xs
xsm
sm
md
lg

“ทรราชยุคดิจิตอล” ล้มไม่ยากอย่างที่คุณคิด

เผยแพร่:   โดย: พชร สมุทวณิช


เมื่อวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของผม ตื่นสาย ไม่เข้าออฟฟิศ ไม่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ไม่เปิดเว็บผู้จัดการออนไลน์ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะคุยถึงสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากพอเจอเรื่องนี้ทีไร มันมีอาการวิงเวียนหน้ามืดจะเป็นลมอยู่ร่ำไป อาการนี้อาจจะคล้ายๆ กับโทรศัพท์มือถือที่ใช้นานๆ แล้วแบตฯ มันจะหมด ต้องรีบเอาเสียบเข้าแท่นชาร์จเติมไฟให้เต็ม แล้วค่อยนำมาใช้งานต่อ

อย่างไรก็ดี ได้เจอะเจอเพื่อนอยู่คน ไอ้เพื่อนคนนี้มันพยายามจะคุยเรื่องการเมืองกับผมเสียให้ได้ ส่วนใหญ่เวลาเจอคนชวนคุยเรื่องการเมือง ด้วยความที่ทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ ผมมักจะเป็นฝ่ายถูกบังคับให้เล่าสถานการณ์ให้ฟัง ถูกถามซ้ำๆ ด้วยคำถาม อะไร? ทำไม? อย่างไร? ฯลฯ แต่ด้วยบทสนทนาในการพูดคุยครั้งนี้ จะเป็นในทำนองที่ เขาถามเองตอบเอง สนุกกับการที่จะเป็นผู้พูดแต่ฝ่ายเดียว โดยผมรับบทบาทเป็นผู้ฟัง ก็เลยนั่งฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ปล่อยให้เขาพูดไป ผมเลยไม่ต้องเสียมารยาทด้วยการเดินหนีหรือเร่งรัดตัดบทสนทนา

แต่เอ๊ะ ฟังไปฟังมา บทวิเคราะห์ทางการเมืองแปลกๆ นี่ก็สนุกบันเทิงดีเหมือนกัน

เพื่อนคนนี้ของผมมันเป็นคนบ้าเกมคอมพิวเตอร์ มันบอกว่ามันคิด “ทฤษฎีการเมืองไทยโดยยึดกรอบเกมคอมพิวเตอร์” (ว่าเข้านั่น)

มันวิเคราะห์กรอบการต่อสู้ทางการเมืองโดยศึกษาจากเกมคอมพิวเตอร์ ที่เป็นเกมการต่อสู้ระหว่างคนเล่น (คือเรา) กับผู้ร้ายในเกมคอมพิวเตอร์ โดยมันเริ่มอธิบายย้อนไปถึงเกมคอมพิวเตอร์ในยุค 80 และยุค 90 มันบอกว่า วิวัฒนาการของการต่อสู้ระหว่าง “ธรรมะ” กับ “อธรรม” ในเกมคอมพิวเตอร์นั้น ได้คลี่คลายจากการต่อสู้ระหว่าง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม ในยุคของ “ตู้เกมอาตาริ” สมัยก่อน มาสู่การต่อสู้ในเกมคอมพิวเตอร์ที่มีมิติมากขึ้น

ถ้าเทียบกับการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “ประชาชน” กับ “ทรราช” ก็จะเป็นการต่อสู้กับ “ทรราชที่ฉลาดและมีลีลาเยอะขึ้น”

เด็กสมัยนี้คงไม่เคยเห็นเกมยุค 80 ที่มีสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลมยิงกัน เราต้องยิงทำลายศัตรูตัวร้าย ที่มันจะมีสีเหลี่ยมหลายๆ สี กั้นเป็นแผงๆ โดยถ้าเรายิงทะลุสี่เหลี่ยมที่เป็นแผงๆ ทั้งหลายได้ เราก็จะมีช่องที่ยิงทะลุผู้ร้ายหัวหน้าใหญ่ที่เป็นก้อนๆ วิ่งไปวิ่งมาเป็นอีแอบอยู่ข้างในได้

ยุคต่อมา การเกิดของเครื่องเล่นแฟมิคอม ของนินเทนโด ในยุค 90 นั้น ทำให้พัฒนาการและความซับซ้อนของการต่อสู้ระหว่างเรากับผู้ร้ายได้มีมิติที่มากขึ้นกว่าเกมเหลี่ยมๆ ยิงกันในยุค 80 ซึ่งเป็นการต่อสู้เชิง 2 มิติ แบนๆ ง่ายๆ

แม้ว่ายุค 90 “มาริโอ” เกมสไตล์แอดเวนเจอร์ของแฟมิคอมจะดังมาก แต่เกมแนวทางต่อสู้ระหว่างเรากับผู้ร้าย อย่างเช่นเกม “คอนทรา” เกมแนวทหารที่เราหน้าตาเหมือนแรมโบ้ไปยิงปืนลุยกับข้าศึก หรือเกมยานอวกาศยิงๆ สู้ๆ กับสัตว์ประหลาดอย่าง “กราดิอุส” หรือ “ทวิน บี” ที่ถือเป็นเกมคลาสิกสมัยนั้น (ขอโทษด้วยที่วัยรุ่นเดี๋ยวนี้คงไม่รู้จัก) ก็ถือว่าเป็นที่นิยมไม่แพ้กัน

ในยุค 80 และ90 นั้น รูปแบบของเกมคอมพิวเตอร์ที่เป็นลักษณะการต่อสู้ของเรากับผู้ร้าย จะมีรูปแบบง่ายๆ (ต่างจากเกมคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นเกมสำหรับเครื่องคอมพ์จริงๆ หรือเกมเพลย์สเตชั่น หรือเอ็กซ์บ็อกซ์ ที่จะมีพัฒนาการในทางรูปแบบมากกว่า)

รูปแบบที่ว่าก็คือ การต่อสู้ของเรากับผู้ร้าย ที่เป็นการเดินทางต่อสู้จากจุด A ไปจุด B เพื่อเป้าหมายคือ “ฆ่าหัวหน้าใหญ่ให้ตาย” หรือถ้าจะเปรียบเป็นภาษาทางการเมืองก็คือ “ภารกิจล้มทรราช”

การเดินทางเพื่อให้ถึงเป้าหมายก็จะต้องฝ่าด่านแต่ละด่าน โดยแต่ละด่านก็จะมี “สมุนทรราช” ในรูปแบบต่างๆ โดยจะเริ่มจากด่านแรกๆ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กันทุกเกม คือโง่ๆ บื้อๆ หน้าตาประหลาดๆ อาจจะมี “จมูกโตเหมือนชมพู่” หรือมีลักษณะทื่อๆ แท่งๆ คล้ายๆ “ตู้เย็น” อะไรเทือกนั้น

ไอ้สัตว์ประหลาด “สมุนทรราชชั้นต่ำ” พวกนี้ ไม่ยากเย็นในการจัดการเท่าไรนัก บางตัวเอาแค่กระบองทุบๆ หัว หลายทีหน่อย ก็ล้มหายตายจากไป ส่วนใหญ่สมุนทรราชระดับต่ำๆ จะโง่เดินเข้ามาให้เราทุบกบาลเอง ไม่ต้องเหนื่อย หรือบางตัวก็เดินโง่ๆ ตกท่อหรือชนตอตายไปเองโดยไม่ต้องเหนื่อยแรงทำอะไร

เพื่อนผู้บ้าเกมคอมพิวเตอร์ของผม อธิบายให้ผมฟังต่อว่า หากสามารถฝ่าด่าน “สมุนทรราชชั้นต่ำๆ” เข้าไปได้ เราก็จะอัปพลังได้มากขึ้น อาจจะพัฒนาในเรื่องอาวุธคู่กาย หรืออาจจะมีกองทัพธรรมที่เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ดี จากนั้นเราก็จะต้องเจอด่านที่ยากๆ ขึ้น

สมุนทรราชด่านท้ายๆ มักจะเป็นพวกฉลาด(แต่เลว) พวกนี้จะมีลีลาล้ำลึก ถือว่าเป็นพวก “มันสมองทรราช” บางตัวอาจจะฉลาดระดับในชีวิตจริงถ้าเป็นคนก็สามารถเรียนหมอจบได้ หรือประเภทมีความสามารถคิดคำนวณโกงภาษีได้ บางตัวก็อาจจะชำนาญเรื่องกฎหมงกฎหมายต่างๆ พวกนี้ถือว่าเป็นด่าน “สมุนทรราช” ที่เราจะฝ่าไปได้ยากกว่าไอ้ชมพู่หรือตู้เย็นที่อยู่ด่านแรกๆ

ผู้ช่ำชองในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ย่อมทราบดีว่า หากเราสามารถฝ่าไปจนถึงด่านสุดท้ายเจอตัว “หัวหน้าใหญ่” ได้ นี่คือศึกหนักและยากเย็นแสนเข็ญ

เพื่อนผมบอกว่า ลักษณะเด่นของ “หัวหน้าใหญ่” หรือ “ต้นตอทรราช” นี้ จากการศึกษาในหลายเกมจะพบว่า คุณสมบัติที่สำคัญมีอยู่ไม่กี่ข้อ

อันได้แก่ “มากลีลา-หน้าด้าน-อาวุธมหาศาล-ทรานฟอร์เมชัน”

ข้อแรก คือ “มากลีลา” หัวหน้าใหญ่จะชำนาญในการหลบหลีกแบบเหนือชั้น คือเห็นท่าไม่ดีจะตีกรรเชียงหนี เช่นเวลาเราท้าให้ออกทีวีกับคุณสนธิ มันจะตอบกลับมาว่า “Who is he?”

ข้อสอง คือข้อสำคัญที่สุด คือ “หน้าด้าน” หัวหน้าใหญ่จะต่อกรยากเป็นพิเศษ เนื่องจากแม้ว่าเราจะประเคนทั้งมือและตีน หรืออาวุธนานาประการเข้าใส่ มันก็จะเฉยๆ บางเกมเวลาเล่นจะมีสัญลักษณ์ขีดพลังของมันให้เห็นด้วย ขนาดตบกบาลมันเกือบสิบที ขีดพลังมันลดนิดเดียว

ข้อสาม อันนี้ก็สำคัญ “อาวุธมหาศาล” ไอเท็มเรื่องนี้ของมันบางตัวอาจจะมากถึง 73,000 ล้านไอเท็ม แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก (เอ๊ะ เอ็งพูดเรื่องเกมแน่เหรอวะ)

ข้อสี่ “ทรานฟอร์เมชัน” คือพัฒนาการอย่างมีระดับชั้นของความเป็นทรราช ยกตัวอย่างในเกมดรากอน บอล ผู้ร้ายจะเป็นสัตว์ประหลาดมาจากดาวไซย่า ระดับสุดท้ายของมันจะเรียกว่า “ซูเปอร์เซย่า” ถ้าเป็นเปรียบเทียบทางการเมืองก็คือ “ซูเปอร์ทรราช” หรือาจจะเรียกเป็นคำไทยๆ ว่า “อภิมหาโคตรทรราช” ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองจากการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง ลีลาทางการเมืองทั้งเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง ลีลาในการควบคุมสส. ลีลาในปรับครม.หลายๆ ครั้งเพื่อการต่อรองทางการเมือง หรือลีลาใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองที่ตัวเองควบคุมอยู่โกงกินอย่างเหนือชั้นขึ้น เป็นต้น

เพื่อนผมมันยังบอกต่อด้วยว่า คอเกมคอมพิวเตอร์ เค้าจะรู้กันดีว่า หากเราต้องการเล่นเกมให้จบ หรือภาษาเกมเขาว่า น็อคเกมให้ได้ นอกจากฝึกฝนให้ชำนาญในการเล่นแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ การอดทนในการต่อสู้ ไม่เลินเล่อ ดำเนินการอย่างมีจังหวะจะโคน ไม่ยอมย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันโดยไม่หลบลี้หนีหน้า

เพื่อนผมมันตบท้ายก่อนจบบทสนทนาด้วยสีหน้ามั่นใจปนรอยยิ้มว่า

ทรราชยุคดิจิตอล ล้มไม่ยากอย่างที่คุณคิด




กำลังโหลดความคิดเห็น