xs
xsm
sm
md
lg

การส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

wanpen@boi.go.th

ยิ่งความเจริญก้าวหน้าของโลกมากขึ้นเท่าไร เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology or IT) ก็ยิ่งเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ซึ่งระดับความเจริญด้าน IT สามารถใช้วัดระดับความเจริญของประเทศได้ว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา

ประเทศไทยต้องการก้าวสู่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงขึ้น จึงต้องเร่งการพัฒนา IT โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ IT

ประเทศไทยมีขั้นตอนการพัฒนาเทคโนโลยีจากยุคเกษตรกรรม สู่ยุคอุตสาหกรรมแบบง่าย (Labour Driven) ในปี 2513 มายังยุคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับกลาง (Investment Driven) ในปี 2523 สู่ยุคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง (Productivity Driven) ในปี 2535 และปัจจุบัน คือ ยุคอุตสาหกรรมฐานข้อมูล (Knowledge & Technology Driven)

ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภท IT เช่น ประเภท 5.7 กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ประเภท 5.8 กิจการซอฟต์แวร์ และประเภท 5.9 กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อุตสาหกรรมผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มสูง อยู่ภายใต้กิจการประเภท 5.8 กิจการซอฟต์แวร์ แยกประเภทย่อยเป็น

ประเภท 5.8.1 Enterprise Software การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนการทำงานเชิงธุรกรรม

ประเภท 5.8.2 Digital Content การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องแบบมัลติมีเดียและแอนนิเมชั่น ได้แก่ (1) Animation, Cartoon & Characters (2) Computer-generated Imagery (3) Web-based Application (4) Interactive Application (5) Game; Window-based, Mobile Platform, Console, PDA, Online Game, Massive Multi-player Online Game (6) Wireless Location Based Services Content (7) Visual Effects (8) Multimedia Video Conferencing Application (9) E-Learning Content via Broadband and Multimedia และ (10) Computer-added Instruction

ประเภท 5.8.3 Embedded Software การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ฝังอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นซิมการ์ดในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือตัวไมโครชิพในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้มากในอุตสาหกรรมยานยนต์และของเด็กเล่น

บีโอไอกำหนดให้เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ในทุกเขตที่ตั้ง
ไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และสิทธิประโยชน์อื่นตามเขตที่ตั้ง รวมถึงเงื่อนไขให้การส่งเสริมซอฟต์แวร์ใหม่อื่น ได้แก่ ต้องมีกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติกำหนด หรือให้ความเห็นชอบ

กรณีโครงการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับใบรับรองมาตรฐานจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือใบรับรองคุณภาพมาตรฐาน Capability Maturity Model (CMM) หรือมาตรฐานสากลที่เทียบเท่า ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส.3/2547 เรื่อง การปรับปรุงประเภทกิจการ 5.8 ซอฟต์แวร์ โดยมีเงื่อนไขพื้นฐาน คือ เงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (Software Industry Promotion Agency : SIPA ) เป็นองค์กรมหาชนภายใต้การกำกับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมมือกับบีโอไอในการส่งเสริมประสานงานกับผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการลงทุนของธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล โดยอำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษาในการลงทุนด้านกิจการซอฟต์แวร์ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร รวมทั้งการออกหนังสือแสดงความคิดเห็นในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์จาก SIPA ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการพิจารณาการขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอรวดเร็วขึ้น หลายโครงการไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงโครงการ หากมีหนังสือแสดงความคิดเห็นจาก SIPA และข้อมูลประกอบการพิจารณาชัดเจนครบถ้วน

SIPA กำหนดกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็น 8 กระบวนการ เพื่อประกอบการพิจารณาในการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย การพัฒนารูปแบบ (Modeling) การศึกษาความต้องการ (Requirement Analysis) การออกแบบ (Design) การพัฒนาและการสร้างสรรค์โปรแกรมซอฟต์แวร์และงาน Digital Content (Implementation) การทดสอบโปรแกรมและระบบซอฟต์แวร์ (Program and System Testing) การประยุกต์ใช้ระบบซอฟต์แวร์และการเผยแพร่งาน Digital Content (Deployment) การจัดการเปลี่ยนแปลงระบบซอฟต์แวร์หรืองาน Digital Content (Configuration & Change Management) และการฝึกอบรมในลักษณะทักษะอาชีพการออกแบบและพัฒนาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ หรืองาน Digital Content (Related Professional Training for Software and Digital Content Design and Development)

ประกาศ 3 ฉบับรองรับกิจการซอฟต์แวร์ มาจากประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2 ฉบับ คือ ที่ ป.4/2547 เรื่อง การกำหนดกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และ ที่ ป.5/2547 การกำหนดความหมายของงาน Digital Content และประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 1 ฉบับ ที่ ส.3/2547 เรื่อง การปรับปรุงประเภทกิจการ 5.8 ซอฟต์แวร์ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

จนถึงปัจจุบันมีโครงการขอรับการส่งเสริมในประเภท Enterprise Software คิดเป็นร้อยละ 36% Digital Content คิดเป็นร้อยละ 21 และ Embedded Software คิดเป็นร้อยละ 0.7% ตามลำดับ สำหรับโครงการที่มี Enterprise Software & Digital Content คิดเป็นร้อยละ 32 Enterprise Software & Digital Content & Embedded Software คิดเป็นร้อยละ 10 และ Enterprise Software & Embedded Software คิดเป็นร้อยละ 0.7% ซึ่งเป็นปัจจัยชี้ให้เห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าด้าน Embedded Software ยังมีน้อย ขณะที่ Enterprise Software มีการพัฒนาที่สุด โดยส่วนใหญ่จะผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภท Enterprise Software ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักเป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการของลูกค้า (Tailor-made software development) เป็นราย ๆ ไป

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันตามหลักของไมเคิล พอร์เตอร์ที่ให้พัฒนาจากระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต (Factor Driven) ด้านต้นทุนปัจจัยการผลิต ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุน (Investment Driven) ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลงทุนจำนวนมาก แล้วจึงเข้าสู่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven) โดยการสร้างคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์

ทั้งนี้กิจการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยยังจัดอยู่ในขั้นต้น ดังนั้นเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน บีโอไอ จึงมีนโยบายให้ความสำคัญเป็นพิเศษตามที่กล่าวไปข้างต้น และจะมีการปรับปรุงนโยบายเพื่อรองรับความก้าวหน้าในแต่ละขั้นเป็นระยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น