเป็นคนไทย ขณะเดียวกันก็รู้ว่าเป็นคนไทยที่เป็นลูกของชนชั้นกลาง เป็นลูกของข้าราชการระดับกลาง มีฐานะเศรษฐกิจดีพอสมควร และฐานะทางสังคมได้รับการยกย่องมากกว่าเพื่อนๆ ที่ครอบครัวมีฐานะต่ำกว่า นาย ก รู้ว่าตนกำลังเรียนหนังสือระดับชั้นมัธยมและทุกคนต่างขวนขวายที่จะศึกษาอย่างแข็งขันเพื่อจะเข้าสู่วิชาชีพด้วยการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัย บางคนก็จะเป็นหมอ บางคนก็จะเป็นวิศวกร บางคนก็จะเป็นครู ส่วนตนนั้นอยากเป็นนักกฎหมายเพื่อมีอาชีพเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ นี่คืออาตมันทางการเมืองในทางสังคมของแต่ละปัจเจกบุคคลซึ่งย่อมจะแตกต่างกัน สำหรับคนบางคนนั้นอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเกิดมาในสังคมโดยมีฐานะสูงส่ง มีชาติกำเนิดที่ดีเยี่ยม มีความภูมิใจที่บรรพบุรุษถูกจารึกในประวัติศาสตร์ การมองตัวเองเช่นนี้ (self perception) จะก่อให้เกิดอาตมันขึ้น คืออาตมันของปัจเจกบุคคล

แต่ยังมีอาตมันอีกส่วนหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันนักแม้ในหมู่นักรัฐศาสตร์ นั่นคือ อาตมันทางการเมือง (political self) อาตมันทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการอบรมเรื่องความรู้ ค่านิยม และวัฒนธรรมทางการเมือง ตั้งแต่ในครอบครัว สถาบันการศึกษา จนถึงสังคม เช่น เด็กญี่ปุ่นในอดีตจะถูกอบรมให้ภูมิใจในความเป็นชาติญี่ปุ่น มีความรักชาติ มีความเชื่อว่าชาติญี่ปุ่นเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือความรู้สึกที่ว่าตนเป็นสมาชิกของหน่วยการเมือง ที่เมื่อเทียบกับหน่วยการเมืองอื่นจะมีความเหนือกว่า ขณะเดียวกันก็จะถูกอบรมให้มีจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อการสร้างญี่ปุ่นให้เป็นมหาอำนาจ เพราะฉะนั้นในแง่อาตมันทางการเมืองนั้นถูกทำให้เข้าใจว่าตนเป็นใครในทางการเมือง มีหน้าที่และบทบาทอย่างไรในอนาคต และในส่วนนี้ย่อมส่งผลถึงค่านิยม ความคิด และพฤติกรรม และนี่คือสภาวะของสังคมญี่ปุ่นก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง มีการกล่าวว่าแม้ในห้องเรียนก็มีการสอนให้เด็กนักเรียนรู้ว่ามีผลไม้ชนิดหนึ่งเช่นลูกท้อซึ่งมีรสชาติอร่อยมาก มีต้นมากมายอยู่ที่เมืองจีน เมื่อโตขึ้นขอให้เด็กๆ ไปกินลูกท้อที่เมืองจีน ซึ่งเป็นการปูพื้นทางจิตวิทยาให้ยกกองทัพไปบุกประเทศจีน

การฝึกยุวชนเช่น การฝึกยุวชนนาซีในเยอรมนี การปลุกระดมพวกยามแดงหรือเรดการ์ดในเมืองจีน การมีองค์กรลูกเสือให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การมีกระบวนการเสือป่าของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างอาตมันทางการเมืองให้กับประชาชนทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน สังคมที่มีการปกครองอย่างกดขี่ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เกรงกลัวอำนาจรัฐ เคารพยำเกรงเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง ฯลฯ อาตมันทางการเมืองของบุคคลเหล่านี้จะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นประชาชนที่ว่านอนสอนง่าย ถูกข่มเหงรังแก ถูกรีดเร้นภาษี ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนพวกทาสในอดีต

ระบบวรรณะในอินเดียมีส่วนสร้างอาตมันทางการเมืองให้กับประชาชนทั้งสี่วรรณะ โดยวรรณะที่มีความสูงศักดิ์ได้แก่วรรณะพราหมณ์ อันเป็นที่มาของความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง เป็นผู้ผูกขาดพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่วรรณะที่สองคือวรรณะกษัตริย์ คือวรรณะที่มีอาตมันทางการเมืองว่าเป็นชาตินักรบ เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้กล้าหาญ เป็นผู้ที่ไม่กลัวตาย เพราะการตายตามลัทธิพราหมณ์ซึ่งมีอาตมันเป็นของถาวรนั้นเท่ากับเป็นการออกจากเสื้อผ้าอีกชุดหนึ่งไปยังเสื้อผ้าอีกชุดหนึ่งเท่านั้นโดยการเกิดใหม่ ส่วนวรรณะพ่อค้าคือ วรรณะแพศย์และวรรณสูทรนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีอาตมันทางการเมืองโดยมองตัวเองเป็นชนชั้นต่ำ ไม่มีอำนาจและบทบาทอะไร มีหน้าที่อันเดียวคืออยู่อย่างสงบเสงี่ยมและเจียมตัวตามวรรณะของตัวที่กำหนดโดยสวรรค์

อาตมันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ประกอบด้วย ความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมทางการเมืองที่ว่า

1. ตนเป็นบุคคลที่มีสิทธิเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีสิทธิที่จะดำรงตนภายใต้กรอบของกฎหมายของบ้านเมือง ไม่มีใครจะมาแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับตนได้

2. ตนเป็นบุคคลที่มีความเสมอภาคในทางการเมืองและความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายกับผู้ร่วมชาติ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ตนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น

3. สิทธิเสรีภาพของตนในฐานะประชาชนได้ถูกรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญ ตนมีสิทธิที่จะทวงสิทธิ์ดังกล่าวถ้าถูกละเมิดโดยใครก็ตาม

4. ตนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น มีสิทธิที่จะประท้วงคัดค้านการกระทำอันใดก็ตามที่มาจากหน่วยราชการหรือรัฐบาล ที่มีต่อสิทธิขั้นมูลฐานของตนในฐานะที่เป็นประชาชนผู้เสียภาษี

5. ตนมีสิทธิทางการเมืองที่จะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง เลือกผู้ที่จะเป็นผู้แทนของตนในรัฐสภา มีสิทธิในการที่จะกำหนดว่าต้องการให้ใครทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

6. มีความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างในสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นสามารถจะทำให้ดีขึ้นได้ถ้าร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยผ่านกลไกของรัฐ และรัฐมีภาระหน้าที่ในการตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนของตนที่เรียกร้องอย่างสมเหตุสมผล

7. ในฐานะเป็นประชาชนของประเทศที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น ตนมีสิทธิที่จะมีข่าวสารข้อมูล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงอันใดก็ตามที่ประเทศของตนกำลังจะทำกับประเทศอื่น ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่สนธิสัญญาทางการค้า ภาษีอากร พันธมิตรในทางการเมือง พันธมิตรในการสงคราม ข้อตกลงแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งอาจจะมีผลบวกและผลลบ ในฐานะประชาชนจึงมีสิทธิที่จะติดตามหาข้อมูลและแสดงความคิดเห็น

8. ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนการเมือง ตนมีสิทธิที่จะได้เห็นสื่อมวลชนที่มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอข่าวที่ถูกต้อง เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน และสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องและยุติธรรมให้กับสังคม

9. ในฐานะที่เป็นสมาชิกและเป็นประชาชนผู้ซึ่งมีความพร้อมในแง่คุณวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ตนย่อมมีสิทธิที่จะเปลี่ยนฐานะจากประชาชนผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองตามที่ได้กล่าวมาแล้ว มาสู่การเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองโดยการลงเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเลือกตั้งระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ในรัฐสภา หรือแม้แต่การทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร หรือหน้าที่อื่นใดที่ตนสามารถจะกระทำได้ตามครรลองของกฎหมาย

10. ในฐานะประชาชนของชุมชนการเมือง ตนมีสิทธิที่จะเรียกร้อง คาดหวัง และต่อสู้ ให้ตนและสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนร่วมชาติทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยมีปัจจัยสี่ มีสิทธิเสรีภาพโดยประกันโดยกฎหมายและบังคับโดยกฎหมาย และมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การประกอบอาชีพ เพื่อยกฐานะของตนในทางสังคมและเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อาตมันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะมีส่วนผลักดันให้สังคมนั้นๆ สามารถพัฒนาความตื่นตัวทางการเมือง สามารถทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีสมรรถนะทางการเมือง (political efficacy) สูง และที่สำคัญที่สุดจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืนสืบต่อไป

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com
กำลังโหลดความคิดเห็น